ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป>>

อิสราเอล

อิสราเอลสมัยอัสซีเรียเรืองอำนาจ

(ก่อน.ค.ศ. 802 - 610)

อัสซีเรียคือใคร

อัสซีเรียเป็นชนชาติหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเมโสโปเตเมียนานหลายศตวรรษ มีเมืองอัสชูร์เป็นเมืองหลวง ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไทกรีส อัสซีเรียได้กลายเป็นประเทศใหญ่และเป็นเอกราชสองครั้งในช่วงเวลาหลายศตวรรษ ครั้งแรกในสมัยบรรพชนต้นตระกูลยิว ครั้งที่สองใกล้กับสมัยที่อิสราเอลอพยพออกจากอียิปต์ ในศตวรรษที่ 9 ก.ค.ศ. อัสซีเรียยกทัพมารุกรานปาเลสไตน์ ถือเป็นครั้งที่ 3 ที่อัสซีเรียเป็นเอกราชและย่างเข้าสู่ยุคที่มีความเข้มแข็งที่สุด

ชาวอัสซีเรียบันทึกเรื่องราวของกษัตริย์และเจ้านายต่าง ๆ เรื่องการทำสงครามและส่วยที่ประเทศแพ้สงครามส่งไปให้ บันทึกเหล่านี้ยังมีอยู่และช่วยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ของอิสราเอลดีขึ้น อัสซีเรียควบคุมประเทศต่าง ๆ ที่ตนปราบได้ด้วยการจัดเขตปกครองขึ้นใหม่ โดยยกเลิกเส้นกั้นพรมแดนเดิมของประเทศเหล่านั้นเสีย แล้วตั้งแคว้นใหม่ขึ้นมาพร้อมกับสร้างเมืองหลวงใหม่แทนเมืองหลวงเดิม ถ้าประชาชนยังขืนก่อการกบฏแข็งข้อก็จะถูกกวาดต้อนจากภูมิลำเนาเดิมให้ไปอยู่ที่บริเวณอื่นในจักรวรรดิอัสซีเรีย มีเพียงไม่กี่ชาติที่ยอมสวามิภักดิ์ต่ออัสซีเรียและได้รับอนุญาตให้คงระบอบการปกครองและการเมืองของตนไว้เหมือนเดิมแต่ต้องอยู่ใต้ปกครองของผู้นำที่อัสซีเรียเป็นผู้เลือกให้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองเท่านั้น

กษัตริย์ที่สำคัญ ๆ ของอัสซีเรียมีดังนี้

ทิกลัท-ปิเลเสอร์ที่ 3 (Tiglath-Pileser III) ก.ค.ศ. 745-727
แชลมาเนเสอร์ที่ 5 (Shalmaneser V) ก.ค.ศ. 727-722
ซาร์กอนที่ 2 (Sargon II) ก.ค.ศ. 722-705
เซนนาเคอริบ (Sennacherib) ก.ค.ศ. 705-681
เอสาร์ฮัดโดน (Esarhaddon) ก.ค.ศ. 681-699
อาเชอร์บานิปัล (Ashurbanibal) ก.ค.ศ. 669-631

ทิกลัท-ปิเลเสอร์ที่ 3 สถาปนาการปกครองของอัสซีเรียเหนือบริเวณต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ 6 นอกจากอิยิปต์ ซึ่งกว่าอัสซีเรียจะปราบได้ก็เลยไปจนถึงสมัยของเอสาร์ฮัดโดนและอาเชอร์บานิปัล กษัตริย์องค์ถัดจากทิกลัท-ปิเลเสอร์ที่ 3 ลงมาล้วนแต่ต้องพิสูจน์อำนาจของตนในการปกครองจักรวรรดิไว้ให้ได้ ศัตรูของอัสซีเรียในเวลานั้น นอกจากอียิปต์แล้วยังมีบาบิโลนที่เป็นเสมือนหอกข้างแคร่ซึ่งเป็นคู่แข่งกันมาตลอด และยังมีประเทศมีเดียและเอลามที่คอยสร้างความเดือดร้อนให้อัสซีเรียอยู่เสมอ และในปี ก.ค.ศ. 614 และ ก.ค.ศ. 612 ชาวมีเดียก็เข้าโจมตีและยึดกรุงอัสชูร์ได้ กองทัพของมีเดียและบาบิโลนร่วมมือกันโจมตีและทำลายเมืองนีนะเวห์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอัสซีเรียในรัชสมัยของเซนนาเคอริบ ชาวอัสซีเรียที่เหลืออยู่ซึ่งพยายามรักษาเอกราชของตนไว้แต่ก็ต้องถูกโจมตีพ่ายแพ้ในปี ก.ค.ศ. 610

ศาสนาของชาวอัสซีเรีย
ชาวอัสซีเรียเชื่อในเทพเจ้าหลายองค์ แต่ละเมืองมีเทพเจ้าของตนเอง พระอัสชูร์เป็นเทพเจ้าประจำเมืองอัสเชอร์ซึ่งเป็นเมืองหลวง ถือเป็น "เจ้าแห่งเทพทั้งหมด" อิชทาร์เป็นอิตถีเทพแห่งกรุงนีนะเวห์ บรรดากษัตริย์ทั้งหลายต่างเชื่อว่าที่ตนสามารถชนะชาติศัตรูได้ก็เพราะเทพต่าง ๆ โดยเฉพาะอัสชูร์เป็นผู้ประทานชัยชนะให้ และถือว่าศัตรูของตนเป็นพวกที่กบฏและไม่ยอมปรนนิบัติเทพเจ้าจึงต้องลงโทษให้เข็ดหลาบ ซาร์กอนที่ 2 บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า "โดยประกาศิตของเทพเจ้าอัสชูร์ พระเจ้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะลงโทษด้วยการให้ความพ่ายแพ้แก่พวกเขา" เซนนาเคอริบ ก็นำเอาความคิดเห็นคล้ายกันนี้มาใช้โดยกล่าวว่า "ด้วยความช่วยเหลือของอัสชูร์ พระเจ้าของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงได้ปะทะและทำให้พวกเขาพ่ายไป" ที่จริงแล้วคำว่า "อัสซีเรีย" มาจากคำว่า "อัสเชอร์ " อันเป็นชื่อเมืองหลวงและ "อัสชูร์" ชื่อเทพเจ้าของพวกเขา

อำนาจของอัสซีเรียในอิสราเอลและยูดาห์

เราสามารถแบ่งศึกษาเป็นตอน ๆ ตามรัชสมัยของกษัตริย์อัสซีเรียแต่ละพระองค์ดังนี้

ช่วงที่อัสซีเรียอ่อนแอ (ก.ค.ศ. 800 - 745)
แม้อัสซีเรียทำลายล้างอำนาจของซีเรียได้ในปี ก.ค.ศ. 802 แต่ในเวลาเดียวกันอัสซีเรียเองก็มีประเทศข้างเคียงตั้งตัวเป็นศัตรูอยู่มากจนไม่สามารถมาปราบอิสราเอลและยูดาห์ได้ ดังนั้นอิสราเอลจึงว่างเว้นจากการแทรกแซงของต่างชาตินานกว่าครึ่งศตวรรษ กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรทั้งสองจึงวางแผนเข้าควบคุมประเทศเล็ก ๆ ในปาเลสไตน์และที่ฟากโน้นของแม่น้ำจอร์แดน

ในราชอาณาจักรอิสราเอลนี้ทั้งในรัชสมัยของกษัตริย์เยโฮอาชและเยโรโบอัมที่ 2 ก็ต่างมีชัยชนะเหนือประเทศเหล่านั้น จนสามารถแผ่อำนาจไกลขึ้นไปทางเหนือจนไปถึงราชอาณาจักรฮามัทและเลยไปถึงกรุงดามัสกัส ในราชอาณาจักรยูดาห์ก็เช่นกัน ฮามาซิยาห์โจมตีเอโดมและยึดได้เมืองหนึ่งที่อยู่ด้านใต้ของทะเลตายลงไป 50 ไมล์ (2 พกษ.14.7) อุสซียาห์ หรืออาซาริยาห์ทรงสร้างกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ (2พศด.26.9, 15) และขยายอำนาจของยูดาห์ไปยังเอโดมทรงปราบปรามพวกฟีลิสเตียได้ นอกจากนี้แล้วยังควบคุมบางเผ่าที่อยู่ในทะเลทรายอาราเบียได้ (2พศด.2 6.6-8) ซึ่งผลของชัยชนะเหล่านั้นทำให้ยูดาห์และอิสราเอลมีอำนาจมาก

หลังจากนั้นก็เป็นเวลาสงบสุขและเจริญรุ่งเรือง ประชาชนอิสราเอลเชื่อว่านั่นเป็นเพราะพระเจ้าทรงพอพระทัยในการปรนนิบัติรับใช้ของพวกเขา แต่ผู้เผยพระวจนะสองท่านคือ อาโมส และโฮเชยากลับชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าไม่พอพระทัยพวกอิสราเอล เพราะประชาชนแข่งขันแย่งชิงเกียรติยศและความร่ำรวยประพฤติตนไม่ยุติธรรมแก่คนจน กราบไหว้พระอื่นโดยเฉพาะเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ แม้แต่ผู้เผยพระวจนะก็พูดแต่เอาใจประชาชน ไม่ได้พูดความจริง

ทิกลัท-ปิเลเสอร์ที่ 3 (ก.ค.ศ.745-727)
กษัตริย์อัสซีเรียองค์นี้ทรงนำกองทัพต่อสู้กับบาบิโลน อูราห์ทู และมีเดียจนได้ชัยชนะ พระองค์ทำให้อัสซีเรียเข้มแข็งพอที่จะพยายามเข้าควบคุมประเทศเล็ก ๆ ในปาเลสไตน์และฟากโน้นของแม่น้ำจอร์แดน สามารถบังคับให้ดินแดนในภาคเหนือส่วนใหญ่ส่งส่วยให้กับตน

ขณะที่โยธามสิ้นพระชนม์ อาหัสได้ขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์ยูดาห์แทน พระองค์ทรงขอร้องอัสซีเรียให้ยกทัพมาช่วยปราบศัตรูของตน (2พกษ. 16.7-8) ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ตักเตือนและคัดค้านนโยบายนี้ (อสย.7.17) แต่อาหัสไม่ยอมฟังเสียง ทิกลัท-ปิเลเสอร์ที่ 3 ยกทัพใหญ่มาต่อสู้กับประเทศต่าง ๆ ที่แข็งข้อพระองค์ โจมตีฟีลิสเตียและสร้างป้อมที่แม่น้ำอียิปต์ (ดูแผนที่ 2) แล้วก็โจมตีราชอาณาจักรอิสราเอลและทำลายเมืองต่าง ๆ ไปเป็นจำนวนมาก

ในรัชสมัยโฮเชยาขึ้นครองราชสมบัตินั้นพระองค์ยอมจำนนต่ออำนาจอัสซีเรีย (2พกษ.15.30,17.3) ทิกลัท-ปิเลเสอร์จึงแบ่งราชอาณาจักรอิสราเอลออกเป็นสามแคว้น แคว้นหนึ่งมีเมืองเมกิดโดเป็นเมืองหลวง แคว้นหนึ่งมีเมืองโดร์เป็นเมืองหลวง และอีกแคว้นหนึ่งที่ฝั่งโน้นของแม่น้ำจอร์แดนมีเมืองกิเลอาดเป็นเมืองหลวงทั้งหมดตกเป็นแคว้นของจักรวรรดิอัสซีเรีย และปล่อยให้อิสราเอลเป็นรัฐเล็ก ๆ อยู่บนภูเขาเอฟราอิมหลังจากนั้นทิกลัท-ปิเลเสอร์ก็ยกทัพไปตีดามัสกัสในปี ก.ค.ศ. 732

แชลมาเนเสอร์ที่ 5 (ก.ค.ศ. 727-722)
เมื่อทิกลัท-ปิเลเสอร์สิ้นพระชนม์ กษัตริย์โฮเชยาแห่งอิสราเอลพยายามจะปลดแอกปกครองของอัสซีเรีย พระองค์จึงไปขอความช่วยเหลือจากอียิปต์ แต่ตอนนั้นอียิปต์กำลังอ่อนแอเกินกว่าที่จะให้ความช่วยเหลือได้ แชลมาเนเสอร์จึงยกทัพมาปิดล้อมกรุงสะมาเรียและจับโฮเชยาจำคุก (2พกษ.17.1-4)

ซาร์กอนที่ 2 (ก.ค.ศ. 722 - 705)
ซาร์กอนที่ 2 เป็นกษัตริย์ต่อจากแชลมาเนเสอร์ที่ 5 สามารถยึดกรุงสะมาเรียได้ในปี ก.ค.ศ. 721 กวาดต้อนบุคคลชั้นนำไปไว้ประเทศอื่นเป็นจำนวน27,290 คน (2พกษ.17.5-6) นี่คือจุดจบของราชอาณาจักรอิสราเอล เพราะพวกที่ถูกกวาดต้อนเชลยพากันแต่งงานกับคนในแผ่นดินที่ตนไปอาศัยอยู่ นอกจากนี้แล้ว ซาร์กอนที่ 2 ยังนำเอาชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในอิสราเอล แม้ว่าคนเหล่านั้นจะได้รับการสั่งสอนให้นมัสการพระเจ้า แต่ก็ได้ผลเพียงแค่เพิ่มพระเจ้าอีกองค์หนึ่งเข้าไปในความเชื่อของพวกเขา (2พกษ. 17.41) ชาวอิสราเอลที่สะมาเรียแต่งงานกันผสมกลมกลืนกับชาวต่างชาติ ทำให้สูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติที่พระเจ้าทรงแยกไว้เป็นพิเศษ ลูกหลานของเขากลายเป็นชนชาติที่เรียกกันว่าชาวสะมาเรียนั่นเอง

ราชอาณาจักรยูดาห์รอดพ้นจากการถูกทำลายก็เพราะกษัตริย์อาหัสยอมสวามิภักดิ์ต่ออัสซีเรีย และเมื่อเฮเซคียาห์ครองราชสมบัติในปี 715 พระองค์ทรงวางแผนจะแยกตัวออกจากการควบคุมของอัสซีเรียแต่พระองค์ก็ทรงอดทนรอคอยจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม แม้จะมีหลายประเทศร่วมมือกับอียิปต์ที่กำลังกบฏต่ออัสซีเรียแต่พระองค์ก็ไม่เข้าร่วมกบฏด้วย จึงทำให้อัสซีเรียไม่ได้รบกวนยูดาห์ เมื่อซาร์กอนสิ้นพระชนม์เฮเซคียาห์ทรงเห็นว่าถึงเวลาอันสมควรที่จะร่วมกบฏด้วยทรงหันไปเป็นพันธมิตรกับบาบิโลน แต่ผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ต่อว่าเฮเซคียาห์ที่พึ่งความช่วยเหลือจากต่างชาติ สักวันหนึ่งบาบิโลนจะมาปกครองยูดาห์

เซนนาเคอริบ (ก.ค.ศ. 705-681)
ในปี ก.ค.ศ. 701 เซนนาเคอริบโอรสผู้สืบบัลลังก์ต่อจากซาร์กอน ยกทัพไปโจมตีประเทศต่าง ๆ ที่แข็งข้อ ทั้งที่ปาเลสไตน์และที่ฝั่งโน้นของแม่น้ำจอร์แดน สามารถพิชิตเมืองไทระ บิบลอส อารวัด อัชโดด โมอับ เอโดม และอัมโมน ซึ่งล้วนแต่ยอมสวามิภักดิ์พระองค์ และเวลานั้นยูดาห์ทำให้ยูดาห์ประสบความเดือดร้อนอย่างหนัก หลังจากปี ก.ค.ศ. 701 มาแล้วมีการกบฏต่ออัสซีเรียเกิดขึ้นหลายครั้ง จนกระทั่งปี ก.ค.ศ. 691 เซนนาเคอริบพ่ายแพ้ประเทศต่าง ๆ ในเมโสโปเตเมียที่ผนึกกำลังกันต่อสู้พระองค์อย่างยับเยิน แต่หลังจากนี้เซนนาเคอริบก็เอาชนะบาบิโลนได้อีกหลายครั้งในปี ก.ค.ศ. 689 ในปีถัดมาเซนนาเคอริบได้กรีฑาทัพมายังปาเลสไตน์พยายามจะตียูดาห์ให้ได้แต่กษัตริย์เฮเซคียาห์ยังดึงดันไม่ยอมแพ้ แต่ในเวลานั้นที่กองทัพอัสซีเรียที่ได้ปิดล้อมกรุงเยรูซาเล็มไว้ได้อันตธานไปโดยไม่บอกกล่าวและไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ประชาชนยูดาห์จึงพากันโมทนาพระคุณพระเจ้าที่ช่วยพวกตนให้รอดปลอดภัย พวกเขาเชื่อว่านั่นคือหมายสำคัญแสดงว่าพระองค์ทรงพิทักษ์รักษาประชาชนที่อยู่ในกรุงเยรูซาเล็มเสมอ (2พกษ.19.32-34)

อัสซีเรียกับอียิปต์
กษัตริย์อัสซีเรียสองพระองค์ต่อมาคือ เอสาร์ฮัดโดน และ อาเชอร์บานิปัลรับภาระในการปราบปรามอียิปต์ ซึ่งคอยยุแหย่ประเทศเล็ก ๆ ในปาเลสไตน์ให้ก่อความยุ่งยากแก่อัสซีเรียอยู่เนือง ๆ ซึ่งทั้งสองพระองค์สามารถยึดเมืองเมมฟิส ดินดอนสามเหลี่ยมของอียิปต์ และทำลายเมืองเธเบสได้ จนกระทั่งอัสซีเรียสามารถบรรลุถึงความยิ่งใหญ่สูงสุดของตน แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น

ในช่วงปี ก.ค.ศ. 687- 642 เป็นรัชสมัยของมนัสเสห์ที่ปกครองยูดาห์ กษัตริย์พระองค์นี้ใน 2 พงษ์กษัตริย์ 21.1-18 ได้บันทึกไว้ว่า มนัสเสห์ทรงสนับสนุน "การกระทำอันน่าเกลียดน่าชัง" ทุกอย่าง คือ พระองค์ยอมจำนนต่ออัสซีเรียและสนับสนุนประชาชนให้กระทำพิธีตามแบบศาสนาอื่น ซึ่งอัมโมนโอรสของมนัสเสห์ได้เป็นกษัตริย์ต่อจากพระองค์ (ก.ค.ศ. 642 - 640) ก็ทรงดำเนินนโยบายอย่างเดียวกันกับพระราชบิดา

ช่วงปีท้าย ๆ ของอัสซีเรีย
ตอนที่มนัสเสห์เป็นกษัตริย์แห่งยูดาห์อยู่นั้น บาบิโลนก่อกบฏต่ออัสซีเรียอีกครั้งในปี ก.ค.ศ. 652 ในระหว่างที่กำลังต่อสู้กับบาบิโลนอยู่นั้น อียิปต์ก่อกบฏขึ้นและสามารถปลดแอกการปกครองของอัสซีเรียได้ นี่คือตอนที่อัสซีเรียเริ่มเสื่อมอำนาจลง เมื่อโยสิยาห์เป็นกษัตริย์ยูดาห์ พระองค์ทรงฉวยโอกาสพยายามจะกอบกู้อิสระภาพให้แก่ยูดาห์ พระองค์ทรงปฏิรูปชีวิตด้านศาสนาของยูดาห์ เนื่องจากมีการค้นพบพระคัมภีร์ม้วนหนึ่งในพระวิหารเกือบจะแน่ใจได้ว่าเป็นร่างเดิมของพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ อัสซีเรียไม่สามารถขัดขวางมิให้ยูดาห์ประกาศอิสระภาพ เมื่อฟาโรห์เนโคแห่งอียิปต์ยกทัพไปช่วยอัสซีเรียที่กำลังแตกพ่ายโยสิยาห์ขัดขวางจึงถูกสังหารที่เมกิดโดในปี ก.ค.ศ. 609 (2พกษ.23.29)

ตะบองแห่งความกริ้วของพระเจ้า

ในประวัติศาสตร์ตอนนี้อิสราเอลต้องทนทุกข์อันเกิดจากประสบการณ์ใหม่ที่ไม่น่าอภิรมย์ พวกเขาต้องพ่ายแพ้อัสซีเรียซึ่งเป็นชาติที่มีอำนาจเหนือกว่าตนมากนัก แต่ความขมขื่นนี้จากประสบการณ์นี้เองทำให้พวกเขาเข้าใจพระเจ้าและวิธีการที่พระองค์ทรงใช้ในโลกนี้

พระเจ้ากับเทพอาชูร์
สมัยนั้นประชาชนเชื่อว่าแต่ละชาติมีเทวาธิราชของตนเอง และเชื่อด้วยว่าพระองค์เป็นผู้นำชัยชนะในการทำสงครามมาให้ ชาวอัสซีเรียเชื่อว่าที่ตนชนะสงครามได้เพราะอำนาจของเทพอาชูร์ ข้าราชการอัสซีเรียตำแหน่งรับชาเคห์เคยใช้ความคิดเห็นนี้เกลี้ยกล่อมประชาชนในกรุงเยรูซาเล็มให้ยอมแพ้ (2พกษ. 18.33-35) สำหรับอิสราเอลนั้น ผู้เผยพระวจนะหลายท่านก็เคยทำนายล่วงหน้าไว้แล้วว่าอิสราเอลจะพ่ายแพ้ พระเจ้าทรงวางแผนให้อิสราเอลถูกทำลายและถูกกวาดต้อนเป็นเชลย (อมส.3.11, 5.27, ฮชย.10.14, 11.5-6 และอสย.5.13) ผู้เผยพระวจนะเชื่อว่าพระเจ้าเพียงแต่ใช้อัสซีเรียมาลงโทษประชาชนของพระองค์เท่านั้น (อสย.7.17-20) แต่คราวใดที่อัสซีเรียโอ้อวดชัยชนะหรือใช้ความรุนแรงเกินกว่าที่พระเจ้าเจตนาไว้ พระองค์ก็ทรงลงโทษพวกเขาคราวนั้น เพื่ออัสซีเรียจะได้รู้ว่าพระเจ้าเป็นผู้ลงโทษพวกเขา บรรดาผู้เผยพระวจนะเชื่อว่าพระเจ้าทรงควบคุมเหตุการณ์ทุกอย่างแม้พวกอัสซีเรียจะมีเสรีภาพในการเลือกกระทำได้ด้วยตนเอง แต่พระองค์ก็สามารถใช้การกระทำของพวกเขาทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จ และทรงมีอำนาจในการจำกัดชัยชนะของพวกเขาไว้ในขอบเขตที่เป็นประโยชน์ตามพระประสงค์ของพระองค์

พระเจ้ากับอิสราเอล
สาเหตุที่ประชาชนอิสราเอลถูกลงโทษก็เพราะพวกเขาทำชั่วไว้มากไม่ได้ทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้า ทำผิดในเรื่องการนมัสการ และในเรื่องความอยุติธรรมในสังคม แม้พวกผู้เผยพระวจนะจะเตือนหรือโจมตีซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่ออิสราเอลไม่ฟังจึงสมควรที่อิสราเอลกับยูดาห์จะได้รับความทุกข์ทั้งหมดที่มาจากอัสซีเรีย

ความหวังเพียงอย่างเดียว
เพราะอิสราเอลเห็นว่าพระเจ้าไม่คุ้มครองพวกเขาแล้ว ดังนั้นในเวลาที่มีความทุกข์เดือดร้อนพวกเขามักจะหันไปขอพึ่งความช่วยเหลือหรือเป็นพันธมิตรกับชาติต่าง ๆ ที่เกลียดชังอัสซีเรียด้วยเหตุผลเดียวกัน ผู้เผยพระวจนะพยายามคัดค้านการกระทำดังกล่าวเสมอ เช่น อิสยาห์เตือนอาหัสไม่ให้ขอความช่วยเหลือจากอัสซีเรีย (อสย.7) และเตือนกษัตริย์เฮเซคียาห์ด้วยว่าความช่วยเหลือจากอียิปต์ก็ไร้ประโยชน์ (อสย.19) แต่ความหวังอย่างเดียวที่อิสยาห์ให้แก่กษัตริย์แห่งยูดาห์ได้คือพวกเขาจะต้องวางใจในพระเจ้าและนำประชาชนให้วางใจในพระเจ้าแต่องค์เดียวเท่านั้น สำหรับการพิพากษาของพระเจ้าจะเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์อย่างแน่นอน ไม่มีใครขัดขวางได้

อ่านต่อ>>>

บรรพชนต้นตระกูลอิสราเอล
การอพยพ
อิสราเอล 12 เผ่า
กษัตริย์องค์แรกๆ ของอิสราเอล
สองราชอาณาจักร
สมัยจักรวรรดิอัสซีเรียเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิบาบิโลนเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิเปอร์เซียเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิกรีกเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจ
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย