ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

พังพระกาฬ

ในประวัติศาสตร์ศรีวิชัย

ที่มหาวิทยาลัยแคมบริดด์ ประเทศอังกฤษ มีหนังสือภาพเขียนระบายสีเล่มหนึ่ง อธิบายขยายความหลักอภิปรัชญาในคัมภีร์ “ปรัชญาปารมิตา” ของศาสนาพุทธินิกายมหายาน ได้ไปจากเนปาลไปเก็บรักษาไว้ในหนังสือภาพเขียนระบายสีเล่มนั้น มีรูปภาพและคำอธิบายประกอบว่า “สุวรรณปุเร ศรีวิชัยปุเร โลกนาถ”

ศาสตราจารย์ ประนะวิธาน ให้คำอธิบายข้อความนี้ว่า พระโลกนาถแห่งศรีวิชัยปุระในสุวรรณประทีปทำให้สืบสาวราวเรื่องได้ว่า ในรัชกาลพระเจ้าศรีจุฬามณีวรรมะเทวะ ครองราชย์สมบัติอยู่ในกรุงศรีวิชัย เมื่อราว พ.ศ.1514 ในสมัยนั้น พระธรรมกิรติเถระ ดำรงสมณะศักดิ์เป็นพระสังฆราชแห่งอาณาจักศรีวิชัยประทับอยู่ที่ สุวรรณสุคติสถูป ซึ่งคงหมายถึง วัดบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช พระธรรมกิรติเถระ ได้รจนาคัมภีร์สำคัญมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นเล่มหนึ่งมีชื่อว่า “อภิสมยาลังกร” ขึ้นชื่อลือเลื่องขจรขจายไปทั่วจนได้รับสมญานามว่า “คุรุแห่งสุวรรณทวีป” ภิกษุมีชื่อเสียงระดับมหาบัณฑิตชาวอินเดียหลายองค์เป็นต้นว่า รัตนากรสันติ, ญานศรีมิตร, บัณฑิตภูมิสาระ เดินทางมาศึกษาปรัชญาปารมิตา อันเป็นต้นเค้าให้เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลก โดยอาศัยหลักโพธิจิต ทำให้สำเร็จเป็นโพธิสัตว์

หนังสือพุทธศาสนาของอินเดียกล่าวถึง เจ้าชายอติษะ ราชโอรสของพระเจ้ากัลยาณีศรี แห่งวังครัฐ หรือแคว้นเบงกอล ทางภาคตะวันออกของอินเดีย ผู้มีจิตใจเลื่อมใสในพุทธศาสนา ได้สละราชสมบัติออกบวชตั้งแต่พระชนมายุได้ 6 พรรษา ต่อจากนั้นได้เสด็จไปศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ในสำนักมีชื่อเสียงต่างๆ ทั่วอินเดีย จนมีความรู้เชี่ยวชาญ เมื่อได้รับอุปสมบทจึงได้รับฉายาว่า “ภิกษุทีปังกระศรีฌานะ” ดำรงอธิการบดีมหาวิทยาลัยวิกรมศีลาวิหาร ขึ้นชื่อถือนามกันว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สองในโลก (ทีปังกระ) ได้รับยกย่องว่าเป็นมหาบัณฑิต เป็นที่ชื่นชมของศาสนิกทั้งในนิกายหินยาน และนิกายมหายาน ประสงค์จะศึกษาปรัชญาปารมิตาและปลูกโพธิจิตกับ คุรุแห่งสุวรรณทวีปจึงลงเรือเดินทางมาพร้อมด้วยสานุศิษย์ 125 รูป เมื่อ พ.ศ. 1554 จนกระทั่งถึง พ.ศ. 1566 เป็นเวลา 12 ปี

ครั้นภิกษุอติษะสำเร็จวิทยาการจากสุวรรณทวีปได้เดินทางกลับอินเดีย พร้อมกับนำพระคัมภีร์อภิสมยาลังกรไปเผยแพร่ ภายหลังภิกษุผู้มีชื่อเสียงรูปนี้ได้เดินทางไปเผยแพร่พุทธศาสนาในทิเบตคัมภีร์สมยาลังกร จึงได้แปลถ่ายทอดเป็นภาษาทิเบต อันเป็นรากฐานการนับถือศาสนาพุทธนิกายลามะสืบมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากหลักการปลูก โพธิจิต อันมีชื่อเสียงของท่านคุรุแห่งสุวรรณทวีปแล้ว หลักปรัชญาของอาจารย์แห่งอาณาจักรศรีวิชัยยังอาศัยหลักธรรมชาติวิทยาเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ระหว่างโลกกับดาวเคราะห์ อันเป็นต้นเหตุของมูลรูปขนาดเล็กที่เรียกว่า ปรมณู และวิชชุรูป คือแรงดึงดูดให้มูลรูปเกิดการรวมตัวและหมุนเวียนไปรอบๆจุดศูนย์กลาง เหมือนกับดาวเคราะห์ถูกบังคับโคจรไปรอบดวงอาทิตย์ และยังมีสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นตัวการปรุงแต่งแปลงสภาพธาตุทั้งหลายในโลกก็คือ “อากาศธาตุ” ที่สถิตอยู่ในช่องว่างภายในแรงดึงดูดแห่งมูลรูป ส่วนประกอบของมูลรูปขนาดเล็กเหล่านี้จึงรวมตัวเป็นมูลรูปวัตถุขนาดใหญ่ และมวลชีวิต คือ มนุษย์ สัตว์ พืช ย่อมพึ่งพาอาศัยถ่ายเทธาตุในลักษณะพึ่งพาอาศัยกันในรูปวงจรที่เรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” หรือ “มายาอุปาทาน” อันเปรียบดังวงโซ่ที่ร้อยรัดมวลชีวิตให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ตกอยู่ภายใต้อำนาจของการโคจรแห่งดวงดาวในจักรวาล จึงสรุปเหตุแห่งการเกิดว่า “กรรม” ย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายไปตามแรงเจตนาที่สร้างสมขึ้น

การล่วงรู้ความลับของจักรวาล และความเป็นไปในโลกอย่างถ่องแท้ว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกล้วนแต่ถูกปรุงแต่งแปลงสภาพมาจาก ระบบธาตุในโลก กับ คลื่นพลังแสงดาวในจักรวาลคลุกเคล้าเข้ากับอากาศธาตุ ด้วยเหตุนี้มวลชีวิตและวัตถุทั้งหลายในโลก จึงถูกบังคับให้ดำเนินไปตามอำนาจของดวงดาวในจักรวาล อันเป็นรากฐานของวิชา “โลกธาตุ” หรือ “โลกศาสตร์” ซึ่งแต่เดิมเรียกกันว่า “ศิวศาสตร์” หรือ “ไศวศาสตร์” แปลว่าวิทยาการแห่งโลกแต่คำอินเดียอาจไม่ถูกปากถูกใจคนไทย จึงแปลงถ้อยคำให้สอดคล้องกับรสนิยมของตนเองว่า “ไสยศาสตร์” ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ทราบความหมายที่แท้จริงว่า ไสยศาสตร์ แปลว่าอย่างไร จนก่อให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นความเชื่อในเรื่องผีสางคาถาอาคมที่งมงายไร้เหตุผล แท้จริงแล้วเป็นความรอบรู้เกี่ยวกับจักรวาล และวิถีชีวิตตลอดจนการต่อสู้เพื่อการอยู่รอด รวมทั้งความเข้าใจในเรื่อง จิตวิญญาณ อย่างน่ามหัศจรรย์ ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์และปาฏิหาริย์ สิ่งที่เหลือเชื่อทั้งหลาย ส่วนใหญ่มีรากฐานมาจากความรู้ในด้านไสยศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแตกฉานเกี่ยวกับ วิชาโหราศาสตร์ เป็นพื้น การทำพิธีปลุกเสกเป็นแต่เพียงพิธีการเพื่อเสริมความเชื่อของสังคมเท่านั้น

ด้วยความรอบรู้ความลับของจักรวาลดังกล่าว จึงขนานนามพระโพธิสัตว์ผู้ตรัสรู้ธรรมว่า “พังพระกาฬ” คือผู้ล่วงรู้การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของสิ่งทั้งหลายว่า เวลา เป็นตัวกำหนดอายุขัย ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นสิ่งมีชีวิตก็จะสิ้นลม เพราะหยุดการหายใจ มูลรูปก็จะแตกสลายกลายเป็นปรมณูธาตุดังเดิมจึงเรียก วันเวลาแห่งอายุขัยของชีวิตว่า “พระกาฬ” หรือ “พระกาล” หมายความว่าเจ้าแห่งความตาย

การล่วงรู้อนาคตด้วยวิธีการทางโหราศาสตร์ เป็นเครื่องมือสำคัญเพียงประการเดียว ที่ช่วยให้มนุษย์ล่วงรู้เหตุการณ์ดังกล่าวได้ดีที่สุด เช่นเดียวกับแพทย์ที่ทราบว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยของคนเรานั้นหนักเบาประการใด อาการโรคที่ถูกคุกคามอยู่นั้น พอที่จะรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ หรือจะมีอายุยืนยาวไปได้ขนาดไหน พระโพธิสัตว์ผู้ตรัสรู้ธรรมและล่วงรู้เส้นทางโคจรของดวงดาวในจักรวาล ก็ย่อมทราบว่า ใครเคราะห์หามยามร้ายชะตาจะถึงฆาตหรือไม่ มีหนช่วยเหลือบรรเทาประการใด ชาวศรีวิชัยโบราณขนานนามผู้มีญาณวิเศษนั้นว่า “พระพังพระกาฬ”

สันนิษฐานว่า พระศรีมหาราช จุฬามณีวรรมะเทวะ แห่งอาณาจักรศรีวิชัยในสมัยนั้น คงได้รับยกย่องว่าเป็น พระเทวะโพธิสัตว์พังพระกาฬ จึงได้มีการสร้างวัตถุมงคลมีลักษณะเป็นรูปคนนั่งขัดสมาธิเพชร ปิดหน้าตาด้วยสองฝ่ามือ ทำเป็นรูปพระปรางค์เหมือนดังมงกุฎสวมเหนือศีรษะ มีรูปงูเป็นสัญลักษณ์ บนศีรษะทำเป็นรูปมุ่นมวยผมมีลักษณะ 8 แฉก เรียกว่า “จันทร์ 8 แฉก” อันเป็นสัญลักษณ์ของมหาราชผู้ยิ่งใหญ่มาอุบัติขึ้นในโลก ดุจดังพระนารายณ์อวตารเสด็จมาดับยุคเข็ญในโลกมนุษย์

รูปพระพังพระกาฬ ประติมากรรมเก่าแก่ของศรีวิชัยซึ่งสร้างขึ้นกว่า 1,000 ปีก่อน คงหายสาบสูญไปหมดสิ้น แม้มีอยู่ก็ไม่มีใครทราบว่าเป็นพระอะไร เพราะแตกต่างไปจากพระพุทธรูปที่เรานับถือกันอยู่ในปัจจุบันนี้ จตุคามรามเทพ มีความประสงค์ให้สร้างขึ้นใหม่ เมื่อชาวนครศรีธรรมราชร่วมแรงร่วมใจกันสร้างหลักเมืองใน พ.ศ.2530 จึงได้พบเห็น พระพังพระกาฬ ในแบบพิสดารเหลือเชื่อดังที่เคยเล่าให้ฟัง

เรียบเรียงโดย
พลตำรวจโท สรรเพชญ ธรรมาธิกุล
(อดีต)ผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย