สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ประชาคมโลก (Global Community)

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

ภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมโลก

ชูพันธุ์ ชมภูจันทร์

ปรากฏการณ์เอลนิญโญ (El Niño)

 “เอล นิญโญ” (หรือ เอล นิโน) เป็นภาษาสเปน แปลว่า "เด็กชาย" (Child Boy) หรือ "พระกุมารเยซู" (Infant Jesus) เนื่องจากปรากฏการณ์นี้มักจะเกิดในช่วงปลายเดือนธันวาคมหลังเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งชาวสเปนเป็นชนชาติแรกที่สังเกตพบปรากฏการณ์นี้มาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมแถบอเมริกาใต้ ปรากฏการณ์เอลนิญโญ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “El Niño – Southern Oscillation” หรือเรียกอย่างสั้นๆ ว่า ENSO ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้

 โดยทั่วไปบริเวณเส้นศูนย์สูตรเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณอื่น เนื่องจากได้รับแสงอาทิตย์เป็นเวลานานมากกว่าบริเวณอื่น ๆ ในโลก ในสภาพปกติถ้าน้ำอุ่นมีอุณหภูมิสูงขึ้น อากาศที่อยู่เหนือมหาสมุทรก็ยิ่งลอยขึ้นไปสูงมากขึ้น และเกิดเป็นลมสินค้าตะวันออก (Easterly Trade Winds) ซึ่งคนเดินเรือใบในอดีตโดยเฉพาะชาวจีนได้อาศัยลมนี้ในการเดินทางมาค้าขายยังเอเชียใต้ ลมนี้ปกติจะพัดจากชายฝั่งตะวันออก (อเมริกาใต้และอเมริกากลาง บริเวณประเทศเปรู ชิลี เอกวาดอร์) ไปยังชายฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิค (ออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ลมสินค้าจะพัดให้กระแสน้ำอุ่นบนพื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิกเอาไอน้ำมายังแผ่นดินบริเวณประเทศอินโดนีเซียและทวีปออสเตรเลียตอนเหนือซึ่งจะทำให้ฝนตกชุก ส่วนกระแสน้ำเย็นใต้มหาสมุทรเบื้องล่างจะไหลเข้ามาแทนที่กระแสน้ำอุ่นในซีกตะวันออกและนำพาธาตุอาหารจากก้นมหาสมุทรขึ้นมาทำให้ปลาชุกชุม เป็นประโยชน์ต่อ นกทะเล และการทำประมงชายฝั่งของประเทศเปรู

แต่ถ้าปีไหนเกิดปรากฏการณ์เอล นิญโญ ลมสินค้าจะมีกำลังอ่อนลง กระแสน้ำอุ่นจะไหลย้อนมาทางตะวันออก ก่อให้เกิดฝนตกหนักในประเทศเปรูและเอกวาดอร์ นอกจากนี้ยังทำให้กระแสน้ำเย็นใต้มหาสมุทรไม่สามารถลอยตัวขึ้นมาได้ ทำให้บริเวณชายฝั่งขาดธาตุอาหารสำหรับปลาและนกทะเล ชาวประมงจึงขาดรายได้ ส่วนฝั่งตะวันตกจะก่อให้เกิดความแห้งแล้งและอาจก่อให้เกิดไฟไหม้ป่าในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลียตอนเหนือ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสรุปแล้ว เอล นิญโญ คือ การไหลย้อนกลับของผิวน้ำทะเลที่อุ่นในช่วงเวลาหนึ่งๆ จากบริเวณเส้นศูนย์สูตรทางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ไปทางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก

 ปรากฏการณ์นี้จะไม่เกิดซ้ำ ๆ กันทุกปี การเปลี่ยนแปลงนี้แบ่งออกเป็น 5 ระดับคือ น้อยที่สุด น้อย ปานกลาง มาก มากที่สุด ในระดับแรก (น้อยที่สุด – ปานกลาง) มักจะเกิดขึ้นบ่อย และไม่ส่งผลกระทบต่อโลกมากนัก แต่ถ้าเกิดในระดับมากถึงมากที่สุดนั้นจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อโลก เช่น เกิด อุทกภัยหรือแห้งแล้งมาก โดยจะเกิดความแห้งแล้งอย่างต่อเนื่องและยาวนานในบริเวณหมู่เกาะด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ตรงกันข้ามความชุ่มชื้นที่มากเกินปกติจะถูกพัดย้อนกลับข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าสู่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้จนเป็นสาเหตุของการเกิดอุทกภัยและแผ่นดินถล่ม

 ปรากฏการณ์เอล นิญโญที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2540 ทำให้ประเทศในแถบเอเชียซึ่งส่วนใหญ่ทำการเกษตรได้รับผลกระทบรุนแรง ในออสเตรเลียความแห้งแล้งก่อให้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ทางตอนเหนือ ทำลายพื้นที่เพาะปลูกเทียบเท่าพื้นที่ประเทศอังกฤษทั้งประเทศ ความแห้งแล้งในอินโดนีเซียจัดได้ว่าเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษหลังนี้ความแห้งแล้งซึ่งยืดยาวนานมากกว่า 10 เดือน ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกพืชที่เป็นอาหาร ซ้ำยังเกิดไฟป่าครั้งร้ายแรง ควันไฟก่อให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจและโรคอื่น ๆ ซึ่งหมอกควันจำนวนมากแผ่กระจายครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไนและภาคใต้ของไทย และปัญหาที่ตามมาคือการขาดแคลนน้ำและโรคระบาดที่ติดต่อทางน้ำ เช่น อหิวาตกโรคและโรคท้องร่วง ส่วนทางฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ในประเทศเปรูเคยจับปลาพวกแองโชวีน้ำเย็น (Cold-water Anchovy) ได้วันละ 25 ล้านตันแต่เมื่อกระแสน้ำอุ่นจากเอล นิญโญไหลย้อนกลับเข้ามาทำให้ฝูงปลาแองโชวีน้ำเย็นอพยพหนีไป ทำให้จับปลาได้เพียงวันละ 5 ล้านตัน เหตุการณ์เช่นนี้มีผลกระทบต่อการผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เนื่องจากปลาเป็นอาหารโดยตรงและปลาป่นเป็นอาหารสัตว์ที่เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของโลก

 ปรากฏการณ์เอล นิญโญนั้นก่อให้เกิดผลกระทบที่ใหญ่หลวง จากเดิมที่เชื่อว่าปรากฏการณ์นี้จะส่งผลกระทบเฉพาะประเทศที่อยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิคเท่านั้นคือทางแถบอเมริกาเหนือ – ใต้ เอเชียและออสเตรเลีย แต่ความจริงปรากฏการณ์นี้ได้ส่งผลกระทบไปทั่วทุกมหาสมุทรในโลก เช่น ชายฝั่งมหาสมุทรอินเดียแอตแลนติค รวมทั้งทวีปแอฟริกาด้วย เนื่องจากความร้อนที่เกิดขึ้นนั้นกระจายขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ จึงมีผลให้อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น

ส่วนปรากฏการณ์ "ลา นิญญา" (La Niña) (หรือ ลา นีนา) เป็นคำมาจากภาษาสเปน แปลว่า เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ในทางอุตุนิยมวิทยา หมายถึง ปรากฏการณ์ในทางกลับกันกับเอล นิญโญ โดยอุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกใกล้เส้นศูนย์สูตรเกิดแปรปรวนและเย็นขึ้นกว่าปกติ ทำให้กระแสลมสินค้าตะวันออกมีกำลังแรง ส่งผลให้ประเทศอินโดนีเซีย และออสเตรเลียทำให้เกิดฝนตกอย่างหนัก

อาจกล่าวอย่างง่ายๆ ว่า เอล นิญโญเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักในทวีปอเมริกาใต้และเกิดความแห้งแล้งในออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในทางกลับกัน ลา นิญญาทำให้เกิดความแห้งแล้งทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ และเกิดฝนตกหนักในออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเอล นิญโญและลา นิญญาเกิดจากความผกผันของกระแสอากาศโลก บริเวณเส้นศูนย์สูตร เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ปัจจุบันมีนักวิจัยในระดับโลกมากมายที่พยายามจะศึกษาเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ เช่น มีการนำเรือสำรวจ หรือวางทุ่นลอยที่ติดเครื่องวัดปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเล การศึกษาพื้นที่ในบริเวณเส้น ศูนย์สูตรที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิค ผลที่ได้รับในขณะนี้คือ สามารถที่จะทำนายการเกิดปรากฏการณ์เอล นิญโญล่วงหน้าได้เป็นเวลา 1 ปี แต่ก็มีแนวโน้มว่าในอนาคตวงการวิทยาศาสตร์ จะมีความตื่นตัวและร่วมมือกันศึกษาจนสามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้าเป็นระยะเวลาที่นานกว่านี้ โดยเฉพาะประเทศแถบอเมริกาใต้ ให้ความสนใจและให้ความสำคัญที่จะศึกษาในเรื่องนี้มาก เนื่องจากเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและรุนแรงทั้งทางด้านการประมง เกษตรกรรม สังคมและการท่องเที่ยว

อ่านต่อ >>>

» มนุษย์ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

» ภูมิศาสตร์และสภาวะแวดล้อมโลก

» สถานการณ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม

» เศรษฐกิจโลก

» การเมืองระหว่างประเทศ

» ระบบกฎหมายของโลก

» สิทธิมนุษยชนในกระแสโลกาภิวัตน์

» เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลง

» ประชาคมโลกภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์

» บรรณานุกรม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย