ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป>>
อิสราเอล
กษัตริย์องค์แรกๆ ของอิสราเอล
(ประมาณ ก่อน.ค.ศ. 1000 - 922)
อำนาจของพวกฟีลิสเตีย
ถึงแม้ว่าผู้วินิจฉัยทุกคนจะพยายามสักเท่าใด อิสราเอลก็ไม่สามารถยึดครองแผ่นดินปาเลสไตน์ได้ทั้งหมด พวกเขาจึงได้ตั้งหลักแหล่งในบริเวณที่ยึดครองได้เท่านั้น อียิปต์กับอัสซีเรียขาดผู้นำที่เข้มแข็งมานานกว่า 100 ปี จึงไม่มีบทบาทสำคัญในคานาอัน ศัตรูของอิสราเอลหลายเผ่ายังคงฮึกหาญ อิสราเอลต้องปราบปรามชนเผ่าเร่ร่อนในทะเลทรายให้ราบคาบเสียก่อนจึงจะอยู่เย็นเป็นสุข แต่ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของพวกเขาคือพวกฟีลิสเตียและชาวทะเลเผ่าต่างๆ
พวกฟีลิสเตียเข้ามาตั้งหลักแหล่งแถบที่ราบชายทะเลตอนใต้ของปาเลสไตน์ และครองหัวเมือง 5 แห่งคือ กาซา อัชเคโลน อัชโดด กัทและเอคโรน แต่ละหัวเมืองมีเจ้าเมืองปกครอง เมื่อเกิดสงครามทั้งห้าหัวเมืองนี้จะร่วมกันต่อสู้ อัชโดดเป็นเมืองศูนย์กลางมีเทวสถานของ "พระดาโกน" เทวาธิราชหรือประมุขแห่งเทพทั้งปวงตั้งอยู่ ฟีลิสเตียเป็นพวกแรกในปาเลสไตน์ที่รู้จักใช้เหล็กทำเครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้พวกเขาใช้ทองสัมฤทธิ์ อาวุธที่ทำด้วยเหล็กมีประสิทธิภาพกว่าอาวุธที่ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ ทำให้ฟีลิสเตียสามารถรบชนะศัตรูของตน
พระธรรม 1 ซามูเอลบทที่ 4 พูดถึงสงครามครั้งแรกระหว่าง อิสราเอลกับฟีลิสเตีย ฟีลิสเตียเป็นฝ่ายชนะ อิสราเอลจึงหามหีบพันธสัญญาไปในสนามรบด้วย เพื่อบำรุงขวัญและกำลังใจแก่นักรบของตน เพราะเชื่อว่าพระเจ้าทรงสถิตกับพวกเขา เมื่อพวกฟีลิสเตียเห็นหีบพันธสัญญาก็กลัวแต่ก็รบจนชนะอิสราเอลในที่สุด หีบพันธสัญญาถูกยึดไป บุตรชายสองคนของเอลีที่รับผิดชอบดูแลหีบพันธสัญญาถูกสังหาร เมื่อปุโรติเอลีได้ยินเรื่องที่เกิดขึ้น ท่านก็ช็อคจนถึงแก่ความตาย
นี่คือสิ่งเลวร้ายที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับอิสราเอล พวกเขาเชื่อว่าหีบพันธสัญญาเป็นเครื่องหมายแสดงว่าฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าอยู่กับพวกเขา แต่หีบก็ถูกผู้นับถือพระอื่นยึดไป พระเจ้าทรงสัญญาว่าจะประทานแผ่นดินคานาอันให้แต่กลับถูกชาติอื่นแย่งชิงไป อิสราเอลผูกพันกันด้วยพันธสัญญาที่มีการรื้อฟื้นเป็นประจำทุกปีที่เมืองชิโลห์ แต่เมืองชิโลห์ก็ถูกทำลายลงแล้ว
ถึงกระนั้นก็ตามยังมีผู้นำท่านหนึ่งเหลืออยู่ในอิสราเอล ท่านผู้นี้คือซามูเอลผู้ที่พระเจ้าทรงเรียกให้รับใช้พระองค์ ท่านเริ่มต้นรับใช้พระเจ้าที่เมืองชิโลห์ โดยกล่าวตักเตือนเอลีและบุตรชายของท่านที่ทำผิด (1ซามูเอล 3.10-14) แล้วย้ายไปรามาห์ซึ่งเป็นบ้านเดิมที่ครอบครัวของท่านเคยอาศัยอยู่ ทุกๆปีท่านต้องเดินทางไปวินิจฉัยและพิพากษาเรื่องต่างๆท่ามกลางอิสราเอล 12 เผ่า (1ซามูเอล 7.15-17) และเมื่อถึงเวลาอันควรท่านก็เป็นผู้แต่งตั้งกษัตริย์ให้ปกครองอิสราเอล
กษัตริย์ของอิสราเอล
พวกอิสราเอลเลือกกษัตริย์ของตนเพื่อเป็นผู้นำกองทัพต่อสู้กับพวกฟีลิสเตีย กองทัพที่มีการจัดตั้งดีและมีวินัยเคร่งครัดเท่านั้นจึงจะสามารถเอาชนะพวกฟีลิสเตียได้ การระดมอาสาสมัครจากเผ่าต่าง ๆ อย่างที่เคยทำกันในสมัยผู้วินิจฉัยนั้นไม่มีประสิทธิภาพพอ อิสราเอลจำเป็นต้องมีผู้นำที่สามารถสร้างกองทัพถาวรและฝึกทำสงครามให้พร้อมอยู่เสมอ ซามูเอลมีบทบาทสำคัญในการเลือกกษัตริย์องค์แรก ๆ ของอิสราเอล
ซาอูลกษัตริย์องค์แรกของอิสราเอล
เรื่องการเลือกซาอูลเป็นกษัตริย์บันทึกไว้ในพระธรรม 1ซามูเอล บทที่
8-12 ชาวอียิปต์มีประเพณีเจิมข้าราชสำนักให้รับผิดชอบต่อฟาโรห์
ดูเหมือนซามูเอลนำประเพณีนี้มาใช้เพื่อเจิมผู้นำอิสราเอลให้รับผิดชอบต่อพระเจ้า
ก่อนที่ซาอูลจะเจิมกษัตริย์ท่านีความลังเลใจ
เพราะเห็นว่าพระเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ของพวกอิสราเอลอยู่แล้ว
(1ซามูเอล8.7,10.19) และท่านกลัวว่ากษัตริย์จะใช้อำนาจในทางที่ผิด
(1ซามูเอล 8.11-18)
พวกอิสราเอลยอมรับซาอูลอย่างเต็มที่เมื่อซาอูลพิสูจน์ความเป็นผู้นำกองกำลังออกทำสงครามได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะนั้นชาวอัมโมนพยายามยึดหัวเมืองของอิสราเอลที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน ซาอูลรวบรวมเผ่าต่างๆออกไปต่อสู้และช่วยเมืองนั้นให้พ้นการโจมตี (1ซามูเอล บทที่11 ) ไม่นานซาอูลก็ขัดแย้งกับฟีลิสเตีย (1ซามูเอล 13-14) ซึ่งเวลานั้นซาอูลมีกองทัพที่ถาวรแล้วซา(1ซามูเอล 3.2) และตั้งโยนาธานโอรสของพระองค์ให้บังคับบัญชากองทัพส่วนหนึ่ง โยนาธานรบชนะฟีลิสเตียที่ตั้งค่ายอยู่ที่เกบาด้านเหนือของเยรูซาเล็ม
ขณะที่พวกฟีลิสเตียยังคงก่อความเดือดร้อนให้ไม่หยุด ศัตรูของอิสราเอลหลายพวกกำลังเคลื่อนไหวอย่างเข้มแข็งอยู่ในปาเลสไตน์ 1 ซามูเอล15 พูดเรื่องการทำสงครามกับอามาเลข ซาอูลต้องนำอิสราเอลทำสงครามอยู่บ่อยๆ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้พระองค์เครียดทั้งร่างกายและอารมณ์ จึงเริ่มมีอารมณ์ร้าย (1ซามูเอล 16.14-23) จนขัดแย้งกับซามูเอลที่คอยห้ามไม่ให้พระองค์ทำอะไรตามใจชอบเกินไป ซาอูลทรงต้องการตัดสินพระทัยด้วยตนเองว่าจะทำอะไรกับคน สัตว์ และสิ่งของที่ริบได้จากการทำสงคราม (1ซามูเอล 15.9) แทนที่จะเชื่อฟังพระประสงค์ของพระเจ้าตามที่ซามูเอลตีความให้ ซาอูลล้มเหลวที่ไม่ได้รับใช้พระเจ้าตามสมควร (1ซามูเอล 15.22-23) ความผิดพลาดที่สำคัญที่สุดของซาอูลอาจเป็นเพราะทรงริษยาดาวิด (1ซามูเอล27.1) แต่ดาวิดกลับให้เกียรติซาอูลในฐานะที่ได้รับการเจิมให้เป็นกษัตริย์ของอิสราเอล จึงหลีกเลี่ยงไม่ยอมให้เกิดความขัดแย้งกับพระองค์(1ซามูเอล 24.10,26.9)
การปกครองของซาอูลสิ้นสุดลง เมื่อฟีลิสเตียยกทัพมาปราบอิสราเอลอีก พวกเขายกทัพมาที่เมืองอาเฟก ซึ่งอยู่ทางเหนือของทุ่งราบเอสเดรอีโลน ซาอูลตั้งทัพที่ภูเขากิลโบอา สงครามครั้งนั้นดุเดือดมาก โอรสของซาอูลสามองค์สิ้นชีพในสนามรบและซาอูลก็ได้ปลงพระชนม์ตนเอง (1ซามูเอล 31.3-4)
กษัตริย์ดาวิด
หลังซาอูลสิ้นพระชนม์แล้ว
อิสราเอลต้องการกษัตริย์องค์ใหม่ซึ่งน่าจะได้แก่ดาวิด
ซามูเอลเคยเลือกท่านให้เป็นกษัตริย์ไว้ก่อนแล้ว(1ซามูเอล 16.1-13)
ท่านเคยสังหารโกลิอัทแม่ทัพของฟีลิสเตีย (1ซามูเอล
17.48-49)ท่านประสบความสำเร็จในกองทัพของซาอูล (1ซามูเอล 18.12-16)
ท่านซ่องสุมผู้คนและฝึกจนกลายเป็นกองโจรที่แกร่งกล้า(1ซามูเอล 22.2)
ประชาชนอิสราเอลยอมรับดาวิดเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ของพวกเขา (1ซามูเอล2.1-4) และเจิมท่านที่เมืองเฮโบรน ดูเหมือนพวกฟีลิสเตีย ก็ยอมรับและสนับสนุนเรื่องการแต่งตั้งดาวิดให้เป็นกษัตริย์ เพราะเห็นว่าการแต่งตั้งครั้งนี้อาจเป็นผลดีแก่พวกเขา จะทำให้อิสราเอลแตกแยกกันเอง
แต่ในฝ่ายของอับเนอร์แม่ทัพของซาอูลประกาศว่าเอชบาอัลโอรสของซาอูลต้องได้เป็นกษัตริย์ ไม่ใช่ดาวิด (2ซามูเอล 2.8-10) พระธรรมซามูเอลเรียกเอชบาอัลว่า อิชโบเชท แปลว่า "บุรุษแห่งความอัปยศ" แต่พระธรรม1พงศาวดาร 8.33,9.39 บอกว่าชื่อของท่านคือ "เอชบาอัล" แปลว่า "พระบาอัลมีชีวิตอยู่" เอชบาอัลเป็นกษัตริย์ได้ไม่กี่เดือน เพราะความอ่อนแอจึงตกอยู่ใต้อำนาจของอับเนอร์ แต่เมื่อเกิดการขัดแย้งอับเนอร์จึงหันไปสนับสนุนดาวิด (2ซามูเอล 3.6-11) โยอาบแม่ทัพของดาวิดไม่ชอบอับเนอร์ กลัวว่าอับเนอร์ชิงอำนาจเหนือกองทัพไปจากตนจึงสังหารอับเนอร์เสีย (2ซามูเอล3.23-17) เอชบาอัลถูกชายสองคนปลงพระชนม์เพื่อแก้แค้น (2ซามูเอล 4.7-8) ดาวิดปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยจึงทรงลงโทษชายสองคนนั้นด้วยการประหารชีวิต เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ดาวิดสามารถครอบครองอิสราเอลได้ทั้งหมด (2ซามูเอล 5.1-3) ทำให้พวกฟีลิสเตียไม่พอใจจึงยกทัพมาที่หุบเขาเรฟาอิมและบาอัลเปราซิมแต่ดาวิดสามารถเอาชนะได้ทั้งสองแห่ง
ดาวิดตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะรวมเผ่าต่างๆ ให้เป็นประเทศเดียว จึงทรงตัดสินพระทัยตั้งเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวง เพราะเยรูซาเล็มไม่เคยเป็นของยูดาห์หรือของอิสราเอลมาก่อน และตั้งอยู่ระหว่างอิสราเอลและยูดาห์จึงเหมาะที่จะเป็นศูนย์รวมชีวิตของชาติและอัญเชิญหีบพันธสัญญามาประดิษฐานที่กรุงเยรูซาเล็ม
เมื่อดาวิดเอาชนะฟีลิสเตียครั้งนั้นได้แล้ว ดูเหมือนจะทำลายอำนาจของพวกเขาจนหมดสิ้น เมืองต่างๆของชาวคานาอันก็กลายเป็นอาณาจักรของพระองค์ด้วย ดินแดนปาเลสไตน์ทางตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนอยู่ใต้การควบคุมของดาวิดทั้งหมด และยังเอาชนะเผ่าต่างๆ ที่พูดภาษาอารัมทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนอีกด้วย (2ซามูเอล 8.12) ช่วงเวลานี้เองดาวิดทรงผิดประเวณีกับนางบัทเชบาภรรยาของอูรีอาห์ชาวฮิตไทต์ จึงถูกผู้เผยพระวจนะนาธันกล่าวโทษ
ในรัชสมัยดาวิดนี้เองที่อิสราเอลมีอำนาจมากกว่าสมัยใดๆ ดาวิดทรงเป็นกษัตริย์ที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยกย่องยิ่งกว่ากษัตริย์องค์ใด ๆ ของอิสราเอล รัชสมัยของดาวิดสิ้นสุดลงด้วยความวุ่นวายเป็นระยะเวลานาน พระองค์ทรงลังเลพระทัยในการเลือกว่าใครควรสืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ ดาวิด มีมเหสีหลายองค์ และมีโอรสหลายองค์ (2ซามูเอล 3.2-5) บรรดาโอรสทั้งหลายต่างก็หวังว่าจะได้รับเกียรตินี้ โดยเฉพาะโอรสองค์ใหญ่ ทำให้สถานการณ์ตอนนั้นสับสนวุ่นวาย
เมื่อดาวิดใกล้จะสิ้นพระชนม์ อาโดนิยาห์โอรสองค์ที่สี่อ้างสิทธิ์เป็นผู้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดาโดยมีแม่ทัพโยอาบและอาบียาธาห์มหาปุโรหิตสนับสนุน (1พงศ์กษัตริย์ 1.5,7)
แต่ผู้เผยพระวจนะนาธัน มหาปุโรหิตศาโดก และเหล่าทหารบางส่วนชอบซาโลมอนมากกว่า พระนางบัทเชบาทูลขอให้ดาวิดแต่งตั้งซาโลมอนเป็นกษัตริย์ ซาโลมอนจึงเป็นกษัตริย์ของอิสราเอล
กษัตริย์ซาโลมอน
ซาโลมอนปกครองอิสราเอลในเวลาที่ประเทศรุ่งเรือง และมีศัตรูเหลือประปราย
เรื่องราวในรัชสมัยของพระองค์อยู่ในพระธรรม 1พงศ์กษัตริย์ 1-11
พระองค์ป้องกันมิให้เกิดการแตกแยกในอิสราเอลโดยการสั่งประหารอาโดนิยาห์คู่แข่งและแม่ทัพโยอาบผู้ให้การสนับสนุนอาโดนียาห์
(1พงศ์กษัตริย์ 2.19-25,28-35) แล้วเนรเทศปุโรหิตอาบียาธาร์ (1พงศ์กษัตริย์
2.26-27)
ซาโลมอนเสริมความแข็งแกร่งให้ราชอาณาจักรด้วยการสร้างป้อมปราการตามเมืองต่างๆ
และนำเอารถรบมาใช้ป้องกันราชอาณาจักร (1พงศ์กษัตริย์4.26)
ทำข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านและยอมรับธิดาของกษัตริย์ต่าง ๆ มาเป็นมเหสี
(1พงศ์กษัตริย์11.1-2) ซาโลมอนอาจส่งทองแดงเป็นสินค้าออก
พระองค์ทำการค้ากับต่างประเทศที่ท่าเรือเอซีโอน-เกเบอร์
การค้าทางทะเลของซาโลมอนอาจเป็นการแข่งขันกันอย่างรุนแรงกับการค้าขายทางบกของพวกอาหรับสมัยนั้น พระราชินีแห่งเชบาดูเหมือนจะมาจากภาคตะวันออกของเยเมน เพื่อทำข้อตกลงทางการค้ากับซาโลมอน (1พงศ์กษัตริย์ 10.1-13) พระองค์ทรงเก็บภาษีจากบรรดากษัตริย์ของอาหรับ (1พงศ์กษัตริย์10.15) ซาโลมอนยังได้กำไรจากการค้าขายม้าและรถรบ (1พงศ์กษัตริย์10.28-29) แต่ทรงใช้เงินทองจากการค้าขายสำหรับการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ โครงการก่อสร้างที่สำคัญอยู่ที่เยรูซาเล็ม 1พงศ์กษัตริย์บทที่ 6 พูดถึงการก่อสร้างพระวิหารซึ่งเริ่มเมื่อประมาณ ก.ค.ศ. 959 และเสร็จใน 7 ปี (1พงศ์กษัตริย์ 6.37-38) และสร้างอาคารขนาดเดียวกันอีกแห่งหนึ่งคือ
"พระตำหนักพนาแห่งเลบานอน" ใช้เป็นคลังเก็บอาวุธ (1พงศ์กษัตริย์7.2 ,1016-17) ท้องพระโรงเสาหาญสำหรับเก็บสมบัติและท้องพระโรงพระที่นั่งสำหรับประทับเวลาพิพากษาคดีความ (1พงศ์กษัตริย์7.6-7) นอกจากนี้แล้วยังสร้างวังอีก 2 แห่ง แห่งหนึ่งสำหรับกษัตริย์และอีกแห่งสำหรับธิดาของฟาโรห์มเหสีของพระองค์ สร้างปูชนียสถานสำหรับเทพเจ้าต่างๆ ที่มเหสีต่างชาติทั้งหลายนับถือ (1พงศ์กษัตริย์11.7-8)
ซาโลมอนมีความทะเยอทะยานจนเลยเถิด ทรงทำสิ่งต่าง ๆ มากเกินไปทำให้ค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายรับ จึงขึ้นภาษีอย่างหนัก และแบ่งประเทศเป็น 12 เขตต่างกับการแบ่งเป็น 12 เผ่าเดิม และแต่งตั้งข้าหลวงออกไปดูแลเพื่อหาเสบียงสำหรับใช้ในวัง (1พงศ์กษัตริย์4.7-19) ทรงออกคำสั่งเกณฑ์ผู้ชายให้ทำงานในโครงการก่อสร้าง ในกองทัพและช่วยงานในราชสำนัก (1พงศ์กษัตริย์9.15-22) ทำให้ประชาชนไม่พอใจมาก
ข้าราชการคนหนึ่งชื่อเยโรโบอัมเชื่อว่าตนสามารถก่อการกบฏได้ โดยมีผู้เผยพระวจนะอาหิยาห์เป็นผู้สนับสนุน แต่ซาโลมอนมีอำนาจมากจนเยโรโบอัมต้องหนีไปอยู่ที่ประเทศอียิปต์ (1พงศ์กษัตริย์ 1.28-40) ซาโลมอนมีหนี้มากจนต้องยกหัวเมืองกาลิลียี่สิบหัวเมืองให้แก่ฮีรามแห่งไทระเพื่อชำระหนี้ (1พงศ์กษัตริย์9.10-14) ประชาชนไม่พอใจการปกครองของซาโลมอน แต่เนื่องจากพระองค์เข้มแข็งและประชาชนคิดว่าพระองค์เป็นราชโอรสของดาวิดจึงไม่ก่อเหตุร้าย ครั้นซาโลมอนสิ้นพระชนม์ลงจึงพากันต่อต้านเรโหโบอัมโอรสของพระองค์อย่างเปิดเผย
กษัตริย์ ผู้เผยพระวจนะ และปุโรหิต
สมัยที่อิสราเอลเป็นราชอาณาจักรเดียวกันอยู่นั้น ศาสนาได้รับการจัดตั้งอย่างดี มีผู้นำสามพวกเป็นเสาหลักในการปกครองประเทศคือ กษัตริย์ ผู้เผยพระวจนะ และปุโรหิต
กษัตริย์
กษัตริย์ของอิสราเอลมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการเมือง
ภารกิจที่สำคัญคือการรวมอิสราเอล 12 เผ่าให้เป็นปึกแผ่น สามารถเอาชนะศัตรู
กษัตริย์ต้องได้รับการรับรองจากพระเจ้า ซามูเอลเป็นผู้แต่งตั้งกษัตริย์
เพราะอิสราเอลรู้ว่าท่านพูดในพระนามพระเจ้าเสมอ
พวกเขายอมรับบุคคลที่ท่านเลือกให้เป็นกษัตริย์
พิธีแต่งตั้งกษัตริย์ด้วยการใช้น้ำมันเจิม เป็นหมายสำคัญแสดงว่า
กษัตริย์เป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า
ชัยชนะในการทำสงครามเป็นเครื่องพิสูจน์ว่ากษัตริย์เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกและแต่งตั้งจริง
ผู้เผยพระวจนะ
คำว่า "ผู้เผยพระวจนะ" ในภาษาฮีบรูหมายถึงคนหลายประเภท
ซึ่งมีส่วนในศาสนาของอิสราเอลต่างกันซึ่งมีทั้งที่เป็นปัจเจกบุคคลและเป็นกลุ่ม
ดังนี้
ผู้ทำนาย (Seers) มีหลายคนที่สามารถ "มองเห็น" ความจริงเกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน อนาคตได้ดีกว่าคนอื่นและตีความได้ คนเหล่านี้ทำงานโดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินหรือสิ่งของ (กันดารวิถี 22.7, 1ซามูเอล 9.6-8) บางครั้งพวกเขาก็กล่าวพระวจนะที่สำคัญให้กับพวกอิสราเอล กันดารวิถี 23.22-24,1 ซามูเอล10.1) ผู้ทำนายมีญาณพิเศษที่พระเจ้าประทานให้ (1ซามูเอล 3.15-18) ผู้ทำนายที่ได้รับการสำแดงจากพระเจ้าจะรู้สึกว่าตนมีพันธะต้องบอกความจริงแก่ผู้อื่น (1ซามูเอล 19-21)
กลุ่มผู้เผยพระวจนะ (The bands of prophets) เป็นกลุ่มที่มักจะอยู่ร่วมกันในสถานนมัสการทั่วไปเช่น ที่กิลกาลและกิเบอาห์ (2พงศ์กษัตริย์ 4.38, 1ซามูเอล 10.10, 2พงศ์กษัตริย์ 2.5) พวกนี้ใช้การเล่นดนตรีเพื่อเร้าใจให้พร้อมสำหรับการเผยพระวจนะ (1ซามูเอล 10.5-6) (บางทีก็เรียกกลุ่มนี้ว่า "บุตรผู้เผยพระวจนะ" ) กลุ่มนี้ไม่ได้รับการยกย่องมากนัก (2พงศ์กษัตริย์ 9.11) งานที่ยอดเยี่ยมจะเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าทรงใช้และดลใจให้พวกเขาเผยพระวจนะจริงๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อบ้านเมือง และมักจะกล่าวออกมาในรูปแบบของคำประพันธ์ เช่น สดุดี 12.5, 14.4, 81.6-15 แต่บ่อยครั้งกลุ่มนี้ก็พูดเพ้อเจ้อ และกล่าวคำทำนายเท็จ เพื่อเอาใจประชาชนเพราะเห็นแก่สิ่งตอบแทน (อิสยาห์ 28.7 เยเรมีย์ 5.31, 6.13)
ผู้เผยพระวจนะที่เป็นปัจเจกบุคคล (The individual prophets) คนเหล่านี้เราเรียกกันว่า "ผู้เผยพระวจนะ" หรือ "ผู้เผยพระวจนะของพระเจ้า" เช่น นาธัน เอลียาห์ อิสยาห์ เอเสเคียล ฮักกัย และมาลาคี ผู้เผยพระวจนะมีฐานะและบทบาทสำคัญมาก เมื่อกษัตริย์อยากรู้ว่าพระเจ้าทรงต้องการให้ทำเช่นไรก็จะขอคำปรึกษาและการชี้นำจากผู้เผยพระวจนะ
ผู้เผยพระวจนะนาธันเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ เมื่อดาวิดต้องการสร้างพระวิหารก็ขอคำปรึกษาจากนาธันก่อน แต่เมื่อนาธันไม่ให้สร้างก็ทรงเชื่อฟัง (2ซามูเอล 7.1-7)
ผู้เผยพระวจนะรุ่นก่อนทำหน้าที่เป็นผู้พูดแทนพระเจ้า และมีหน้าที่เรียนรู้จักน้ำพระทัยพระเจ้าที่ทรงมีสำหรับประเทศบ้านเมืองของพวกเขา และคอยตักเตือนและหนุนใจพวกเขา
ปุโรหิต
ปุโรหิตมีหน้าที่นำประชาชนนมัสการพระเจ้า
และจัดระเบียบให้พวกเขานมัสการอย่างถูกต้อง
สิ่งสำคัญที่สุดในการนมัสการคือการถวายเครื่องบูชา
ไม่ใช่ปุโรหิตเท่านั้นที่ถวายเครื่องบูชาได้ (ผู้วินิจฉัย 5.22-24, 13.09)
ปุโรหิตมีหน้าที่เรียนรู้และตีความกฎระเบียบเกี่ยวกับการถวายเครื่องบูชา
เพื่อแนะนำและสั่งสอนผู้อื่น
หน้าที่ปุโรหิตเป็นความรับผิดชอบของคนในตระกูลอาโรน เผ่าเลวี
(เฉลยธรมบัญญัติ 33.8-10)
มีการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติในการนมัสการโดยละเอียด
สืบต่อกันมาภายในตระกูลนี้ พวกเขาใช้ ทูมมิม และ อูริม
เป็นฉลากศักดิ์สิทธิ์เพื่อเสี่ยงทายเพื่อหาคำตอบเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับข้อปฏิบัติในการนมัสการพระเจ้า
(กันดารวิถี27.21, 1ซามูเอล 14.41)
บรรดาปุโรหิตทำงานสืบทอดกันมาแต่ดั้งเดิม ยังคงทำงานอยู่ในบริเวณต่าง ๆ
ทั่วอาณาจักร
บรรพชนต้นตระกูลอิสราเอล
การอพยพ
อิสราเอล 12 เผ่า
กษัตริย์องค์แรกๆ ของอิสราเอล
สองราชอาณาจักร
สมัยจักรวรรดิอัสซีเรียเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิบาบิโลนเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิเปอร์เซียเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิกรีกเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจ