ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป »

ประเทศไทย 77 จังหวัด »

จังหวัดสงขลา

ข้อมูล » ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา ศิลปะ-วัฒนธรรม-ประเพณี สถานที่สำคัญ-แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม-ที่พัก

ประวัติศาสตร์-ความเป็นมา จังหวัดสงขลา(2)

เมืองสทิงพระมีเจ้าปกครองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16 ได้กลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของแหลมมลายูตอนเหนือ เป็นเมืองท่าค้าขายกับนานาชาติ โดยเฉพาะจีน อินเดีย และอาหรับ เมืองสทิงพระได้เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 อำนาจของอาณาจักรศรีวิชัยเริ่มเสื่อมอำนาจ ทำให้อาณาจักรตามพรลิงค์ หรือแคว้นนครศรีธรรมราชมีอำนาจเหนือเมืองต่าง ๆ บนแหลมมลายู โดยจัดการปกครองเมืองบริวารหรือเมืองขึ้นสิบสองเมืองนักษัตร   ในช่วงนี้เมืองสทิงพระตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรตามพรลิงค์

เมืองสทิงพระเริ่มเสื่อมอำนาจลงเมืองประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 เกิดการย้ายเมืองไปตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของทะเลสาบคือ เมืองพัทลุง   เมืองพัทลุงจึงได้พัฒนาขึ้นเป็นเมืองสำคัญ มีอำนาจเหนือชุมชนรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาแทนเมืองสทิงพระ ในขณะเดียวกันก็อยู่ในอำนาจของเมืองนครศรีธรรมราช   ต่อมาเมื่ออำนาจของกรุงศรีอยุธยาได้แผ่มาถึงเมืองนครศรีธรรมราชเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 เมืองพัทลุงจึงขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา ชื่อเมืองสทิงพระเริ่มเลือนหายไป

ประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลาได้เริ่มขึ้นอย่างแท้จริงเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 22 - 24 โดยมีศูนย์กลางการปกครองหรือสถานที่ตั้งเมือง สามแห่งตามลำดับพัฒนาการคือ เมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง (เมืองสิงขระหรือนครมลายูสงโฆรา) เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน และเมืองสงขลาฝั่งบ่อยาง

เมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง น่าจะมีมาก่อนพุทธศตวรรษที่ 22 เนื่องจากพบสถูปอิฐขนาดใหญ่บนเขาน้อย ที่มีอายุไม่น้อยกว่าพุทธศตวรรษที่ 17 - 18    เมืองนี้ปรากฏชื่อในเอกสารพ่อค้าตะวันตกว่า SINGORA บ้าง  SINGOR บ้าง น่าจะเป็นชื่อเมืองสิงขระ ซึ่งเป็นชื่อของเมืองที่ปรากฏในจดหมายเหตุของอาหรับ ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ 21 เรียกว่า สิงกูรหรือสิงขรา ส่วนคนพื้นเมืองออกเสียงเป็นสิง - ขอน ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษาบาลีว่าสิงขร แปลว่าจอม ที่สูงสุดของภูเขา   เป็นความหมายที่สอดคล้องกับ ที่ตั้งเมืองสงขลาบริเวณฝั่งหัวเขาแดง ที่บางส่วนตั้งอยู่บนภูเขาได้แก่ เขาแดง  เขาค่ายม่วง และเขาน้อย   นอกจากนี้ในภาษามลายูยังใช้ว่า นครีมลายูโฆรา ดังที่ปรากฏบนจารึกบนหลุมฝังศพของสุลต่านสุเลมัน ผู้ปกครองเมืองนี้

ชื่อเมืองสงขลาที่ปรากฏในเอกสารของไทยในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงเมืองสงขลาว่า เป็นเมืองหนึ่งในเมืองพระยาประเทศราช 16 เมืองที่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พ.ศ.1883 - 1812) หรือรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี   แต่พระราชพงศาวดารฉบับอื่น ๆ ไม่ได้กล่าวถึงเมืองสงขลาในสมัยนี้เลย และไม่ทราบว่าตัวเมืองตั้งอยู่ที่ไหน ต่อมาในปี พ.ศ.2136 ปรากฏหลักฐานในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จยกกองทัพไปตีเมืองกัมพูชา ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาเพชรบุรีเป็นแม่ทัพเรือ ไปคุมกองหัวเมืองปักษ์ใต้ โดยเกณฑ์เรือรบจำนวน 250 ลำ จากเมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองไชยา และเมืองสงขลา 200 ลำ ฯลฯ

พงศาวดารเมืองสงขลาได้กล่าวถึงเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงไว้ว่า "เดิมครั้งหนึ่ง เมืองสงขลาเป็นเมืองแขก ตั้งอยู่ริมเขาแดง เจ้าเมืองชื่อสุลต่านสุเลมัน   สุลต่านสุเลมันได้สร้างป้อมคูเมือง และจัดแจงบ้านเมืองเสร็จแล้วยอมขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาโบราณ   ครั้นสุลต่านสุเลมัมถึงแก่อนิจกรรมแล้ว บุตรและหลานคนหนึ่งคนใดก็ไม่ได้เป็นผู้ครองเมืองสืบตระกูลต่อไป ตั้งแต่สุลต่านสุเลมันถึงแก่อนิจกรรม แล้วเมืองก็ร้างว่างเปล่าอยู่ช้านาน"

จากเอกสารชาวต่างชาติที่เข้ามาติดต่อค้าขายในปี พ.ศ.2156 ออกชื่อเจ้าเมืองสงขลาในขณะนั้นว่า โมกุล แต่บันทึกของบริษัท อินเดียตะวันออกของอังกฤษ ที่ได้กล่าวถึงเมืองสงขลาในปี พ.ศ.2165 เรียกชื่อเจ้าเมืองว่า ดะโต๊ะโมกอลล์

ชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาทำการค้าที่เมืองสงขลา ได้แก่ชาวดัทช์หรือฮอลันดา เมื่อประมาณปี พ.ศ.2135   ในระยะแรกพวกดัทช์ได้ผูกขาดการค้าที่เมืองสงขลา แต่เมื่อเจ้าเมืองสงขลาได้ดำเนินโยบายการค้าเสรีขึ้น ทำให้พ่อค้าชาติต่าง ๆ เข้ามาค้าขายที่เมืองสงขลามากขึ้น โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส

เมืองสงขลาได้เริ่มแข็งเมืองไม่ยอมรับอำนาจของกรุงศรีอยธยาในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2185 จากบันทึกของบาทหลวง เดอชัวซี ชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวถึงการแข็งเมืองของเมืองสงขลา ไว้ตอนหนึ่งว่า

"เมื่อปี ค.ศ.1642 (พ.ศ.2185) มีแขกมลายูคนหนึ่งได้ไปตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองสงขลาและได้ก่อกบฏต่อพระเจ้ากรุงสยาม ได้ทำป้อม คู ประตู หอรบ อย่างแข็งแรงแน่นหนา ได้ชักชวนบรรดาพ่อค้าให้ไปทำการค้าขายในเมืองสงขลาอย่างใหญ่โตมาก ฝ่ายไทยยกกองทัพไปปราบหลายครั้ง แต่กลับมาทุกครั้ง หลังจากนั้นแขกมลายูคนนี้ก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์เรียกกันว่า พระเจ้าเมืองสงขลา ได้เป็นกษัตริย์อยู่จนสิ้นพระชนม์ โอรสจึงได้ครองเมืองสงขลาต่อไป"

ในปี พ.ศ.2182 เมืองสงขลาได้บุกเข้ายึดเมืองนครศรีธรรมราชและยังรวมเมืองปัตตานีและเมืองพัทลุงไว้ในอำนาจ เมืองสงขลาเป็นอิสระจากกรุงศรีอยุธยาตลอดรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ส่งกองทัพเรือลงไปปราบปราม เมื่อปี พ.ศ.2223   พระเจ้าสงขลาคนต่อมาได้ต่อสู้อย่างสามารถในที่สุดฝ่ายอยุธยาจับตัวไปได้ แล้วจึงทำลายป้อมคู ประตู หอรบ และบ้านเรือนจนหมดสิ้น เพราะเกรงว่าคนอื่นจะมาตั้งมั้นคิดกบฏอีก แล้วกวาดต้อนชาวสงขลานำบุตรหลานของสุลต่านพร้อมข้าราชการบริพารไปไว้ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้หมู่บ้านดังกล่าวเรียกว่า บ้านสงขลา มาจนถึงทุกวันนี้และได้นำอีกจำนวนหนึ่งไปไว้ยังกรุงศรีอยุธยา

<<< ย้อนกลับ || อ่านต่อ >>>

จังหวัด » กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย