ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

สงครามญี่ปุ่น–รัสเซีย

โดย นาวาเอก สุริยะ พรสุริยะ

การรบที่ช่องแคบสึชิมา

หลังจากยุทธนาวีที่ทะเลเหลือง นอกฝั่งปอร์ตอาเธอร์และบริเวณนอกฝั่งเมืองอุลซาน เมื่อญี่ปุ่นสามารถควบคุมทะเลได้ โตโงก็นำกองเรือกลับญี่ปุ่น และเตรียมการที่จะเผชิญหน้ากับกองเรือทะเลบอลติกของรัสเซียที่ออกเดินทางมาตั้งแต่ ๑๙ ตุลาคม ค.ศ.๑๙๐๔ บทเรียนจากการรบทางเรือที่ผ่านมา ทำให้โตโงสามารถปรับปรุงหลักนิยม แผนการปฏิบัติและยุทธวิธีที่จะใช้ในการรบกับกองเรือของรัสเซีย โดยใช้แนวคิด “การโจมตีทางลึก (Engagenment in Depth) ” ที่เน้นการโจมตีซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยออกหลักนิยมดังกล่าว เมื่อ ๑๒ เมษายน ค.ศ.๑๙๐๕ และซักซ้อมให้ ผู้บังคับบัญชาและผู้บังคับการเรือทุกระดับเข้าใจในแนวคิดดังกล่าว พร้อมทั้งให้มีการฝึกซ้อมหันเลี้ยวจัดกระบวนเรือและฝึกการยิงปืนเรือที่ระยะไกลให้มีความชำนาญและแม่นยำ โดยเน้นการระดมยิงปืนใหญ่ไปที่เป้าหมายเดียวกันพร้อม ๆ กันทุกกระบอก และยังได้มีการนำอุปกรณ์การวัดระยะที่ปรับปรุงใหม่มาใช้ประกอบกันด้วย ทั้งนี้ได้ตัดสินใจที่จะทำการรบในรูปกระบวนเรียงกัน (single line formation) และกำหนดให้เริ่มยิงที่ระยะ ๗,๐๐๐ - ๘,๐๐๐ หลา ลงมา โดยให้ระดมยิงเรือนำของข้าศึกก่อน จากนั้นค่อยแยกโจมตีซ้ำต่อเรือรบที่เหลือจนกว่าจะทำลายกองเรือรัสเซียได้หมด


แผนที่แสดงพื้นที่การรบทางเรือ

นอกจากนั้นยังปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้ตอร์ปิโดจากการโจมตีด้วยเรือพิฆาต ซึ่งการรบที่ผ่านมาขาดความแม่นยำ จนกระทั่งมีความมั่นใจในความพร้อมรบเป็นอย่างยิ่ง โดยจากการเตรียมความพร้อมอย่างยาวนานดังกล่าว ทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นประเมินว่าโอกาสจะประสบความสำเร็จในการรบมีถึง ๙๐% ตั้งแต่การรบยังไม่เริ่มต้น ที่เหลืออีก ๑๐% อยู่ที่การปฏิบัติในการรบจริง ซึ่งมีความไม่แน่นอน ความกลัว และความอ่อนแอของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องในสถานการณ์ของการสู้รบ อันเป็นธรรมชาติของสงครามที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

การรบจริงเริ่มในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ค.ศ.๑๙๐๕ เมื่อเรือตรวจการณ์ของญี่ปุ่นตรวจพบเรือพยาบาลท้ายขบวนกองเรือทะเลบอลติกของรัสเซีย กำลังมุ่งหน้ามาทางตะวันออกของช่องแคบสึชิมา อันเป็นไปตามที่โตโงคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ใกล้ที่สุดที่จะไปยังวลาดิวอสต๊อก โตโงจึงนำกองเรือจากฝั่งเกาหลีเข้าสกัดและสามารถจัดรูปกระบวนเรือระดมยิงได้ตามแผนที่เตรียมไว้ การยุทธ์เริ่มตั้งแต่ประมาณบ่ายสองโมงจนถึงตอนค่ำและต่อเนื่องถึงตอนเช้าของวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ค.ศ.๑๙๐๕ กองเรือทะเลบอลติกของรัสเซียก็ถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง เรือถูกจมถึง ๒๑ ลำ ที่เหลือถูกยึดและปลดอาวุธ คงมีเพียงเรือลาดตระเวนคุ้มกัน ๓ ลำ ที่หลบรอดไปถึงฐานทัพเรือของสหรัฐฯที่มนิลาได้ ในขณะที่ญี่ปุ่นสูญเสียเรือตอร์ปิโดเพียง ๓ ลำ (ข้อมูลจาก Wikipedia, the free encyclopedia)

อ่านต่อ >>>

สถานการณ์และลำดับเหตุการณ์ก่อนเกิดสงคราม
ยุทธศาสตร์และการสู้รบ
การยุทธ์ที่ปอร์ตอาเธอร์
การรบที่ช่องแคบสึชิมา
การยุติสงครามและบทเรียนในมุมมองญี่ปุ่น
วิเคราะห์บทเรียนในสภาวะแวดล้อมของไทย
บทสรุป
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย