ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

เต๋าแห่งฟิสิกส์

บทที่ 1 ฟิสิกส์สมัยใหม่
บทที่ 2 การรู้และการเห็น
บทที่ 3 พ้นภาษา
บทที่ 4 ฟิสิกส์แนวใหม่
บทที่ 5 ศาสนาฮินดู
บทที่ 6 พุทธศาสนา
บทที่ 7 ปรัชญาจีน
บทที่ 8 ลัทธิเต๋า
บทที่ 9 นิกายเซน
บทที่ 10 เอกภาพแห่งสรรพสิ่ง
บทที่ 11 เหนือโลกแห่งความขัดแย้ง
บทที่ 12 จักรวาลอันเคลื่อนไหว
บทที่ 13 ความว่างและรูปลักษณ์

บทที่ 2 การรู้และการเห็น

6

2.5   ทุกสิ่งเป็นตัวเลข

อย่างไรก็ตาม ญาณดังกล่าวจะเป็นสิ่งไร้ค่าแก่วิชาฟิสิกส์ หากว่าไม่สามารถนำใปใช้สร้างสูตรทางคณิตศาสตร์ขึ้นและอธิบายเป็นภาษาสามัญได้ ลักษณะสำคัญของสูตรดังกล่าวก็คือการย่อสรุปดังที่ได้กล่าวแล้ว มันประกอบด้วยระบบของความคิดและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ก่อรูปขึ้นเป็นแผนที่ของความจริง แผนที่นี้แทนบางแง่มุมของความจริงเท่านั้น เราไม่อาจรู้ได้อย่างชัดเจนว่าความจริงคืออะไร เนื่องจากเรารวบรวมแผนที่ของเราทีละเล็กทีละน้อยตั้งแต่ในวัยเด็กโดยมิได้มีการวิเคราะห์อย่างจริงจัง ดังนั้นภาษาคำพูดของเราจึงไม่อาจระบุความหมายที่ชัดเจนได้ เมื่อเราได้ยินคำพูดสักคำหนึ่งซึ่งมักจะมีความหมายหลายประการส่วนมากมันจะผ่านเข้าไปในจิตใจของเราอย่างสลัว ๆ ไม่ชัดเจน และค้างอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา ความที่ภาษาของเรามีความหมายกำกวมไม่ละเอียดชัดเจนนั้น จำเป็นสำหรับกวี ซึ่งรังสรรค์งานของเขาโดยอาศัยความหมายของภาษาที่แฝงฝังในจิตใต้สำนึก และสิ่งที่เกี่ยวโยงกับความหมายนั้นเป็นส่วนใหญ่ ในทางตรงกันข้ามวิทยาศาสตร์มุ่งที่จะจับฉวยภาษาที่มีความหมายชัดเจนและความเกี่ยวพันของภาษาที่ไม่กำกวม

ดังนั้นจึงย่อสรุปภาษาอีกชั้นหนึ่ง โดยจำกัดความหมายของคำทำให้โครงสร้างของมันเป็นมาตรฐานเดียวกันโดยกฏของตรรกศาสตร์การย่อสรุปดังกล่าวถึงขึ้นสัมบูรณ์ในคณิตศาสตร์เมื่อคำพูดถูกแทนด้วยสัญลักษณ์และความเกี่ยวโยงระหว่างสัญลักษณ์ต่าง ๆ ถูกกำหนดอย่างชัดเจนตายตัว ในลักษณะเช่นนี้ นักวิทยาศาสตร์สามารถสรุปเอาข้อมูลต่าง ๆ ลงในสมการทางคณิตศาสตร์เพียงสมการเดียว กล่าวคือสรุปลงเป็นสัญลักษณ์บรรทัดเดียว ซึ่งหากจะอธิบายเป็นภาษาธรรมดาอาจใช้ความยาวหลายหน้ากระดาษ ทัศนะที่ว่าคณิตศาสตร์มิใช่อะไรอื่นนอกจากภาษาซึ่งย่นย่อสรุปและถูกอัดแน่นเท่านั้น ได้รับการท้าทายเช่นกัน โดยแท้จริงนักคณิตศาสตร์หลายคนเชื่อว่าคณิตศาสตร์มิใช่เพียงภาษาซึ่งใช้อธิบายธรรมชาติ หากทว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติเองแล้ว ผู้ริเริ่มความคิดนี้คือ ปิทากอรัส ( Pythagoras) ผู้ซึ่งกล่าวประโยคที่มีชื่อเสียงว่า “ทุกสิ่งเป็นตัวเลข” และได้พัฒนารหัสยลัทธิอันมีลักษณะพิเศษในเชิงคณิตศาสตร์ได้อย่างลึกซึ้ง ปรัชญาของปิทากอรัสได้เสนอเหตุผลเชิงตรรกะเข้าสู่ขอบเขตของศาสนา จนพัฒนามาเป็นพื้นฐานที่มั่นคงของปรัชญาศาสนาตะวันตก เบอร์ทรันด์ รัสเซล กล่าวว่า การเชื่อมโยงเอาคณิตศาสตร์และเทวศาสตร์เข้าด้วย ซึ่งเริ่มขึ้นโดยปิทากอรัส  ได้เป็นลักษณะสำคัญของปรัชญาศาสนาในกรีก ในยุคกลางและในสมัยปัจจุบัน  เรื่อยมาจนถึงคานต์...ในเพลโต เซนต์ออกุสติน, โทมัส อควินา, เดคาร์ต, สปิโนชา  และเลียบนิซ มีการผสมผสานอย่างแนบแน่นระหว่างศาสนาและเหตุผล ระหว่าง  ศีลธรรมและตรรกะของสิ่งซึ่งเป็นนิรันดร ซึ่งมาจากปิทากอรัส และเป็นสิ่งที่แยก  เทวศาสตร์ของยุโรปที่เต็มด้วยเหตุผลความคิดนึก จากศาสนาของเอเชียซึ่งมี  ลักษณะตรงไปตรงมามากกว่า

<< ย้อนกลับ | หน้าถัดไป >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย