ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

สงครามญี่ปุ่น–รัสเซีย

โดย นาวาเอก สุริยะ พรสุริยะ

การยุทธ์ที่ปอร์ตอาเธอร์

ญี่ปุ่นเลือกปอร์ตอาเธอร์เป็นเป้าหมายแรกของสงคราม โดยประเมินว่าจำเป็นต้องทำลายกองเรือรัสเซียที่ปอร์ตอาเธอร์ให้สิ้นซาก ก่อนที่กำลังทางเรือจากทะเลบอลติกของรัสเซียภายใต้บัญชาการของพลเรือเอกโรซเดสท์เวนสกี (Petrovich Rozhdestvenski) จะเดินทางมาสมทบ ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็จะส่งผลต่อการรบทางบกอย่างใหญ่หลวง ทั้งยังเป็นเครื่องประกันความปลอดภัยของเส้นทางขนส่งลำเลียงทางทะเลที่จะช่วยในการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงแก่กำลังทางบกของญี่ปุ่นในแมนจูเรียด้วย

ในห้วง ๓ เดือนแรก กองเรือของญี่ปุ่นภายใต้การบัญชาการของ พลเรือเอก โตโง (Togo) ใช้ทั้งการส่งเรือพิฆาตลอบเข้าโจมตีด้วยตอร์ปิโดในเวลากลางคืน การปิดล้อมท่าเรือด้วยเรือจมและทุ่นระเบิด และการใช้เรือระดมยิงนอกระยะปืนใหญ่บนฝั่งของปอร์ตอาเธอร์ เพื่อดึงให้เรือรบรัสเซียออกมาทำยุทธนาวีนอกท่าเรือ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แถมยังสูญเสียกำลังบางส่วนอีกด้วย

ขณะที่กำลังทางบกจากกองทัพที่ ๓ ภายใต้การนำของนายพล โนจิ (Maresuke Nogi) เริ่มรุกเข้าสู่แนวป้องกันของรัสเซียที่ปอร์ตอาเธอร์ ใน ๒๖ มิถุนายน ค.ศ.๑๙๐๔ และรุกคืบด้วยความยากลำบาก ต้องประสบความสูญเสียอย่างหนัก เพราะชัยภูมิที่เสียเปรียบ แต่ที่สุดก็ยังสามารถรุกเข้ายึดพื้นที่เนินเขาที่สามารถระดมยิงปืนใหญ่ใส่ท่าเรือและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ปอร์ตอาเธอร์ได้ใน ๗ สิงหาคม ค.ศ.๑๙๐๔ ส่งผลให้กองเรือรัสเซียต้องทิ้งเมืองท่าปอร์ตอาเธอร์ไปสมทบกับกำลังทางเรือที่วลาดิวอสต๊อก โดยออกเรือ ใน ๑๐ สิงหาคม ค.ศ.๑๙๐๔ ซึ่ง พลเรือเอก โตโง ก็ส่งกำลังจากกองเรือที่ ๑ และกองเรือที่ ๓ ประกอบด้วย ๖ เรือประจัญบาน และ ๔ เรือลาดตระเวนเบาเข้าปะทะทันที แต่จากประสบการณ์ที่เคยส่งกำลังทางเรือไปประจันหน้าแล้วเรือรัสเซียหนีกลับท่าเรือในปฏิบัติการก่อนหน้านั้น ทำให้โตโงแบ่งกองเรือเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งเข้าปะทะ อีกส่วนหนึ่งไปสกัดทางถอยกลับเข้าท่า จึงทำให้ขาดการรวมกำลังอำนาจการยิง ประกอบกับการใช้ปืนเรือที่แม้จะได้เปรียบกว่า (ขนาดและระยะยิง) แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงไม่ประสบผลสำเร็จในการทำลายกองเรือของรัสเซียมากนัก

โดยเฉพาะการปะทะกันในรอบแรกเป็นเวลาเกือบ ๒ ชั่วโมงเต็ม ที่ระยะประมาณ ๑๑,๐๐๐ หลา ซึ่งปืนใหญ่ขาดความแม่นยำ ไม่สามารถยิงถูกเรือรัสเซียได้เลย หลังจากนั้นอีก ๒ ชั่วโมง เมื่อเรือรบทั้ง ๒ ฝ่ายเข้าใกล้กันที่ระยะ ๗,๐๐๐ หลา จึงมีการปะทะกันอีกรอบหนึ่งเป็นเวลาเกือบ ๓ ชั่วโมง บังเอิญที่เรือธงของรัสเซียถูกยิงที่หอบังคับการเป็นผลให้ พลเรือตรี วิทเกฟต์ (V.K. Vitgeft) เสียชีวิต และผู้บังคับการเรือบาดเจ็บสาหัส กองเรือของรัสเซีย จึงขาดการควบคุมและกระจัดกระจายหนีรอดไปได้ แต่กำลังทางเรือเหล่านี้ก็ไม่สามารถหลบรอดไปรวมกับกำลังทางเรือที่วลาดิวอสต๊อกได้ เพราะใน ๔ สิงหาคม ค.ศ.๑๙๐๔ กองเรือที่ ๒ ของญี่ปุ่นซึ่งดักรอกำลังทางเรือจากวลาดิวอสต๊อกที่บริเวณนอกชายฝั่งเมืองอุลซาน (Ulsan) ตรงปากทางเข้าช่องแคบสึชิมา (Tsushima) ก็สามารถทำลายกองเรือดังกล่าวได้ เรือรบอื่น ๆ ที่หลุดรอดไปก็ทยอยถูกโจมตี จนกล่าวได้ว่าญี่ปุ่นสามารถควบคุมทะเลได้อย่างสิ้นเชิง ใน ธันวาคม ค.ศ.๑๙๐๔ รวมทั้งกำลังทางบกของ พลเอก โนจิ ก็เข้ายึดปอร์ตอาเธอร์ได้ ใน ๒ มกราคม ค.ศ.๑๙๐๕

อ่านต่อ >>>

สถานการณ์และลำดับเหตุการณ์ก่อนเกิดสงคราม
ยุทธศาสตร์และการสู้รบ
การยุทธ์ที่ปอร์ตอาเธอร์
การรบที่ช่องแคบสึชิมา
การยุติสงครามและบทเรียนในมุมมองญี่ปุ่น
วิเคราะห์บทเรียนในสภาวะแวดล้อมของไทย
บทสรุป
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย