ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

ความฝัน

ธาตุกำเริบ

ธาตุในที่นี้อย่าพูดว่าธาตุคือน้ำย่อยอาหารไม่ดีในกระเพาะอาหาร และในลำไส้มีแก๊สมาก แล้วไปกระทบกระเทือนระบบประสาท ทำให้เกิดความฝันแต่อย่างเดียว อาจจะเป็นธาตุอย่างอื่นก็ได้ เช่นเป็นโรคที่เกี่ยวกับโลหิต ความดันโลหิต หรือเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ ถ้ามันมากระทบกระเทือนระบบประสาทแล้ว ก็กระเทือนไปถึงจิตใจทำให้เกิดฝันได้ ก็เรียกว่าธาตุทั้งนั้น

ถ้าความฝันเกิดจากอำนาจของธาตุ จะเป็นแก๊สหรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ โลหิต หรือเกี่ยวกับปอด ฯลฯ ถ้ามากระทบกระเทือนก่อให้เกิดความฝันขึ้นแล้ว ฝันนี้จะไม่จริงเลย เป็นฝันเหลวไหลเลอะเลือน

ในต่างประเทศเขาเคยทดลองคนฝัน เขาได้เอาลวดอีเลคโทรดต่อกับเครื่องมาติดที่ศีรษะและร่างกาย ติดไว้หลายๆแห่งเพื่อจะทดสอบ ก็ปรากฏว่าผู้ที่นอนหลับทั้งหลาย บางทีเข็มแสดงปรากฏการณ์ต่างๆ เป็นพฤติกรรมที่แสดงออก เพราะอำนาจของจิต เวลามันทำการมันก็ถึงสมอง เมื่อเวลาสมองทำงานมันจะแสดงให้เห็นชัดเจน เขาก็รู้แล้วว่าคนนี้ฝันหรืออย่างน้อยก็หลับไม่สนิท เพราะมันไม่เป็นปรกติเหมือนภวังคจิต นอนหลับสนิททีเดียว นักวิทยาศาสตร์ฝ่ายจิตเขารู้ว่าจิตของบุคคลที่หลับนั้นไม่ได้หลับจริงๆ มันทำงานได้ แสดงออกทางร่างกายหรือทางหน้าตาได้ แต่ไม่ทราบว่ามันทำการงานอะไรเท่านั้น

บรรดาบุคคลผู้ซึ่งฝัน ก็คือการสร้างมโนภาพขึ้นทางมโนทวาร จิตใจได้สร้างภาพขึ้น แต่ภาพที่สร้างขึ้นนั้นมาจากบุพพนิมิต คืออำนาจกรรมมากระทบบ้าง จากอำนาจของจิตที่เรียกว่าจิตอาวรณ์บ้าง อำนาจของเทวดามาสังหรณ์บ้าง แล้วอำนาจของธาตุบ้าง หรืออำนาจของภายนอกที่ไม่เกี่ยวกับธาตุโดยตรงก็ได้

เช่นตัวอย่างที่ผมได้ยกมาเมื่อสักครู่นี้ เช่นนักวิทยาศาสตร์เขาได้เอาเครื่องทดลองต่างๆ เข้ากระทบคนไข้ กระทบร่างกายคนไข้แล้วคนไข้ก็สร้างภาพนิมิตขึ้น เช่นเอาน้ำไปรดที่มือ หรือเอาน้ำไปหยดๆ ที่มือ ความรู้สึกที่มือเย็นๆ ความรู้สึกว่าน้ำนั้นมี แต่ในขณะนั้นจิตไม่ได้ออกมาทำความรู้สึกเต็มตัวทางปัญจทวาร สร้างมโนภาพขึ้นว่ากำลังลุยน้ำ เพราะอำนาจของการกระทบนั้นมันไปสร้างภาพลุยน้ำ บางทีเอาความร้อนเข้าไปถูกต้อง ก็สร้างภาพเหมือนไฟ ว่าไฟไหม้ เอะอะๆ ลุกขึ้นมาดังนี้เป็นต้น

ฉะนั้นสิ่งที่ไปกระทบร่างกายทั้งหมด นอกจากภายในแล้วยังกระทบภายนอกอีกอันทำให้เกิดความฝันได้เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ การกระทบจากภายในก็ตาม หรือจากภายนอกก็ตาม ที่มากระทบด้วยสาเหตุต่างๆ กันดังกล่าวแล้ว จะเอาจริงไม่ได้

ปัญหาต่อไปมีว่า เหตุใดความฝันจึงเป็นความจริงขึ้นมาได้ ถ้าความฝันไม่เป็นความจริงก็ไม่น่าสงสัยอะไร เพราะแล้วแต่เหตุหรือเรื่องราวที่มากระทบมันร้อยแปดพันอย่าง แต่ทำไมเล่ามันจึงเป็นความจริงขึ้นมาได้ ที่ผมเคยเล่าให้ท่านนักศึกษาฟังว่า ในอังกฤษที่เขาได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับความเร้นลับในเรื่องต่างๆ มีถึง 10 กว่าหัวข้อ

และมีอยู่หัวข้อหนึ่งเป็นหัวข้อที่เกี่ยวกับความฝัน ถ้าสมาชิกคนใดฝันแล้วให้จดบันทึกเอาไว้ เมื่อบันทึกแล้วก็ต้องคอยบันทึกอีกเมื่อความจริงปรากฏ หรือความจริงไม่ปรากฏภายในเวลาอันสมควร คือมาลงในหมายเหตุว่าเรื่องที่ฝันที่บันทึกไว้แล้วนั้นเป็นเรื่องจริง หรือเหลวไหลประการใด

ผลปรากฏว่าในจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่ได้บันทึกความฝันไว้นั้นเป็นความจริงกันเป็นอันมาก ดังนั้นบรรดาฝรั่งนักจิตวิทยาทั้งหลายก็พากันคิด พากันค้น ว่าเหตุไฉนความจริงถึงได้ปรากฏขึ้นมาได้ แต่ปัญหาบางอันที่เขาต้องทิ้งไปก็คือ อำนาจของกรรมกับเทพสังหรณ์ เพราะเขาได้ไม่รู้จักว่า กรรมคืออะไร เทวดาคืออะไร มีจริงหรือไม่ เพราะพวกนักจิตวิทยาเขาไม่เข้าใจเรื่องกรรม และไม่เชื่อเรื่องเทวดากันอยู่แล้ว ดังนั้นเขาจึงไม่ทราบจึงตัดอันนี้ออกไป เมื่อตัดทิ้งออกไปเสียแล้วถึงจะค้นเข้าไปอย่างไรก็ไม่เจอะ

จนเดี๋ยวนี้เขาก็ยังค้นไม่พบอะไร รวมเวลาก็นานปีมาแล้วสมาคมนี้ที่ตั้งขึ้นมาจนบัดนี้ ยังไม่ทราบว่าความฝันคืออะไร แล้วก็ยังไม่ทราบว่า ความฝันที่เท็จหรือจริงได้นั้นเพราะเหตุอะไร สำหรับคนไทยเราที่ว่าเทวดามาทำให้ฝันเป็นเรื่องจริง เราก็เชื่อ แต่ที่เป็นบุพพนิมิตนั้นทำไมถึงเป็นจริงขึ้นมาได้

อำนาจของกรรมทำให้รู้ความจริงล่วงหน้าได้อย่างไร บุคคลใดที่ถึงคราวจะร่ำรวยใหญ่โตแล้ว บางคนมีอำนาจของกุศลกรรมที่ทำไว้ในอดีตมาสร้างภาพให้ปรากฏเป็นนิมิตขึ้น แต่เมื่อถึงคราวที่โชคร้ายหรือเคราะห์ร้ายจะล่มจม ก็สร้างภาพนี้ขึ้นมาด้วยอำนาจของอกุศลกรรมเช่นเดียวกัน

เมื่อตั้งคำถามว่า คนเราเมื่อนอนหลับแล้ว ทำไมจึงได้ตื่นตรงกับเวลาที่ได้ตั้งใจเอาไว้ เช่นจนที่ตั้งใจว่าจะตื่นตี 4 หัดอยู่ไม่นาน ถึงตี 4 ก็จะตื่นขึ้นมาทุกครั้ง

เมื่อเรามีเหตุการณ์ที่สำคัญมากเกิดขึ้น จำเป็นจะต้องไปต่างจังหวัดโดยทางรถไฟ แต่สถานีรถไฟก็อยู่ห่างไกล ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องตื่นขึ้นมาตั้งแต่เวลาตี 4 หาไม่แล้วจะไม่ทันรถไฟแน่นอน แล้วความเสียหายใหญ่หลวงก็จะเกิดขึ้น ในคืนเช่นนี้ เรามักจะตื่นขึ้นมาก่อนตี 4 ทั้งนี้เกิดขึ้นได้เพราะอำนาจของเจตนาที่ได้ตั้งเอาไว้อย่างแรงก่อนที่จะเข้านอนมากระทบกับใจ แต่เจตนาดังกล่าวนี้ทราบได้อย่างไรเล่าว่าเวลาเท่าใด เพราะกำลังนอนหลับอยู่แท้ๆ

เราเรียนพระอภิธรรมมาแล้วเราก็ทราบว่า เพราะอำนาจของเจตนานั่นเองเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ต้องตื่นขึ้นมาได้ อำนาจของเจตนา คือ อำนาจของกรรมนั่นเองที่ไปกระทบกับจิตจึงได้เกิดอารมณ์แล้วตื่นขึ้นมา แต่เหตุไฉนเล่า ตัวเจตนาหรือตัวกรรม ซึ่งก็ไม่เป็นตัวเป็นตนอะไร เห็นก็ไม่ได้ สัมผัสทางกายก็ไม่ได้ ทำไมจึงได้มีความรู้ได้ว่า เวลานั้นตี 4 แล้ว จึงมากระทบใจทำให้ตื่นขึ้น เพราะในขณะนั้นก็นอนหลับสนิทจิตเป็นภวังค์

ทั้งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะการฝึกจนเกิดความสันทัดจัดเจน เมื่อฝึกฝนเป็นอย่างดีแล้ว กรรมก็จะกระทบกับจิตตามเวลาที่กำหนดเสมอ แต่ถ้าไม่ได้ฝึกเอาไว้แล้วจะตื่นตรงตามเวลาไม่ได้ มักจะตื่นเร็วกว่าเวลาที่ได้ตั้งใจไว้ เพราะมีความตั้งใจแรงมาก

ดังนั้น เราจึงได้พูดว่า อำนาจของกรรมที่ทำบาปทำบุญเอาไว้นี่แหละมาสร้างนิมิตให้ปรากฏให้รู้ได้ว่าถึงคราวจะต้องตายแล้ว บางทีมันก็ฝันว่าได้พบกับเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอย่างร้ายแรงที่สุด แต่ถึงคราวจะมีลาภ ก็เกิดความฝันเสียก่อนก็ได้

ท่านนักศึกษา ผมก็คิดว่าได้บรรยายเรื่องความฝัน และเหตุของความฝัน 4 ประการไปแล้วพอสมควร คงจะทำให้ท่านพอได้เห็นเป็นแนวทางได้บ้าง ต่อไปนี้ผมจะขอกล่าวถึงความฝันว่า ผู้ที่ฝันนั้นจะต้องเกิดอยู่ในภูมิไหนบ้าง และใครที่ไม่ฝันเลย

ความฝันย่อมเกิดได้ใน 4 ภูมิ คือ

มนุษย์ภูมิ 1

อบายภูมิ 3 ได้แก่ เปตติภูมิ, อสุรกายภูมิ, และติรัจฉานภูมิ เว้นนิรยภูมิ เพราะสัตว์นรกได้รับทุกข์ทรมานมากจนไม่มีการหลับนอนกันจริงๆ จังๆ (สำหรับท่านที่มีความสงสัยในเรื่องเหล่านี้ ขอเชิญอ่านเรื่อง “ผีสางเทวดา” ของอภิธรรมมูลนิธิ จะทราบว่าสัตว์เหล่านี้ ร่างกายเป็นรูปปรมาณูอย่างไร)

ท่านนักศึกษา ในเรื่องของความฝันนี้จะเห็นได้ว่า ยกเว้นอบายภูมิ 1 คือสัตว์นรก เพราะสัตว์นรกมีแต่ได้รับความทุกข์มรมานจากอาวุธบ้าง จากความร้อนบ้าง อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นโอกาสที่จะสร้างความฝันให้เป็นนิมิตขึ้น จึงมีไม่ได้ ดังนั้น ก็ยกออกเสียภูมิหนึ่ง

บรรดาเทวดาที่ยังฝันอยู่ก็เพราะเทวดาเหล่านั้นยังมีกิเลส ยังกินอยู่หลับนอนเที่ยวเตร่สนุกสนาน เรื่องฝันนี้มันจึงต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะยังมีการนอนหลับ เพราะยังมีกิเลสอยู่ในใจ ความฝันจะต้องโผล่ขึ้นมาจนได้ วิปลาสธรรมยังไม่หนีพ้นไปจากจิตใจ เพราะฉะนั้น ในเทวภูมิก็ต้องฝันอยู่ทุกภูมิ ยิ่งในชั้นจาตุมหาราชิกาที่ใกล้ชิดกับมนุษย์นี้ โอกาสที่จะฝันก็มีมากยิ่งขึ้น

ท่านนักศึกษาก็จะเห็นได้ว่าเรายกเว้นภูมิสัตว์นรกไป ซึ่งเป็นภูมิต่ำสุดภูมิหนึ่งแล้ว นี่ว่าถึงภูมิอันเป็นที่ๆสัตว์มาเกิด แต่ภูมิชั้นสูงสุดที่ไม่ฝันก็มี ได้แก่ รูปพรหม อรูปพรหม เพราะพักผ่อนหลับนอนด้วยสมาธิ ด้วยฌานในขั้นต่างๆ ที่ตนฝึกฝนมา และกิเลสทั้งหลายที่ถูกข่มลงไว้ด้วยอำนาจของสมาธิที่ถึงฌาน

(อาจารย์บางท่านแสดงว่า เทวดาชั้นต่ำคือจาตุมหาราชิกาภูมิเท่านั้นที่ยังฝันอยู่ ส่วนชั้นที่สูงขึ้นไปอีก 5 ชั้นนั้นไม่มีความฝันเลย สำหรับผมเองเชื่อแน่ว่าฝันได้ทุกๆ ชั้น เพราะทุกๆ ชั้นกิเลสยังมิได้ถูกทำลายหรือถูกข่มเอาไว้)

ความฝันย่อมเกิดขึ้นได้ในบุคคล 7 คือ

1.ทุคติบุคคล ทุคติบุคคลมี 4 คือ เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ยกเว้นสัตว์นรกเสียภูมิหนึ่ง เหลือแต่เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน 3 พวกนี้ฝันได้

2. สุคติอเหตุกบุคคล คือ มนุษย์และเทวดา ที่ปฏิสนธิมีกำลังของกุศลอ่อนเพราะมีอกุศลเข้ามาพัวพันในขณะปฏิสนธิ สุคติอเหตุกบุคคลก็คือ ผู้พิกลพิการมาแต่กำเนิด จะเป็นมนุษย์ก็ตาม จะเป็นเทวดาก็ตาม (ชั้นจาตุมหาราชิกา) แต่พิกลพิการตั้งแต่ปฏิสนธิ เช่น ร่างกายพิการบ้าง จิตใจไม่สมประกอบบ้าง หรือทั้งร่างกายและจิตใจไม่สมประกอบทั้งสองอย่าง

ทั้งนี้เพราะบุญนำเกิดก็จริง แต่บุญมีบาปเข้าไปพัวพัน บุญมีบาปเข้าไปพัวพันเลยทำให้ไม่สมประกอบ เช่น คนชอบฆ่าสัตว์อยู่เสมอๆ ชอบยิงนก ชอบตกปลาอยู่บ่อยๆ ดังนั้นเวลาปฏิสนธิ บุคคลนี้บุญนำเกิด แต่ยิงนกตกปลาก็เข้ามาร่วมปะปนด้วย ดังนั้นแข้งขาจึงเสีย ปากเสีย หน้าเสีย แขนไม่ดี อะไรก็ได้ที่บกพร่องไป

หรือบุคคลนี้ชอบทำบุญ แต่ชอบกินเหล้าหรือเสพยาเสพติดให้โทษด้วย เช่น ชอบเมามายขาดสติอยู่เสมอ เวลามาเกิดก็เกิดเป็นคนได้ เกิดเป็นเทวดาจาตุมหาราชิกา (ต่ำสุด) ก็ได้ แต่ทว่าจิตใจไม่ค่อยจะสมประกอบ เช่น ปัญญาทึบบ้าง ปัญญาอ่อนบ้าง ไม่ค่อยรู้ประสีประสาอะไรบ้าง เป็นเทวดาก็จริง แต่เป็นเทวดาปัญญาอ่อน เป็นเทวดาที่ใบ้ๆ บ้าๆ ไม่ค่อยจะเต็มเต็ง

3. ทวิเหตุกบุคคล หมายความว่า บุคคลผู้มีเหตุ 2 คือ บุคคลผู้มีอโลภะ อโทสะ คือ ในเวลาเกิด ไม่ประกอบด้วยความโลภและความโกรธเข้ามาพัวพัน เวลาทำกุศลส่วนมากก็มีความตั้งใจดี ยกตัวอย่างเช่น อำนาจของกุศลนำให้เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดา ถ้าเกิดเป็นมนุษย์หรือเกิดเป็นเทวดา ก็หมายถึงว่า ผู้นั้นไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา (ปัญญาในทางธรรม) เมื่อเวลามาเกิด ปัญญาไม่ได้มาร่วมเกิดด้วย จิตเป็นกุศลอย่างเดียว

เช่นยกตัวอย่าง นาย ก. ชอบทำบุญ ให้ทาน รักษาศีลอยู่เสมอๆ แต่ว่าเมื่อมีใครไปถามนาย ก. ว่าทำบุญอยู่เสมอดีอย่างไร ก็จะได้รับคำตอบว่า ก็ทำๆ ไปอย่างนั้นแหละ มีเงินมีทองก็ทำๆ ไปเผื่อๆ เอาไว้บ้าง เผื่อชาติหน้ามีจะได้สบายๆ และมีคนถามว่าแล้วเชื่อหรือว่าชาติหน้ามีหรือเปล่า ก็จะตอบว่า ไม่ทราบ และไม่เอาใจใส่ ขี้เกียจคิด ขี้เกียจค้นชาติหน้ามีหรือไม่มีก็ไม่เป็นไร เราทำเผื่อๆ ไว้เผื่อมันมีบ้างจะได้รับผล ถ้าไม่มีก็แล้วไป

หรือคนทำที่คิดในใจว่า ถ้าชาติหน้ามี จะได้ขึ้นสวรรค์ จะได้สบาย แล้วก็ทำบุญไป แต่ว่าความเชื่อของเขาไม่ประกอบด้วยเหตุผล เชื่อไปอย่างนั้นเอง ใครๆ เขาเล่ามาว่าอย่างนั้น ฟังตามเขาและเชื่อต่อๆ กันไป ไม่ได้เคยพิจารณา เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย ว่าชาติหน้ามีและจะไปเกิดได้ ก็เชื่อตามกันมา ก็เลยทำบุญให้ทาน เพราะฉะนั้น จึงกลายเป็นบุคคลผู้เกิดเป็นทวิเหตุกบุคคล คือไม่มีความโลภในขณะปฏิสนธิ ไม่มีความโกรธในขณะปฏิสนธิ แต่มีโมหะ ความโง่อยู่ภายในจิตใจ (ไม่มีปัญญาในทางธรรม) จึงเรียกว่าทวิเหตุบุคคล

4. ติเหตุกบุคคล ได้แก่ผู้มีปัญญาเข้าประกอบ คือได้ศึกษาเล่าเรียนเรื่องของชีวิต หรือชอบคิดพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ถึงจะไม่ได้เล่าเรียนก็ตาม แต่คอยสังเกตคอยพิจารณา คอยเอาใจใส่ในการที่จะทำความเข้าใจในปัญหาของชีวิต ดังนั้นท่านผู้นี้ก็มีปัญญา รู้ว่าคนเรานี้ต้องเกิดเหตุอย่างนั้น ทำให้ได้รับผลอย่างนี้

หรือบางคนเขาไม่ได้เรียนก็จริง แต่เขาบอกว่าคนเรานี้จะต้องเกิดอย่างแน่นอน เพราะว่าอย่างความโกรธของเรานี้ พ่อแม่ไม่ได้สอนโกรธให้เราเลย แต่เราโกรธขึ้นมาของเราเองได้ บางคนโกรธมาก บางคนโกรธน้อย เพราะได้เคยฝึกหัดมาอย่างนี้ มันต้องติดมาจากชาติก่อนอย่างแน่นอน ชาติก่อนเราต้องโกรธมาแล้ว มีความโกรธซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจติดตัวมา พอคลอดออกมาจากครรภ์ของมารดา ความโกรธก็มีแล้ว ไม่ต้องมีใครมาสั่งมาสอนให้ และถ้าคนเรามีแต่ร่างกายกับมันสมองเท่านั้น มันจะโกรธได้อย่างไรกัน

บางคนอาจจะคัดค้านว่า สมองต่างหากเล่าที่เกิดความโกรธ เขาก็จะเถียงว่า สมองจะคิดได้อย่างไรกัน สมองเป็นรูป เป็นสสาร ย่อมคิดไม่ได้ แล้วจะรู้จักความดี ความชั่ว บุญหรือบาปได้หรือ คนที่เขามีความคิดอ่านอย่างนี้มีอยู่ และเขาก็เชื่อว่าชาติหน้ามีด้วย

ฉะนั้น บุคคลผู้ศึกษาเล่าเรียนมาก็ดี หรือคิดพิจารณาอย่างลึกซึ้งก็ดี จิตก็มีปัญญาเกิดขึ้น เมื่อเวลาเขาตายไปแล้วไปเกิดชาติหน้าก็จะเกิดเป็นติเหตุบุคคล คือในขณะเกิดมีปัญญาร่วมด้วย ไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ และไม่มีความหลง ได้อโลภะ อโทสะ อโมหะ ในขณะปฏิสนธิ รวม 3 ประการ เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญา (ปัญญาในปัญหาของชีวิต) เหล่านี้ก็มีฝันได้

พวกติเหตุกบุคคลนี้ เมื่อทำสมาธิก็จะได้รับผลดี ได้รับผลดีจนปฏิบัติได้ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป เมื่อตายลงไปก็จะเกิดเป็นพรหม เพราะทำสมาธิจนได้ฌานในขั้นต่างๆ บรรดาพวกพรหมทั้งหลายตลอดจนถึงอรูปพรหมด้วย พักผ่อนหลับนอนอยู่ในฌานเป็นส่วนมาก และกิเลสทั้งหลายก็ถูกอำนาจของสมาธิข่มเอาไว้ จึงฝันไม่ได้

ท่านนักศึกษา บุคคลเหล่านี้ไม่มีกิเลสวุ่นวายมากมายแล้ว กิเลสของเขาถูกข่มเอาไว้โดยวิกขัมภนปหาน คือข่มไว้ได้เป็นเวลานานๆ ด้วยอำนาจของสมาธิที่ถึงฌาน ความเป็นหญิง ความเป็นชาย อันเป็นรูปปรมาณูทั่วร่างกายไม่มี รูปร่างของพวกพรหมเหมือนผู้ชาย พรหมทั้งหลายไม่มีหญิง ไม่มีชาย คือไม่มีเพศ ความรู้สึกทางเพศก็ไม่มี ด้วยความปรารถนาในอาหารเช่นที่เรากิน หรืออาหารทิพย์ที่เทวดาบริโภคก็ไม่มี ความอยากสนุกสนานเบิกบานใจของเขาก็ลดลงไปจนถึงขนาด จมูกก็ไม่มีประสาทรับสัมผัส ลิ้นก็ไม่มีประสาทรับรส กายก็ไม่มีประสาทรับสัมผัสถูกต้อง มีแต่ประสาทตา ประสาทหูเท่านั้น และมีแต่ใจที่ชอบความสงบ เพราะฉะนั้นพวกพรหมทั้งหลายไม่มีโอกาสจะฝันได้เลย

5.โสดาบันบุคคล ฝันได้

6.สกทาคามีบุคคล ฝันได้

7.อนาคามีบุคคล ที่เป็นมนุษย์ยังไม่สิ้นอาสวกิเลส และยังมีการพักผ่อนหลับนอน เพราะวิปลาสบางประการยังหลงเหลืออยู่บ้าง อาจมีการฝันบ้างเป็นส่วนน้อย มีความฝันเกิดขึ้นได้เล็กน้อยเหลือเกิน เกือบจะว่าไม่มีเลย

ส่วนพระอรหันต์นั้นไม่มีความฝันเลย ไม่มีการหลับนอนพักผ่อนเหมือนปุถุชนและเสกบุคคลทั้งหลาย เพราะเหตุว่าพระอรหันต์นั้นสิ้นจากอาสวกิเลสแล้วด้วยอำนาจสมุจเฉทปหาน วิปลาสสิ้นแล้ว พระอรหันต์จึงไม่มีความฝันแต่อย่างใด

ที่พูดว่าพระอรหันต์ไม่ได้มีการพักผ่อนหลับนอนนั้น ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้นอนหลับ ภวังคจิตมีอยู่ แต่ไม่ได้มีความง่วงเหงาหาวนอน เพราะถีนะ มิทธะ คือตัวการที่ทำให้เกิดความง่วงเหงาหาวนอนนั้นเป็นเรื่องของปุถุชนที่มีกิเลส แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วไม่มีโอกาสที่จะง่วงเหงาหาวนอนเลย

ถ้าภวังคจิตเกิดขึ้นก็เป็นภวังคจิตที่เกิดต่อจากจิตที่ตั้งอยู่ในความสงบ เพราะว่าบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายมีชีวิตเป็นไปเป็นปรกติ เรียกว่าเป็นฉฬังคุเบกขา วางใจเป็นกลางอยู่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรที่จะมาสามารถกระทบกระเทือนให้เอียงไปทางเหนือ เอียงไปทางใต้ หรือหลุดออกจากความเป็นกลางนั้นไปได้ เพราะเหตุแห่งกิเลสไม่มีนั่นเอง

ท่านนักศึกษา แล้วเราทำไมถึงมีการพักผ่อนมากนัก เวลานอนตั้ง 8 ชั่วโมง พระอรหันต์ไม่ต้องถึงหรอก มีเพียงนิดๆ หน่อยๆ สลับกันไปเรื่อยๆ

แต่พวกเรานั้นกิเลสมันใช้ให้ทำงานมาก เดี๋ยวคิดเรื่องคู่รัก เรื่องความเครียดแค้นชิงชัง คิดถึงเรื่องการทำมาหากิน คิดเรื่องที่ใครๆ มาต่อล้อต่อเถียงให้วุ่นวายใจ คิดเรื่องญาติมิตร คิดเรื่องลูกหลาน คิดถึงสิ่งแวดล้อม คิดถึงตัวว่าเรานี้เมื่อก่อนไม่มีใครมาเรียกว่าลุง ว่าป้าเลย เดี๋ยวนี้มีคนเรียกเป็นลุง เป็นป้าไปเสียแล้ว แหม! เรานี่แก่ไปถนัดเลย อีกไม่เท่าไรเห็นจะไปบ้านเก่า คิดไปคิดมา คิดเท่าไร กิเลสมันเข้ามาเท่านั้น พลังงานมันก็เสียไปเท่านั้น คนยิ่งคิดมันก็เสียพลังงาน

เพราะฉะนั้นบรรดาบุคคลทั้งหลายที่เป็นปุถุชนมันก็ต้องนอนมากๆ เพื่อชดใช้ที่เราใช้งานไป เพราะถูกใช้งานมาก แล้วเราก็หัดนอนมากมายจนเคยตัว

สำหรับพระอรหันต์ไม่มีคิดอย่างนั้น เพราะท่านไม่มีความกังวล ห่วงใย ทุกข์ร้อน ท่านคิดเหมือนกัน แต่คิดเรื่องที่เกี่ยวแก่สภาวธรรม คิดแต่เรื่องธรรมะ และหาทางให้ประชาชนได้เรียนรู้ให้มีความเข้าใจในปัญหาของชีวิตและความพ้นทุกข์

ดังนั้น ท่านนักศึกษาก็จะเห็นว่าพระอรหันต์มีความสุขที่สุด ความเร่าร้อนใจไม่มี ถ้าจะมีความทุกข์บ้างก็เป็นความทุกข์ที่เกิดทางกายอย่างเดียวเท่านั้น เช่น เจ็บ หรือหิว อย่างนี้เป็นต้น

ในวันนี้เราก็เรียนกันถึงเรื่องความฝันจบลง เรื่องของความฝัน ผมก็ได้บรรยายให้ท่านนักศึกษารับฟังรวม 2 ครั้ง ครั้งละประมาณชั่วโมงครึ่ง ก็หวังว่าคงจะทำความเข้าใจให้แก่ท่านได้บ้างแล้ว

ต่อจากนี้ไป ท่านผู้ใดจะซักถามปัญหาอะไรก็ขอเชิญได้แล้ว.

<< ย้อนกลับ | หน้าถัดไป >>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย