ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป>>
ประวัติศาสตร์ชนชาติจีน
4
ราชวงศ์ซ้อง/ซ่ง (พ.ศ. ๑๕๐๓-๑๘๒๒)
จ้าวควางยิ่น ได้ชื่อว่า พระเจ้าซ่งไท่จู่ ได้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมขึ้นมาใหม่ แต่กลับตัดทอนอำนาจทางการทหาร ของแม่ทัพ เนื่องจากความระแวง กลัวจะยึดอำนาจ ทำให้การทหารอ่อนแอ อย่างไรก็ดี ในราชวงศ์นี้ ศิลปกรรมและวัฒนธรรมรุ่งเรืองมาก การศึกษาของประชาชนดีขึ้น และเปาบุ้นจิ้น ก็ได้มาเกิดในยุคในสมัยของเหยินจงฮ่องเต้ ซึ่งเป็นยุคที่ฮ่องเต้อ่อนแอ อำนาจอยู่ในมือพวกกังฉิน ท่านตัดสินคดีอย่างยุติธรรม และเด็ดขาด ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ จนเป็นที่เลื่องลือมาถึงปัจจุบัน
ในสมัยราชวงศ์ซ้อง จีนถูกรุกรานโดยชนเผ่าต่างๆ คือ พวกเซี่ย พวกซี่ตาน (เมืองเหลียว) จึงมีศึกอยู่ตลอดมา แถมยังต้องยอมเซ็นสัญญาสงบศึกกับ "คนป่าเถื่อน" ต้องส่งบรรณาการให้ ทำให้การเงินไม่คล่องตัว จนมีนักปฏิรูปชื่อ "หวังอั้นจี่" ออกกฎหมายมาควบคุมการใช้เงิน ของบรรดาเชื้อพระวงศ์ แต่สุดท้าย ก็ต้องยกเลิก เพราะไปขัดผลประโยชน์เจ้าใหญ่นายโต ครั้นต่อมา มีชนเผ่าจินหรือกิม (บรรพบุรุษของแมนจู) เข้ามาตี และเนื่องจากมีขุนนางกังฉิน ไปเข้ากับศัตรู (ดังเช่น ฉินไคว่ กังฉินชื่อดัง ซึ่งใส่ความแม่ทัพงักฮุย และสังหารงักฮุยกับลูกชายเสีย ทำให้ชาวจีนเคียดแค้นชิงชังอย่างยิ่ง) บวกกับการทหารที่อ่อนแออยู่แล้ว (ผสมกับฮ่องเต้ที่ไร้สามารถ หูเบา เชื่อฟังกังฉิน) ทำให้พวกจินสามารถบุกจนถึงเมืองไคฟง (เมืองหลวง) จึงต้องย้ายเมืองหลวง ไปอยู่ทางทิศใต้ มีชื่อเรียกว่า ซ้องใต้ ซึ่งพวกจินก็ยังตามล้างผลาญตลอด แต่ต่อมา ในที่สุด พวกจิน, เซี่ยกับซี่ตานก็ถูกมองโกล ซึ่งนำโดย เจงกิสข่าน (เตมูจิน) เข้าตี แล้วหันมาตีจีนต่อจนถึงปักกิ่ง หลังจากนั้น กุบไลข่าน หลานปู่ของเจงกิสข่าน ได้โจมตีราชวงศ์ซ้องใต้ โดยได้ความร่วมมือจากขุนนาง และทหารของราชวงศ์ซ้องบางคน ที่กลับลำหันมาช่วยเหลือมองโกล โจมตีพวกของตัวเอง จนสิ้นราชวงศ์ในที่สุด แล้วกุบไลข่านจึงตั้งราชวงศ์หยวนขึ้นมาแทน
ราชวงศ์หยวน/หงวน/มองโกล (พ.ศ. ๑๘๒๓-๑๙๑๑)
กุบไลข่านโค่นราชวงศ์ซ้องลง แล้วเปิดศักราชชาวมองโกลครองประเทศจีน
ตั้งกรุงปักกิ่งเป็นเมืองหลวง (สมัยนั้นชื่อว่า เมืองต้าตู)
ทรงตั้งความหวังจะเป็นกษัตริย์ที่ดี จึงปกครองอย่างสุขุมรอบคอบ เอาใจใส่ประชาชน
จึงสามารถชนะใจชาวจีนได้ และเป็นฮ่องเต้มองโกลพระองค์เดียว ที่ชาวจีนยอมรับ
(เดิมทีนั้น พวกมองโกลขึ้นชื่อลือชามากในเรื่องความโหด
ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากวิถีชีวิตเดิม ที่อยู่ในทุ่งหญ้า ทะเลทราย
แถมยังเร่ร่อนไปเรื่อยๆ) นอกจากนี้ กุบไลข่านยังพยายามขยายดินแดนไปกว้างไกลมาก
ถึงกับยกทัพเรือจะไปตีญี่ปุ่น แต่เรือถูกมรสุมจึงไม่สำเร็จ
กุบไลข่านสนใจทางอักษรศาสตร์และวรรณกรรมมาก จึงส่งเสริมบทประพันธ์ต่างๆ ปรากฏว่า บทงิ้วในสมัยกุบไลข่านดีมาก จนไม่มีบทงิ้วสมัยใดเทียบได้ การติดต่อกับต่างประเทศ ก็เป็นไปด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นมาร์โคโปโล สมณทูตจากวาติกัน ก็ได้มาเยือนแดนจีนในยุคของกุบไลข่านนี่เอง
พอสิ้นยุคของกุบไลข่าน ก็ไม่มีกษัตริย์มองโกลองค์ใดเด่นเหมือนพระองค์ จึงได้มีการพยายามโค่นล้มราชวงศ์หยวนอยู่ตลอดเวลา ฮ่องเต้องค์ต่อๆ มาของราชวงศ์หยวน ส่วนใหญ่ครองราชย์ไม่นานนัก และจะได้ครองราชย์ โดยการแย่งชิงอำนาจกัน เนื่องจากมองโกลไม่มีกฎแน่นอน เกี่ยวกับการสืบราชบัลลังก์ จวบจนฮ่องเต้องค์สุดท้าย หยวนซุ่นตี้ ซึ่งครองราชย์นานกว่าองค์ก่อนๆ ในยุคนี้ มีความวุ่นวายมาก เกิดภัยพิบัติขึ้นหลายที่ เชื้อพระวงศ์กับขุนนาง ก็ร่วมกันข่มเหงชาวบ้าน จึงมีกบฏเกิดขึ้นทั่วไป
ครั้งนั้น มีชายผู้หนึ่งชื่อ จูหยวนจาง ตอนอายุได้ ๑๗ ปี ครอบครัวได้ตายหมดจากโรคระบาด จึงไปบวชที่วัดหวงเจี๋ย ต่อมา ไปเร่ร่อนต่ออีก ๓ ปี เนื่องจากเสบียงอาหารหมด แล้วจึงกลับมาที่วัดดังเดิม ครั้นชาวบ้านก่อกบฏขึ้น เขาก็เดินทางไปสมทบกับพวกกบฏ เริ่มนำทัพออกตีก๊กต่างๆ ในแผ่นดิน แล้วในที่สุดก็ได้ส่งแม่ทัพชื่อ สีต๋า ไปตีเมืองปักกิ่งได้สำเร็จ เป็นการโค่นล้มราชวงศ์หยวนลงได้ จากนั้น เขาก็ได้ตั้งราชวงศ์หมิงขึ้น ใช้เมืองนานกิงเป็นเมืองหลวง
ราชวงศ์หมิง (พ.ศ. ๑๙๑๑-๒๑๘๗)
จูหยวนจาง ตั้งพระนามตนเองว่า หมิงไท่จู่ฮ่องเต้หรือหงหวู่
ได้ดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม ด้วยความประหยัดมัธยัสถ์ ผ่อนปรน
แก่ประชากรส่วนใหญ่ แต่ในทางการเมืองแล้ว ทรงมีความโหดเหี้ยมเอาการ
จนได้ชื่อว่า "ทรราชผู้ผ่อนปรน" ดังกรณีของหูเหวยยง ซึ่งตอนแรกทรงไว้ใจมาก
แต่ตอนหลัง หูเหวยยงได้ก้าวก่ายฎีกาของพระองค์ รับสินบน สมคบกับโจรจะก่อกบฏ
จึงทรงประหารเขาเสีย พร้อมกับพวกที่เกี่ยวข้องอีกกว่า ๓๐,๐๐๐ คน หรือ
ในกรณีของหลานอี้ แม่ทัพใหญ่ ซึ่งใช้อำนาจข่มเหงราษฎร ขนสินค้าหนีภาษี
จึงทรงประหารเขา พร้อมกับคนที่พัวพันถึง ๑๕,๐๐๐ คน พวกข้าราชการ
ที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ก็ถูกประหารแล้วถลกหนังมายัดฟาง แขวนประจาน
รวมทั้งผู้ต่อต้านด้วย ทรงรักษากฎหมายเข้มงวดมาก ครั้งหนึ่ง
พระโอรสได้พยายามห้ามปราม ขณะที่พระองค์จะประหารผู้ที่บริสุทธิ์ ก็ทรงลืมตัว
จะทำร้ายพระโอรส แต่ในที่สุดก็สำนึกได้ แล้วร้องไห้เข้ากอดกันทั้งพ่อลูก
ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของหมิงไท่จู่คือ การใช้ศักราชเดียวตลอดทั้งรัชกาล (ปี "หงหวู่" หรือ "หงหวู่" ศก) ไม่เปลี่ยนศักราชพร่ำเพรื่อเหมือนในราชวงศ์ก่อนๆ ซึ่งเป็นแบบอย่างให้ฮ่องเต้องค์ต่อๆ มา รวมถึงราชวงศ์ชิงนำมาใช้ด้วย การที่ใช้ศักราชเดียวตลอดทั้งรัชกาลนี้ ทำให้ราษฎรนำชื่อศักราชมาใช้เรียกเป็นชื่อฮ่องเต้ (เช่น หย่งเล่อ, ฉงเจิน, คังซี ล้วนเป็นชื่อศักราชทั้งสิ้น) ปลายสมัยพระองค์ รัชทายาทจูเปียว ซึ่งมีจิตใจอ่อนโยน ได้สิ้นพระชนม์ไปก่อน หมิงไท่จู่เศร้าพระทัยมาก จึงตั้งลูกของจูเปียวเป็นรัชทายาท ทำให้โอรสองค์อื่นๆ ไม่พอใจมาก ครั้นต่อมา หมิงไท่จู่สวรรคต รัชทายาทได้ขึ้นเป็น เจี้ยนเหวินฮ่องเต้ หรือฮุ่ยตี้ฮ่องเต้ (ในจอมใจจักรพรรดิ เรียกว่า "เจี้ยนเหวินตี้") ต่อมาไม่นาน เจ้าเอี้ยนอ๋อง จูตี้ อาคนที่ ๔ ของเจี้ยนเหวินตี้ (โอรสองค์ที่ ๔ ของหมิงไท่จู่) ซึ่งครองเมืองปักกิ่ง ได้ก่อกบฏ และเข้าตีเมืองนานกิงได้ เจี้ยนเหวินตี้ได้หายไปอย่างลึกลับ บางกระแสว่า พระองค์สิ้นพระชนม์ตอนกรุงแตก แต่บางกระแสก็ว่า พระองค์ปลอมเป็นภิกษุ หลบหนีออกไปจากเมือง หรือบางกระแสก็ว่า พระองค์หนีออกไปต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เจ้าเอี้ยนอ๋องได้ขึ้นครองราชย์ นามว่า หย่งเล่อหรือเฉิงจู่ฮ่องเต้ กล่าวกันว่า หย่งเล่อกังวลกับคำครหาของผู้อื่นมาก เกี่ยวกับเรื่องที่ชิงราชบัลลังก์หลานตัวเอง จึงพยายามหาทางแก้ต่างให้ตัวเองตลอดเวลา ต่อมา ได้ย้ายเมืองหลวงมาที่ปักกิ่ง (ซึ่งชัยภูมิทางการศึกไม่ดีเท่านานกิง) และได้ก่อสร้างพระราชวังปักกิ่งขึ้น (จริงๆ ไม่ได้เป็นคนสร้างเองหรอก แต่เป็นคนออกคำสั่งให้สร้างต่างหาก) โดยใช้ศิลปะตามแบบของสมัยราชวงศ์ถังและซ้อง หย่งเล่อเป็นผู้ริเริ่มการค้าขาย กับต่างประเทศมากมาย เพื่อเสริมศักยภาพให้แก่จีน โดยได้ให้ เจิ้งเหอ (ซัมปอกง) ขันทีคนสนิทล่องเรือออกไปในมหาสมุทร รวม ๗ ครั้ง จนสิ้นรัชสมัยหย่งเล่อ ในสมัยนี้ มีชนเผ่าทะมู่เออร์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจงกิสข่าน นำโดย พระเจ้าทะมู่เออร์แห่งซามัลข่าน (บางเล่มเรียกว่า ทาเมอร์เลน) ได้โจมตีชาวบ้านเขาไปทั่ว บุกถึงอินเดีย และรบชนะอินเดีย แถมยังเผาเมืองเดลลีจนราบ (พวกคนโบราณนี่สันดานเสียจัง ตีเมืองได้แล้ว เป็นต้องเผาเมืองทุกที ไม่รู้มันจะอะไรกันนักกันหนา) ได้ยกทัพมาจะตีจีนให้ได้ แต่ว่าระหว่างทาง ทะมู่เออร์ได้สิ้นชื่อลงกลางทาง ทำให้ความทะเยอทะยานของเขาสิ้นสุดลง จีนซึ่งตั้งรับอยู่แล้วจึงส่งทูตไปสักการะศพ และความตึงเครียดก็จบลงด้วยดี
พอสิ้นสมัยหย่งเล่อ ฮ่องเต้องค์ต่อๆ มาก็ไม่มีอะไรเด่นนัก และในยุคหลังๆ ของราชวงศ์หมิง ขันทีเริ่มมีบทบาท (ในทางที่เสียๆ) มากขึ้น เริ่มใกล้ชิดกับฮ่องเต้ จนกลายเป็นหอกข้างแคร่ และเริ่มมีอำนาจเหนือฮ่องเต้ และใช้อำนาจในการฉ้อราษฎร์บังหลวงมากขึ้น (ส่วนใหญ่ ขันทีจะมีจิตใจผิดปกติอยู่เสมอ อาจเนื่องมาจาก มีส่วนประกอบไม่ครบเหมือนผู้ชายอื่นๆ ก็เป็นได้ ทำให้พยายามแก้จุดด้อยของตนเอง ด้วยความฉ้อฉลและอำมหิต) ดังเช่น หวางเจิน ในสมัยอิงจงฮ่องเต้ (จูชีเจิน) ในช่วงปี พ.ศ.๑๙๗๘-๑๙๙๒ โดยเดิมที หมิงไท่จู่ ได้ตั้งแผ่นเหล็กจารึกกฎมณเฑียรบาลไว้ ห้ามมิให้ขันทีเข้ามายุ่งเกี่ยว กับการบริหาร มิฉะนั้นจะถูกประหาร แต่หวางเจินตัวแสบ อาศัยจังหวะ ที่ไทเฮาสิ้นพระชนม์ ทำลายแผ่นเหล็กนั้นเสีย และได้เข้าก้าวก่ายการบริหาร ใช้อำนาจในทางที่ผิด ข่มเหงรังแกขุนนางอื่น และประชาชน จนในที่สุด ก็ถูกฆ่าตายในทัพหลวง แต่จูชีเจิน ก็ถูกข่านแห่งมองโกล จับตัวไปเป็นเชลย เป็นที่ขายหน้าอย่างยิ่ง แต่ก็ปล่อยตัวมาในภายหลัง แล้วยังอุตส่าห์สร้างศาลไว้ให้เจ้าตัวแสบหวางเจินอีก (เชื่อเขาเลย) หวางจือ ขันทีตัวแสบอีกคน ในสมัยจักรพรรดิเซียนจง ฮ่องเต้องค์ที่ ๙ หลิวจิ้น ในสมัยของเจิ้งเต๋อฮ่องเต้ หรืออู่จง (จูโฮ่วเจา) (พระเอกของเรื่อง จอมใจจักรพรรดิ) ฮ่องเต้องค์ที่ ๑๐ ซึ่งประวัติศาสตร์ระบุว่า เจิ้งเต๋อเป็นฮ่องเต้เจ้าสำราญ เป็นนักเที่ยวตัวยง อยู่ไม่ติดเมืองหลวง มักจะออกไปเที่ยวที่ต่างๆ อยู่เสมอ บางครั้งไม่กลับปักกิ่งนานเป็นเดือน เป็นปีทีเดียว จนดูเหมือนว่าจะไม่ยี่หระกับราชบัลลังก์นัก มิหนำซ้ำ ยังมีขันทีจอมอำมหิตอีกต่างหาก (ไปกันได้ดีเหลือหลาย ทั้งนายทั้งบ่าว) ซึ่งหลิวจิ้น ได้ใช้ประโยชน์จากความเจ้าสำราญ ของฮ่องเต้นี่เอง หาผู้หญิงมาบำเรอ ให้อยู่แต่ในห้องหอ ไม่ออกว่าราชการ แล้วเข้ารวบอำนาจไว้ ข่มเหงรังแกผู้อื่น วางแผนก่อกบฏ เพื่อจะเป็นฮ่องเต้เสียเอง จนขุนนางอื่นทนไม่ไหว แถมจูจื่อฟาน อ๋องแห่งราชวงศ์หมิงเอง ก่อกบฏ แล้วประกาศความผิดของหลิวจิ้น จนสุดท้ายหลิวจิ้นถูกจับได้ แล้วโดนแล่เนื้อเป็นชิ้นๆ ในยุคนี้ ญี่ปุ่นเริ่มเข้ามารุกรานจีนแล้ว
จนมาถึงสมัยของฮ่องเต้ว่านลี่ (สมัยที่ท่านเหลี่ยวฝานมีชีวิตอยู่) ในตอนต้นของสมัยว่านลี่ พระองค์ได้ตั้งความหวังไว้ว่า จะเป็นฮ่องเต้ที่ดีให้ได้ (ซึ่งหากทำได้จริงๆ ราชวงศ์หมิงคงจะไม่ล่มจมหรอก) แต่แล้วนานไปก็เหลว ว่านลี่ไม่ยอมออกว่าราชการเอง ปล่อยให้พวกขันที และข้าราชการจัดการกันเอง ทำให้บ้านเมืองระส่ำระสาย มีการคอร์รัปชั่นกันเป็นว่าเล่น แถมว่านลี่ยังครองราชย์นานมาก ยิ่งนานยิ่งเบี้ยวมากขึ้นเรื่อยๆ (กลายเป็น ฮ่องเต้จอมเบี้ยวราชกิจ) แถมยังไม่ยอมให้ข้าราชการเข้าเฝ้าด้วย ยิ่งทำให้บ้านเมืองย่ำแย่มากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้คนรุ่นหลังกล่าวกันว่า ต้นเหตุแห่งความล่มสลายของราชวงศ์หมิง ส่วนหนึ่งแล้วก็มาจากว่านลี่นี่เอง ที่เพาะปัญหาไว้มากมาย จนแก้ไม่ได้อีกแล้ว ราชวงศ์หมิงจึงอ่อนแอลงทุกที
หลังจากว่านลี่สิ้นพระชนม์ลง (สุสานหนึ่งเดียวที่ขุดพบที่สุสานราชวงศ์หมิง หรือสุสาน ๑๓ กษัตริย์ ก็คือ สุสานของว่านลี่นี่เอง) ฮ่องเต้องค์ถัดมาชื่อว่า ซีจงหรือเทียนฉี (จูอิ่วเซียว) "ฮ่องเต้ช่างไม้" (เพราะไม่ใส่ใจบริหารบ้านเมือง สนใจแต่ทางช่างไม้ มิหนำซ้ำยังอ่านหนังสือไม่ออกอีกต่างหาก ไม่รู้เหมือนกันว่า ได้รับแต่งตั้งเป็นรัชทายาทได้ยังไง?) สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากฝีมือของ เว่ยจงเซียน ขันทีอุบาทว์ ซึ่งข่มเหงรังแกขุนนางอื่น และ วางแผนส่งลูกหลานตัวเอง เข้าครองบัลลังก์ แต่ว่า จูอิ่วเซียวก็สวรรคตเสียก่อน (ดีแล้วที่ไปเสียก่อน ไม่งั้นเหตุการณ์อาจจะร้ายแรงกว่านี้) อนุชาของจูอิ่วเซียว ซึ่งเป็นฮ่องเต้องค์สุดท้ายของราชวงศ์หมิง ชื่อว่า ซือจงหรือฉงเจิน (จูอิ่วเชียน) ได้ครองราชย์ต่อ ซึ่งฉงเจินได้รู้สึกแล้ว ถึงความเลวร้ายที่เกิดจากขันที จึงจัดการเช็กบิลกับเว่ยจงเซียน ทำให้เว่ยจงเซียนต้องชิงฆ่าตัวตายก่อน แต่นั่นก็สายไปเสียแล้ว สถานการณ์ในบ้านเมืองเลวร้าย เกินกว่าจะเยียวยา เกิดภัยพิบัติขึ้นในแผ่นดิน แถมยังมีสงครามจากพวกแมนจูอีกต่างหาก แล้วตัวของฉงเจินเองก็ใช่ย่อย ปล่อยข้าราชการโกงกินกันสะบั้นหั่นแหลก เอารัดเอาเปรียบประชาชน
ในขณะที่ราชวงศ์หมิงกำลังปั่นป่วนนั่นเอง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ในดินแดนแมนจูเรีย ชนเผ่าแมนจูก็ได้เริ่มสร้างอาณาจักรของตนเอง นูร์ฮาซื่อ แห่งตระกูลอ้ายซินเจี๋ยหลอ ได้สถาปนาราชวงศ์ชิงของตนขึ้น ด้วยความเข้มแข็ง เมื่อใกล้จะสิ้นใจ นูร์ฮาซื่อตั้งใจจะมอบบัลลังก์ข่านของตน ให้แก่ทอร์กุน (บางเล่มเรียก ดอร์กอน หรือ ตัวร์กูน) โอรสองค์ที่ ๑๔ แต่ว่า ทอร์กุนยังมีอายุไม่มากนัก จึงถูกฮองไทจี๋ โอรสองค์ที่ ๘ แย่งไป ตั้งชื่อให้ตนว่า เทียนซุงหรือเทียนจุง ระหว่างนั้น ราชวงศ์ชิงเริ่มทำสงครามกับราชวงศ์หมิง แล้วฮองไทจี๋ก็ประชวร สวรรคตเมื่อพระชนม์ได้ ๒๕ ปี พวกขุนนางแมนจูจึงได้เปิดสงครามน้ำลายกัน เพื่อแย่งตำแหน่งข่าน (ฮ่องเต้) กันขึ้น ปัญหาจบลงด้วยการให้ ฟุหลิน โอรสองค์ที่ ๙ ของฮองไทจี๋ เป็นฮ่องเต้ ตั้งนามว่า ซุ่นจื้อ โดยให้ทอร์กุนเป็นผู้สำเร็จราชการ
ย้อนกลับไปที่ราชวงศ์หมิงอีกครั้ง เนื่องจากความบีบคั้น จากภัยพิบัติและข้าราชการที่รีดนาทาเร้น หลี่จื้อเฉิง ได้ก่อกบฏชาวนาขึ้น เข้าตีเมืองต่างๆ ได้จนในที่สุด ก็เข้าถึงเมืองปักกิ่ง ราชธานี ครั้นฉงเจินรู้ก็เสียใจมาก กล่าวว่า "อนิจจา รัชกาลของเราสิ้นสุดลงแล้ว" แล้วทุกคนในท้องพระโรงก็ร้องไห้ ด้วยความเสียใจอย่างยิ่ง บรรดามเหสีและข้าราชบริพาร ต่างก็ฆ่าตัวตาย ฉงเจินยกดาบฟันแขนพระธิดาของตนขาด แต่ก็ไม่อาจฟันต่อได้อีก จึงหนีออกไปแขวนคอตายที่เขาจิ่งซัน หรือเหมยซัน (เป็นเขตพระราชฐาน) ขุนนางที่ยังเหลือ จึงยอมเปิดประตูวังให้หลี่จื้อเฉิงแต่โดยดี (สำนวนในหนังสือตอนนี้กล่าวว่า สวรรค์ได้ถอนอาณัติจากราชวงศ์หมิงแล้ว) หลังจากที่ยึดปักกิ่งแล้ว หลี่จื้อเฉิง ได้ประกาศให้อู๋ซานกุ้ย ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารของราชวงศ์หมิง ประจำด่านซานไห่กวน (จุดที่กำแพงเมืองจีนบรรจบทะเล) ยอมจำนน ตอนแรก อู๋ซานกุ้ยก็ได้ทำท่าจะจำนน แต่เขาทราบว่า พ่อและเมียน้อยของเขาถูกหลี่จื้อเฉิงจับไป เขาจึงไม่ยอมจำนนทันที ประกาศว่าจะแก้แค้นแทนฉงเจิน แต่เขาก็มีกำลังทหารน้อย ไม่พอต่อกรกับหลี่จื้อเฉิง จึงเริ่มสมคบกับแมนจู ไปหาทอร์กุน ให้เขาส่งทหารมาช่วย ครั้นหลี่จื้อเฉิงรู้ว่า เขาทรยศ จึงได้ยกทัพมาปราบเอง และได้สู้กันจนฝ่ายอู๋ซานกุ้ยอ่อนแรงลง ทหารของทอร์กุนก็ได้โจมตีหลี่จื้อเฉิงอย่างดุเดือด จนต้องล่าถอยกลับไปปักกิ่ง ตั้งตัวเองเป็นฮ่องเต้ แล้ววางเพลิงเผาพระราชวัง (อีกละ) หลังจากนั้น ทหารแมนจูก็ได้ตามไล่หลี่จื้อเฉิง จนได้ชัยชนะ หลี่จื้อเฉิงหายไปอย่างลึกลับ ไม่มีใครทราบชะตากรรมของเขาอีก (กรณีนี้ จะเห็นได้ว่า คนในชาติมัวแต่กัดกันเอง ในที่สุดคนต่างด้าวก็กลายเป็นตาอยู่ เข้ามาครองแผ่นดินหน้าตาเฉย) ทอร์กุนได้อัญเชิญซุ่นจื้อมาครองราชย์ต่อที่ปักกิ่ง ตั้งปักกิ่งเป็นเมืองหลวง (เซ้งลี้ของราชวงศ์หมิงมาหมด ไม่ว่าเมืองหลวง พระราชวัง) เปิดศักราชแมนจูครองแผ่นดิน และได้ทำการกวาดล้างบรรดาอ๋อง เชื้อพระวงศ์ ของ "ต้าหมิง" จนหมด