ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป>>
อิสราเอล
อิสราเอลสมัยบาบิโลนเรืองอำนาจ
(ประมาณ ก่อน.ค.ศ. 610 - 539)
ยุคทองของชาติใหญ่
ในประวัติศาสตร์อัสซีเรียบทที่ผ่านมาจะเห็นว่า ในที่สุดจักรวรรดิอัสซีเรียก็ถูกโค่นล้มทำลายอำนาจโดยประเทศบาบิโลนและประเทศมีเดีย จึงมี 3 ประเทศที่เรืองอำนาจขึ้นมาคือ อียิปต์ มีเดีย และบาบิโลน ล้วนเป็นประเทศที่เข้มแข็งและมีอิทธิพลในช่วงต่อมา แผนที่ 6 และ 7 จะช่วยให้เราเข้าใจว่ามีอะไรเกิดขึ้นในแต่ละประเทศดังกล่าว
ประเทศอียิปต์
เมื่ออัสซีเรียใกล้จะแพ้สงคราม ฟาโรห์ เนโคที่ 2
แห่งอียิปต์กลัวว่าประเทศมีเดียและบาบิโลนจะมีอำนาจมากขึ้นจึงสนับสนุนอัสซีเรีย
แต่เมื่อกระทำเช่นนั้นไม่เป็นผล
พระองค์จึงพยายามจะควบคุมปาเลสไตน์และประเทศที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนให้ได้
แต่ในปี ก.ค.ศ. 605
เนบูคัดเนสซาร์นำกองทัพบาบิโลนมาทำสงครามกับอียิปต์ที่คาร์เคมิช (ดูแผนที่
7) อียิปต์พ่ายแพ้ยับเยิน (ยรม.46.2)
ในบันทึกของบาบิโลนพูดถึงชัยชนะที่ฮามัทซึ่งอยู่ใต้ลงไปอีกว่า
ชัยชนะครั้งนั้นยิ่งใหญ่กว่าที่คาร์เคมิชมาก
ชัยชนะทั้งสองครั้งนี้เองทำให้บาบิโลนได้ครอบครองปาเลสไตน์
อียิปต์ให้สัญญาซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าจะช่วยชาติเล็ก ๆ ในบริเวณนั้นถ้าพวกเขาแข็งข้อต่อบาบิโลน หลายครั้งที่พอถึงเวลาเข้าจริง ๆ อียิปต์ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย แต่อียิปต์ก็ยังคงรักษาเอกราชของตนไว้ได้ต่อไปอีกสามสิบหกปี
มีเดีย
เมื่ออัสซีเรียพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกต่อกองทัพของบาบิโลนและมีเดียที่พร้อมใจกันยกมาต่อสู้
สองราชอาณาจักรนี้ได้แบ่งกันครอบครองอัสซีเรีย
โดยมีเดียได้ครอบครองประเทศอัสซีเรียและอาณาบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออก
บาบิโลนได้ครอบครองดินแดนทางตอนใต้ของเมโสโปเตเมีย
รวมทั้งประเทศของตนเองด้วย
สันติสุขระหว่างมีเดียกับบาบิโลนเกิดขึ้นนานถึงเจ็ดสิบปี
ตลอดระยะเวลานี้กษัตริย์ของมีเดียหลายองค์พยายามขยายอำนาจการปกครองของตนออกไปทางภาคเหนือของเอเซียตะวันตกเฉียงใต้
ซึ่งเป็นการเตรียมสถาปนาจักรวรรดิเปอร์เซียขึ้นในเวลาต่อมา
บาบิโลน
ประเทศที่มีอิทธิพลต่อประชาชนแห่งราชอาณาจักรยูดาห์ในศตวรรษที่ 6 และ 7
มากที่สุดก็คือประเทศบาบิโลน
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมองย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของบาบิโลนก่อนหน้านี้
เพื่อจะได้เข้าใจบทบาทของประเทศนี้
ราชอาณาจักรโบราณของบาบิโลนถูกทำลายก่อนหน้านี้ประมาณหนึ่งพันปี และก่อนหน้านี้ไม่นานอัสซีเรียได้เข้าควบคุมเมืองต่าง ๆ และประชาชนชาวบาบิโลน ซึ่งรู้จักกันในนามว่า "ชาวแคลเดีย" อัสซีเรียแต่งตั้งคนของตนเองเป็นผู้ปกครองเพื่อชี้นำชีวิตของคนในเมืองและในชนบทรอบเมือง ต่อมาก็ได้ยกทัพเข้าโจมตีและทำลายกรุงนีนะเวห์ด้วยความช่วยเหลือของประเทศมีเดีย เนบูคัดเนสซาร์โอรสได้ขึ้นครองราชย์ต่อจากกษัตริย์นาโบโปลัสซาร์ พระองค์เป็นชาวแคลเดียที่มีอำนาจมากผู้หนึ่ง
เนบูคัดเนสซาร์นำกองทัพซึ่งรบชนะอียิปต์ที่คาร์เคมิชและที่ฮามัทมาแล้วพระองค์ทรงเลื่อนการโจมตีอียิปต์ออกไปอีกสามสิบหกปี อาจจะเป็นเพราะทรงตระหนักถึงหายนะที่อัสซีเรียได้รับเมื่อครั้งพยายามจะปกครองอียิปต์ซึ่งอยู่ห่างไกลจากบ้านเมืองของตนมากนัก แต่ในที่สุดเมื่อถึงเวลาอันควรเนบูคัดเนสซาร์ก็ทรงตัดสินพระทัยจะพิชิตอียิปต์ให้ได้ ในปี ก.ค.ศ. 570 เกิดกบฏขึ้นในอียิปต์ ฟาโรห์อาปรีสถูกโค่นอำนาจ ฟาโรห์อามาซีส เรียกร้องสิทธิ์ในการปกครองอียิปต์ ขณะที่เหตุการณ์ยังไม่สงบเนบูคัดเนสซาร์ที่ยกทัพมาโจมตีอียิปต์ (ยรม.46.13-26) หลังจากการโจมตีครั้งนี้แล้วก็มีสันติภาพเกิดขึ้นระหว่างชนสองชาตินี้
บรรดากษัตริย์บาบิโลนซึ่งครองราชย์ต่อจากเนบูาคัดเนสซาร์ไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับพระองค์ หลังจากเนบูคัดเนสซาร์ไปแล้ว กษัตริย์แต่ละองค์ปกครองจักรวรรดิบาบิโลนได้ไม่นานต้องเปลี่ยนราชการใหม่ บางครั้งก็มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ในที่สุดนาโบนิดัดก็ได้ขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงสนพระทัยในขนบประเพณีโบราณมาก แต่ไม่สู้สนพระทัยการปกครองจักรวรรดิเท่าไรนัก พระองค์ทรงอนุญาตให้เบลซัสซาร์โอรสว่าราชการแทนในตำแหน่งอุปราชเป็นเวลานาน
ศาสนาของบาบิโลน
พระมาร์ดุก หรือ พระเมโรดัค เป็นเทพแห่งกรุงบาบิโลนมาแต่โบราณ
ชาวบาบิโลนคิดว่าเป็นสุริยเทพมาปรากฏ และตั้งชื่อให้ว่า "เบล" แปลว่า
"เจ้านาย"
ในศาสนนิยายเรื่องการเนรมิตสร้างโลกของบาบิโลนซึ่งบันทึกไว้ในแผ่นศิลาจารึกโบราณบอกว่า
พระมาร์ดุกได้รับหน้าที่เป็นผู้ปราบปรามอำนาจชั่วต่าง ๆ
ที่สร้างความโกลาหลวุ่นวายให้เกิดขึ้น
ในเรื่องบอกว่าเทียมัทเป็นที่หนึ่งในบรรดาอำนาจชั่วที่ว่านี้
เมื่อมาร์ดุกสังหาร เทียมัทได้แล้ว
จึงเอาร่างกายของมันมาสร้างเป็นท้องฟ้าและแผ่นดิน
ชัยชนะครั้งนี้ทำให้พระมาร์ดุกได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองสรรพสิ่ง
"ท่านต้องไปยังบาบิโลน" (ยรม. 34.3)
พระธรรมเยเรมีย์บทสุดท้ายเป็นการสรุปเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนยูดาห์ในช่วงนี้ (ดูแผนภูมิ 5) บทที่ 52.28-30 พูดถึงการถูกกวาดต้อนเป็นเชลยในต่างแดนสามครั้งติดกัน คือในปี ก.ค.ศ. 597,587,582 เยเรมีย์คงจะตักเตือนประชาชนซ้ำ ๆ ว่าพระเจ้ากำลังจะส่งยูดาห์ "ไว้ในมือของกษัตริย์แห่งบาบิโลน" (ยรม.21.7, 22.25) และประชาชนคงจะต้องลังเลใจว่าจะเชื่อคำเตือนของเยเรมีย์ดีหรือไม่ แต่เยเรมีย์เองเชื่อว่าพระวจนะที่ท่านกล่าวนั้นมาจากพระเจ้า
การเป็นเชลยในต่างแดนครั้งแรก ก.ค.ศ. 597
หลังจากโยสิยาห์ถูกปลงพระชนม์แล้ว
เยโฮอาหาสโอรสของพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ (2 พกษ.23.31)
แต่ฟาโรห์เนโคก็จับพระองค์ไปเป็นนักโทษและตั้งเอลียาคิมขึ้นครองราชย์แทน (2
พกษ.22.33-34) และทรงเปลี่ยนชื่อเอลียาคิมเป็นเยโฮยาคิมแปลว่า
"พระเจ้าทรงตั้งเขาขึ้นครองอำนาจ"
ซึ่งถือเป็นความเชี่ยวชาญทางการทูตของฟาโรห์ที่ปรากฏให้เห็น
ในรัชสมัยของเยโฮยาคิม ประชาชนหันกลับไปนมัสการตามแบบศาสนาอื่น
(ยรม.7.18-20, 11.9-13)
เยเรมีย์เตือนประชาชนว่าการทำเช่นนี้เป็นการชักนำการพิพากษามาสู่ราชอาณาจักรยูดาห์
โดยบาบิโลนจะทำหน้าที่ลงโทษพวกเขาแทนพระเจ้า (ยรม.1.13-14, 16.10-13)
เมื่อกองทัพบาบิโลนเอาชนะกองทัพอียิปต์ที่คาร์เคมิชและฮามัทได้แล้วก็อ้างสิทธิ์เหนือแผ่นดินปาเลสไตน์ซึ่งมีราชอาณาจักรยูดาห์รวมอยู่ด้วย ทีแรกเยโฮยาคิมยอมอยู่ใต้อำนาจการปกครองของบาบิโลน แต่ต่อมา คือในปี ก.ค.ศ. 601 อียิปต์ทำท่าว่าจะเข้มแข็งขึ้นมาอีก พระองค์ก็กบฏต่อบาบิโลน (2 พกษ.24.1) ตอนนั้นเนบูคัดเนสซาร์กำลังวุ่นอยู่กับการปกครองส่วนอื่นของจักรวรรดิเกินกว่าที่จะยกทัพมาปราบยูดาห์ แต่พอถึงปี ก.ค.ศ. 598 พระองค์ส่งกองทัพมาต่อสู้กับยูดาห์และเยรูซาเล็ม เยเรมีย์เห็นว่าพระเจ้าทรงลงโทษยูดาห์ เพราะประชาชนไม่เชื่อฟังพระองค์ (ยรม.35.17) ขณะที่กรุงเยรูซาเล็มถูกโจมตีอยู่นั้น เยโฮยาคิมได้สิ้นพระชนม์ลง อาจจะถูกปลงพระชนม์โดยประชาชนชาวยูดาห์กลุ่มหนึ่งซึ่งต้องการสวามิภักดิ์บาบิโลน
เยโฮยาคีนโอรสของเยโฮยาคิมได้เป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรยูดาห์องค์ต่อไปแต่ก็ครองราช ในช่วงที่กรุงเยรูซาเล็มถูกปิดล้อม เพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้นก็ต้องยอมจำนนแก่เนบูคัดเนสซาร์และถูกจับกุมไปคุมขังที่บาบิโลนพร้อมกับข้าราชสำนักและพวกผู้นำจำนวนมาก (2 พกษ.24.8, 15-16) นี่คือ "การเป็นเชลยในต่างแดน" ครั้งแรก
เยโฮยาคินถูกจำคุกในกรุงบาบิโลนตลอดรัชสมัยของเนบูคัดเนสซาร์เป็นเวลานานถึงสามสิบห้าปี กษัตริย์บาบิโลนองค์ต่อไปจึงปล่อยพระองค์เป็นอิสระ และตั้งพระองค์ได้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจและเป็นไทแก่ตนอยู่ท่ามกลางพวกเชลยที่บาบิโลน (2 พกษ.25.27-30)
การเป็นเชลยครั้งที่สอง ก.ค.ศ. 587
หลังจากที่นำตัวเยโฮยาคินไปเป็นเชลยแล้ว
บาบิโลนได้ตั้งมัทธานิยาห์ลุงของพระองค์ให้ปกครองกรุงเยรูซาเล็ม
เนบูคัดเนสซาร์ตั้งชื่อให้ใหม่ว่า เศเดคียาห์ แปลว่า
"ความยุติธรรมของพระเจ้า"
ชาวยูดาห์ที่อยู่ใต้การปกครองของยูดาห์แบ่งแยกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่ายูดาห์ควรจะยอมรับอำนาจการปกครองของบาบิโลน อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าอียิปต์สามารถช่วยยูดาห์ให้เป็นไทได้ เศเดคียาห์มักจะโลเลอยู่เสมอ ทีแรกดูเหมือนพระองค์ถูกผลักดันให้ทำตามคนกลุ่มหนึ่งที่เชื่อว่ายูดาห์ควรยอมรับอำนาจการปกครองของบาบิโลน และอีกกลุ่มหนึ่งก็ผลักดันให้เชื่อว่าอียิปต์จะช่วยพวกเขาให้เป็นไทได้ ดังนั้นนโยบายเกี่ยวกับบาบิโลนของพระองค์จึงโลเลเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเสมอ เมื่อต้นปี ก.ค.ศ. 594 พระองค์เข้าร่วมวางแผนกับตัวแทนของประเทศเล็ก ๆ ที่จะกบฏต่อบาบิโลน แต่ต่อมาก็ได้ส่งทูตไปบาบิโลนเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อเนบูคัดเนสซาร์ ครั้นเมื่ออาปริเป็นฟาโรห์แห่งอียิปต์ขึ้นครองราชสมบัติในปี ก.ค.ศ. 589 เศเดคียาห์ก็เข้าร่วมก่อการกบฏต่อบาบิโลนอีก ทำให้เยเรมีย์ประณามเศเดคียาห์ทันที และประกาศการลงโทษของพระเจ้าต่อเศเดคียาห์ (ยรม.24.8-10) เมื่อเนบูคัดเนสซาร์ส่งกองทัพมาโจมตีเยรูซาเล็มอียิปต์พยายามช่วยเหลือยูดาห์ (ยรม.37.5) แต่ความช่วยเหลือที่อียิปต์ส่งมาให้นั้นไม่มากพอและไม่นานก็ถอนกลับไป (ยรม.37.7-9) เยเรมีย์เตือนว่าหลังกบฏจะเกิดความทุกข์เดือดร้อนตามมา กรุงเยรูซาเล็มจะถูกเผาเป็นการลงโทษ (ยรม.34.22) ท่านพูดถูก (2 พกษ.25.8-10) เศเดคียาห์พยายามหนี แต่ก็ถูกจับตัวมาลงโทษอย่างหนัก ประชาชนจำนวนมากถูกกวาดต้องไปเป็นเชลย นี่คือ "การเป็นเชลยครั้งที่สอง" ซึ่งเกิดขึ้นในปี ก.ค.ศ. 587 ถึงจะไม่หนักหนาเท่ากับครั้งแรก แต่ก็มีผลต่อพวกอิสราเอลเป็นเวลานาน เพราะบาบิโลนทำลายพระวิหารและกรุงเยรูซาเล็มเสียสิ้น
การเป็นเชลยครั้งที่ 3 (ก.ค.ศ. 582)
หลังจากที่กรุงเยรูซาเล็มถูกยึดและทำลายแล้ว
บาบิโลนตั้งเกเดลิยาห์เป็นเจ้าเมืองปกครองประชาชนที่ยังเหลืออยู่ในยูดาห์
ท่านผู้นี้ปกครองอยู่ที่เมืองมิสปาร์ (2 พกษ.25.22)
อิชมาเอลซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของดาวิดวางแผนลอบสังหารเกเดลิยาห์
โดยมีชาวอัมโมนสนับสนุน (ยรม.40.41) ครั้งเมื่อเกเดลิยาห์ถูกสังหารแล้ว
ประชาชนชาวยิวจำนวนมากกลัวความกริ้วโกรธของบาบิโลนจึงหนีไปอยู่ที่อียิปต์
(2 พกษ.25.25)
หลักฐานจากสมัยที่เปอร์เซียปกครองส่อให้เห็นว่าการควบคุมยูดาห์ไม่ว่าเรื่องใด ๆ อาจจะมาจากกองบัญชาการประจำมณฑลซึ่งตั้งที่ทำการอยู่ที่กรุงสะมาเรีย จึงพูดได้ว่าไม่มีราชอาณาจักรยูดาห์อีกแล้ว และได้กลายเป็นส่วนของมณฑลใหญ่มณฑลหนึ่งของบาบิโลนที่อยู่เหนือขึ้นไป การเป็นเชลยในบาบิโลนไม่ใช่ประสบการณ์ที่แสนเข็ญจนเกินไป เพราะประชาชนที่ถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่นั่นได้รับอนุญาตให้ตั้งชุมชนและสร้างบ้านเรือนของตนเองได้ พวกเขามีส่วนทำมาค้าขายในดินแดนใหม่ บางคนจึงร่ำรวยขึ้น เมื่อประชาชนยูดาห์เป็นเชลยที่บาบิโลนนั้น พวกเขาแยกตนเองอยู่ต่างหากไม่ปะปนหรือแต่งงานกับคนพื้นเมือง จึงไม่สูญเสียเอกลักษณ์ของตน ไม่เหมือนกับประชาชนในราชอาณาจักรอิสราเอลซึ่งถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยในต่างแดนในสมัยที่อัสซีเรียมีอำนาจปกครอง นอกจากนี้แล้วยังมีชาวยูดาห์อาศัยอยู่ที่อียิปต์ ซึ่งภายหลังได้พัฒนาขึ้นจนกลายเป็นชุมชนยิวที่เข้มแข็งอยู่ที่นั่น
"เพลงของพระเจ้าในแผ่นดินต่างด้าว" (เพลงสดุดี 137.4)
ก่อนกรุงเยรูซาเล็มล่มสลาย
เหตุการณ์ในราชอาณาจักรยูดาห์และกรุงเยรูซาเล็มตอนที่บาบิโลนเรืองอำนาจ
มีหลายอย่างที่เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในราชอาณาจักรอิสราเอลตอนที่อัสซีเรียเรืองอำนาจ
ตอนนี้เยเรมีย์เป็นผู้เผยพระวจนะคนสำคัญ
เหมือนกับที่อิสยาห์เคยเป็นผู้เผยพระวจนะคนสำคัญเมื่อตอนโน้น
แต่เยเรมีย์โดดเดี่ยวและว้าเหว่กว่าอิสยาห์มาก
เพราะท่านถูกผู้เผยพระวจนะเท็จสมัยนั้นหลายคนต่อต้าน
นอกจากเยเรมีย์แล้วก็มีแต่ผู้เผยพระวจนะเอเสเคียลเท่านั้นที่ยอมรับและประกาศพระพิโรธของพระเจ้าที่ทรงมีต่อยูดาห์
แต่เอเสเคียลทำงานอยู่กับพวกเชลยที่บาบิโลน
ท่านเผยพระวจนะโจมตียูดาห์ด้วยน้ำเสียงที่เฉียบขาดและประกาศการพิพากษาลงโทษรุนแรงกว่าของเยเรมีย์ก็จริง
แต่ก็ทำด้วยจุดประสงค์จะให้พวกเชลยแน่ใจว่า
พวกเขาเป็นผู้ที่จะสืบทอดพระสัญญาของพระเจ้า
การปกครองมนุษยชาติของพระเจ้าในอนาคตขึ้นอยู่กับพวกเขา
เยเรมีย์เป็นผู้เผยพระวจนะคนสำคัญอยู่คนเดียวเท่านั้นที่ทำนายถึงภัยพิบัติของราชอาณาจักรยูดาห์ ประชาชนชาวยูดาห์ไม่ต้องการฟังคำเตือนของเยเรมีย์ พวกเขาหันกลับไปดูความเชื่อที่เคยให้ความหวังเมื่อครั้งที่อัสซีเรียเรืองอำนาจ และเชื่อในเรื่อง
- วันของพระเจ้า ซึ่งเป็นวันที่พระเจ้าจะทรงสำแดงฤทธานุภาพของพระองค์ เชื่อในเรื่องกษัตริย์ผู้ชอบธรรมซึ่งจะมาปกครองพวกเขา
- กษัตริย์ในราชวงศ์ดาวิด
- คนชอบธรรมที่เหลืออยู่จะรอดได้
- นครศักดิ์สิทธิ์ซึ่งพระเจ้าจะทรงสถาปนาขึ้น
พวกเขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยพวกเขาให้รอดพ้นจากอำนาจของบาบิโลนได้ แต่เยเรมีย์ท่านบอกอย่างชัดเจนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถช่วยประชาชนที่เป็นคนอธรรมและไม่เชื่อฟังพระเจ้าได้เลย
หลังจากที่กรุงเยรูซาเล็มล่มสลายแล้ว
เชลยในบาบิโลนต้องประสบความยากลำบากมากที่สุด
แม้พวกเขาจะต้องการรับใช้พระเจ้า
แต่ที่นั่นพวกเขาไม่มีทางทำตามประเพณีทางศาสนาหลายอย่างที่เคยทำสืบต่อกันมา
เพราะพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายลงแล้ว
ดังนั้นการถวายเครื่องบูชาอย่างเต็มรูปแบบจึงไม่มีทางทำได้
ปุโรหิตไม่มีงานทำ ในที่สุดหีบพันธสัญญาก็ถูกชาวบาบิโลนทำลายลงในคราวนี้
จึงเห็นได้ชัดว่า ศาสนาของยูดากำลังผ่านเข้าไปในวิกฤตการณ์ที่รุนแรงมาก
เนื่องจากที่บาบิโลนไม่มีสถานที่สำหรับกระทำสิ่งต่าง ๆ
ตามความคิดเห็นซึ่งแต่ก่อนเคยถือว่ามีคุณค่าและมีความสำคัญยิ่ง
จึงต้องค้นหาวิธีนมัสการพระเจ้าและวิธีแสดงความเชื่อฟังพระองค์แบบใหม่ ๆ
มาใช้ จะว่าไปแล้วพัฒนาการใหม่นี้ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของลัทธิยูดาห์นิยม
และเริ่มต้นเรียกชาวยูดาห์ที่เป็นเชลยด้วยชื่อใหม่ว่า "ยิว"
ซึ่งชื่อนี้เริ่มปรากฎในพระคัมภีร์ตอนที่เขียนขึ้นในระยะนี้
พิธีกรรมตามประเพณีและสิ่งที่เป็นมรดกตกทอดกันมาช้านานซึ่งพวกยิวยังรักษาไว้ได้ มีดังนี้
การเข้าสุหนัต
ประเพณีนี้สืบย้อนหลังไปได้ไกลถึงเมื่อครั้งอับราฮัมทำพันธสัญญากับพระเจ้า
การเข้าสุหนัตเป็นการจำแนกแยกแยะพวกยิวออกจากชนชาติอื่น ๆ
ที่ต่างก็เป็นเชลยเหมือนกัน
ดันนั้นพวกต่างชาติและบาบิโลนจึงไม่มีการเข้าสุหนัต
วันสะบาโต
การรักษาวันสะบาโตมีอยู่ในพระบัญญัติสิบประการมาตั้งแต่สมัยโมเสส
เยเรมีย์เองสนับสนุนประเพณีปฏิบัตินี้ด้วยพระธรรมเอเสเคียลก็พูดถึงเรื่องนี้บ่อยครั้ง
(ยรม.17.19-27, อสค.20.12, 20, 23-24)
เพลงสดุดี
ตอนนั้นพวกยิวรู้จักเพลงสดุดีหลายบทแล้ว
บางทีการรวบรวมเพลงสดุดีขึ้นเป็นเล่มขนาดเล็กอาจจะทำกันในช่วงนี้
เพลงสดุดี137 เป็นเพลงที่ระบายความรู้สึกของพวกยิวที่เป็นเชลยในบาบิโลน
เมื่อชาวบาบิโลนของร้องให้พวกเขาใช้เพลงสดุดีร้องเพื่อความสนุกเพลิดเพลิน
พวกยิวคงจะใช้เพลงสดุดีในการนมัสการมานานแล้ว และเมื่อเป็นเชลยก็ยังใช้อยู่
ธรรมบัญญัติ
อิสราเอลรวบรวมกฎหมายต่าง ๆ มาเป็นเวลาหลายศตวรรษ
ที่เยเรมีย์ต่อว่าประชาชนอิสราเอลไม่เชื่อฟังพระเจ้านั้น
ท่านใช้กฎหมายหรือธรรมบัญญัติเป็นหลัก (ยรม.2.28, 8.8, 9.13,26.4)
พวกยิวที่เป็นเชลยคงต้องยกย่องนับถือพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติ
ตอนนั้นอาจจะเป็นฉบับร่างครั้งแรกสุด คำสอนเรื่องพระเจ้าและวิถีทางต่าง ๆ
ของพระองค์ซึ่งมีอยู่ในพระธรรมเฉลยธรรมบัญญัติคงจะให้กำลังใจแก่เชลยชาวยิวที่บาบิโลน
ประวัติศาสตร์
บางทีประวัติศาสตร์เหล่านั้นอาจจะยังไม่บันทึกไว้ในรูปแบบปัจจุบันที่เราเห็นในพระคัมภีร์
ประชาชนคงจะสะสมประวัติต่าง ๆ เช่นที่ กลุ่ม ย. (J) อนุรักษ์ไว้ก่อน
และที่กลุ่ม อ. (E) อนุรักษ์ไว้ในเวลาต่อมา
อันที่จริงแล้วมีตำนานจำนวนมากที่จำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้
เพราะตำนานเหล่านั้นช่วยหล่อเลี้ยงความเชื่อของพวกยิวที่เป็นเชลยให้แข็งแรง
เห็นได้ชัดว่าระหว่างหลายปีที่อยู่ในบาบิโลนนั้นพวกยิวสะสมเรื่องราวในยุคก่อน ๆ ที่ชุมชนเห็นว่ามีคุณค่าไว้เป็นจำนวนมากและถ่ายทอดให้แก่คนรุ่นหลัง ๆ ฟัง พวกเขาเขียนประวัติศาสตร์โดยบันทึกชีวประวัติและคำสั่งสอนของบรรดาผู้เผยพระวจนะใหญ่ รวบรวมธรรมบัญญัติต่าง ๆ และทำเป็นประมวลกฎหมายที่เรียงลำดับให้เห็นชัดขึ้นกว่าของเดิม และจัดเพลงสดุดีเป็นหมวดหมู่สำหรับใช้ในการนมัสการ
บรรพชนต้นตระกูลอิสราเอล
การอพยพ
อิสราเอล 12 เผ่า
กษัตริย์องค์แรกๆ ของอิสราเอล
สองราชอาณาจักร
สมัยจักรวรรดิอัสซีเรียเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิบาบิโลนเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิเปอร์เซียเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิกรีกเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจ