ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

เต๋าแห่งฟิสิกส์

บทที่ 1 ฟิสิกส์สมัยใหม่
บทที่ 2 การรู้และการเห็น
บทที่ 3 พ้นภาษา
บทที่ 4 ฟิสิกส์แนวใหม่
บทที่ 5 ศาสนาฮินดู
บทที่ 6 พุทธศาสนา
บทที่ 7 ปรัชญาจีน
บทที่ 8 ลัทธิเต๋า
บทที่ 9 นิกายเซน
บทที่ 10 เอกภาพแห่งสรรพสิ่ง
บทที่ 11 เหนือโลกแห่งความขัดแย้ง
บทที่ 12 จักรวาลอันเคลื่อนไหว
บทที่ 13 ความว่างและรูปลักษณ์

บทที่ 9 นิกายเซน

เมื่อจิตใจของจีนได้สัมผัสกับความคิดอินเดียในรูปของพุทธศาสนาในราวศตวรรษที่หนึ่งหลังคริสตกาล ได้มีพัฒนาการซึ่งคล้ายคลึงกันสองกระแสเกิดขึ้นในด้านหนึ่ง การแปลพระสูตรของพระพุทธศาสนาได้กระตุ้นนักคิดของจีน และนำไปสู่การตีความคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นชาวอินเดีย จากพื้นฐานทางปรัชญาของชาวจีนเองจึงเป็นการและเปลี่ยนทางความคิดที่บังเกิดผลอย่างกว้างขวาง และมาถึงจุดสุดยอดในทางพระพุทธศาสนานิกาย ฮัวเอี้ยนในจีนและพุทธศาสนานิกายคีกอนในญี่ปุ่น ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง ความเป็นนักปฏิบัติในจิตใจของชาวจีน ตอบสนองต่อการกระทบของพุธศาสนาจากอินเดียโดยมุ่งสนใจต่อด้านปฏิบัติ และพัฒนาสู่กฎเกณฑ์การปฏิบัติทางจิตใจชนิดพิเศษซึ่งเรียกว่า ฌาน ซึ่งแปลกันว่าสมาธิภาวนา ปรัชญาฌานนี้ในที่สุดญี่ปุ่นก็รับเอาไปในปี 1200 หลังคริสตกาล และได้เจริญงอกงามที่นั่นในชื่อว่า เซน และยังคงทรงชีวิตชีวาตราบจนทุกวันนี้

เซนจึงเป็นการผสมกลมกลืนของปรัชญาและลักษณะจำเพาะตัวของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันสามแหล่ง เป็นวิถีชีวิตแบบญี่ปุ่น และสะท้อนลักษณะที่เป็นความลึกซึ้งทางสติปัญญาของอินเดีย ความรักในความเป็นธรรมชาติและความเป็นไปเองของเต๋า และการเน้นการปฏิบัติของลัทธิขงจื้อ แม้ว่าเซนจะมีลักษณะที่พิเศษเฉพาะตัว แต่แก่นแท้ของเซนก็คือพุทธศาสนาเนื่องจากความมุ่งหมายของเซนก็คือ การตรัสรู้อย่างพระพุทธองค์ซึ่งเรียกกันในภาษาของเซนว่า สาโตริ ประสบการณ์แห่งการตรัสรู้เป็นแก่นแท้ของปรัชญาตะวันออกสาขาต่าง ๆ แต่เซนมีลักษณะจำเพาะตัวตรงที่มุ่งเน้นเป็นพิเศษเฉพาะประสบการณ์แห่งการตรัสรู้นี้โดยไม่สนใจในการตีความทั้งหลาย สึซึกิ กล่าวว่า “ เซน เป็นระเบียบปฏิบัติแห่งการตรัสรู้ ” ในทัศนะของเซน การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะบรรลุถึงความตื่นอย่างสมบูรณ์ เป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา คำสอนอื่น ๆ นอกจากนั้น ดังที่อธิบายกันในพระสูตรหลายเล่มถือว่าเป็นส่วนเสริมประกอบ ประสบการณ์ของเซนจึงเป็นประสบการณ์แห่งสาโตริ และในเมื่อประสบการณ์เช่นนี้โดยปรมัตถ์แล้วไปพ้นความคิดในทุกลักษณะ ดังนั้นเซนจึงไม่สนใจในการย่อสรุปหรือการสร้างแนวคิดใด ๆ เซนไม่มีคำสอนหรือปรัชญาที่พิเศษพิสดารปราศจากหลักความเชื่อและกฎเกณฑ์ซึ่งปราศจากเหตุผล และยังยืนยันด้วยว่า อิสรภาพจากความเชื่อที่กำหนดตายตัวทั้งมวล ซึ่งเป็นสิ่งแสดงว่าเซนเป็นเรื่องของจิตวิญญาณอย่างแท้จริง เซนเชื่อมั่นว่าคำพูดไม่อาจแสดงสัจจะสูงสุดได้ สิ่งนี้แสดงออกอย่างชัดเจนในเซนมากกว่าในศาสนาอื่น ๆ ของตะวันออก เซนคงต้องได้รับอิทธิพลในเรื่องนี้จากลัทธิเต๋าซึ่งแสดงทัศนะในทำนองเดียวกัน จางจื้อกล่าวว่า “ หากมีคนถามถึงเต๋า และอีกคนหนึ่งตอบ ทั้งสองคนนั้นไม่รู้เรื่องเต๋าเลย ”

หน้าถัดไป >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย