ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป >>

สงครามญี่ปุ่น–รัสเซีย

โดย นาวาเอก สุริยะ พรสุริยะ

บทสรุป

สถานการณ์การขยายอิทธิพลมายังตะวันออกไกลของมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมจากยุโรป โดยเฉพาะรัสเซียที่รุกคืบเข้ามาครอบครองแมนจูเรียลงมาถึงคาบสมุทรเลียวตุง และส่อเจตนาว่าจะขยายเขตอิทธิพลให้ ครอบคลุมคาบสมุทรเกาหลี ทำให้ญี่ปุ่นซึ่งมองการคงอิทธิพลของตนไว้ในคาบสมุทรเกาหลีเป็นความอยู่รอดของชาติ ถือเอารัสเซียเป็นภัยคุกคาม จึงได้ดำเนินยุทธศาสตร์ทั้งด้านการทูตและการทหาร เพื่อสถาปนาพื้นที่กันชนบริเวณรอยต่อเขตแดนเกาหลีกับแมนจูเรีย เมื่อการทูตส่อเค้าล้มเหลวและยากที่จะหลีกเลี่ยงทางเลือกในการทำสงคราม ญี่ปุ่นก็ประเมินความพร้อมและความได้เปรียบ โดยพิจารณาปัจจัยความไม่สงบภายในของรัสเซีย เปรียบเทียบกำลังรบทางบกและทางเรือ

ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ส่งผลต่อการส่งกำลังจากพื้นที่ทางยุโรปของรัสเซียมาสมทบในยุทธบริเวณ ศักยภาพในการส่งกำลังบำรุงของรัสเซียในระหว่างที่ทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียยังไม่เสร็จสมบรูณ์ และความได้เปรียบในทางยุทธวิธีความพร้อมและขวัญกำลังใจของทหารญี่ปุ่น ซึ่งประเมินภาพรวมแล้วเห็นว่าอาจยันเสมอหรือชิงความได้เปรียบได้ เล็กน้อย แต่ไม่สามารถเอาชนะเด็ดขาดต่อรัสเซียได้ จึงกำหนดเป้าหมายของการทำสงครามเพียงในระดับเพื่อให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยในเงื่อนไข หกสิบ-สี่สิบ โดยเลือกสหรัฐ ฯ เป็นผู้ไกล่เกลี่ย

ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายประกาศสงครามก่อน แล้วส่งกำลังทางบกรุกเข้าโจมตีรัสเซียที่ปอร์ตอาเธอร์และแมนจูเรีย ควบคู่กับการใช้กำลังทางเรือทำลายกองเรือแปซิฟิกของรัสเซีย ที่แยกกำลังเป็นกองเรือพื้นที่ปอร์ตอาเธอร์ และวลาดิวอสต๊อก ความสำเร็จของการรบทั้งทางบกและทางเรือที่ญี่ปุ่นสามารถยึดปอร์ตอาเธอร์และทำลายกองเรือแปซิฟิกของรัสเซียได้ จนกระทั่งยึดมุกเดนเมืองหลวงของแมนจูเรีย ขับไล่ทหารของรัสเซียออกไปได้สำเร็จ แต่ก็ยังไม่ได้ชัยชนะเด็ดขาด

จนกองเรือของญี่ปุ่นเอาชนะกองเรือทะเลบอลติกของรัสเซียในยุทธนาวีที่ช่องแคบสึชิมา ซึ่งฝ่ายรัสเซียถูกทำลายเกือบหมดทั้งกองเรือนั้น จึงเป็นจังหวะที่ญี่ปุ่นและรัสเซียยอมรับให้สหรัฐฯ เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยยุติสงครามลงได้ โดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้

บทเรียนจากความสำเร็จของฝ่ายญี่ปุ่นในครั้งนี้ วิเคราะห์ว่ามี ๘ ประเด็น คือ ความมุ่งมั่นและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน การกำหนดเป้าประสงค์ที่ชัดเจนและสะท้อนความเป็นจริง การเลือกพันธมิตรอย่างระมัดระวัง การเตรียมกำลังที่มีความพร้อมและเพียงพอ การให้คุณค่ากับข่าวกรอง การบ่อนทำลายฝ่ายตรงข้าม การร่วมมือและประสานงานระหว่างหน่วยกำลัง และการกำหนดจังหวะเวลาที่จะยุติสงคราม

บทเรียนต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อนำมาวิเคราะห์ในสภาวะแวดล้อมของไทย โดยเฉพาะในกรณีสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีลักษณะเป็นสงครามนอกแบบ ซึ่งฝ่ายตรงข้ามมีเป้าหมายที่การแยกดินแดนเพื่อปกครองตนเอง โดยใช้การก่อการร้าย เป็นเครื่องมือ จะเห็นว่าที่ผ่านมาฝ่ายเรายังทำข้อสอบตามบทเรียนทั้ง ๘ ได้ไม่ดีนัก แม้ยังไม่ถึงขั้นสอบตก แต่ก็มีสภาพน่าเป็นห่วง สถานการณ์ในอนาคตจะดีขึ้นหรือไม่ ประสิทธิภาพการดำเนินงานของทุกภาคส่วนตามกรอบบทเรียนจากสงครามญี่ปุ่น - รัสเซีย น่าจะเป็นสิ่งบ่งชี้ประการหนึ่งสำหรับผู้มีอำนาจตกลงใจในระดับยุทธศาสตร์และนโยบาย

อ้างอิง

  1. Koda, JMSDF Vica Admiral Yoji. “The Russo – Japanese War –Primary Causes of Japanese Success,” U.S. Naval War College Review, Volume 58 Number 2 Spring 2005, p.11-42.
  2.  “Russo – Japanese War – Wikipedia, the free encyclopedia.” http://en.wikipedia.org./wiki/Russo-Japanese_War (25 October 2006).
  3. “The Russo – Japanese War 1904 –1905.” (25 October 2006)

สถานการณ์และลำดับเหตุการณ์ก่อนเกิดสงคราม
ยุทธศาสตร์และการสู้รบ
การยุทธ์ที่ปอร์ตอาเธอร์
การรบที่ช่องแคบสึชิมา
การยุติสงครามและบทเรียนในมุมมองญี่ปุ่น
วิเคราะห์บทเรียนในสภาวะแวดล้อมของไทย
บทสรุป
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย