ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม>>

คู่มือดับทุกข์

อนุรักษ์เนื้อแท้ของพระพุทธศาสนา ให้คงอยู่คู่โลก ตราบชั่วฟ้าดินสลายเพื่อเป็นแสงสว่างแห่งชีวิต ของสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง

  • สรุปว่า ท่านจะฝึกสมาธิเพื่อจะเรียกกำลังจิตจากสมาธินั้นไปพัฒนาความคิดนึก หรือความรู้สึกของท่านให้ถูกต้อง ซึ่งความรู้สึกนึกคิดที่ถูกต้องนั้น แท้จริงก็คือปัญญา นั่นเอง
              
  • จงจำไว้ว่า ปัญหายิ่งใหญ่ในชีวิตท่านก็คือความทุกข์ ความกลัดกลุ้มใจ และความทุกข์นั้นก็จะไม่หมดไปได้ เพราะการไหว้วอนบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แต่มันจะหมดไปจากใจของท่านได้ ถ้าท่านมีปัญญารู้เท่าทันตามความเป็นจริง ในสิ่งที่ทำให้ท่านเป็นทุกข์นั้น
       
  • ดังนั้น ในการฝึกสมาธิทุกครั้ง ท่านจึงต้องกำหนดจิตให้สงบเสียก่อน จากนั้นจึงเอาจิตที่สงบนั้นมาพิจารณาทบทวนปัญหาที่ทำให้ท่านนั้นเกิดทุกข์
      
  • ท่านจะต้องรู้ความจริงด้วยว่า ปัญหาที่ท่านไม่สามารถแก้ไขได้นั้น เพราะมันเป็นสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ตามสภาพแวดล้อมของมัน แต่หน้าที่ของท่านคือ ท่านจะต้องพยายามหาวิธีทำให้ดีที่สุด โดยคิดว่าทำดีที่สุดได้เพียงเท่านี้ ผลจะเกิดอย่างไรก็ช่างมัน ปัญหาจะหมดไปหรือไม่ก็ช่างมัน ท่านจะได้หรือเสียก็ช่างมัน ท่านทำหน้าที่ของท่านให้ดีที่สุด ท่านก็ถูกต้องแล้ว เรื่องจะดีจะร้ายจะได้หรือเสียมันไม่ใช่เรื่องของท่าน
      
  • ท่านจะต้องเปิดใจให้กว้าง ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ว่ามันเกิดขึ้นได้ตามเหตุและปัจจัยของมัน เช่นเรื่องที่ไม่ดี ไม่ปรารถนา มันก็จะเกิดขึ้นกับท่านตามเหตุและปัจจัยของมันเอง เพราะทุกสิ่งเป็นของที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน บางทีมันก็ดี บางทีมันก็ไม่ดี มันเป็นอยู่อย่างนี้เอง เรื่องไม่ดีที่ไม่ปรารถนานั้น แท้จริงมันเป็นสอ่งที่อยู่คู่โลกนี้มานานแล้ว ทุกคนล้วนต้องประสบกับมัน แม้ว่าจะมีลักษณะแตกต่างกันบ้างก็ตาม เรื่องไม่ดีที่ไม่ปรารถนานั้น ไม่ได้เกิดจากอำนาจเทวดาฟ้าดินที่ไหนเลย มันเป็นธรรมดาที่มีอยู่ในโลกอย่างนี้
      
  • จงรู้จักธรรมะข้อที่ว่า อนิจจตา ซึ่งแปลว่า ความไม่เที่ยง สิ่งมีเหตุปัจจัย ปรุงแต่งทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยวแท้ทั้งนั้น ความเปลี่ยนแปลงจากดีไปเลว เปลี่ยนแปลงจากสมหวังเป็นผิดหวัง ฯลฯ ก็ล้วนแต่เป็นเพราะความไม่เที่ยงแท้ของมันเอง ดังนั้นจึงอย่าทุกข์โศก ไปกับเรื่องดีร้าย ได้เสียที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่จงรู้จักมันว่า มันเป็นของมันอย่างนี้ มันไม่เที่ยงแท้สักสิ่งเดียว ถ้าท่านรู้อย่างนี้ด้วยความสงบของสมาธิ จิตท่านก็จะไม่เป็นทุกข์เลย
  • จงรู้จักธรรมะข้อที่ว่า ทุกขตา ซึ่งแปลว่า ความเป็นทุกข์ จงจำไว้ว่า ชีวิตคนเรานั้นล้วนแต่มีความทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น ลักษณะของความทุกข์นั้นได้แก่ ความเกิด แก่ เจ็บ และตาย ความโศกเศร้า ความอาลัยอาวรณ์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความที่ได้รับสิ่งที่ไม่ปรารถนา ความพลัดพรากจากคนรักหรือของรัก ความผิดหวัง เหล่านี้คือความทุกข์ ที่คนทุกชาติทุกภาษาในโลกนี้กำลังประสบอยู่
      
  • จงรู้จักธรรมะข้อที่ว่า อนัตตา ซึ่งแปลว่า ความไม่ใช่ตัวเราหรือของเรา หรือความปราศจากแก่นสารที่ยั่งยืนถาวร ข้อที่ว่า สิ่งทั้งหลายไม่มีตัวตนแก่นสารที่ถาวรนั้น หมายความว่า สิ่งเหล่านั้นจะมีอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง จะนานหรือไม่แล้วแต่เหตุการณ์ของมัน ไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืนตลอดไป ดังนั้นตัวตนที่เป็นของยั่งยืนถาวรของมันจึงไม่มี สิ่งเหล่านั้น มันหมายรวมถึงร่างกาย และจิตใจของเราทุกคนด้วย
      
  • เมื่อทุกสิ่งเป็นของไม่เที่ยงแท้ ชวนแต่จะให้เราเป็นทุกข์กับมัน และไม่ใช่สิ่งที่เป็นแก่นสารถาวรเช่นนั้นแล้ว เราจะมัวไปลุ่มหลงอยากได้อยากเป็นอะไร ให้มันมากเรื่องไปโดยเปล่าประโยชน์อีกเล่า
      
  • ในการฝึกสมาธินั้น ให้แบ่งเวลาออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรก ต้องกำหนดจิตให้สงบ ไม่ต้องคิดเรื่องอะไร ส่วนช่วงที่ 2 จึงอาศัยจิตที่สงบนั้นเป็นตัวพิจารณาสิ่งต่างๆ อย่างรอบคอบ
       
  • พอครบเวลาที่กำหนดไว้แล้ว เมื่อเลิกนั่งสมาธิ ก็ให้ตั้งความรู้สึกไว้ว่าต่อไปนี้ท่านจะมีสติ พิจารณาสิ่งต่างๆอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการพิจารณานั้น ท่านจะพิจารณา ให้เห็นสภาพที่เป็นจริงของสิ่งเหล่านั้น ซึ่งล้วนตกอยู่ภายใต้กฎแห่ง ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่มีแก่นสารถาวรทั้งสิ้น
        
  • จงเตือนตัวเองว่า ทุกสิ่งกำลังจะเปลี่ยนไป มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน มันจะเกิดเรื่องที่ไม่ดีกับเราเมื่อไรก็ได้ หรือมันจะเกิดเรื่องดีที่ถูกใจเราเมื่อไรก็ได้อีกเช่นกัน เพราะสิ่งเหล่านั้นมันไม่เที่ยง ดังนั้นเราจะต้องทำจิตพร้อมรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยไม่ต้องดีใจหรือเสียใจไปกับเรื่องเหล่านั้น
       
  • จงพยายามทำจิตให้ปล่อยวางอยู่เสมอ หมายความว่า ท่านจะต้องพยายาม รักษาจิตใจให้สะอาด อย่าคิดอะไรให้เป็นทุกข์ อย่าอยากได้อะไรมากจนเกินพอดี อย่าถือตัว อย่าถือทิฐิมานะ รักษาจิตให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ จงน้อมจิตให้เห็นสภาวะที่สงบ และสะอาดอยู่เสมอ วิธีนี้จะทำให้จิตของท่านสงบเย็น ผ่องใส และไม่เดือดร้อนได้เป็นอย่างดีที่สดุ
       
  • จงตั้งใจว่า แม้ท่านจะออกจากการนั่งสมาธิแล้ว แต่ท่านจะรักษาจิตใจให้สะอาดผ่องใสและไม่ถือมั่น ไม่แบกเอาสิ่งต่างๆ มาไว้ในใจให้หนักใจเปล่า ซึ่งวิธีนี้จะทำให้สมาธิเกิดอยู่ในจิตตลอดเวลา
      
  • จะคิดเรื่องอะไรก็จงคิดด้วยปัญญา คิดเพื่อที่จะทำให้เกิดความถูกต้อง คิดเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย ให้พวกเขาได้รับความสุขสงบในชีวิต คิดเพื่อทำหน้าที่ของท่านให้ดีที่สุด คิดที่จะทำให้ตนเองและคนอื่นสัตว์อื่น มีความสุข และไม่มีทุกข์อยู่เสมอ

<< ย้อนกลับ| หน้าถัดไป>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย