ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป>>

อิสราเอล

บรรพชนต้นตระกูลอิสราเอล

(ก่อน.ค.ศ. 2000 -1500)
เริ่มต้นประวัติศาสตร์อิสราเอล

ประวัติศาสตร์ของอิสราเอลตามที่ปรากฏในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมเริ่มต้นเมื่อพระเจ้าทรงเรียกอับราฮัมให้เป็นบิดาของชนชาติใหม่ (ปฐก.12:1-3) มีเรื่องเชื่อมโยงกันเรื่อยมาตั้งแต่อับราฮัม อิสอัค (ปฐก.21;1-7) ยาโคบ (ปฐก.25:19-26) จนถึงเรื่องบรรพบุรุษของอิสราเอลสิบสองเผ่า (ปฐก.29:31-30;24) บุคคลสำคัญเหล่านี้คือ บรรพชนต้นตระกูลอิสราเอล (The Patriarchs )

ในพระธรรมปฐมกาลบทแรก ๆ บอกเราว่าอิสราเอลไม่ใช่คนพวกแรกที่อาศัยอยู่ในโลก อับราฮัมมีชีวิตอยู่ประมาณ ก.ค.ศ. 1900 การศึกษาทางโบราณคดีบอกเราว่ามีอารยธรรมสำคัญ ๆ อยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว คือมีหลักฐานแสดงว่าในปาเลสไตน์และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีคนอาศัยอยู่มาตั้งแต่โบราณกาล ย้อนหลังไปได้ไกลถึง ก.ค.ศ. 10,000 เมืองเก่าแก่ที่สุดที่ขุดซากพบได้แก่เมืองเยรีโคและอียิปต์ เยรีโคสร้างขึ้นเมื่อประมาณ ก.ค.ศ. 8000 อียิปต์ประมาณ ก.ค.ศ. 4000 ส่วนหลักฐานที่เป็นคำจารึกเก่าแก่ที่สุดได้มาจากทางภาคใต้ของเมโสโปเตเมียโดยชาวสุเมอร์ คาดกันว่าคงจะจารึกไว้เมื่อประมาณ ก.ค.ศ. 3300 การรวมตัวเป็นกลุ่มการเมืองที่ใหญ่ขึ้นกลุ่มแรกอยู่ในประเทศ ซึ่งเรียกกันว่าราชอาณาจักรอียิปต์เก่า (ประมาณ ก.ค.ศ. 2900) อีกสามร้อยปีต่อมามีการสร้างพีระมิดรุ่นแรกขึ้น พีระมิดเป็นสุสานขนาดใหญ่โตมโหฬาร มหาพีระมิดซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดสูง 48 ฟุต พีระมิดเหล่านี้สร้างถวายฟาโรห์แห่งอียิปต์ซึ่งประชาชนนับถือว่าเป็น "เทพเจ้าผู้สถิตอยู่ในโลก" ศพของฟาโรห์ถูกอาบยากันเน่าเปื่อยและเก็บรักษาไว้ในพีระมิดเพื่อรอวันพื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ ชาวอียิปต์เชื่อว่าคนธรรมดาไม่มีหวังจะได้เข้าร่วมในชีวิตที่พื้นขึ้นใหม่หลังจากที่ตายไปแล้ว

รัฐที่ใหญ่ที่สุดแห่งแรกในเมโสโปเตเมียก่อตั้งโดยชาวอัคคาด (Akkadian) ชนชาตินี้สามารถพิชิตชาว สุเมอร์เผ่าที่ผนึกกำลังกันได้ไม่ดีเท่าไรนัก ก.ค.ศ. 2600 ซาร์กอนผู้นำของชาวอัคคาดได้ชัยชนะทั่วแผ่นดินเม-โสโปเตเมีย ในบริเวณดังกล่าวแต่ละเมืองจะมีเทพเจ้าของตนประจำอยู่ อำนาจและความยิ่งใหญ่ของเทพเจ้าแต่ละองค์วัดกันด้วยอำนาจทางการเมืองของเมืองที่อยู่ใต้อารักขา

อับราฮัมมิใช่คนแรกที่เริ่มมีอารยธรรม เพราะก่อนหน้านั้นมีอารยธรรมเก่าแก่อยู่แล้ว การเดินทางผจญภัยของท่านมิใช่เป็นตอนเริ่มต้นของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มีผู้บันทึกประวัติศาสตร์ของมนุษย์ไว้ก่อนสมัยของอับราฮัมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ผู้เขียนพระคัมภีร์พูดไว้ชัดเจนว่า พระเจ้าทรงทำงานท่ามกลางมนุษย์มานานก่อนสมัยอับราฮัมแล้ว แต่ทรงเริ่มต้นงานใหม่ในสมัยของท่าน พระเจ้าทรงสำแดงพระองค์ให้อับราฮัมและเชื้อสายของท่านรู้จักในลักษณะที่ลึกซึ้งและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อให้พวกเขานำความรู้นั้นไปแบ่งปันแก่คนอื่น

บรรพชนต้นตระกูลอิสราเอลมีใครบ้าง

หลักข้อเชื่อโบราณของอิสราเอลเริ่มต้นว่า "บิดาของข้าพระองค์เป็นชาวอารัมผู้หลงทางท่องเที่ยวไป" (ฉธบ. 26:5) เห็นได้ชัดว่าชาวฮีบรูเชื่อว่าชาติของตนสืบเชื้อสายมาจากชาวอารัมชนเผ่าโบราณมากเผ่าหนึ่ง

บรรพชนต้นตระกูลอิสราเอลกับประวัติศาสตร์

เทราห์บิดาของอับราฮัมและครอบครัวดูเหมือนจะเป็นมิตรกับคนในเมืองเออร์ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของเมโสโปเตเมีย (ปฐก. 11:31) เมืองเออร์เคยเป็นเมืองสำคัญและมีอำนาจตั้งแต่ ก.ค.ศ. 3000 ขณะนั้นประชาชนเมืองนี้สามารถควบคุมส่วนใหญ่ของเมโสโปเตเมียภาคใต้ แต่ในที่สุดก็เสื่อมอำนาจลงเมื่อ ก.ค.ศ. 1950 หลังจากนั้นอับราฮัมได้ออกเดินทางจากญาติพี่น้อง "บ้านของบิดา" ไปเมืองฮารานเพื่อแสวงหาทุ่งหญ้าใหม่สำหรับเลี้ยงสัตว์ และที่อยู่ใหม่ให้กับครอบครัวของตน (ปฐก. 12:1) ปฐมกาลบทหลัง ๆ พูดถึงเบธูเอลบุตรชายของนาโฮร์และมิลคาห์ (ปฐก. 24:24) เรเบคาห์และลาบัน ลูกเบธูเอล ญาติของอับราฮัม ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองนาโฮร์ใกล้เมืองฮาราน

เราพยายามหาจุดเชื่อมโยงระหว่างเรื่องบรรพชนต้นตระกูลอิสราเอลในพระคัมภีร์และประวัติศาสตร์โลกในภูมิภาคที่พวกเขาอาศัยอยู่ ทั้งหมดที่เรารู้เกี่ยวกับบรรพชนต้นตระกูลอิสราเอลมีอยู่ในพระธรรมปฐมกาลเท่านั้น เรื่องเหล่านี้เป็นนิทานโบราณคดีมาก่อน อาจจะบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างที่เรามีอยู่นี้หลังจากที่อับราฮัมเสียชีวิตไปแล้วหนึ่งพันปี สาเหตุที่ชาวอิสราเอลอนุรักษ์เรื่องนี้ไว้ เพราะอิสราเอลรุ่นหลังยกย่องนับถือบรรพบุรุษของตนยิ่งนัก และต้องการรู้เรื่องราวเกี่ยวกับท่านเหล่านั้นให้มากที่สุด นอกจากนั้นแล้วนักเล่าเรื่องอิสราเอลยังรู้สึกว่าเรื่องเหล่านั้นสอนสัจธรรมสำคัญ ๆ เกี่ยวกับพระเจ้าและวิธีที่พระองค์ติดต่อกับมนุษย์ พวกอิสราเอลไม่เคยสงสัยเรื่องที่พระเจ้าทรงเลือกอับราฮัมและเชื้อสายของท่าน ทรงสำแดงพระองค์ให้รู้จักและทรงทำพันธสัญญากับพวกเขา จึงแน่ใจได้ว่าพวกเขาใช้เรื่องเหล่านี้สั่งสอนคนรุ่นหลัง ๆ เพราะเรื่องเหล่านี้มีคุณค่ามากมาย มีความจริงเกี่ยวกับพระเจ้าและแผนการที่พระองค์ทรงมีสำหรับมนุษยชาติอยู่ด้วย

ขณะที่ศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพชนต้นตระกูลอิสราเอลอยู่นี้ เราต้องเข้าใจและจำไว้เสมอว่า เรากำลังเกี่ยวข้องกับนิทานโบราณคดีไม่ใช่ประวัติศาสตร์ เรื่องดังกล่าวมิได้บันทึกไว้หลังจากที่เหตุการณ์เกิดขึ้นได้ไม่นาน แต่เป็นเรื่องที่จดจำกันมานานหลายศตวรรษโดยการถ่ายทอดจากพ่อไปสู่ลูกแล้วค่อยบันทึกไว้ทีหลัง

อับราฮัม
เรื่องของอับราฮัมบันทึกไว้ในพระธรรมปฐมกาลบทที่ 12-25 เริ่มต้นด้วยพระบัญชาและพระสัญญาของพระเจ้า พระเจ้าทรงบัญชาอับราฮัมว่า "เจ้าจงออกจากเมือง จากญาติพี่น้อง จากบ้านบิดาของเจ้า ไปยังดินแดนที่เราจะบอกให้เจ้ารู้" (ปฐมกาล12:1) ส่วนพระสัญญาคือ "เราจะให้เจ้าเป็นชนชาติใหญ่ (ปฐมกาล 12:2) ถ้าเราอ่านปฐมกาลบทต่อไป เราจะเห็นว่าอับราฮัมเดินทางไปปาเลสไตน์และพระเจ้าทรงให้ความมั่นใจแก่ท่านว่า อาณาบริเวณนั้นจะเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหลานท่าน (ปฐก. 12:7,15;18-21) อับราฮัมยังคงยึดอาชีพเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนไปตามที่ต่าง ๆ เพื่อหาทุ่งหญ้าและน้ำให้สัตว์เลี้ยงของท่านกินและดื่ม ดูเหมือนว่าอัมราฮัมจะทำพันธสัญญากับอาบีเมเลคกษัตริย์ของเมืองเก-ราร์ มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อเกิดการกันดารอาหารที่ปาเลสไตน์ อับราฮัมจึงเดินทางไปประเทศอียิปต์

เรื่องของอับราฮัมที่อนุรักษ์ไว้หลายเรื่องเกี่ยวข้องกับคำถามที่ว่า พระประสงค์ของพระเจ้าจะสำเร็จได้อย่างไรในเมื่อท่านไม่มีทายาทสืบสกุล ตามประเพณีของคนสมัยนั้น ถ้าชายใดไม่มีบุตรชายก็จะมอบสิทธิ์ให้แก่ทาสที่ตนโปรดปรานเป็นผู้สืบมรดก แต่พระเจ้าตรัสว่าท่านจะไม่ต้องทำเช่นนั้น (ปฐก. 15:3-6) นางซาราห์ยอมให้ทาสสาวของตนเป็นผู้ให้กำเนิดบุตรชายแก่อับราฮัมแทนนาง (ปฐก. 16:1-2) นี่ก็ไม่ใช่แผนการของพระเจ้า ในที่สุดนางซาราห์ได้กำเนิดบุตรชายแก่อับราฮัม ชื่อว่า อิสอัค ในเวลาที่นางชรามากแล้ว (ปฐก. 21:1-3) แม้กระนั้นก็ดูเหมือนว่าแผนการของพระเจ้าจะล้มเหลว เพราะพระเจ้าให้ท่านถวายอิสอัคบุตรของท่านเป็นเครื่องบูชา ในที่สุดพระเจ้าก็ทรงห้ามไว้ และทรงจัดหาเครื่องบูชาอื่นให้แทน (ปฐก. 22.9-14) เพราะพระเจ้าต้องการทดสอบความเชื่อของท่าน

หลังจากที่ซาราห์สิ้นชีวิตแล้ว อับราฮัมได้แต่งงานใหม่ ท่านมีบุตรกับนางเคทูราห์อีกหลายคน แต่บุตรเหล่านี้มิใช่ผู้สืบพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ ก่อนที่อับราฮัมจะสิ้นชีวิตท่านได้เข้าในแผ่นดินที่พระเจ้าสัญญาจะประทานให้ และได้บุตรชายซึ่งจะเป็นผู้ให้กำเนิดชนชาติที่เป็นเชื้อสายของท่านต่อไป

อิสอัค
การกำเนิดของอิสอัคมีความสำคัญมาก เพราะท่านเป็นทายาทผู้สืบพันธสัญญาของพระเจ้า ตอนที่อิสอัคยังเด็กอยู่อับราฮัมเกือบจะถวายท่านเป็นเครื่องบูชา ก่อนอับราฮัมสิ้นชีวิตท่านได้จัดให้อิสอัคแต่งงานกับเรเบคาห์คนเชื้อสายเดียวกับท่าน ทั้งสองอยู่ด้วยกันเป็นเวลานานแต่ไม่มีบุตร แต่ในที่สุดนางเรเบคาห์ก็ให้กำเนิดบุตรชายฝาแฝดตั้งชื่อว่า เอซาวและยาโคบ (ปฐก. 25:21-26) ความสุขในวัยชราของอิสอัคถูกรบกวนเพราะลูกชายฝาแฝดของท่านทะเลาะเบาะแว้งกันด้วยเรื่องสิทธิและพรบุตรหัวปี

เอซาวและยาโคบ
เรื่องเล่าว่าเอซาวและยาโคบจะทะเลาะกันมาตั้งแต่ก่อนเกิดแล้ว เอซาวไม่ยอมรักษาสิทธิบุตรหัวปีของตน ยาโคบก็เป็นคนที่ทะเยอทะยานชอบใช้ความฉลาดแกมโกงเพื่อให้ได้สิทธิบุตรหัวปีเป็นของตน พระเจ้าทรงเลือกยาโคบให้เป็นผู้สืบพันธสัญญาที่ทรงทำไว้กับอับราฮัมและทรงเปลี่ยนชื่อยาโคบใหม่ว่า อิสราเอล แปลว่า "ผู้ปล้ำสู้กับพระเจ้า" เนื่องจากยาโคบไม่เต็มใจตอบสนองการทรงเรียกของพระเจ้า พระองค์ต้องทำงานหนักเพื่อให้ยาโคบกลับใจใหม่และเชื่อฟังพระองค์ ระหว่างทางท่านได้ต่อสู้กับบุรุษผู้หนึ่งที่แม่น้ำยับบอก ชีวิตของยาโคบหลังจากที่ได้สิทธิบุตรหัวปีแล้ว ท่านต้องหนีเอซาวซึ่งโกรธแค้นไปอยู่ที่บ้านเดิมของมารดา อยู่ที่นั้นระยะหนึ่งก็ได้ภรรยาสี่คน คือ เลอาห์ ราเชล ศิลปาห์และ บิลฮาห์ และมีลูกชาย 12 คน ลูกสาว 1 คน (ปฐก. 29:21-28)

แม้พี่ชายยังโกรธอยู่แต่ท่านก็เดินทางกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนของตน เพราะเกิดการขัดแย้งกับลาบันผู้เป็นทั้งลุงและพ่อตา ในที่สุดยาโคบก็ได้อาศัยอยู่ในแผ่นดินปาเลสไตน์และได้ชื่อใหม่ว่าอิสราเอล

โยเซฟ
โยเซฟเป็นบุตรของราเชลซึ่งยาโคบรักมากแต่เป็นที่เกลียดชังของบรรดาพี่ชาย โยเซฟชอบเล่าความฝันของตนให้พวกพี่ชายฟังว่าตนเองจะได้เป็นใหญ่เป็นโต (ปฐก. 37) พวกพี่ ๆ ไม่รู้ว่านี้เป็นแผนการณ์ของพระเจ้าก็พากันโกรธแค้นโยเซฟ และได้คิดกำจัดโยเซฟ โยเซฟจึงถูกขายเป็นทาสที่อิยิปต์ โยเซฟมีความขยันและรับผิดชอบในหน้าที่การงาน แต่ก็ถูกกล่าวหาว่าล่วงเกินภรรยาของโปทิฟาร์ผู้เป็นเจ้านายจึงถูกจำคุก อยู่ในคุกท่านก็แสดงความสามารถต่าง ๆ ในการแก้ความฝัน ในที่สุดก็ได้แก้ความฝันให้ฟาโรห์ และได้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารประเทศอียิปต์และแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ผ่านช่วงวิกฤตจากการกันดารอาหาร นอกจากนั้นท่านยังได้ช่วยเหลือครอบครัวของท่านให้เข้ามาอยู่ในอียิปต์อีกด้วย

พระเจ้าของอับราฮัม

เราต้องเข้าใจว่าบรรพชนต้นตระกูลอิสราเอลนับถือพระเจ้าองค์ไหน มีความเชื่อในพระเจ้าอย่างไร นมัสการและรับใช้พระองค์ด้วยวิธีไหน การเตรียมความคิดและจิตใจมนุษย์ให้พร้อมที่จะเข้าใจความจริงที่พระเจ้าทรงสำแดงในพระเยซูคริสต์นั้น ต้องใช้เวลายาวนานตลอดสมัยพันธสัญญาเดิม แม้กระนั้นพวกอิสราเอลจำนวนมากก็ยังเข้าใจพระองค์ผิด ถึงอับราฮัมจะเป็นคนฉลาดและใกล้ชิดพระเจ้าแต่ถ้าพระเยซูคริสต์เกิดมาในสมัยของท่าน ท่านก็คงเข้าใจความจริงได้ไม่หมด

พระเจ้าทรงมีหลายสิ่งที่จะสอนให้ประชาชนเข้าใจเรื่องของพระองค์ เรื่องของโลก และเรื่องฐานะของพวกเขา ในเรื่องการสอนนี้ พระเจ้าทรงมีความชำนาญและปัญญายิ่งกว่าบรรดาครูที่นับว่าเก่งแล้ว พระองค์เริ่มสอนตั้งแต่ตอนต้นและค่อย ๆ นำความคิดของพวกเขาทีละขั้นตอน จนกระทั่งอาจจะมีบางคนพร้อมที่จะยอมรับการสำแดงความจริงในชีวิต ในความตายและในการเป็นขึ้นมาของพระเยซูคริสต์ อันเป็นการสำแดงที่สมบูรณ์ที่สุด

เราพิจารณาศาสนาของบรรพชนต้นตระกูลอิสราเอลมาแล้ว โดยทั่วไปพวกเขาจะมีความเชื่อและการกระทำอย่างเดียวกัน แต่ไม่ใช่ทุกคนจะรู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องฝ่ายวิญญาณเท่ากัน บางคนสามารถจับความจริงของพระเจ้าได้มาก บางคนประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น

ทุกสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับท่านเหล่านั้นเป็นเรื่องที่เขียนแบบนิทานโบราณคดี เราเคยศึกษามาแล้วว่าเรื่องแบบนี้เคยถูกอนุรักษ์ไว้ในความทรงจำ และเล่าสืบต่อกันมาปากต่อปากเป็นเวลาหลายร้อยปี นักเล่าเรื่องเข้าใจสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับพระเจ้าและเรื่องฝ่ายจิตวิญญาณ พวกเขาตีความเรื่องต่าง ๆ โดยสอดใส่ความคิดและความเข้าใจของตนเองเข้าไปในใจและในการกระทำของบรรพชนที่พวกเขากำลังเล่าให้ฟัง

เราสามารถเห็นว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร โดยพิเคราะห์วิธีที่ผู้เขียนแต่ละคนใช้พระนาม "เยโฮวาห์" ในอพยพบทที่ 6:2-3 บอกว่า "พระเจ้าตรัสกับโมเสสอีกว่า เราคือเยโฮวาห์ เราปรากฏแก่อับราฮัม อิสอัค และยาโคบ ด้วยนามว่าพระเจ้าผู้ทรงฤทธิ์ แต่เราไม่ได้สำแดงให้เขารู้จักเราในพระนามพระเยโฮวาห์"

ก่อนพระเจ้าทรงเรียกอับราฮัม
อับราฮัมเคยอยู่ปะปนกับผู้คนในเมืองเออร์ก่อนจะย้ายไปอยู่เมืองฮาราน ในเมโสโปเตเมียมีเทพเจ้าประจำเมืององค์หนึ่ง ชื่อว่า เทพ "พระสิน" อยู่ในวิหาร "ซิกกูแรท" ซึ่งมีบันไดขนาดใหญ่สำหรับปุโรหิตประจำวิหารเดินขึ้นไปยังศาลเทพเจ้าซึ่งอยู่ชั้นบน เราต้องจำไว้อย่างหนึ่งว่า บรรพบุรุษของอับราฮัมไม่ใช่ราษฎรของเมืองนี้แต่เป็นเพียงผู้มาติดต่อค้าขายเท่านั้น

พระเจ้าของอับราฮัม
อับราฮัมไม่เคยรู้ว่าพระเจ้าทรงพระนามว่า "เยโฮวาห์" ในอพยพบอกเราว่า พวกบรรพชนต้นตระกูลอิสราเอลเรียกพระนามพระเจ้าหลายอย่าง เช่น "เอลชัดดาย" แปลว่า "พระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์" "เอล เอลีโยน" แปลว่า "พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าสูงสุด" "เอล โอลาม" แปลว่า "พระเจ้านิรันดร์" "เอล โรอี" แปลว่า "พระเจ้าผู้ให้เห็น" และ "เอล เบธเอล" แปลว่า "พระเจ้าแห่งเบธเอล" จึงรวมความได้ว่าตามปกติแล้วพวกบรรพชนจะใช้พระนาม "เอล" เมื่อพูดถึงพระเจ้าด้วยความยำเกรง อีกคำหนึ่งที่ใช้กันอย่างกว้างขวางเป็นคำพหูพจน์คือคำว่า "เอโลฮิม" ซึ่งอาจจะมาจากคำว่า "เอล"

พันธสัญญา
ตามปกติคนในสมัยโบราณที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ในเมืองและทำการเกษตร มักคิดว่าเทพเจ้าที่ตนเคารพนับถือเป็นเทพเจ้าประจำถิ่น หรืออาณาเขตของใครของมัน เทพเจ้าเหล่านี้อาศัยมนุษย์ทำการสู้รบเพื่อขยายอำนาจ อับราฮัมกับครอบครัวเชื่อว่าพระเจ้าทรงทำงานทั้งในฮาราน ปาเลสไตน์ และประเทศอียิปต์ และเชื่อว่าพระเจ้าทรงตั้งพระทัยจะให้พวกเขาไปรับใช้พระองค์ที่ปาเลสไตน์ ดูเหมือนว่ายาโคบเพิ่งเข้าใจเรื่องพระสัญญาที่พระเจ้าทรงให้ไว้กับอับราฮัมและเชื้อสายของท่าน เมื่อพระองค์ทรงสำแดงให้ท่านทราบในความฝัน

พิธีสุหนัต
คนที่จะเป็นทายาทสืบทอดพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงกระทำไว้กับอับราฮัมจะต้องเข้าสุหนัต ขนบประเพณีนี้มีผู้กระทำกันอย่างแพร่หลายอยู่แล้วในสมัยบรรพชนต้นตระกูลอิสราเอล เป็นพิธีต้อนรับชายหนุ่มเข้าเป็นสมาชิกระดับผู้ใหญ่ แต่ในพวกฮีบรูนั้นพิธีสุหนัตจะทำตั้งแต่ยังเป็นเด็กแรกเกิดเมื่ออายุได้ 8 วัน เป็นหมายสำคัญแสดงความเป็นผู้สืบทอดพันธสัญญาที่พระเจ้าทรงกระทำไว้กับอับราฮัม

แท่นบูชาและการถวายบูชา
ทุกศาสนาต้องมีพิธีฉลองหรือพิธีกรรมบางรูปแบบซึ่งผู้นมัสการใช้เป็นช่องทางเข้าเฝ้าหรือติดต่อกับเทพเจ้าของตน แต่ เรื่องบรรพชนต้นตระกูลอิสราเอลเน้นข้อเท็จจริงที่ว่า พระเจ้าคือผู้ที่เสด็จมาหาประชาชนของพระองค์ มีการพูดถึงแท่นบูชาบ่อย ๆ ว่าเป็นอนุสรณ์เตือนให้รำลึกถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงกระทำไว้กับประชาชนที่พระองค์ทรงเลือกสรร อับราฮัมมีส่วนเกี่ยวข้องไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งกับสถานที่อันเป็นที่ตั้งของแท่นบูชาทุกแห่ง

อิสราเอลยุคหลัง ๆ ไม่ยอมรับแท่นบูชาและสถานนมัสการเหล่านั้นเพราะถูกใช้เป็นที่นมัสการของศาสนาอื่น ในเรื่องของท่านยาโคบบอกว่า แท่นบูชาที่บรรพชนต้นตระกูลตั้งขึ้นเป็นเสาหินต้นเดียว เวลานมัสการพระเจ้ามีการเทน้ำมันบนยอดเสา (ปฐก. 28:18,35:14) พร้อมกับทูลขอให้พระเจ้าตอบสนอง (ปฐก. 12:8) เราไม่พบรายละเอียดของกฎบัญญัติสำหรับพิธีถวายบูชาสมัยนั้น ไม่มีการแต่งตั้งบุโรหิต หัวหน้าเผ่าเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ถวายบูชาในนามของประชาชน

จริยธรรม
ไม่ปรากฏว่ามีกฎหรือข้อบังคับพิเศษใดเลยที่พวกบรรพชนต้นตระกูลใช้สำหรับควบคุมความประพฤติของประชาชน นอกจากขนบประเพณีที่ประชาชนสมัยนั้นยอมรับกันโดยทั่วไป คริสต์ชนคงเห็นว่าขนบประเพณีบางอย่างของบรรพชนไม่ถูกต้องตามมาตรฐานของคริสต์ศาสนา แม้แต่พวกอิสราเอลสมัยหลังก็ยังเห็นว่าผิดตามมาตรฐานที่พวกเขายอมรับ แต่ก็เป็นรากฐานที่ตั้งไว้เพื่อพัฒนาความคิดทางจริยธรรมของพวกฮีบรูสมัยต่อมา ประชาชนทุกคนเข้าใจแล้วว่าคุณธรรมสูงสุดของพวกเขาคือ "การทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าและรับใช้พระองค์"

อ่านต่อ>>>

บรรพชนต้นตระกูลอิสราเอล
การอพยพ
อิสราเอล 12 เผ่า
กษัตริย์องค์แรกๆ ของอิสราเอล
สองราชอาณาจักร
สมัยจักรวรรดิอัสซีเรียเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิบาบิโลนเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิเปอร์เซียเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิกรีกเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจ
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย