ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม>>

คู่มือดับทุกข์

แนวทางในการที่จะเอาชนะความทุกข์ในชีวิต การปฎิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น   อันเป็นเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงพระประสงค์ ที่จะให้ทุกคนเข้าถึง เพื่อความหมดทุกข์ทางใจ

  • จงประพฤติศีล 5 ให้สมบูรณ์ ด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ทุกชนิด ไม่ขโมยสิ่งของๆใคร ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่โกหกหลอกลวงใคร และไม่ดื่มหรือเสพสิ่งเสพติดมึนเมา
          
  • แบ่งเวลาในแต่ละวันให้พอเหมาะพอดีแก่สภาพชีวิตของตน มีเวลาทำงานเพียงพอ มีเวลาพักผ่อนเพลิดเพลินในครอบครัวตามสมควร สำหรับผู้เป็นฆราวาส และมีเวลาฝึกสมาธิเพื่อทำจิตให้สงบ
        
  • ในการฝึกสมาธินั้น ให้นั่งอยู่อย่างสงบสำรวม อย่าเคลื่อนไหวอวัยวะมือเท้า จะนั่งกับพื้น เอาขาทับขาข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ หรือจะนั่งพับเพียบก็ได้ หรือจะนั่งบนเก้าอี้ตามสบาย ไม่มีปัญหา
       
  • วิธีฝึกสมาธินั้น ขอให้เข้าใจว่า ท่านจะทำจิตให้สงบ ปราศจากความคิดนึกปรุงแต่งในเรื่องภายนอก ทุกชั่วเวลาที่ทำสมาธินั้น ท่านจะไม่ปรารถนาที่จะพบเห็นรูป สี แสง เสียง สวรรค์ นรก หรือเทวดาอินทร์พรหมที่ไหน เพราะสมาธิที่แท้จริงจะไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในจิตใจ สมาธิที่แท้มีแต่จิตที่สะอาดบริสุทธิ์ และสงบเท่านั้น
      
  • พอเริ่มทำสมาธินั้น โดยปกติแล้ว ให้หลับตาพอสบาย สำรวมจิตนับที่ลมหายใจ ทั้งหายใจเข้าและหายใจออก โดยจะนับอย่างนี้ว่า หายใจเข้านับ 1 หายใจออกนับ 2 อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทีแรกนับช้าๆ เพื่อให้สติต่อเนื่งอยู่กับการนับนั้น แต่ต่อไปพอจิตเข้าที่แล้ว นับก็จะหยุดนับของมันเอง
                 
  • หรือบางทีอาจจะกำหนดพุทโธก็ได้ หายใจเข้ากำหนดว่า พุท หายใจออกกำหนดว่า โธ อย่างนี้ก็ได้ ไม่ขัดแย้งกันเลย เพราะการนับอย่างนี้เป็นเพียงอุบายที่จะทำให้จิต หยุดคิดปรุงแต่งเท่านั้น
        
  • แต่ในการฝึกแรกๆนั้น ท่านจะยังนับหรือกำหนดไม่ได้อย่างสม่ำเสมอ หรืออย่างตลอดรอดฝั่ง เพราะมักจะคิดเรื่องต่างๆนานา แทรกเข้ามาในจิต ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ช่างมัน ให้เข้าใจว่าฝึกแรกๆ มันก็จะเป็นอย่างนี้ ให้ท่านตั้งนาฬิกาเอาไว้ตามเวลาที่เหมาะสม ว่าจะทำสมาธินานเท่าไร เริ่มแรกอาจจะสัก 15 นาที และเฝ้านับหรือกำหนดอยู่จนครบเวลาที่ตั้งไว้ จิตมันจะมีความคิดมากหรือน้อยก็ช่างมัน ให้พยายามกำหนดนับตามวิธีการที่กล่าวมาแล้วจนครบเวลา ไม่นานนักจิตก็จะหยุดนิ่งและสงบได้ของมันเอง
  • การฝึกสมาธินั้นพยายามทำทุกวัน วันละ 2-3 ครั้ง แรกๆให้ทำครั้งละ 15 นาที แล้วจึงค่อยๆเพิ่มมากขึ้น จนถึงครั้งละ 1 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้นตามต้องการ
       
  • ครั้นกำหนดจิตด้วยการนับอย่างนั้นจนมีประสบการณ์พอสมควรแล้ว ท่านก็จะรู้สึกว่า จิตนั้นสะอาด สงบเย็น ผ่องใส ไม่หงุดหงิด ไม่หลับไหล ไม่วิตกกังวลต่อสิ่งใด นั่นแหละคือสัญญาลักษณ์ที่แสดงว่า สมาธิกำลังเกิดขึ้นในจิต
       
  • เมื่อจิตสงบเย็น ไม่หงุดหงิดเช่นนั้นแล้ว อย่าหยุดนิ่งเสีย ให้ท่านเริ่มน้อมจิตและพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ต่อไป ถ้ามีปัญหาชีวิต หรือปัญหาใดๆ ที่ทำให้ท่านเป็นทุกข์หรือกำลังกลัดกลุ้มอยู่ ก็จงน้อมจิตเข้าไปนึกพิจารณาปัญหา ด้วยความสุขุมรอบคอบ ด้วยความมีสติ
       
  • จงยกเอาปัญหานั้นมาพิจารณาว่า ปัญหานี้มันมาจากไหน มันเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะอะไรจึงหนักใจ ทำอย่างไรจะแก้ไขได้ ทำอย่างไรจึงจะเบาใจ และไม่เป็นทุกข์กับมัน
         
  • การพิจารณาอยู่ด้วยสติอันสงบเย็นนี้ การถามหาเหตุผลกับตัวเองอย่างนี้ จิตจะค่อยๆรู้เห็น และเกิดความคิดนึกรู้สึกอันฉลาดขึ้นมาโดยธรรมชาติของมัน จิตจะสามารถเข้าใจต้นสายปลายเหตุของปัญหาต่างๆ ได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง นักปฎิบัติจึงต้องพยายามพิจารณาปัญฟาต่างๆ อย่างนี้เรื่อยไป หลังจากที่จิตสงบแล้ว
               
  • ในกรณีที่ยังไม่มีปัญหาความทุกข์เกิดขึ้น หลังจากที่จิตสงบเป็นสมาธิแล้ว จงพยายามคิดหาหัวข้อธรรมะหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งมาพิจารณา เช่น ยกเอาชีวิตของตนเองมาพิจารณาว่า มันมีความมั่นคง จีรังยั่งยืนอะไร เพียงไหน ท่านจะได้อะไรจากชีวิต คือร่างกายและจิตใจนี้ ท่านจะอยู่บนโลกนี้นานเท่าไร เมื่อท่านตายท่านจะได้อะไร ให้พยายามถามตัวเองเช่นนี้เสมอ
                    
  • หรือท่านอาจจะน้อมจิตไปสำรวมการกระทำของตัวเองเท่าที่ผ่านมา พิจารณาดูว่า ท่านได้ทำประโยชน์อันใดให้แก่ส่วนรวม ท่านได้ทำอะไรผิดพลาด และตั้งใจว่า ต่อไปนี้ท่านจะไม่ทำในสิ่งที่ผิด จะไม่พูดในสิ่งที่ไม่ดี จะไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนไม่สบายใจ ท่านจะพูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกนี้ ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของชีวิตท่านเอง
        
  • จงเข้าใจว่า เป้าหมายที่ถูกต้องของการฝึกสมาธินั้น คือท่านจะฝึกสมาธิให้จิตสงบจากอารมณ์ภายนอก ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้ว จิตนั้นจะมีกำลัง และมั่นคงสภาวจิตเช่นนั้นเอง ที่มันจะมีความพร้อมในการรับรู้ จะเข้าใจปัญหาต่างๆ หรือสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมตัวท่านอยู่ ได้อย่างถูกต้องตามเป็นจริง

หน้าถัดไป>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย