ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป>>
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
14
ทรงเสด็จสวรรคต
ตั้งแต่เสร็จศึกสงครามอะแซหวุ่นกี้ตีเมืองพิษณุโลกแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพอพระทัยเสด็จไปฝึกพระกรรมฐานที่วัดบางยี่เรือใต้เป็นนิตย์ กอปรกับพระองค์ทรงพระประชวรอยู่เดิม เพราะในรัชสมัยของพระองค์ต้องกระทำสงครามตลอดสิบกว่าปี และประเทศไทยในขณะนั้นต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ประชากรอดอยาก อาหารราคาแพงมาก เกิดโรคระบาด เป็นต้น พระองค์ทรงวางพระทัยในการบริหารประเทศ ข้าราชบริวารบางคนก็สมพลอเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ในที่สุดก็เกิดความวุ่นวายในกรุงธนบุรี ภายหลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงเสด็จสวรรคต ณ ป้อมวิชัยประสิทธิ์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 มีพระชนมายุได้ 48 พรรษา อยู่ในราชสมบัติ 15 ปี แล้วอัญเชิญพระบรมศพไปไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้
ต่อมาพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและกรมพระราชวังบวรสุรสีหนาท ทรงพระกรุณาโปรดให้เรียก กรมขุนอินทรพิทักษ์และพระยาพิชัยดาบหักมาถามว่า “จะอยู่ทำราชการต่อไปหรือไม่” กรมขุนอินทรพิทักษ์และพระยาพิชัยดาบหักให้อาลัยในพระคุณสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทูลตอบว่า“ขอตายตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตาก” ส่วนพระยาพิชัยดาบหักขอฝากบุตรชายให้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไป อัฐิพระยาพิชัยดาบหักได้บรรจุไว้ ณ วัดบางยี่เรือเหนือ (วัดราชคฤห์ หรือวัดมอญ) ในสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ที่สืบสกุลของพระยาพิชัยดาบหักได้รับพระราชทานนามสกุลว่า“วิชัยขัทคะ” นามนี้ถ้าแปลให้เข้าใจคือ ดาบวิเศษของพระยาพิชัยดาบหักนั่นเอง
ครั้น พ.ศ.2327 ปีมะโรง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท ทรงโปรดให้อัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นตั้งไว้ ณ พระเมรุวัดบางยี่เรือใต้ โปรดให้มีการมหรสพและพระราชทานพระสงฆ์บังสุกุล พระราชทานเพลิง บรรดาเจ้าจอมข้างในพระราชวังหลวงและวังหน้า ซึ่งเป็นข้าราชการครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมทั้งข้าราชการและประชาชนทั้งหลาย ต่างคิดถึงพระคุณพากันเศร้าโศกเสียใจเป็นอันมาก ต่อมาได้นำพระบรมอัฐิมาบรรจุไว้ในพระเจดีย์หน้าพระอุโบสถเดิม วัดบางยี่เรือใต้(วัดอินทารามวรวิหาร)
ลำดับเหตุการณ์สำคัญในสมัยกรุงธนบุรี
(พ.ศ.2310 - 2325)
พ.ศ.2310 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกู้ชาติสำเร็จ
สร้างราชธานีใหม่ ตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง
รบพม่าที่บางกุ้ง เมืองสมุทรสงคราม
พ.ศ.2311 เริ่มปราบชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก แต่ไม่สำเร็จ
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบดาภิเษก
พ.ศ.2312 ปราบชุมนุมเจ้านครสำเร็จ
ตีเขมรครั้งแรก แต่ไม่สำเร็จ
พ.ศ.2313 ทรงพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์บทละคร
ปราบชุมนุมเจ้าพระฝางสำเร็จ
จัดการปกครองและการพระศาสนาในหัวเมืองเหนือครั้งใหญ่
พม่าที่ยึดครองเชียงใหม่ยกทัพมาตีเมืองสวรรคโลก
กองทัพกรุงธนบุรีขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรก
พ.ศ.2314 นายสวน มหาดเล็ก แต่งโคลงยอพระเกียรติ
ตีเมืองเขมรครั้งที่ 2 ได้หัวเมืองเขมรกลับมาขึ้นไทยตามเดิม
พ.ศ.2315 พม่าตีเมืองพิชัยครั้งแรก
พ.ศ.2316 พม่าตีเมืองพิชัยครั้งที่ 2
พ.ศ.2317 ตีเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 2 ได้หัวเมืองลานนากลับมาขึ้นต่อไทยหมด
รบพม่าที่บางแก้ว ราชบุรี จับเป็นข้าศึกได้ 1,328 คน
พ.ศ.2318 โปสุพลาและโปมะยุง่วนตีเชียงใหม่คืน แต่ไม่สำเร็จ
อะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือ ศึกหนักที่สุดในสมัยกรุงธนบุรี
พ.ศ.2319 พม่าตีเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่ถูกทิ้งเป็นเมืองร้าง
สร้างสมุดภาพไตรภูมิ
ตีเมืองนางรองและเมืองนครจำปาศักดิ์ได้
พ.ศ.2321 ตีเมืองเวียงจันทน์ ได้หัวเมืองลาวทั้งหมดกลับมาขึ้นไทยอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ.2322 กองทัพไทยกลับจากเวียงจันทน์ ได้พระแก้วมรกตเข้ามาด้วย
หลวงสรวิชิต(หน)แต่งอิเหนาคำฉันท์
พ.ศ.2324 แต่งทูตไปเมืองจีน
ส่งกองทัพไปปราบจลาจลในเขมร
พ.ศ.2325 กรุงธนบุรีเกิดจลาจล สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกสำเร็จโทษ
---------------------------------------------------------------------------------
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี
ณ วงเวียนใหญ่ อำเภอธนบุรี กรุงเทพฯ
ประวัติการสร้าง
การริเริ่มดำเนินการมี 2 ระยะคือ ระยะแรก พ.ศ.2477 นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรีคนแรกเป็นผู้ริเริ่ม เสนอเรื่องต่อรัฐบาล พ.ศ.2478 รัฐบาลรับเรื่องมาดำเนินการ กำหนดสถานที่ ณ วงเวียนใหญ่ จังหวัดธนบุรี
พ.ศ.2480 กรมศิลปากรออกแบบพระบรมราชานุสาวรีย์ 7 แบบ ตั้งแสดงในงานรัฐธรรมนูญ เพื่อขอมติมหาชน โดยผู้ใดชอบแบบก็ขอให้บริจาคทรัพย์เป็นคะแนนเสียงใส่ในตู้ซึ่งตั้งอยู่ตรงหน้าภาพนั้น การนับคะแนนเสียงนับชิ้นหนึ่งเป็นเสียงหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงค่าของเงิน ปรากฎว่ามติมหาชนเลือกแบบพระบรมรูปในลักษณะดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งเป็นแบบที่ได้รับคะแนนสูงสุด คือ 3,932 คะแนน
ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การดำเนินงานจึงหยุดชะงักไประยะที่ 2 พ.ศ.2491 นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ และนายเพทาย โชตินุชิต สมาชิกสภาเทศบาล นครธนบุรี ฟื้นเรื่องอีกครั้ง พ.ศ.2492 จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม อนุมัติเงินงบประมาณ 200,000 บาท ร่วมกับเงินเรี่ยไรจากประชาชน สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ขนาดเท่าครึ่งคนจริง
กรมศิลปากรดำเนินการ ออกแบบพระบรมราชานุสาวรีย์
(พระบรมรูปและพระแท่น)ปั้นหล่อพระบรมราชานุสาวรีย์เรียบเรียงและจัดทำแผ่นจารึก
กรมโยธาธิการตกแต่งบริเวณวงเวียนใหญ่บริษัทสหะการก่อสร้าง จำกัด สร้างแท่นฐาน
พ.ศ.2494 ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ปั้นเสร็จ ราชการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์และเททองหล่อพระเศียรเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2497
ลักษณะ
พระบรมรูปทรงม้าพระที่นั่งออกศึก ทรงเครื่องกษัตริย์นักรบ สวมพระมาลาเบี่ยง ผินพระพักตร์ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สู่จังหวัดจันทบุรี หล่อด้วยทองสำริด ประดิษฐานบนแท่นเสาใหญ่ หล่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ทั้งสองด้านของแท่นฐาน จารึกรูปนูน ตามความหมายในประวัติศาสตร์ด้านละ 2 กรอบรูป พระบรมราชานุสาวรีย์จากยอดที่ปลายพระแสงดาบถึงฐานสูงประมาณ 15 เมตร
หลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวัดอินทารามนี้ ได้มาจากหนังสือต่าง ๆ คือ
1. ประวัติอินทารามโดยสังเขป ของท่านเจ้าคุณพระวิเชียรมุนี พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2497
2. ประวัติวัดอินทาราม ของพระใบฎีกาสด สิงหเสนี พิมพ์ครั้งที่ 1 ที่โรงพิมพ์ยิ้มศรี
3. ประวัติวัดอินทาราม ของพระใบฎีกาสด สิงหเสนี พิมพ์ครั้งที่ 2 ที่โรงพิมพ์ศรีหงส์
4. พงศาวดารภาคที่ 64 ฉบับพันจนานุมาศ (เจิม)
5. จากจารึกสยามภาคที่ 1 ตอนจารึกสุโขทัย
6. อนุสรณ์กระถิน ของกรมสวัสดิ์การทหารเรือ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2502
-----------------------------------------------------------------------------
หลักฐานจากคำบอกเล่าของผู้ที่เคารพหลายท่าน และเอกสารจากหอสมุดแห่งชาติ
และหอสมุดกรมพระยาดำรงค์ฯ
<< ย้อนกลับ