สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
วิถีคิด วิถีเชื่อ แบบตะวันออก - ตะวันตก
ความหมายของวิถีตะวันออก วิถีตะวันตก
แหล่งเกิดวิถีความคิดและความเชื่อแบบตะวันออก
แหล่งเกิดวิถีความคิดและความเชื่อแบบตะวันตก
ลักษณะแห่งวิถีเชื่อทางศาสนา
วิถีเชื่อทางศาสนาของชาวตะวันออก
ลักษณะแห่งวิถีคิดและวิถีเชื่อแบบตะวันตก
ลักษณะแห่งวิถีเชื่อทางศาสนา
ความสำคัญของวิถีคิดวิถีเชื่อแบบตะวันออกและตะวันตก
ความสำคัญของวิถีเชื่อทางศาสนา
ความหมายของ วิถีตะวันออก วิถีตะวันตก
วิถีตะวันออก วิถีตะวันตก (Eastern and Western Ways) เป็นคำศัพท์ที่บัญญัติขึ้นครั้งแรก เพื่อใช้เรียกรายวิชาบางวิชาของวิชาศึกษาทั่วไปเลือก กลุ่มมนุษยศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งแต่ปีการศึกษา ๑/๒๕๔๗ เป็นต้นมา คำๆ นี้เกิดจากการผสมกัน ๒ คำ คือ วิถี + ตะวันออก และ วิถี + ตะวันตก ซึ่งตามรูปศัพท์ วิถี ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายถึง สาย แนว ถนน ทาง เป็นคำนิยมใช้ตามด้วย ชีวิต เป็น วิถีชีวิต แปลว่า แนวทางการดำเนินชีวิต ขณะที่ ตะวันออก เป็นคำเรียกประชาชนที่อาศัยอยู่ในทวีปเอเชีย ซึ่งส่วนมากเป็นพวกผิวเหลือง โดยนิยมเรียกว่า ชาวตะวันออก และ ตะวันตก เป็นคำที่ใช้เรียกประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกาและประชาชนของประเทศในทวีปทั้งสองนั้น โดยเฉพาะพวกผิวขาว ตลอดจนวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของพวกเขาด้วย โดยนิยมเรียกว่า ชาวตะวันตก วัฒนธรรมตะวันตก ดังนั้น โดยรูปศัพท์ คำว่า วิถีตะวันตก วิถีตะวันออก จึงอาจหมายถึงสายธารหรือแนวทางแห่งการดำเดินชีวิตของชาวตะวันออกในประเทศแถบทวีปเอเชีย และของประชาชนชาวตะวันตกในแถบทวีปยุโรปและอเมริกา ในด้านวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อของประชาชนของกลุ่มคนจากรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง และยังอาจมีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อของประชาชนในโลกอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม
แต่โดยเหตุที่ วิถีตะวันออก วิถีตะวันตก ถูกใช้หมายจะศึกษา วิถีความคิดทางปรัชญาและความเชื่อทางศาสนาที่เป็นรากฐานของโลกตะวันออกและตะวันตก ในอดีตและปัจจุบัน ในแนวประวัติศาสตร์ คำว่า วิถีตะวันออก วิถีตะวันตก โดยการใช้จึงหมายที่จะสื่อถึงวิถีชีวิตของชาวตะวันออกและชาวตะวันตกในด้านความคิดทางปรัชญาและด้านความเชื่อทางศาสนา ซึ่งเป็นรากฐานของการดำเนินชีวิตและสร้างสรรค์สังคมของพวกเขาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
แหล่งเกิดวิถีคิดวิถีเชื่อแบบตะวันออกและตะวันตก
การศึกษาประวัติศาสตร์วิถีแห่งความคิดทางปรัชญา และความเชื่อทางศาสนา
ของโลกตะวันออก และโลกตะวันตก
พบว่าแหล่งเกิดวิถีคิดวิถีเชื่อที่สำคัญของโลกมีแหล่งเริ่มต้นอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำ
และจะพบว่าแหล่งเกิดมีอยู่ด้วยกัน ๓ แหล่งใหญ่ คือ
๑) แหล่งลุ่มแม่น้ำสินธุและแม่น้ำคงคาในประเทศอินเดีย
๒) แหล่งลุ่มแม่น้ำฮวงเหอและแม่น้ำแยงซีเกียงในประเทศจีน
๓) แหล่งลุ่มแม่น้ำไนล์ในประเทศอียิปต์ และแม่น้ำไทกรีสและยูเฟรตีสในเมโสโปเตเมีย