ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
จริยธรรม
ความจำเป็นของการมีจริยธรรมของนักการเมือง
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า จริยธรรมเป็นแนวคิดที่ต้องการควบคุมพฤติกรรมของคน ทั้งนี้ ในฐานะที่สมาชิกวุฒิสภาเป็นบุคคลที่ถือเป็นบุคคลสาธารณะ และมีความเกี่ยวข้องกับภารกิจ ที่สำคัญของประเทศ ทั้งในเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยวินิจฉัยว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีความหมายกว้างกว่า ข้าราชการการเมือง โดยมีความเห็นว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายความถึง บรรดาผู้รับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมดโดยงานการเมืองนั้นจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย (Policy) เพื่อให้ฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหาร (Administration) ให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดนั้น ดังนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงหมายถึง คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภาและผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน โดยนัยดังกล่าว สมาชิกรัฐสภา จึงรวมถึง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมีฐานะเป็น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามความเห็นของกรรมการร่างกฎหมายด้วย
ดังนั้น หากสมาชิกวุฒิสภามีการฝ่าฝืนจริยธรรมย่อมส่งผลกระทบต่อสังคมในขอบเขต ที่กว้างขวาง ทั้งนี้ การใช้มาตรฐานทางด้านศีลธรรมและจริยธรรมเป็นเครื่องมือในการควบคุมการกระทำของสมาชิกวุฒิสภาในฐานะบุคคลสาธารณะจึงมีความสำคัญ ดังนี้
ประการแรก การที่ระบอบการเมืองไม่สามารถแก้ไขปัญหาหลักและปัญหาสำคัญของประเทศได้ การดำเนินโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะอภิมหาโครงการ (Megaprojects) ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศด้านสาธารณูปโภคและด้านสังคมขาดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และการประหยัด มีปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงเกิดขึ้นตลอดเวลา การกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมโดยการพยายามสร้างประสิทธิภาพ ประสิทธิผล การประหยัดจะนำไปสู่การเรียกร้องให้นักการเมืองมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ (Public Accountability) มากขึ้น
ประการที่สอง การนำระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม (Liberal Democracy) มาใช้ควบคู่กับระบบเศรษฐกิจที่ใช้การตลาดเป็นตัวกำหนด (Market Economy) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญ ได้แก่
- ด้านการเมือง มีการแยกส่วนที่เป็นส่วนตัว (Private) กับสาธารณะ (Public) ออกจากกันชัดเจนยิ่งขึ้น และความสำคัญของเนื้อหา (Substance) มีความสำคัญเท่ากับระเบียบวิธีปฏิบัติ (Procedures) ซึ่งเป็นจุดที่ก่อให้เกิดประเด็นทางด้านจริยธรรมสำคัญหลายประการ
- การที่นักการเมืองต้องแสวงหาความชอบธรรมในการเข้าสู่อาชีพและการดำรงตำแหน่งโดยผ่านการเลือกตั้ง ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งมีเป้าหมายในการคุ้มครองอาชีพของนักการเมืองเอง ก่อให้เกิดเขตเลือกตั้งใหม่ (Constituency);ที่เรียกว่า Campaign Funding Constituency ขึ้น ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่ไว้วางใจนักการเมืองและการเมือง ซึ่งถือเป็นประเด็นทางจริยธรรมที่แก้ไขได้ยากที่สุด
- ระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมและเศรษฐกิจการตลาดที่ส่งเสริมการเติบโตของระบบทุนนิยมอย่างกว้างขวาง ทำให้ธุรกิจการค้าขยายตัวและต้องอาศัยการดำเนินการทางการเมืองเพื่อช่วยผลักดันผู้ประกอบการที่ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง เพื่อลดผลกระทบทางลบของนโยบาย ก่อให้เกิดความสัมพันธ์กับนักการเมืองที่แยกจากกันได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักการเมืองที่มีอาชีพทางธุรกิจก่อนเข้าสู่วงการเมือง และยังต้องการรักษาอาชีพและผลประโยชน์เดิมไว้ต่อไป
การขยายตัวของสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม โดยเฉพาะการรับรู้ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการ การเรียกร้องจากสื่อมวลชนและกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมให้มีความโปร่งใส รวมถึงการตรวจสอบนโยบายสาธารณะ และพฤติกรรมนักการเมือง ทำให้กรณีที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมของนักการเมือง ปรากฏเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดการถกเถียง อย่างมาก นำไปสู่การกดดันให้มีการปฏิรูปการเมือง รวมถึงการสร้างมาตรฐานทางกฎหมายและจริยธรรมทางการเมืองควบคู่กันไป เพื่อควบคุมการใช้อำนาจทางการเมืองในทางที่ผิด
ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับแมกซ์ เวเบอร์ ซึ่งได้กล่าวถึงนักการเมืองในฐานะอาชีพหนึ่ง โดยเวเบอร์แบ่งนักการเมืองอาชีพออกเป็น ๒ ประเภท คือ ผู้มีชีวิตเพื่อการเมือง (Live for Politics) และผู้ที่อาศัยและหากินจากการเมือง (Live from Politics)
การมีชีวิตเพื่อการเมือง หมายถึง นักอุดมการณ์ที่ได้รับความสุขจากการเข้าไปเล่นการเมือง เป็นความรู้สึกภายในใจ เป็นการเล่นการเมืองเพื่ออุดมคติหรืออุดมการณ์ทางการเมืองของตน กลุ่มนี้มักเป็นพวกที่มีฐานะและรายได้ดีอยู่ก่อน และไม่มีความประสงค์ที่จะเล่นการเมืองเพื่อหารายได้หรือผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง ขณะที่ผู้ที่อาศัยและหากินจากการเมือง เป็นผู้ที่ต้องการรายได้จากการทำงานการเมือง ต้องอาศัยรายได้จากเงินเดือนหรือจากสินบน หรือใช้อิทธิพลเพื่อเรียกคืนเงินที่ใช้ไปในการเลือกตั้ง
จากการแบ่งนักการเมืองในลักษณะดังกล่าว เวเบอร์ชี้ให้เห็นว่า อาชีพนักการเมืองมีความแตกต่างจากอาชีพอื่น เพราะเป็นอาชีพที่ไม่ต้องอาศัยระยะเวลาในการฝึกฝนพัฒนาความสำนึกในเรื่องเกียรติยศของวิชาชีพ (Professional Honor) ไม่ต้องอาศัยความรู้ทางด้านเทคนิคพิเศษ ซึ่งทำให้เกิดความสำนึกว่าจะต้องสร้างจริยธรรมของวิชาชีพ (Professional Integrity) ซึ่งนำมาสู่แนวคิดว่า อาชีพนักการเมืองต้องใช้จริยธรรมในด้านใด จึงจะทำให้เกิดการยอมรับในความชอบธรรม หรือ การตั้งคำถามว่า จริยธรรมของนักการเมืองอยู่ที่ไหน
ทั้งนี้ เวเบอร์เห็นว่า จริยธรรมที่น่าจะเกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว ได้แก่ จริยธรรมว่าด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาที่มีหลักการ (Ethics; of; Principled; Conviction);;และจริยธรรมว่าด้วยความรับผิดชอบ(Ethics of Reponsibility)
หลักจริยธรรมทั้งสองประการมีความเกี่ยวข้องกันในลักษณะที่ว่า หากมีความเชื่อมั่นศรัทธาที่มีหลักการ แต่ไม่มีความรับผิดชอบต่อการกระทำที่เกิดจากความรู้สึกเช่นนั้น คนที่มีความเชื่อมั่นศรัทธาที่มีหลักการจะได้รับความเคารพ แต่จะไม่มีผู้ใดยอมให้เป็นนักการเมือง หากผู้นั้นไม่มีความรับผิดชอบ เพราะอาจใช้ความรุนแรงจากการมีอำนาจที่ชอบธรรม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ ที่จะติดตามมา นักการเมืองลักษณะนี้ย่อมเป็นบุคคลอันตรายต่อประเทศชาติและประชาชน
ในทรรศนะของเวเบอร์ นักการเมืองจึงควรมีคุณสมบัติที่สำคัญ ๓ ประการคือ
๑. มีอารมณ์ผูกพันแน่วแน่ จริงจังต่ออุดมการณ์ (Passion) หมายความว่า นักการเมืองจะต้องรู้สึกห่วง กังวล เอาใจใส่ต่อสิ่งที่เขาต้องการจะต่อสู้ คำว่า Passion ไม่ใช่อารมณ์ที่เป็นความตื่นเต้นที่ไร้ความหมาย หรือเป็นเพียงเจตคติภายใน (Inner Attitude) เท่านั้น แม้แต่การปฏิวัติที่ปราศจากความรับผิดชอบก็ไม่ถือว่าเป็น Passion
๒. มีความรับผิดชอบ (Responsibility) จริยธรรมของความรับผิดชอบเป็นตัวชี้วัดให้เห็นว่า นักการเมืองมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่ออุดมการณ์หรือไม่
๓. มีวิจารณญาณ (Judgement) หมายถึง ความสามารถที่จะรักษาไว้ซึ่งความไม่หวั่นไหวและความสงบ แต่สนองตอบต่อสภาพความเป็นจริง หรือการต้องพิจารณาสิ่งต่างๆ และคนจากระยะห่าง การขาดวิจารณญาณถือเป็นความผิดประการหนึ่งของนักการเมือง เป็นสิ่งที่ทำให้ไร้ประสิทธิภาพทางการเมือง
คุณสมบัติทั้งสามประการจะประกอบกันเป็นจริยธรรมของนักการเมือง เป็นพลังที่เสริมสร้างบุคลิกภาพของนักการเมืองเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง อันเป็นกิจกรรมของมนุษย์อย่างแท้จริง นักการเมืองจึงจำเป็นต้องมีอุดมการณ์ มีความรับผิดชอบ และมีวิจารณญาณเป็นเครื่องกำกับความหลงตัวเอง (Vanity) ถือเป็นสิ่งที่คุกคามอาชีพนักการเมือง ทำให้ขาดความเป็นกลาง ขาดความรับผิดชอบ และเป็นไปเพื่อการสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองเท่านั้น
ทั้งนี้ หากนักการเมืองใช้อำนาจทางการเมืองบนหลักพื้นฐานของจริยธรรมเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่แล้ว ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาอันชอบธรรม เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ในทางตรงข้ามหากนักการเมืองขาดจริยธรรมและคำนึงถึงการรักษาอำนาจทางการเมือง ย่อมใช้อำนาจทางการเมืองทุกวิถีทางเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองหรือคนส่วนน้อย
ดังนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือนักการเมืองจึงต้องเป็นบุคคลที่ต้องได้รับความไว้วางใจจากประชาชน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง นักการเมืองจะถูกตรวจสอบจากประชาชนในลักษณะที่เข้มงวดเป็นพิเศษกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป หรือบุคลสาธารณะในวิชาชีพอื่น แม้ในวิชาชีพอื่นที่มีความจำเป็นต้องสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน เช่น แพทย์ พยาบาล ทนายความ เป็นต้น และบุคคลที่ประกอบอาชีพดังกล่าว ก็มิได้ถูกตรวจสอบในทางสาธารณะในเรื่องส่วนตัว และความประพฤติที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่อย่างเปิดเผยทุกแง่มุมเช่นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือนักการเมือง เนื่องจากนักการเมืองมีความสำคัญในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐ จึงมีความจำเป็นต้องมีการเฝ้ามองหรือตรวจสอบจากสาธารณะ (Public Scrutiny) มากกว่าผู้ประกอบอาชีพอื่น ๆ
กล่าวคือ นักการเมืองจะถูกพิจารณาจากสาธารณชนว่า ควรมีจริยธรรมหรือคุณธรรม มากกว่าปัจเจกชนทั่วไป ซึ่งถือเป็น ความชอบธรรม ขั้นพื้นฐานของการดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยลักษณะดังกล่าวมีระดับความสำคัญแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม แต่อาจถือเป็นลักษณะทั่วไปที่เป็นเป้าหมายของทุกสังคมที่ต้องการให้ปรากฏขึ้นจริง เพราะคุณลักษณะเช่นนี้ คือจุดเริ่มต้นของที่มาของความไว้วางใจจากประชาชน
ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวของเวเบอร์สอดคล้องกับหลักจริยธรรมในการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีของไทย (Good Governance) ซึ่งพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้กล่าวถึง ความจำเป็นที่ต้องใช้หลักจริยธรรม ซึ่งเป็นคุณความดีที่พึงยึดเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ทั้งนี้ หลักจริยธรรมตามแนวคิดนี้สามารถจำแนกเป็น ๒ มุมมองคือ
๑. จริยธรรมตามหลักนิติรัฐ ยึดหลักการว่า การบริหารงานใดได้ดำเนินการถูกต้องตามตัวบทกฎหมาย ถือว่าการบริหารงานนั้นถูกต้องตามหลักจริยธรรม แนวคิดนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจมีปัญหาเรื่องความไม่ครอบคลุม เพราะกฎหมายมักจะเกิดขึ้นภายหลังจากที่เกิดปัญหา และเพื่อมิให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำอีก จึงออกกฎหมายมาบังคับใช้ ดังนั้นกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงไม่เพียงพอในการกำกับพฤติกรรมการบริหารงานให้อยู่ในกรอบของจริยธรรมได้ทุกกรณี
นอกจากนั้น จริยธรรมตามหลักนิติรัฐยังมีจุดอ่อน กล่าวคือ ผู้มีอำนาจอาจจะละเว้นไม่ออกกฎหมายเพื่อลิดรอนสิทธิของกลุ่มตนเอง เช่น นักการเมืองไม่จดทะเบียนกับคู่สมรสlเพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายที่ระบุว่าคู่สมรส (สามี/ภรรยา) ของนักการเมืองต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะ นักการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงสั่งการด้วยวาจาให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติในเรื่องที่ไม่ถูกต้องโดยตนเองไม่ต้องมีความรับผิดชอบ การกำหนดตำแหน่งทางการเมืองที่มีอยู่นอกกรอบกฎหมาย เช่น ตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีตำแหน่งนี้มิใช่ตำแหน่งทางการเมืองตามกฎหมาย ผู้ดำรงตำแหน่งจึงไม่ต้องเปิดเผยทรัพย์สินต่อสาธารณะ
๒. จริยธรรมตามมาตรฐานจริยธรรม ยึดหลักการการพยายามแสวงหาความดีที่ยึดถือควรเป็นอย่างไร แล้วนำมาใช้เป็นมาตรฐานจริยธรรม เพื่อกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติ จริยธรรมตามมาตรฐานจริยธรรม จึงมีความครอบคลุมกว้างขวางกว่าจริยธรรมตามหลักนิติรัฐ อย่างไรก็ตาม จริยธรรมตามมาตรฐานจริยธรรมมีจุดอ่อนที่สำคัญ คือ ขาดบทบังคับการลงโทษเมื่อมีการละเมิด เป็นความแตกต่างจากจริยธรรมตามหลักนิติรัฐ ความจริงแล้วจริยธรรมของการบริหารมีมาตั้งแต่โบราณกาลในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีหลักธรรมของพระเจ้าแผ่นดิน ที่เรียกว่า ทศพิธราชธรรม นั่นคือ จริยธรรมในการปกครองราชอาณาจักร มีหลักธรรมที่เรียกว่า จักรวรรดิวัตร คือวัตรของ พระจักรวรรดิ หรือพระจริยาที่พระจักรวรรดิพึงบำเพ็ญสม่ำเสมอ ๑๒ ประการที่เป็นจริยธรรมเช่นเดียวกัน ได้แก่
๑. ควรอนุเคราะห์คนในราชสำนัก และคนภายนอก ให้มีความสุข ไม่ปล่อยปละละเลย
๒. ควรผูกไมตรีกับประเทศอื่น
๓. ควรอนุเคราะห์พระราชวงศานุวงศ์
๔. ควรเกื้อกูลพราหมณ์ คหบดี และคฤหบดีชน คือเกื้อกูลพราหมณ์และผู้ที่อยู่ในเมือง
๕. ควรอนุเคราะห์ประชาชนในชนบท
๖. ควรอนุเคราะห์สมณพราหมณ์ผู้มีศีล
๗. ควรจักรักษาฝูงเนื้อ นก และสัตว์ทั้งหลายมิให้สูญพันธุ์
๘. ควรห้ามชนทั้งหลายมิให้ประพฤติผิดธรรม และชักนำด้วยตัวอย่างให้อยู่ในกุศลสุจริต
๙. ควรเลี้ยงดูคนจน เพื่อมิให้ประกอบการทุจริต กุศลและอกุศลต่อสังคม
๑๐. ควรเข้าใกล้สมณพราหมณ์ เพื่อศึกษาบุญและบาป กุศล และอกุศลให้แจ้งชัด
๑๑. ควรห้ามจิตมิให้ต้องการไปในที่ที่พระมหากษัตริย์ไม่ควรเสด็จ
๑๒. ควรระงับความโลภมิให้ปรารถนาในลาภที่พระมหากษัตริย์มิควรจะได้
ความหมายของจริยธรรม
ความจำเป็นของการมีจริยธรรมของนักการเมือง
จริยธรรมตามแนวคิดตะวันออก
จริยธรรมตามแนวคิดตะวันตก
ทฤษฎีเกี่ยวกับพัฒนาการทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องและการขัดกันของผลประโยชน์
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง