ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

สงครามญี่ปุ่น–รัสเซีย

โดย นาวาเอก สุริยะ พรสุริยะ

การยุติสงครามและบทเรียนในมุมมองญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นตัดสินใจทำสงครามกับมหาอำนาจรัสเซียบนพื้นฐานของการประเมินความได้เปรียบในช่วงที่ รัสเซียยังไม่สามารถระดมกำลังจากยุโรปมาสนับสนุนได้อย่างเต็มที่ แผนทำสงครามจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการรุกเข้าตีกองกำลังของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง จนบรรลุความเหนือกว่าทางทหารในทุกพื้นที่การรบ แล้วจึงร้องขอให้สหรัฐฯ ในฐานะชาติเป็นกลาง เข้ามาไกล่เกลี่ยเพื่อยุติสงครามในเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ต่อญี่ปุ่น ซึ่งเงื่อนไขสำคัญคือต้องให้เกิดความได้เปรียบทางทหารก่อนที่รัสเซียจะตั้งตัวติด จนสามารถรวมกำลังตีตอบโต้กลับอย่างเต็มรูปแบบได้

ทั้งนี้เพราะญี่ปุ่นเองก็ตระหนักดีว่า ไม่สามารถเอาชนะรัสเซียอย่างเด็ดขาดได้ แม้แต่การเดินตามแผนทำสงครามดังกล่าวนี้ ก็มีความเสี่ยงต่อการที่ชาติจะแพ้สงครามและประสบความหายนะได้ ญี่ปุ่นจึงดำเนินยุทธศาสตร์ทั้งด้านการทูตและการทหารอย่างระมัดระวัง เพื่อให้บรรลุเป้าเหมายเดียวกัน คือ “การไกล่เกลี่ยในเงื่อนไข หกสิบ-สี่สิบ“ ในสภาวะที่ญี่ปุ่นมีความได้เปรียบ การประสานงานอย่างใกล้ชิดในทุกภาคส่วน ทั้งการวางแผน การปฏิบัติตามแผน การจัดการในการยุทธ์ต่าง ๆ รวมถึงความกล้าหาญของทหารญี่ปุ่น นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในสงครามครั้งนี้

สำหรับรัสเซียที่ประสบความล้มเหลว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประมาทขีดความสามารถของญี่ปุ่น และประเมินกำลังอำนาจของตัวเองสูงเกินไป ผู้นำมองว่าเป็นเพียงกิจการระดับท้องถิ่นในภูมิภาคตะวันออกไกล จึงไม่มียุทธศาสตร์ในภาพรวมที่จะรับมือกับญี่ปุ่น โดยประเมินว่าญี่ปุ่นไม่กล้าที่จะรบกับมหาอำนาจรัสเซีย และหากเกิดสงครามขึ้นรัสเซียก็จะใช้กำลังที่เหนือกว่าบดขยี้ญี่ปุ่นได้อย่างง่ายดาย ทว่าญี่ปุ่นกลับรบอย่างเอาเป็นเอาตายในทุกสมรภูมิ โดยเฉพาะใน ๓ สมรภูมิหลัก คือ เลียวหยาง (Liaoyang) ระหว่าง ๓๐ สิงหาคม – ๓ กันยายน ค.ศ.๑๙๐๔ ที่เป็นการรบทางบกครั้งแรก ทหารญี่ปุ่น ๑๓๔,๔๐๐ นาย สามารถเอาชนะทหารรัสเซียประมาณ ๒๒๕,๐๐๐ นาย จนยึดพื้นที่ที่ได้เปรียบไว้ได้ แต่ก็ไม่สามารถติดตามบดขยี้ทหารรัสเซียให้เด็ดขาดได้ เพราะข้อจำกัดทางด้านการส่งกำลังบำรุงและกำลังกองหนุน สมรภูมิที่สอง คือ ชาโฮ (Shaho) ใน ตุลาคม ค.ศ.๑๙๐๔ ซึ่งรัสเซียเป็นฝ่ายทุ่มกำลังเข้าโจมตีญี่ปุ่นด้วยกำลังที่เหนือกว่าอย่างท่วมท้น แต่การต่อสู้อย่างไม่คิดชีวิตของทหารญี่ปุ่นกลับยันให้รัสเซียต้องถอยกลับ ซึ่งหากรัสเซียมีความมุ่งมั่นที่จะบดขยี้ญี่ปุ่นให้ถึงที่สุดโดยไม่คำนึงถึงความสูญเสียของทหารรัสเซียแล้ว ญี่ปุ่นเองก็จะปราชัยได้ เพราะกำลังน้อยกว่ามาก สมรภูมิที่สาม คือ เฮ – กู – ไถ (Hei – Kou – Tai) ใน มกราคม ค.ศ.๑๙๐๕ ซึ่งรัสเซียบุกเข้าโจมตีญี่ปุ่นในห้วงที่กำลังหลบสภาพอากาศหนาวจัด จนทหารญี่ปุ่นระส่ำระสายเกือบตกเป็นฝ่ายปราชัย แต่รัสเซียเองกลับยุติการโจมตีกลางคัน เพียงเพราะความริษยาชิงดีชิงเด่นกันเองระหว่างผู้นำทัพรัสเซีย (พลเอก คูโรแพทคิน (Kuropatkin) ผู้บัญชาการทหารรัสเซียภาคตะวันออก กับ พลเอก กริปเปนเบิร์ก (Grippenberg) ผู้บัญชาการกองทัพที่ ๒

หลังจากประสบการณ์ใน ๓ สมรภูมิดังกล่าว รัสเซียจึงเริ่มหันกลับมาใช้ยุทธศาสตร์ดั้งเดิมของรัสเซีย เมื่อครั้งต่อสู้กับจักพรรดินโปเลียน คือ ถอนกำลังล่อข้าศึกให้รุกลึกเข้าไปในพื้นที่ที่รัสเซียได้เปรียบ แล้วรวมกำลังเข้าตีด้วยกำลังที่เหนือกว่า ซึ่งถ้ารัสเซียดำเนินตามยุทธศาสตร์อย่างเหมาะสม กองทัพญี่ปุ่นในแมนจูเรียก็อาจถูกทำลายอย่างสิ้นซากได้ โดยเฉพาะในการยุทธ์ทางบกครั้งสุดท้ายของสงครามที่มุกเดน (Mukden) เมืองหลวงของแมนจูเรีย ในช่วง กุมภาพันธ์ – มีนาคม ค.ศ.๑๙๐๕ ซึ่งญี่ปุ่นได้รุกเข้ามาจนเกือบสุดสายการส่งกำลังบำรุงแล้ว แต่จากการขาดความมุ่งมั่นในการสู้รบของผู้นำทหารรัสเซีย ขณะที่ญี่ปุ่นต่อสู้อย่างไม่คิดชีวิต ทำให้ญี่ปุ่นสามารถเอาชนะและยึดเมืองหลวงนี้ได้ แต่ก็ถึงกับหมดสภาพเช่นกัน ไม่สามารถตามบดขยี้ทหารรัสเซียต่อไปได้ เพราะขาดทั้งกำลังกองหนุน เครื่องกระสุนและเสบียง (ทหารรัสเซีย ๓๕๐,๐๐๐ สูญเสีย ๙๐,๐๐๐ ทหารญี่ปุ่น ๓๐๐,๐๐๐ สูญเสีย ๗๕,๐๐๐)

อย่างไรก็ตามถึงจะพ่ายแพ้ในการยุทธ์ดังกล่าว แต่ฝ่ายรัสเซียยังคงมีขีดสามารถทำการสู้รบต่อไปได้ และหวังว่าเมื่อกองเรือทะเลบอลติก เดินทางมาถึงและทำลายกองเรือญี่ปุ่นได้ จะสามารถตัดการส่งกำลังบำรุงไปยังกองกำลังทางบกของญี่ปุ่นที่อยู่ในสภาวะคับขันแล้วได้ และจะช่วยให้รัสเซียเป็นฝ่ายมีชัยในที่สุด ดังนั้น เมื่อการณ์ปรากฏว่ายุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมา กองเรือญี่ปุ่นสามารถทำลายกองเรือทะเลบอลติกของรัสเซียลงได้ จึงนำไปสู่การยินยอมให้สหรัฐฯ เข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย และตกลงยุติสงครามได้ ใน ๑ กันยายน ค.ศ.๑๙๐๕ กับบรรลุข้อตกลงตามสนธิสัญญาปอร์ตสมัธ (The Treaty of Porstmouth) ใน ๕ กันยายน ค.ศ.๑๙๐๕ โดยรัสเซียยอมรับสิทธิของญี่ปุ่นในการครอบครองเกาหลี คาบสมุทรเลียวตุง เกาะซาคะลินใต้ และระบบทางรถไฟตอนใต้ของแมนจูเรีย

บทเรียนสำคัญที่ญี่ปุ่นมองว่าส่งผลต่อความสำเร็จในการทำสงครามครั้งนี้ ประกอบด้วย การสร้างความมุ่งมั่นของชาติ (Nation’ s will) ให้คนญี่ปุ่นเห็นพ้องกับการทำสงคราม จากการที่ญี่ปุ่นถูกบีบจาก ๓ มหาอำนาจ โดยเฉพาะรัสเซีย ให้จำต้องสละสิทธิในการครอบครองคาบสมุทรเลียวตุง ซึ่งสร้างความคับแค้นแก่ญี่ปุ่นอย่างยิ่ง บทเรียนต่อมาคือ การกำหนดเป้าประสงค์ที่ชัดเจนและสะท้อนความเป็นจริง ซึ่งได้แก่ การปกป้องอธิปไตยของญี่ปุ่นและการบรรลุเงื่อนไขที่ได้เปรียบ (๖๐ - ๔๐)

ต่อกรณีปัญหารัสเซีย เมื่อเป้าประสงค์ชัดเจนและมีความเป็นไปได้ การวางแผนยุทธศาสตร์ทั้งด้านการทูตและการทหารก็มีทิศทางที่แน่นอน และง่ายต่อการปฏิบัติของทุกภาคส่วน บทเรียนที่สามคือการเลือกพันธมิตรอย่างระมัดระวัง การเลือกอังกฤษเป็นพันธมิตรในครั้งนี้ส่งผลให้ญี่ปุ่นสามารถพัฒนากำลังรบขึ้นมาทัดเทียมกับรัสเซียได้ ทั้งการได้เทคโนโลยีจากอังกฤษโดยตรงและการได้เครดิตด้านการเงินจากประเทศอื่น ๆ รวมถึงการสร้างความยากลำบากแก่รัสเซียในการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงระหว่างการเดินทางของกองเรือทะเลบอลติกด้วย บทเรียนที่สี่ คือการเตรียมกำลังให้พร้อมและเพียงพอที่จะเผชิญหน้ากับข้าศึก เพราะหากไม่มีกำลังเข้มแข็งพอในสถานการณ์ ที่ต้องประจันหน้ากันแล้ว ก็จะไม่สามารถเดินตามแนวคิดทางยุทธศาสตร์ได้ บทเรียนที่ห้าคือ คุณค่าของข่าวกรอง

ในครั้งนี้ญี่ปุ่นได้ทุ่มเทความพยายามให้กับการข่าวกรองเป็นอย่างมาก และได้ใช้ประโยชน์ในการวางแผนสงครามจนถึงการปฎิบัติจริงทางยุทธการด้วย บทเรียนที่หกคือ การบ่อนทำลายเพื่อสร้างความระส่ำระสายในประเทศข้าศึก ซึ่งครั้งนี้ญี่ปุ่นใช้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มปฏิวัติต่อต้านรัฐบาลของซาร์นิโคลัสอย่างได้ผล บทเรียนที่เจ็ด คือความร่วมมือที่แนบแน่นระหว่างทหารบกกับทหารเรือ โดยเฉพาะในการยุทธ์ที่ฝ่ายญี่ปุ่นประสบชัยชนะที่ปอร์ตอาเธอร์ และ บทเรียนสุดท้ายคือ ต้องรู้ว่าเมื่อไรควรยุติ การที่ญี่ปุ่นวางแผนเตรียมการยุติสงครามไว้ล่วงหน้า ทำให้สามารถแสวงประโยชน์จากความได้เปรียบในสงครามได้อย่างเต็มที่

อ่านต่อ >>>

สถานการณ์และลำดับเหตุการณ์ก่อนเกิดสงคราม
ยุทธศาสตร์และการสู้รบ
การยุทธ์ที่ปอร์ตอาเธอร์
การรบที่ช่องแคบสึชิมา
การยุติสงครามและบทเรียนในมุมมองญี่ปุ่น
วิเคราะห์บทเรียนในสภาวะแวดล้อมของไทย
บทสรุป
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย