ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์>>

โสคราตีส

2

             ความเชื่อเเรก ของโสคราตีส  ความรู้ความเข้าใจจะมีขึ้นถ้าเราพากเพียรในการซักถามอาศัยการยอมรับในสิ่งที่เรายังไม่รู้ เราย่อมจะเข้าถึง ความรู้ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิต อย่างที่สอง ความเชื่อที่โสคราตีสมีต่อเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของนครรัฐ อย่างที่สาม ความวางใจที่เขามีต่อเทพประจำตัวเขา

              ขณะถกปัญหาคุณธรรมกับโสคราเต็ส เมโน (ในบทสนทนาของปลาโต้) ก็ถูกขับต้อนจนมุมด้วยคำถามของโสคราเต็ส “แม้ก่อนหน้าจะได้พบกับท่าน” เมโนพูด “พวกเขาก็ได้บอกข้าพเจ้ามาแล้วด้วยความสัตย์จริงว่าท่านมักเป็นคนขี้สงสัย พลอยทำให้คนอื่นมึนงงไปด้วย มาตอนนี้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าท่านกำลังใช้เวทมนตร์และคาถาสะกดให้ข้าพเจ้าตกอยู่ใต้อำนาจของท่าน กลายเป็นแค่ก้อนเนื้อไร้ประโยชน์ก้อนหนึ่งเท่านั้น ถ้าข้าพเจ้าบังอาจแหย่ ท่านที่เปรียบเหมือนปลากระเบนชายธงที่พบในท้องทะเล ใครไปต้องตัวมันเข้า มันก็จะเล่นงานเอาจนมึนงง เเละถ้าท่านเป็นคนต่างถิ่น เเต่ประพฤติตัวเยี่ยงนี้ ท่านจะถูกจับกุมตัวอย่างไม่ต้องสงสัย โทษฐานเป็นหมอเวทมนตร์คาถา” ฝ่ายโสคราตีส : “ถ้าปลากระเบนชายธงทำความมึนชาให้ผู้อื่นเพียงเพราะมันทำให้ตัวเองมึนชาแล้วละก็ ความหมายของการเปรียบเทียบอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ในความหมายอื่น ข้าพเจ้าทำให้ผู้อื่นมึนงงไม่ใช่เพราะรู้คำตอบอยู่แล้ว ความจริงมีอยู่ว่าข้าพเจ้าเพาะเชื้อให้พวกเขา ข้าพเจ้าเองรู้สึกมึนงงด้วย” ในสภาพจิตอย่างเดียวกัน เธเอเตตุสพูดว่าเขาเวียนหัว โสคราเต็สตอบว่านี้เป็นการเริ่มต้นปรัชญา

             จากความมึนงงเติบโตเป็นการหยั่งรู้ ใน เมโน เรื่องนี้ถูกแสดงออกในรูปของนิทาน เปรียบเทียบ : ทาสคนหนึ่งทีแรกถือดีว่าตนรู้คำตอบปัญหาคณิตศาสตร์ ต่อมาพบอุปสรรคเข้าจึงได้สำนึกรู้ความโง่เขลาของตน กว่าเขาจะมาถึงทางออกที่ถูกต้องได้ต้องใช้เวลานานผ่านคำถามมากมาย ตาม ตัวอย่างที่แสดงนี้ ความจริงมาหาเราในรูปการสนทนา ความจริงยังไม่เป็นที่ล่วงรู้แก่คู่สนทนา แต่ความจริงอยู่ที่นั่น     คนทั้งคู่วนเวียนอยู่รอบ ๆ โดยมีความจริงเป็นมัคคุเทศก์

              โสคราตีส ต้องการช่วยตั้งต้นให้คนออกแสวงหา แต่ในการแสวงหาโสคราตีสต้องการให้   พวกเขามั่นใจการค้นหา เขาเปรียบ (เธเอเตตุส)

กิจกรรมนี้ของเขากับศิลปะของหมอตำแย เธเอเตตุสไม่รู้ คำตอบ เขาคิดว่าตัวเองหาคำตอบไม่ได้แน่ “กระนั้น” เขาพูด “ข้าพเจ้าสลัดคามปรารถนาทิ้งไปไม่ได้ “ท่านเจ็บท้องคลอดบุตร” โสคราเต็สพูด “ไม่ใช่เพราะท่านไม่มีอะไร หากพร้อมแล้วจะให้กำเนิด” โสคราตีสพรรณนาวิธีการพูดของเขากับคนหนุ่มต่อไปไม่ต่างกับหมอตำแย เขาสอบให้แน่เสียก่อนว่ามีการตั้งครรภ์จริงหรือไม่ กรรมวิธีของเขามีทั้งปลุกและปลอบ เขารู้จักจำแนกการเกิดแท้การเกิดเทียม ตัวเขาเองเขายอมรับว่าเป็นหมัน  พวกที่กล่าวหาว่าโสคราตีสเอาแต่เที่ยวซักถามจึงชอบแล้ว เพราะ “เทพบังคับให้ข้าพเจ้าเป็นหมอตำแย แต่ไม่อนุญาตข้าพเจ้าให้กำเนิด” พวกที่พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเขาทีแรกดูเหมือนยิ่งพูดยิ่งโง่    แต่นั่นเพราะพวกเขาหลุดพ้นจากความรู้เทียม ดังนั้น “ถ้าเทพเมตตาพวกเขาแล้ว พวกเขาย่อมก้าวหน้า     น่าพิศวงกันได้ทุกคน เห็นชัดทีเดียวว่าพวกเขาไม่ได้เรียนรู้อะไรจากข้าพเจ้าเลย แต่สำหรับข้าพเจ้าและเทพแล้ว พวกเขาเป็นหนี้การคลอดของตัวเอง”

              โสคราตีสไม่ได้ส่งมอบปัญญา หากแต่ทำให้คนอื่นต้องค้นหา คนอื่นคิดว่ารู้ แต่ โสคราตีสทำให้เขาสำนึกรู้ความไม่รู้ของเขา ดังนั้นจึงพาเขาไปพบความรู้แท้ในตัวเอง จากความลึกล้ำ ชายผู้นี้ก็ได้ค้นพบสิ่งที่เขาเคยรู้แล้วขึ้นมา โดยความไม่รู้ว่าตนรู้ นี้หมายความว่า แต่ละคนต้องค้นหาความรู้ในตัวเอง ความรู้ความเข้าใจไม่ใช่วัตถุซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ สามารถปลุกให้ตื่นขึ้นมาได้อย่างเดียว ตอนที่ความเข้าใจปรากฏขึ้น   มันเหมือนการรำลึกอะไรสักอย่างที่รู้นานมาแล้ว และนื่คือสาเหตุที่ทำไมฉันจึงแสวงหาปรัชญาได้ทั้งที่ไม่รู้ พวกโซฟิสต์คนหนึ่งกล่าวว่า : ฉันแสวงหาได้แต่สิ่งที่ฉันรู้ ถ้าฉันรู้ฉันไม่ต้องแสวงหา ถ้าฉันไม่รู้ฉันแสวงหาไม่ได้ อย่างไรก็ดีในทัศนะของโสคราเต็สการคิดปรัชญาเป็นการแสวงหาสิ่งที่เคยรู้มาแล้ว แต่ฉันรู้โดยจิตไร้สำนึก ประหนึ่งว่าความทรงจำลางเลือนแต่โบราณมาบัดนี้ฉันใคร่รู้มันในแสงบรรเจิดของจิตสำนึกของฉัน

              การตั้งคำถาม การพิสูจน์หักล้าง การทดสอบของโสคราตีสย่อมได้รับการค้ำจุนอยู่ด้วยความวางใจฉันใด คนด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้าย่อมจะบรรลุถึงความจริงด้วยความคิด ไม่ใช่ความคิดเหลวไหลในถ้อยคำ หากแต่ความคิดเปี่ยมด้วยความหมายจากเเหล่งกำเนิดต่างหาก จึงเป็นความเชื่อถือได้ด้วยเหตุนี้

              โสคราเต็สเชื่อในบรรดาทวยเทพตามขนบความเชื่อที่สืบเนื่องมา เขาบูชาเทพเหล่านั้น   เชื่อฟังเทวโองการเดลฟี เข้าร่วมงานนักขัตฤกษ์ ศาสนานี้ที่บอกชาวกรีกไม่ให้ทำอะไร ไม่ให้ปรารถนาใน   สิ่งใด ความปรารถนาและความคิดทั้งปวงสืบสาวเอาความหมายมาจากมัน ศาสนานี้สามารถทำให้เจือจางลงได้ หรือทำให้จับต้องแทบไม่ได้เลยก็ได้ และนี้ก็คือสิ่งที่พวกโซฟิสต์หลายคนได้กระทำกัน หรือไม่เช่นนั้นเราก็มีชีวิตอยู่ในศาสนานี้ ปฏิบัติกิจศาสนาด้วยความเคารพสักการะ ค้นหาฐานรากในศาสนานี้ ปราศจากศาสนาทุกสิ่งย่อมไร้ฐานราก และนี้ก็เป็นสิ่งที่โสคราตีสได้กระทำลงไป ด้วยเหตุนี้โสคราตีสจึงมีชีวิตอยู่ด้วย “ความเชื่อ” อันสง่า มีสำนึกในตัว มีชีวิตอยู่ในความชัดเจนในตัว

              โสคราตีสผูกพันอย่างแยกไม่ออกจากรัฐบ้านเกิดเมืองนอนของเขา รัฐของโสลอน (Solon เป็นหนึ่งในเจ็ดปราชญ์กรีกผู้ตรากฎหมายให้นครรัฐเอเธนส์ ส่วน Pericles เป็นนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย สมัยที่เขาปกครองเอเธนส์กลับมาเจริญรุ่งเรืองในทุกด้าน เขาเป็นนักแสดงสุนทรพจน์ เป็นนายพลและรัฐบุรุษ ) สงครามเปอร์เซีย เปรีเคล็ส มันเป็นรัฐที่สร้างขึ้นมาบนกฎหมาย   สถาปนาขึ้นแต่เมื่อครั้งสมัยเก่าแก่จนจดจำไม่ได้แล้ว และได้รับการต่อเติมเสริมแต่งอยู่สืบมา ปราศจากกฎหมายชีวิตเป็นสิ่งนึกคิดไม่ได้ นี้เป็นคำอธิบายต่อความเคารพเชื่อฟังกฎหมายของโสคราตีส   ในการไต่สวนคดีหลังเหตุการณ์สู้รบ   ที่อาร์กีนูซาเอ เขาปฏิเสธที่จะให้คำตัดสินของคณะลูกขุนได้เป็นมติ เพราะภายใต้เงื่อนไขที่มีอยู่เวลานั้น วิธีการดำเนินการดังกล่าวเป็นการผิดต่อกฎหมาย เขาปฏิเสธที่จะหลบหนีจากที่คุมขัง ปฏิเสธการทำลายกฎหมายที่ยังคงสมเหตุผล ในฐานะของกฎหมายอยู่ ถึงแม้มันจะรับใช้เค้าโครงความอยุติธรรมก็ตาม จะไม่มีสิ่งใดมาแปรเปลี่ยน ทัศนคติอันนี้ได้เลย พวกทรราชย์คณะสามสิบสั่งห้ามไม่ให้เขาทำการสอน พวกประชาธิปไตยกลับมอบความตายให้กับเขา เขาไม่ขึ้นสังกัดกับพรรคกับคณะใด หากมียึดมั่นไม่หันเหต่อมโนคติเรื่องกฎหมายตามรูปแบบประวัติศาสตร์ของนครรัฐเอเธนส์ มันเหลือที่จะคิดที่โสคราตีสผู้พูดก็แต่กับปัจเจกชนผู้ถือเอาความรับผิดชอบส่วนบุคคลเป็นความรับผิดชอบอย่างแท้จริง ผู้ทำให้ทุกสิ่งจำเป็นต้องตรวจสอบต้องวิจารณ์ จะใช้รัฐเป็นเครื่องมือสนองความทะเยอทะยานส่วนตัว เหมือนกับกรณีของอัลซีบีอาเต็ส มีไม่น้อยจับอาวุธขึ้นต่อต้านบ้านเกิดเมืองนอนของตน เขาไม่มีความประสงค์ที่จะเป็นพลเมืองโลกที่ไม่มีรากเหง้า เรื่องการอพยพไปอยู่ที่อื่นย่อมจะไม่เกิดขึ้นกับเขาเป็นอันขาด เหมือนกับกรณีของเอ็สฆีลุสอพยพไปอยู่ซิซีลีหรือเอ็วรีบีเด็สอพยพไปอยู่ที่มาเคโดนีอา ผู้เฒ่าเหล่านี้ชื่นชมกับประเทศชาติของตน เขารู้มากไปกว่า  คำถามที่ว่าการมีอยู่ของเขาแยกไม่ออกจากเอเธนส์ใน อาโปโลจี ของปลาโต้ เมื่อโสคราเต็สได้รับข้อเสนอให้เลือกเอาระหว่างการลี้ภัยกับความตาย เขาเลือกเอาความตาย : “ชีวิตที่ดีที่น่าจะเป็นสำหรับข้าพเจ้า คนอายุปูนนี้ ต้องทิ้งถิ่นฐานประเทศของตัวเองออกระเหเร่ร่อนจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่งตลอดเวลา ที่เหลืออยู่ของชีวิต (อย่างนั้นหรือ ผู้แปลไทย)” ในครีโต(crito) โสคราตีสวาดจินตนาการว่ากฎหมายได้มา   ซักถามเขาและท่าทีที่เขามีต่อกฎหมายก็ได้เผยออกมาในช่วงนี้ : ขอบคุณกฎหมายที่เขาเกิดมาได้สมรสภายใต้กฎหมาย ได้เป็นพลเมืองเอเธนส์ บิดาจึงสามารถให้การอบรมเลี้ยงดูเขาได้ โสคารตีสชี้ให้เห็นการค้ำจุนกฎหมายด้วยการปฏิเสธที่จะทิ้งเอเธนส์ไป ด้วยการเลือกเอาความตาย แทนการเนรเทศ โสคราตีสไม่ได้   ตีตนเสมอกฎหมาย หากแต่รับรองพันธะที่ตนจะต้องเชื่อฟังกฎหมายเขาต้องยอมรับคำพิพากษาให้ประหารชีวิตเขา ดุจเดียวกับพลเมืองต้องกระทำตามคำสั่ง ให้ออกสู่แนวหน้าโดยไม่บิดพริ้ว เขาไม่มีสิทธิชูมือขึ้นต่อต้านประเทศ มากไปกว่าต่อต้านพ่อแม่  ถึงแม้เขาจะเชื่อว่า เขาได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมก็ตาม

            สิ่งนี้แยกโสคราเต็สออกมาจากพวกโซฟิสต์ แม้ว่าการซักถามเชิงวิจารณ์แบบไม่ปรานีของเขาอาจจะทำให้เขาดูเหมือนเป็นคนหนึ่งในหมู่พวกโซฟิสต์ เขาก็ไม่เคยหนีไปจากรากฐานทางประวัติศาสตร์ของเขาเลย กลับสำนึกรู้กฎหมายของนครรัฐอย่างน่าเลื่อมใส  

              สิ่งน่าจดจำและคือลักษณะพิเศษในตัวโสคราตีส : เขานำการวิพากษ์ของเขาไปถึงเเก่นเเท้ เเต่ไม่เคยยุติการสำนึกรู้โองการสัมบูรณ์   ที่อาจเรียกได้ว่าสัจจะ ความดี หรือเหตุผล สำหรับเขาแล้วโองการนี้เป็นเครื่องเเสดงถึงความรับผิดชอบ รับผิดชอบต่อใคร ? เขาไม่รู้ แต่เขาพูดถึงบรรดา  ทวยเทพ อะไรที่อาจเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริงย่อมจะยืนหยัดมั่นคงอยู่ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง สิ่งนี้คือประเด็นที่เขาเน้น

              แต่ครั้นเมื่อความชั่วร้ายบังเกิดขึ้นแก่เขา เมื่อความอยุติธรรมเล่นงาน เมื่อนครรัฐทำลายเขาเสียเองโสคราตีสมีชีวิตอยู่ด้วยคติพจน์ข้อที่ว่าทนทุกข์ดีกว่าก่ออธรรม โสคราตีสไม่รู้จักการขบถรัฐ   ขบถโลกและขบถพระเจ้า เขาไม่สืบสาวลงไปถึงบ่อเกิดแห่งความชั่วร้าย ประหนึ่งว่าพระเจ้าได้ให้เหตุผลเอาไว้แล้ว เขาไม่รู้จักความสิ้นหวังที่เกิดจากปัญหาความยุติธรรมสูงส่ง ไม่รู้จักคำตอบที่ยังความพอใจให้กับ คำถาม หากแต่เอาความสงบใจไม่ไหวหวั่นออกมาจากความเชื่อมั่นต่อความยุติธรรมที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัว ไม่ว่าผลแห่งโชคชะตาปรากฏให้เห็นในโลกอย่างไร สิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่สำคัญ : การมีชีวิตอยู่ตามปทัฎฐานของความจริง ชี้ให้เห็นได้ชัดในความคิด

อ่านต่อหน้า 3

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย