สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
รัฏฐาธิปัตย์
ในระบอบประชาธิปไตย
ทุกประเทศในโลกนี้ล้วนมีกฎหมายใช้บังคับในการปกครองประเทศทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรหรือกฎหมายจารีตประเพณีก็ตาม วัตถุประสงค์หรือความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายใช้บังคับก็เพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุขนั่นเอง ดังนั้น จึงมีสุภาษิตหรือหลักกฎหมายทั่วไปว่า “ความสงบสุขของสังคม คือกฎหมายสูงสุด”
หลักกฎหมายทั่วไปเกิดขึ้นจากความเป็นธรรมตามธรรมชาติ ซึ่งความเป็นธรรมตามธรรมชาตินี้มีอยู่แล้วในธรรมชาติ มนุษย์ไม่ได้สร้างความเป็นธรรมตามธรรมชาติขึ้นแต่อย่างใด แต่มนุษย์เป็นเพียงผู้ค้นพบและนำมาใช้หรือปฏิบัติเพื่อให้ความเป็นธรรมตามธรรมชาติบังเกิดผลเป็นรูปธรรมขึ้นเท่านั้น หลักกฎหมายทั่วไปหรือความเป็นธรรมตามธรรมชาติ ก็คือ “หลักนิติธรรม” นั่นเอง
ในประเทศที่ปกครองโดยกฎหมาย ซึ่งเรียกกันว่า “นิติรัฐ” นั้น การกระทำทั้งหลายของผู้ปกครองหรือผู้ใช้อำนาจปกครองต้องชอบด้วยหลักนิติธรรมหรือหลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งรวมถึงการใช้บังคับและการตีความกฎหมายต่าง ๆ ต้องให้สอดคล้องหรือเป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลักนิติธรรมหรือหลักกฎหมายทั่วไปด้วย
ความเป็นธรรมตามกฎหมายเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างหรือบัญญัติขึ้นไว้ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องหรือมิใช่สิ่งเดียวกันกับความเป็นธรรมตามธรรมชาติก็ได้ ดังนั้น เมื่อใดที่ความเป็นธรรมตามกฎหมายขัดต่อความเป็นธรรมตามธรรมชาติ จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ความเป็นธรรมตามกฎหมายสอดคล้องกับความเป็นธรรมตามธรรมชาติให้ได้ หรืออีกนัยหนึ่ง การใช้บังคับกฎหมายและการตีความกฎหมายจะต้องไม่ให้ขัดต่อหลักนิติธรรมหรือหลักกฎหมายทั่วไป ไม่ว่าหลักนิติธรรมหรือหลักกฎหมายทั่วไปนั้นจะมีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม
หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรมหรือหลักกฎหมายทั่วไป เพราะหลักการปกครองดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน สร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรม รวมทั้งก่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม ซึ่งสอดคล้องต้องกันกับเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของหลักนิติธรรมหรือหลักกฎหมายทั่วไป และหลักการที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตยก็คือ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” คำว่า “ปวงชน” ย่อมหมายถึงประชาชนโดยรวมทั้งหมด มิใช่ประชาชนคนใดคนหนึ่งหรือประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม การที่จะให้ประชาชนทุกคนมีความคิดความเห็นในเรื่องต่าง ๆ เหมือนกันหรือสอดคล้องกันทั้งหมดย่อมเป็นไปได้ยากหรืออาจเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น การตัดสินปัญหาหรือการหาข้อยุติในเรื่อง ใด ๆ โดยใช้มติเสียงข้างมาก จึงเป็นหลักการที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
หลักการเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนมีความหมายว่า ผู้ใดหรือกลุ่มบุคคลใดจะมีสิทธิใช้อำนาจอธิปไตยในการปกครองประเทศได้ จะต้องได้รับการมอบหมายหรือได้รับความยินยอมจากประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และในการปกครองระบอบประชาธิปไตยของนานาอารยประเทศทั่วโลกต่างยึดถือกันว่า รัฐสภาและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชน (ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม) เท่านั้น ที่เป็น “รัฏฐาธิปัตย์” ได้ แนวความคิดหรือความเชื่อที่ยึดถือกันว่า “ผู้ใดยึดอำนาจการปกครองได้ ผู้นั้นคือรัฏฐาธิปัตย์” จึงเป็นความคิดหรือความเชื่อที่ผิดโดยสิ้นเชิง เพราะขัดต่อหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยชัดแจ้ง
2
ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้คิดและเชื่อแบบหลงทางเกี่ยวกับเรื่อง “รัฏฐาธิปัตย์” มาโดยตลอด ซึ่งแสดงให้เห็นถึง “ความด้อยพัฒนาทางความคิดแบบประชาธิปไตย” ของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี และด้วยเหตุดังนั้นประเทศไทยจึงมีการรัฐประหารหรือยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินโดยคณะเผด็จการทหารมาหลายครั้งหลายหน โดยไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าวงจรอุบาทว์ทางการเมืองในลักษณะเช่นนี้จะหมดสิ้นไปจากระบบการเมืองการปกครองของประเทศไทยได้เมื่อใด ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประชาชนคนไทยทุกคนจะต้องทำความเข้าใจและยึดถือความคิดความเชื่อที่ถูกต้องในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริงเสียที สังคมไทยต้องเลิกคิดหรือเชื่อว่าเมื่อคณะเผด็จการทหารหรือคณะบุคคลใดทำการรัฐประหารหรือยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง และตั้งตนเป็นผู้ปกครองประเทศแล้ว เราต้องเชื่อถือและปฏิบัติตาม แต่ในทางตรงกันข้าม เราต้องคิดและเชื่ออย่างมั่นคงว่าคณะบุคคลใดก็ตามที่กระทำการเช่นว่านั้น คนพวกนั้นคืออาชญากรทางการเมืองที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถือว่าเป็นอาชญากรรมทางการเมืองที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศ และต้องไม่ยอมรับนับถือการกระทำใด ๆ ของกลุ่มอาชญากรทางการเมืองดังกล่าวว่ามีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนิตินัยหรือทางพฤตินัยใด ๆ ต่อระบบการเมืองการปกครองของประเทศ รัฐธรรมนูญ รัฐสภา รัฐบาล และองค์กรใด ๆ ที่คณะเผด็จการทหารบงการให้มีขึ้นหรือแต่งตั้งขึ้น ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น องค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสาม อันได้แก่ รัฐสภา รัฐบาล และศาลต่าง ๆ ที่มีอยู่โดยถูกต้องและชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยก่อนการก่ออาชญากรรมทางการเมืองของคณะเผด็จการทหารต้องดำเนินการตามสิทธิและอำนาจหน้าที่ของตนไปตามปรกติ อาจมีผู้โต้แย้งว่าองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยดังกล่าวจะดำเนินการตามสิทธิและอำนาจหน้าที่ของตนตามปรกติได้อย่างไร ในเมื่อคณะเผด็จการทหารใช้รถถังและปืนบังคับและข่มขู่คุกคามอยู่ ก็อาจอธิบายได้ว่าถ้าคนส่วนใหญ่มีจิตสำนึกเป็นประชาธิปไตยและมีความคิดความเชื่ออย่างมั่นคงว่าการใช้กำลังยึดอำนาจและล้มล้างระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เลวร้ายและเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด ซึ่งทำให้ประเทศชาติเสียหายอย่างประมาณค่ามิได้ แล้วช่วยกันกระทำทุกวิถีทางเพื่อกอบกู้ระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมา ในที่สุด พวกเผด็จการทั้งหลายย่อมไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ แต่จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นและความกล้าหาญทางจริยธรรมของผู้รักชาติรักประชาธิปไตยทุกคน และสิ่งที่ควรต้องกระทำอีกประการหนึ่งก็คือ จะต้องช่วยกันเรียกร้องให้สหประชาชาติและนานาอารยประเทศทั้งหลายทั่วโลกเข้ามาช่วยเหลือในการกดดันและปราบปรามคณะเผด็จการทหาร โดยถือว่าคนพวกนั้นเป็นอาชญากรสงครามหรือผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงของโลก เมื่อสามารถกอบกู้การปกครองระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมาได้แล้ว จะต้องดำเนินการชำระสะสางการกระทำทั้งหลายของพวกเผด็จการทหารดังกล่าว เพื่อให้เกิดความถูกต้องและชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย เช่น กฎหมายใดซึ่งออกโดยรัฐสภาที่มาจากอำนาจเผด็จการต้องได้รับการพิจารณาทบทวนเพื่อยกเลิกหรือรับรองโดยรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน สำหรับรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ต้องถือว่ายังคงมีผลใช้บังคับอยู่ตลอดมา ไม่ได้ถูกยกเลิกตามประกาศของคณะเผด็จการทหารแต่อย่างใด ด้วยเหตุผลว่าการกระทำของคณะเผด็จการทหารเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยชัดแจ้ง โดยเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรมหรือหลักกฎหมาย3
ทั่วไป การกระทำต่าง ๆ ของรัฐบาลที่มาจากอำนาจเผด็จการต้องได้รับการพิจารณาทบทวนเพื่อยกเลิกหรือรับรองโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน องค์กร คณะบุคคล และบุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งในช่วงเวลาที่ประเทศตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ ต้องได้รับการพิจารณาทบทวนเพื่อยกเลิกหรือรับรองให้ถูกต้องและชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญและหรือกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย คำพิพากษา คำวินิจฉัย และคำสั่งของศาลต่าง ๆ ซึ่งออกโดยอาศัยรัฐธรรมนูญและหรือกฎหมายที่มาจากอำนาจเผด็จการต้องมีการพิจารณาทบทวนเพื่อยกเลิกหรือรับรองให้ถูกต้องและชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญและหรือกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย นอกจากนั้น กระบวนการยุติธรรมของบ้านเมืองนี้จะต้องดำเนินการสอบสวนและฟ้องร้องเพื่อให้ศาลพิจารณาลงโทษกลุ่มอาชญากรทางการเมืองที่กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามโทษานุโทษต่อไป ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้มีจิตสำนึกเป็นประชาธิปไตยได้ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องการให้การศึกษาแก่ประชาชน การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โรงเรียนทหารต้องสอนให้นักเรียนทหารมีจิตสำนึกว่า ทหารเป็นกลไกหนึ่งของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ทหารมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา ทหารไม่มีหน้าที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ปัญหาทางการเมืองต้องแก้ไขด้วยการเมือง การรัฐประหารหรือการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินโดยใช้กำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน เป็นสิ่งที่เลวร้ายและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง สถาบันฝึกอบรมผู้พิพากษาตุลาการต้องสอนให้ผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลายมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า คณะเผด็จการทหารที่กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินและล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ แต่เป็นอาชญากรทางการเมือง ซึ่งกระทำผิดกฎหมายอาญาและกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ต้องสอนให้ผู้พิพากษาตุลาการมีความกล้าหาญทางจริยธรรมและไม่เกรงกลัวอำนาจเผด็จการทหาร การสยบยอมหรือปฏิบัติตามคำบงการหรือความต้องการของเผด็จการทหาร ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เป็นความอัปยศอดสูอย่างยิ่งของผู้พิพากษาตุลาการ สำหรับประชาชนพลเมืองอื่น ๆ ต้องศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าทุกคนมีทั้งสิทธิและหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย การใช้สิทธิและเสรีภาพของตนเองต้องมีขอบเขตและไม่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น ต้องเคารพในกฎเกณฑ์และกติกาของบ้านเมือง ต้องจำแนกแยกแยะให้ออกว่าระบอบประชาธิปไตยแตกต่างจากระบอบอนาธิปไตยและระบอบอัตตาธิปไตย และที่สำคัญที่สุด ทุกคนมีหน้าที่ต้องช่วยกันพิทักษ์รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้ดำรงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป การสร้างจิตสำนึกดังกล่าวข้างต้นไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจต้องใช้เวลาอีกยาวนาน แต่สังคมไทยควรต้องมีความหวังว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงสามารถเกิดขึ้นได้ในบ้านเมืองนี้ อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในนานาอารยประเทศทั้งหลายในโลกนี้--------------------------------------------------------------------
โดย สมยศ รักษกุลวิทยา
น.บ.,ศศ.บ.(รัฐศาสตร์),ร.ม.(การปกครอง) นายอำเภอเมืองสรวง
จังหวัดร้อยเอ็ด