ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
ชีวิตเพื่อสันติสุขและสันติภาพ
พระทศพล เขมาภิรโต
ทัศนะแบบองค์รวม
เราอาจเคยได้ฟังวงดนตรี ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีหลาย ๆ ชิ้น รวมกันทำหน้าที่ของตนบรรเลงเพลงอันไพเราะ โดยที่เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นได้สร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงสอดร้อยประสานเสียง ก่อให้เกิดพลังในทางสุนทรียะอันงดงามสมบูรณ์ความเป็นจริงในลักษณะเดียวกัน อาจจะเกิดขึ้นกับป่า ซึ่งประกอบด้วยพืชพันธุ์ และสัตว์จำนวนมากมาย รวมกันอยู่เป็นระบบนิเวศ โดยที่แต่ละส่วนทำหน้าที่เกื้อกูลกัน ป่าหรือระบบนั้นสามารถก่อให้เกิดคุณค่าได้อย่างงดงามสมบูรณ์ได้เช่นเดียวกัน
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต 2540 :31) ได้ให้ความหมายขององค์รวมไว้ดังนี้
องค์รวมคือการประชุมเข้าของปัจจัยหรือองค์ประกอบต่าง ๆ องค์ประกอบเหล่านี้ต่าง ๆ ก็สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เมื่อสัมพันธ์กันพอดีก็จะทำให้ทุกอย่างเป็นไปพอดี
ณัฐพงษ์ เจริญทิพย์ (2541 : 2-3) ได้ให้ความหมายขององค์รวมไว้ว่า
องค์รวม (Holistic) มาจากคำเดิมในภาษากรีกคือ holos มีความหมายว่า รวม หรือทั้งหมด(whole) อธิบายว่า ความเป็นจริงทั้งหมดของสิ่งใด ย่อมมีคุณสมบัติสำคัญเฉพาะตน ซึ่งไม่สามารถเข้าใจได้โดยการแยกสิ่งนั้น ออกเป็นส่วนย่อย ๆ แล้วศึกษาจากคุณสมบัติของส่วนย่อย ๆ นั้น แม้จะเอาคุณสมบัติของส่วนย่อย ๆ มารวมกัน ก็ไม่สามารถเทียบความหมายหรือความสำคัญกับคุณสมบัติขององค์รวมหรือส่วนที่เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่ร่วมกันขององค์ประกอบย่อยทั้งหลายได้ (อ้างจาก The Training Point " Fritjof Capra")
ดังนั้นเมื่อพิจารณาอย่างละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า ความเป็นองค์รวมของสิ่งทั้งหลายนั้น เกิดขึ้นด้วยลักษณะสำคัญคือ สรรพสิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้งในระบบย่อยและระบบใหญ่ โดยที่ความสัมพันธ์นั้นเกิดขึ้นในลักษณะของความเคลื่อนไหว และผลจากการเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ทำให้สิ่งที่เป็นระบบหรือองค์รวมนั้นมีคุณสมบัติแตกต่างไปจากคุณสมบัติย่อยของแต่ละองค์ประกอบมารวมกัน
ทัศนะแบบองค์รวมตามแนวคิดตะวันตก
ทัศนะแบบองค์รวมในทางวิทยาการของโลกตะวันตกนั้น ได้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในหลักวิชาทางจิตวิทยา นักจิตวิทยากลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า กลุ่มจิตวิทยา เกสตัลท์ ได้เกิดขึ้นในประเทศเยอรมนีในราวปี ค.ศ. 1912นักจิตวิทยาที่เป็นผู้นำของกลุ่มนี้มี แมกซ์ เวิร์ท ไฮเมอร์ และมีผู้ร่วมงานคือ เคิร์ท คอฟก้า และวูล์ฟแกง เคอเลอร์ ภายหลังบุคคลเหล่านี้ได้อพยพไปอยู่ในประเทศอเมริกา แล้วช่วยกันก่อตั้งกลุ่มจิตวิทยาแกสตันท์ขึ้นในอเมริกาอีกครั้งหนึ่งแนวความคิดสำคัญของนักจิตวิทยากลุ่มนี้ก็คือ มนุษย์มีการมองเห็น หรือการับรู้สรรพสิ่งต่าง ๆ เช่น ธรรมชาติ วัตถุ บุคคล พฤติกรรม เป็นต้น ในลักษณะขององค์รวม ซึ่งมีสาระสำคัญของความคิดว่า ส่วนรวมหรือองค์รวมมีค่ามากกว่า หรือยิ่งใหญ่กว่าผลรวมของส่วนย่อยต่าง ๆ ที่มารวมกัน (The whole is greater than the sum of its parts) เช่นความเป็นบ้านมีค่ามากกว่าการรวมกันของส่วนย่อย ๆ ของเสา หน้าต่าง หลังคา ห้อง และประตู เป็นต้น (Kalat 1990 :165)
ทัศนะแบบองค์รวมตามแนวปรัชญาตะวันออก
ทัศนะแบบองค์รวมตามแนวปรัชญาตะวันออก มีปรากฏให้เห็นทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมจนสามารถกล่าวได้ว่า เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งตามแนวปรัชญาตะวันออก ซึ่งทัศนะแบบองค์รวมได้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนจากคำสอนในศาสนาพราหมณ์ จากหลักของลัทธิเต๋า และจากพระพุทธศาสนา
ฟริตจ๊อฟ ขับประ กล่าวว่าลักษณะที่สำคัญที่สุด หรือแก่นแท้ของโลกแบบตะวันออกก็คือการตระหนักรู้ในความเป็นเอกภาพ และความสัมพันธ์เนื่องกันของสรรพสิ่งและเหตุการณ์ทั้งมวล คือประสบการณ์แห่งการหยั่งรู้ว่า ปรากฏการณ์ทั้งหลายในโลกล้วนเป็นการปรากฏแสดงเป็นหนึ่งเดียว สิ่งทั้งหลายล้วนเป็นองค์ประกอบของเอกภาพ ซึ่งต้องอิงอาศัยกันอย่างไม่อาจแยกออกจากกันได้ สรรพสิ่งล้วนเป็นการแสดงในแง่มุมต่าง ๆ ของสัจจะสูงสุดอันเดียว
ในศาสนาตะวันออกได้กล่าวอยู่เสมอถึงสัจจะสูงสุดอันไม่อาจแบ่งแยกได้ ซึ่งปรากฏการแสดงอยู่ที่สรรพสิ่ง และสิ่งทั้งหลายล้วนเป็นส่วนประกอบของมัน เป็นสิ่งเดียวกัน แต่มีชื่อเรียกต่างกันตามลัทธิคือ ฮินดู เรียกว่า พรหมัน ลัทธิเต๋า เรียกว่า เต๋า และเนื่องจากสัจจะนี้อยู่เหนืออยู่เหนือแนวคิดและการแบ่งแยกทั้งมวล ชาวพุทธจึงเรียกสัจจะนี้ว่า ตถาตา หรือความเป็นเช่นนั้นเองพระพรหมตามคติของศาสนาพราหมณ์กล่าวว่า ทรงถือกำเนิดมาจากฟองไข่ และเป็นผู้ทรงสร้างโลกทั้งสาม และสรรพสิ่งทั้งหลาย ทรงแบ่งภาคสถิตอยู่ในมนุษย์และสัตว์ทั้งปวง (มนต์ ทองชัช 2430:41)
ในลัทธิเต๋ามีคำสอนบางตอนที่กล่าวถึงธรรมชาติ ขององค์รวมไว้ด้วย เป็นต้นว่ามหาวิชา เห็นทั้งหมดเป็นหนึ่งจุลวิชาย่อยลงเป็นหลาย ๆ อย่าง(ส. ศิวรักษ์ 2518:67)ความคิดในเรื่องแบบแผนแห่งการหมุนวนของเต๋า ได้กำหนดเป็นโครงสร้างที่แน่นอน โดยมีการเสนอว่ามีขั้วตรงกันข้ามสองขั้วคือ หยาง (Yang) กับหยิน (Yin) เป็นขั้วซึ่งกำหนดขอบเขต วงเวียนของการเปลี่ยนแปลงคือเมื่อหยางถึงจุดสูงสุดก็ต้องถอยให้กับหยิน และเมื่อหยินถึงจุดสูงสุดก็ต้องถอยกับหยาง
หยางสามารถแทนได้ด้วย ความสว่าง ความเป็นชาย ความเข้มแข็ง ส่วนข้างบน (ฟ้า) การเคลื่อนไหว ถ้าหมายถึงจิตใจก็คือความมีเหตุผล หยิน สามารถแทนได้ด้วยความมืด ความเป็นหญิง ความอ่อนโยน ส่วนข้างล่าง (ดิน) ความสงบ ถ้าหมายถึงจิตใจก็คือ ความสงบหรือปัญญาทั้งหยางและหยินจะพยายามปรับเข้าสู่สภาวะที่สมดุล แต่มิใช่เป็นสมดุลที่อยู่นิ่ง หากแต่เป็นสมดุลแห่งการหมุนวนอันเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังเมื่อหยางหมุนกลับเข้าสู่เริ่มต้น หยินก็เป็นใหญ่แล้วก็หมุนไปสู่หยางอีก
(ฟริตจ๊อป ขับประ 2527:128-130) หยางและหยินจึงเป็นการอธิบายความเป็นองค์รวมหรือเอกภาพของสรรสิ่งในลักษณะของการเลื่อนไหลหมุนวนขององค์ประกอบสองอย่างที่มีลักษณะตรงกันนข้าม
ในทางพระพุทธศาสนา ทัศนะแบบองค์รวมปรากฏอยู่ในกระบวนการคิด โยนิโสมนสิการ หรือที่เรียกว่า วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย หรืออิทัปปัจจยตา โดยมีหลักการว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้จึงเกิด เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับภาพรวมของมนุษย์ โลก และจักรวาล มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันในลักษณะขององค์รวมซึ่งพุทธทาสภิกขุ ได้เปรียบเทียบจำลองความคิด ในเรื่งองนี้ออกมาในรูปของ สหกรณ์ ว่าดูเถอะจักรวาลคอสโม (cosmos) ระหว่างดวงอาทิตย์ ดวงดาว ดวงอะไรต่าง ๆ จักรวาลทั้งหมดมันอยู่อย่างสหกรณ์ มันเนื่องกันและกัน สัมพันธ์กันและกัน มันจึงอยู่ได้ คือในโลกเดียวกัน มันมีการอยู่แบบสหกรณ์ มนุษย์สัตว์เดรัจฉาน กับต้นไม้ กับแผ่นดิน มันอยู่อย่างประสานงานกันแบบสหกรณ์ มือ ตีน แขน ขา มันทำงานแบบสหกรณ์ ชีวิตจึงรอดได้ (พุทธทาสภิกขุ 2521:39-40)
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ตามทัศนะพุทธศาสนานั้นไม่มีอะไรในจักรวาลที่ดำรงภาวะอยู่ได้โดยอิสระ หรือมีอยู่ ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง ทุก ๆ ส่วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับสิ่งอื่นอยู่เสมอ จึงสามารถกล่าวได้ว่า โลกทัศน์ของพุทธปรัชญาเป็นโลกทัศน์แบบองค์รวมอย่างแท้จริง