ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป>>
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
11
ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
การค้าขายกับจีนในสมัยกรุงธนบุรีนี้ การติดต่อกับต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นการสมาคมติดต่อกับจีนทั้งสิ้น และเป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้าขายเสียโดยมาก ส่วนชาวยุโรปชาติต่าง ๆ ที่เคยเข้ามาติดต่อค้าขายอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ได้พากันอพยพออกไปค้าขายอยู่ที่ประเทศอื่น ๆ เสียหมด ทั้งนี้เนื่องจากบ้านเมืองของเราได้ตกอยู่ในสภาพยุคเข็ญเป็นจลาจลเสียช้านาน และประกอบกับในเวลานั้นทางยุโรปก็กำลังยุ่งยากกับการศึกสงครามในสมัยพระเจ้านโปเลียนที่ 1 จึงทำให้การติดต่อทางไมตรีกับชาวยุโรปชาติต่าง ๆ ต้องยุติลงชั่วระยะหนึ่ง
ปรากฏว่าในสมัยกรุงธนบุรีนี้ มีสำเภาของพ่อค้าจีนเข้ามาติดต่อค้าขายด้วยจนตลอดรัชกาล และทางเราโดยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเอง ก็ได้ทรงเอาพระทัยใส่ในการทำนุบำรุงการค้าขายทางเรือนี้เป็นอันมาก ได้ทรงส่งสำเภาหลวงออกไปทำการติดต่อค้าขายกับเมืองจีนอยู่เสมอ จีนจึงนับว่าเป็นชาติสำคัญที่สุดที่เราติดต่อสมาคมค้าขายด้วยในสมัยกรุงธนบุรี
ต่อมาในตอนปลายรัชกาล คือเมื่อปี พ.ศ.2324 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ได้ทรงส่งคณะทูตชุดหนึ่ง มีเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เป็นหัวหน้าคณะ ออกไปเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงจีน ในแผ่นดินพระเจ้าเกาจงสุนฮ่องเต้ (ในพระราชวิจารณ์ฯ ออกพระนามว่า “พระเจ้ากรุงต้าฉิ่ง”)ณ กรุงปักกิ่ง ทั้งนี้ก็เพื่อขอให้ทางจีนอำนวยความสะดวกให้แก่ทางเรา ในการที่เราจะจัดแต่งสำเภาหลวงบรรทุกสินค้าออกไปค้าขายที่เมืองจีนต่อไป โดยขอให้ยกเว้นค่าจังกอบและขอซื้อสิ่งของบางอย่าง เช่น อิฐ เพื่อนำเข้ามาใช้สร้างพระนคร กับขอให้ทางจีนช่วยหาต้นหนสำเภาสำหรับจะแต่งออกไปซื้อทองแดงที่เมืองญี่ปุ่น เข้ามาใช้สร้างพระนครเช่นเดียวกัน ปรากฎว่าคณะทูตไทยที่ออกไปเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงจีนครั้งนี้คุมเรือสำเภาบรรทุกสินค้าออกไปด้วยถึง 11 ลำ
ในพระราชสาส์นที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีไปยังพระเจ้ากรุงจีนในครั้งนั้น ปรากฏในจดหมายเหตุจีนว่า พระองค์ท่านทรงออกพระนามของพระองค์เป็นภาษาจีนว่า“แต้เจียว” (มีคำเต็มว่า“เสี้ยมหลอก๊กแต้เจียว”)
การค้าขายกับโปรตุเกส ปรากฏในจดหมายเหตุของคณะบาทหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงธนบุรีครั้งนั้น มีความตอนหนึ่งว่า เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2322 มีเรือแขกมัวร์จากเมืองสุรัต ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสอยู่ เข้ามาค้าขาย ณ กรุงธนบุรีด้วย และว่าที่ภูเก็ตเวลานั้นมีพวกโปรตุเกสครึ่งชาติอยู่ 2-3 คน อยู่ในความปกครองของบาทหลวงฟรังซิสแกง ชาวโปรตุเกส จึงแสดงว่าในสมัยกรุงธนบุรีนั้น เราได้มีการติดต่อค้าขายสมาคมกับชาวโปรตุเกสอยู่บ้าง โดยทางเราได้เคยส่งสำเภาหลวงออกไปค้าขายยังประเทศอินเดียจนถึงเขตเมืองกัวเมืองสุรัต อันเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสอยู่ในครั้งนั้นด้วยเหมือนกัน แต่ทว่าในตอนนั้นยังมิได้ถึงกับมีการส่งทูตเข้ามาหรือออกไปเจริญทางพระราชไมตรีเป็นทางการต่อกันแต่อย่างใด
การมีไมตรีกับอังกฤษ ซึ่งเข้ามาครอบครองแหลมมลายู ในตอนปลายสมัยกรุงธนบุรีนั้น บรรดาฝรั่งชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาค้าขายอยู่ทางตะวันออกนี้ มีการแก่งแย่งชิงดีกันในการค้าขายเป็นอันมาก ด้วยเหตุนี้เองอังกฤษจึงมีความประสงค์ที่จะได้สถานที่ตั้งสำหรับทำการค้าขายแข่งกับพวกฮอลันดาทางแหลมมลายูนี้สักแห่งหนึ่ง และได้พิจารณาเห็นว่าเกาะหมาก หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า “เกาะปีนัง”นั้น เป็นทำเลที่เหมาะสำหรับในการนี้เป็นอย่างยิ่ง จึงได้พยายามเจรจาเกลี้ยกล่อมว่ากล่าวกับพระยาไทรบุรีผู้มีอำนาจปกครองเกาะนี้อยู่ เพื่อขอเช่าไว้ทำการค้า เป็นผลให้อังกฤษเริ่มแผ่อำนาจเข้ามาครอบครองแหลมมลายูตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ความปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า เมื่อปี พ.ศ.2319 กะปิตันเหล็กอังกฤษ เจ้าเมืองเกาะหมาก ได้ส่งปืนนกสับเข้ามาถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นจำนวน 1,400 กระบอก พร้อมด้วยสิ่งของเครื่องราชบรรณาการต่างๆ ดังนี้ย่อมแสดงว่าในสมัยกรุงธนบุรีนี้ เราได้เริ่มมีทางไมตรีกับอังกฤษ ซึ่งกำลังแผ่อำนาจเข้ามาครอบครองแหลมมลายูบ้างแล้ว
นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าในปี พ.ศ.2313 แขกเมืองตรังกานูและแขกเมืองยักตรา (คือเมืองจาการ์ตา ในเกาะชวา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน)ได้นำปืนคาบศิลาเข้ามาถวายถึง 2,200 กระบอก ในขณะที่กำลังจะเสด็จกรีธาทัพขึ้นไปปราบชุมนุมเจ้าพระฝาง ซึ่งแสดงว่าฮอลันดาก็น่าจะเป็นชาวยุโรปอีกชาติหนึ่ง ที่เข้ามาติดต่อสมาคมค้าขายกับไทยเราในสมัยกรุงธนบุรีนี้ เพราะในเวลานั้นฮอลันดาเป็นผู้มีอำนาจปกครองเกาะชวาอยู่
อันธรรมเนียมการถวายเครื่องศัตราวุธและเครื่องราชบรรณาการต่าง ๆ ของพวกพ่อค้าตามนัยดังกล่าวนี้ ก็นับได้ว่าเป็นการขายให้แก่เราโดยทางอ้อม เพราะเมื่อทรงรับสิ่งของเหล่านั้นไว้แล้วก็เป็นประเพณีที่จะต้องพระราชทานสิ่งของตอบแทนจนคุ้มค่าหรือล้นค่าเสียด้วยซ้ำไป นอกจากนี้ยังอาจได้สิทธิพิเศษบางอย่าง เช่น ได้รับการผ่อนผันยกเว้นการเก็บภาษีอากรบางชนิด เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้พวกพ่อค้าในครั้งนั้น จึงนิยมนำสิ่งของที่ต้องพระราชประสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำพวกอาวุธยุทธภัณฑ์เข้ามาถวายกันเป็นอันมาก