ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์ บุคคลสำคัญ ประเทศและทวีป>>

อิสราเอล

อิสราเอลสมัยเปอร์เซียเรืองอำนาจ

(ประมาณ ก่อน.ค.ศ. 539-331)

เปอร์เซียเรืองอำนาจในโลก

ขณะที่บาบิโลนครองความเป็นใหญ่อยู่ทางภาคใต้ของราชอาณาจักรเก่าของอัสซีเรีย พวกมีเดียครองความเป็นใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ สองจักรวรรดินี้ตั้งอยู่คู่เคียงกันเป็นเวลานานประมาณเจ็ดสิบปีโดยไม่มีการสู้รบกันอย่างเปิดเผย

ในปี ก.ค.ศ.550 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น อัสทียาเกส (Astyages) แห่งมีเดียยกทัพไปต่อสู้กับพวกเอลาม ซึ่งตอนนั้นกษัตริย์ไซรัส (Cyrus) แห่งเปอร์เซียปกครองอยู่ การสู้รบกันครั้งนี้ปรากฎว่ากองทัพมีเดียปราชัยยับเยิน เพราะกษัตริย์ไซรัสทรงเดชานุภาพและเป็นที่นิยมรักใคร่ของประชาชนเกินกว่าที่จะเอาชนะพระองค์ได้ ไซรัสทรงสามารถขับพวกมีเดียให้ล่าทัพกลับ แล้วตามไปโจมตีถึงในดินแดนของชาวมีเดียจนได้ชัยชนะ อีกไม่นานไซรัสก็ตั้งตนเองเป็นกษัตริย์ในเอคบาทานา (Ecbatana) และอ้างว่าพระองค์มีอำนาจในจักรวรรดิมีเดีย

นาโบนิดัด (Nabonedus) แห่งบาบิโลนกลัวว่าไซรัสจะยกทัพเลยเข้ามาโจมตีจักรวรรดิของพระองค์ ซึ่งก็เป็นความจริงเช่นนั้น พระองค์จึงได้ร่วมกับผู้นำมิตรประเทศ ได้แก่ อามาซิส (Amasis) แห่งอียิปต์ และ โครเอซัส (Croesus) แห่งลิเดียจัดตั้งกองกำลังเพื่อป้องกันประเทศของพวกตน กษัตริย์ไซรัสบุกเข้ายึดซารดิส (Sardis) เมืองหลวงของลิเดียได้เป็นแห่งแรกในปี ก.ค.ศ. 547 พอถึงปี ก.ค.ศ. 539 ไซรัสทรงยกทัพเข้าโจมตีบาบิโลนโดยตรง เวลานั้นประชาชนชาวบาบิโลนไม่นิยมเลื่อมใสในตัวกษัตริย์นาโบนิดัด เพราะนอกจากพระองค์จะเป็นชาวอารัมที่มาจากเมืองฮารานซึ่งไม่ใช่เชื้อพระวงศ์แคลเดียแห่งบาบิโลนแล้ว พระองค์ก็ยังไม่ยอมสักการะเทพเจ้ามาร์ดุกอีกด้วย จึงทำให้พวกปุโรหิตของพระมาร์ดุกไม่ชอบพระองค์ นาโบนิดัดเลื่อมใสศรัทธาพระสิน (Sin) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ เทพองค์นี้มีวิหารอยู่ที่เมืองฮาราน ก่อนหน้านั้นหลายปี คือก่อนที่กษัตริย์ไซรัสจะยึดเอคบาทานาได้นาโบนิดัดปล่อยให้เบลชัสซาร์โอรสของพระองค์ปกครองประเทศแทน ผลที่ตามมาก็คือไม่มีการฉลองเทศกาลปีใหม่ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี เพราะเทศกาลนี้กษัตริย์จะต้องเป็นผู้นำในพิธีรื้อฟื้นความเป็นผู้นำประเทศ เรื่องนี้เองที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจนาโบนิดัดอย่างมาก ดังนั้นเองจึงไม่เตรียมตัวเตรียมใจเพื่อต่อสู้กับไซรัสอย่างเต็มกำลัง

ไซรัสรบชนะบาบิโลนที่เมืองโอปิส (Opis) บนฝั่งแม่น้ำไทกรีสเมื่อปี ก.ค.ศ. 539 และอีกไม่กี่วันต่อมาแม่ทัพของพระองค์ก็ยึดกรุงบาบิโลนได้สำเร็จโดยไม่มีการต่อสู้มากนัก นาโบนิดัดทรงหนีเอาตัวรอดแต่ก็ถูกจับได้ ชาวบาบิโลนต้อนรับกษัตริย์ไซรัสด้วยความปีติยินดีในฐานะที่ทรงเป็นวีรชนผู้ยิ่งใหญ่ของพวกเขาและผู้รับใช้ของพระมาร์ดุก เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระมาร์ดุกกษัตริย์ไซรัสจึงทรงรื้อฟื้นเทศกาลปีใหม่ขึ้นมาอีก และนำรูปปฏิมาของเทพเจ้าต่าง ๆ กลับไปไว้ในเทวสถานเดิมของใครของมัน หลังจากไซรัสได้บาบิโลนไว้ในความครอบครองแล้วไม่นาน บรรดาเจ้านายผู้ปกครองมณฑลต่างด้าวต่าง ๆ ก็พากันมาสวามิภักดิ์ จักรวรรดิเปอร์เซียตั้งขึ้นได้ด้วยการผนวกจักรวรรดิมีเดีย จักรวรรดิบาบิโลน พร้อมกับดินแดนอื่น ๆ ที่อยู่ห่างไกลเข้าด้วยกัน โดยมีกรุงเอาบาทานาเป็นเมืองหลวง

จักรวรรดิเปอร์เซียตั้งอยู่ได้นานประมาณสองร้อยปี กษัตริย์องค์หลัง ๆ ไม่ใช่นักปกครองที่ดีเหมือนไซรัส อียิปต์และกรีกเป็นศัตรูตัวฉกาจของเปอร์เซีย คัมบีเซส (Cambyses) โอรสของไซรัสปราบอียิปต์ได้สำเร็จในปี ก.ค.ศ. 525 แต่ประชาชนชาวอียิปต์ไม่เต็มใจอยู่ใต้ปกครองของเปอร์เซียจึงก่อการกบฏขึ้นบ่อย ๆ หลายครั้งก็ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศกรีก ระหว่าง ก.ค.ศ. 401-342 อียิปต์ได้รับอิสรภาพอีกครั้ง แต่ก็ต้องสูญเสียไปอีกก่อนที่จักรวรรดิเปอร์เซียจะถูกโค่นลง

ประเทศกรีกสร้างความเดือดร้อนให้แก่เปอร์เซียมากกว่า และเปอร์เซียก็ไม่เคยเอาชนะกรีกได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว กษัตริย์เซอร์ซิสที่ 1 (Xerxer l) เป็นกษัตริย์แห่งเปอร์เซียองค์แรกที่พยายามจะพิชิตกรีกให้ได้ พระองค์ยกทัพเรือไปรบกับกรีกครั้งแรกในปี ก.ค.ศ.480 แรก ๆ ก็ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ถึงกับสามารถยึดกรุงเอเธนส์ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของกรีกได้ แล้วเผาวัดวาอารามและอาคารบ้านเรือนของประชาชนที่ตั้งอยู่บนเนินเขา อะโครโปลิส (Acropolis ดูภาพหน้า ) แต่อีกไม่นานกองทัพกรีกก็สามารถทำลายเรือรบส่วนใหญ่ของเปอร์เซีย กองทัพของเซอร์ซิสที่ 1 พ่ายแพ้ยับเยิน พระองค์เองก็ถูกปลงพระชนม์

อาร์ทาเซอร์ซิสที่ 1 (Artaxerxes l) ทำสงครามกับกรีกต่อไป แต่ในที่สุดก็ยอมทำสัญญาสงบศึกกันในปี ก.ค.ศ.449 หลังจากนั้นพวกกรีกก็รบพุ่งกันเอง เปอร์เซียจึงล่ากลับไปเฝ้าดูพวกกรีกฉีกเนื้อกันเองออกเป็นชิ้น ๆ ในสงครามที่เปโลโปนนีเชียน (Peloponnesian War ก.ค.ศ.431-404) ตอนนั้นไม่จำเป็นที่เปอร์เซียต้องเข้าไปแทรกแซง ชาวกรีกเอาแต่รบกันเองจนไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่จักรวรรดิเปอร์เซีย แต่ผลสุดท้ายก็สร้างความพินาศให้แก่เปอร์เซียอยู่ดี ทันทีที่เลิกทำสงครามกันเอง พวกกรีกก็เริ่มก่อกวนและสร้างความเดือดร้อนให้แก่บรรดาผู้ปกครองของเปอร์เซีย เมื่ออียิปต์เข้าร่วมผสมโรงด้วยก็ทำให้ยิ่งเดือดร้อนขึ้นกว่าเดิม ในที่สุดอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) แห่งประเทศกรีกก็ทำลายอาณาจักรเปอร์เซียได้สำเร็จ แล้วทรงครอบครองโลกสมัยโบราณไว้ได้ทั้งหมดตั้งแต่กแม่น้ำดานูบจรดแม่น้ำอินดัสและเลยไปอีก

ศาสนาของชาวเปอร์เซีย
ศาสนาดั้งเดิมของชาวเปอร์เซียเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์และกสิกรรมแบบเรียบง่าย แต่ต่อมาก็มีศาสนาใหม่ ศาสนาโซโรแอสเตอร์เกิดขึ้น ศาสนานี้พัฒนาขึ้นผลงานของชายผู้หนึ่งชื่อว่า ซาราธุสตรา (Zarathustra) หัวใจของศาสนาโซโรแอสเตอร์อยู่ที่หนังสือศักดิ์สิทธิ์หรือพระคัมภีร์ เช่นเดียวกันกับศานายูดาย อิสลาม คริสต์ศาสนาและศาสนาของชาวตะวันออกอีกหลายศาสนา หนังสือศักดิ์สิทธิ์เล่มนี้เรียกว่า พระคัมภีร์อาเวสตา (Avesta) ศาสนาโซโรแอสเตอร์มีลักษณะเป็นลัทธิทวินิยม สานุศิษย์ของศาสนานี้เชื่อในอำนาจสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งดีฝ่ายหนึ่งชั่ว พวกเขาเชื่อว่าเทพเจ้าแห่งความดีเป็นเทพผู้สูงสุด ชื่อออร์มาซด์ (Ormazd) เทพองค์นี้มีพวกอัครเทวทูตและเทวทูตทั้งหลายเป็นบริวาร และเชื่อว่ามีเทพแห่งความชั่วองค์หนึ่งชื่อ อาห์ริมาน (Ahriman) มีภูตผีปีศาจเป็นบริวาร ศาสนาโซโรแอสเตอร์สอนว่า มนุษย์ควรจะปรนนิบัติรับใช้เทพแห่งความดี และทำตามประมวลกฎหมายอันสูงส่งซึ่งแสดงออกมาเป็นค่านิยมทางศีลธรรมแบบถ่อมตัว ศิษยานุศิษย์ของศาสนานนี้มีความเชื่อมั่นว่า ความตายไม่ใช่การสิ้นสุดคนชอบธรรมจะได้รับชีวิตใหม่เมื่อตอนที่เทพออร์มาซด์ทำสงครามชนะ

การสร้างยูดาห์ขึ้นใหม่

ผู้เผยพระวจนะเยเรมีย์เคยสอนไว้ว่า ความหวังในอนาคตของประชาชนของพระเจ้าขึ้นอยู่กับพวกเชลยที่บาบิโลน (ยรม. 24.4-7) หลังจากถูกกวาดต้อนเป็นเชลยในต่างแดนเป็นครั้งที่สามแล้ว ก็ยังมีคนหลงเหลืออยู่ในยูดาห์อีกจำนวนหนึ่ง คนเหล่านี้เป็นคนด้อยทักษะหรือด้อยคุณภาพ พวกผู้นำทั้งหลายถูกพาตัวไปอยู่ที่บาบิโลน บางคนก็ลี้ภัยไปอยู่ที่อื่น ที่ซากพระวิหารในกรุงเยรูซาเล็มอาจจะมีคนไปนมัสการพระเจ้าอยู่ต่อไป (ยรม. 41.5) แต่ก็เหลืออยู่จำนวนน้อยจนไม่มีความหวังสำหรับอนาคตอยู่เลย (อสค.33.24-29) ในประเทศบาบิโลนก็เช่นกัน ขวัญของคนในชุมชนชาวยิวตกต่ำมากแม้ว่าจะสามารถปฏิบัติศาสนกิจในลักษณะที่พอจะทำได้ แต่พวกเขายังคงใจฝ่อเพราะกรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายพินาศ พวกเขารู้สึกหมดอาลัยและไร้ความหวังอย่างมาก (อสย. 40.27) ดังนั้นการที่จะตั้งชุมชนใหม่แห่งประชาชนของพระเจ้าได้นั้น จะต้องเอาชนะความยุ่งยากใหญ่หลวงหลายอย่าง แต่ก็มีการเตรียมสร้างชุมชนใหม่ในยูดาห์และในกรุงเยรูซาเล็มเป็นขั้น ๆ ไป

การรื้อฟื้นความหวังขึ้นมาใหม่
ระหว่างเป็นเชลยอยู่ที่บาบิโลน มีผู้เผยพระวจนะสองท่านทำงานอย่างขยันขันแข็ง ทั้งสองพยายามพูดและเขียนถึงเรื่องอนาคตว่า เวลานั้นมนุษย์ทั้งปวงจะยอมรับพระราชอำนาจของพระเจ้า และประชาชนของพระเจ้าจะรู้อีกครั้งว่าตนมีพระพรของพระองค์

เอเสเคียล เป็นผู้เผยพระวจนะท่านหนึ่ง ท่านถูกพาตัวมาบาบิโลนพร้อมกับเชลยรุ่นแรก และได้ทำหน้าที่เผยพระวจนะที่นั่น ท่านมีความหวังสำหรับคนที่กลับใจและหันมาหาพระเจ้า ท่านเชื่อว่าพระองค์จะทรงรื้อฟื้นพวกเขาขึ้นใหม่ และให้กลับไปอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็มบ้านเกิดเมืองนอนอีก (อสค. 33.19, 36.24-28) ตอนท้ายของพระธรรมเอเสเคียลพูดถึงนิมิตของท่านเรื่องชุมชนใหม่ในกรุงเยรูซาเล็ม อันมีพระวิหารเป็นศูนย์กลางของชีวิต (อสค.40.48)

อิสยาห์ที่สอง (Deutero-Isaiah) ท่านผู้นี้ไม่มีใครทราบชื่อจริงของท่าน แต่สิ่งที่ท่านเขียนปรากฎอยู่ในพระธรรมอิสยาห์ 40 - 55 สาเหตุที่ท่านเขียนหนังสือโดยไม่ใส่ชื่อ เนื่องจากว่าท่านได้ส่งหนังสือนี้ให้พวกยิวเวียนกันอ่าน และเกรงว่าจะเกิดความเดือดร้อนถ้าทางการรู้ชื่อของท่าน อิสยาห์ที่สองได้ให้ความมั่นใจประชาชนชาวยูดาห์ว่าพระเจ้าจะไม่ทรงล้มเลิกพระราชประสงค์ของพระองค์ที่มีต่อพวกเขา (อสย.41.8-10) พระเจ้ากำลังส่งไซรัสกษัตริย์แห่งเปอร์เซียมาปลดปล่อยพวกเขา (อสย.41.25, 45.1-7) จะมีการอพยพครั้งใหม่เกิดขึ้นอีก จากบาบิโลนกลับไปยังกรุงเยรูซาเล็ม พระเจ้าจะช่วยให้เขาสร้างกรุงเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ให้ยิ่งใหญ่และสง่างาม (อสย.45.22, 49.6, 54.11-14)

การเดินทางกลับกรุงเยรูซาเล็ม
ในปี ก่อน.ค.ศ.539 เมื่อกษัตริย์ไซรัสยกทัพมาพิชิตบาบิโลนได้ พระองค์มอบสิทธิอำนาจให้พวกยิวไปสร้างพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม เต็มใจให้พวกยิวกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตน ทั้งยังสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับ แต่ก็มีพวกยิวไม่กี่คนเท่านั้นที่ยอมรับโอกาสใหม่ในการปรนนิบัติรับใช้พระเจ้า

เชซบัสซาร์ เจ้านายของยูดาห์ (อสร.1.8) ท่านผู้นี้อาจจะเป็นโอรสของกษัตริย์เยโฮยาคิน ท่านเป็นผู้นำพวกยิวรุ่นแรกเพียงไม่กี่คนเดินทางกลับกรุงเยรูซาเล็ม เนื่องจากมีเพียงไม่กี่คนกลับมาพร้อมกับท่าน และพบว่ากรุงเยรูซาเล็มพินาศย่อยยับเหลือแต่ซากจนยากที่จะกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น อย่างดีที่สุดที่พอทำได้ก็คือหาที่พักและอาหารพอประทังชีวิตอยู่ต่อไป

เศรุบบาเบล หลานของกษัตริย์เยโฮยาคีน นำพวกยิวรุ่นที่สองซึ่งมีจำนวนมากกว่ารุ่นแรกกลับปาเลสไตน์ ชาวยิวกลุ่มนี้ก็เช่นกันพบว่าการดำรงชีวิตอยู่ที่นั่นลำบากมาก แทบจะไม่มีเวลาทำอย่างอื่นนอกจากการแสวงหาปัจจัยสำคัญสำหรับดำรงชีวิตอยู่

การสร้างพระวิหารใหม่
ในปี ก.ค.ศ. 520 ผู้เผยพระวจนะสองท่านคือ ฮักกัยและเศคาริยาห์มายังกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อขอร้องประชาชนให้ช่วยกันสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ (อสร.5.1-2) ประชาชนชาวยูดาห์ตอบสนองท่านจึงสร้างพระวิหารจนแล้วเสร็จในสี่ปี ถึงแม้จะไม่ได้ออกแบบให้สวยงามแข็งแรง และประดับประดาเต็มที่เหมือนพระวิหารหลังแรกที่สร้างในสมัยกษัตริย์ซาโลมอน แต่อย่างน้อยที่สุดพวกยิวก็มีศูนย์กลางสำหรับนมัสการและถวายเครื่องบูชาอีกครั้ง

แคว้นยูดาห์
คนที่อยู่ในยูดาห์และในกรุงเยรูซาเล็มยังมีชีวิตและความเป็นอยู่อย่างแร้นแค้น บริเวณส่วนใหญ่ของกรุงเยรูซาเล็มยังอยู่ในสภาพปรักพัง มีชาวยิวเพียงไม่กี่คนเต็มใจอยู่ที่นั่น (นหม.7.4) นอกนั้นพากันไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองอื่นแทน เช่น ที่เบธเลเฮม เกบา เบธเอล และเยรีโค (ดูเอสรา 2.20-35 และแผนที่ 4) จำนวนพลเมืองทั้งหมดมีประมาณ 50,000 คน การบริหารทางการเมืองยังคงอยู่ในความควบคุมของผู้ว่าราชการมณฑลฟากแม่น้ำข้างตะวันตกซึ่งเป็นชาวเปอร์เซีย

ที่นั่นเกิดปัญหาเสมอระหว่างพวกเชลยที่กลับมาเยรูซาเล็มกับพวกที่อยู่ในปาเลสไตน์ หรือพวกที่ย้ายกลับมาก่อนหน้าแล้ว พวกยิวเชื่อว่ามีแต่พวกที่เคยไปอยู่ที่บาบิโลนมาแล้วเท่านั้นที่เชื่อใจได้ว่าเป็นผู้รักษารูปแบบการนมัสการพระเจ้าที่เป็นประเพณีสืบทอดกันมา ส่วนพวกที่อยู่ในปาเลสไตน์ระหว่างที่พวกเขาถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยอยู่ต่างแดนนั้น ล้วนเป็นพวกที่ปรนนิบัติพระอื่น ๆ ควบคู่กับการปรนนิบัติพระเจ้า (2 พกษ.17.27-34) บรรดาผู้ว่าราชการแคว้นต่าง ๆ ในปาเลสไตน์และฟากข้างโน้นของแม่น้ำจอร์แดนให้ความเห็นอกเห็นใจพวกที่ไม่เคยเป็นเชลยมากกว่า และทำทุกสิ่งเพื่อก่อความเดือดร้อนกับพวกยิวที่กลับจากเป็นเชลยที่บาบิโลน (นหม.6.10-14, 17-18) ทำให้สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปไม่เหมือนกับที่อิสยาห์ที่สอง ฮักกัย และเศคาริยาห์เคยสัญญาไว้ การสร้างพระวิหารไม่ได้ทำให้ชีวิตของคนในชาติยิวได้รับการฟื้นฟู จึงทำให้หลายคนท้อใจ

เอกราชสำหรับยูดาห์
ปลายปี ก.ค.ศ.455 มีผู้นำข่าวสารไปแจ้งให้ราชสำนักเปอร์เซียที่เมืองสุวา (Susa) ทราบว่าพวกยิวที่กำลังพยายามสร้างชุมชนเพื่อปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าในกรุงเยรูซาเล็มกำลังประสบกับปัญหาหลายอย่าง เมื่อเนหะมีย์เจ้าหน้าที่คนสำคัญของราชสำนักซึ่งเป็นคนยิวได้ยินเรื่องเข้าก็รู้สึกหนักใจ และปรารถนาจะช่วยเหลือคนชาติเดียวกันกับท่าน (นหม.1.1-4) กษัตริย์อาร์ทาเซอร์ซีสที่ 1 จึงอนุญาตให้เนหะมีย์เดินทางไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อช่วยสร้างพระวิหารขึ้นใหม่

จากบันทึกส่วนตัวของเนหะมีย์ ท่านบันทึกว่าได้สร้างกำแพงกรุงเยรูซาเล็มสำเร็จ "ในห้าสิบสองวัน" (นหม.6.15) อาจจะเป็นไปได้ว่าแผนการสร้างนี้ทั้งหมดอยู่ภายในกำแพงเมือง เพราะโยเซฟัสนักประวัติศาสตร์สมัยโบราณบันทึกไว้ว่าต้องใช้เวลามากกว่าสองปีจึงก่อสร้างเสร็จทั้งหมด

เมื่องานก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว เนหะมีห์จึงหันมาแก้ปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจที่พวกยิวกำลังเผชิญอยู่ และดำเนินการปฏิรูปเรื่องสำคัญ ๆ เพื่อทำให้กรุงเยรูซาเล็มและยูดาห์กลายเป็นชุมชนที่มีความสุขและความเจริญ

ในปี ก.ค.ศ. 433 เนหะมีย์กลับไปยังเมืองสุสาเพื่อรายงานความสำเร็จแต่อีกไม่กี่ปีต่อมา ท่านก็ถูกส่งตัวให้เดินทางกลับไปเป็นผู้ว่าราชการในกรุงเยรูซาเล็มเป็นคำรบสอง ท่านได้กลับมาแก้ไขปัญหาความยุ่งยากต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

พระบัญญัติของพระเจ้า
ในช่วงนี้เอง มีผู้นำคนสำคัญอีกคนหนึ่งเดินทางมายังกรุงเยรูซาเล็มท่านผู้นี้ชื่อเอสรา ท่านนำเอาหนังสือธรรมบัญญัติติดตัวมาจากบาบิโลนด้วยเล่มหนึ่ง เพื่อใช้เป็นแบบแผนของการดำเนินชีวิตของประชาชนชาวยูดาห์ เราไม่ทราบแน่ชัดว่าตอนนั้นเอสราอ่านพระบัญญัติเล่มไหน แต่ต่อมาพวกยิวเรียกพระธรรมห้าเล่มแรกในพันธสัญญาเดิมว่า "พระบัญญัติ" (โทราห์) หนังสือที่เอสราอ่านอาจจะเป็นร่างเดิมของพระธรรมห้าเล่มดังกล่าว หลังจากนั้นไม่ถึงห้าสิบปีพระธรรมดังกล่าวก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นพระคัมภีร์ ในเวลาเดียวกันนั้นพวกที่ไม่เคยเป็นเชลย และผู้ที่พวกยิวซึ่งกลับจากเป็นเชลยไม่ยอมรับว่าเป็นยิวแท้ได้พากันแยกตัวออกไปตั้งชุมชนใหม่และเรียกตนเองว่า "ชาวสะมาเรีย" ชุมชนนี้ยอมรับว่าพระธรรมห้าเล่มแรกของพันธสัญญาเดิมเป็นพระธรรมที่มีความสำคัญสำหรับพวกตนเช่นเดียวกับที่พวกยิวยอมรับ ถ้านำพระธรรมเหล่านี้มาใช้หลังจากสมัยของเอสราแล้ว พวกสะมาเรียคงไม่ยอมรับเป็นแน่ เพราะตอนนั้นใกล้จะถึงเวลาที่เกิดการแตกแยกอย่างเด็ดขาดแล้วระหว่างชาวยิวกับชาวสะมาเรีย

แม้แต่ในสมัยของเอสราเอง การแตกแยกระหว่างคนสองกลุ่มนี้ก็รุนแรงพอแล้ว ชาวสะมาเรียสร้างพระวิหารขึ้นแข่งบนภูเขาเกราซิมเมื่อประมาณปี ก.ค.ศ.400 และแยกไปนมัสการพระเจ้าที่นั่น ไม่ใช่ว่าพวกยิวทุกคนจะสบายใจที่เห็นรอยปริที่มากขึ้นระหว่างพวกยิวกับชนชาติอื่น ๆ รวมทั้งชาวสะมาเรียด้วย มีพระธรรมสองเล่มที่เขียนขึ้นเพื่อท้าทายพวกยิวเรื่องความไม่ไว้ใจและไม่แยแสคนต่างชาติ ได้แก่พระธรรมนางรูธและพระธรรมโยนาห์

"หนังสือซึ่งพระเจ้าทรงบัญชาแก่อิสราเอล" (เนหะมีย์ 8.1)

ขนบประเพณีทางศาสนาและพิธีกรรมหลายอย่างได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใช้อีกในแคว้นยูดาห์ บรรดานักเขียนได้บันทึกรูปแบบของการนมัสการและความคิดด้านศาสนาจากความทรงจำที่พวกอิสราเอลอนุรักษ์ไว้มานานแล้ว ซึ่งเวลานั้นสิ่งที่พวกเขาจดจำไว้ถูกปรับปรุงแก้ไขใหม่ตามความเชื่อและตามพิธีกรรมที่พวกเขากระทำกันในสมัยหลัง

หน้าที่ของผู้นำทางศาสนา
พวกปุโรหิตเป็นผู้นำชุมชนใหม่ในกรุงเยรูซาเล็ม (อสร.3.2, 10) โดยมีมหาปุโรหิตผู้หนึ่งเป็นประมุข (นหม.13.28) ตำแหน่งมหาปุโรหิตนี้เพิ่งตั้งขึ้นใหม่หลังจากเป็นเชลยแล้ว นอกจากพวกนี้แล้วก็ยังมีพวกเลวีที่ดำรงตำแหน่งรองลงมาเป็นผู้ทำงานในพระวิหาร (นหม.8.7, 10.8-9)

การถวายเครื่องบูชาที่กระทำกันเป็นประจำมีอยู่หลายอย่าง มีการถวายเครื่องเผาบูชาวันละสองครั้ง (อสร.3.3, 6) ศานติบูชาจะกระทำกันในโอกาสที่มีความปีติยินดีและตั้งใจจะโมทนาขอบพระคุณพระเจ้า (นหม.12.43) และยังมีการถวายเครื่องบูชาอีกสองอย่างคือ การถวายเครื่องบูชาไถ่บาป และการถวายเครื่องบูชาไถ่กรรมบาป ซึ่งพระธรรมเลวีนิตบอกว่าสำคัญมาก (ลนต.4 -5)

เทศกาลประจำปี
เทศกาลประจำปีสามอย่างที่กระทำกันก่อนสมัยเป็นเชลยได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่เมื่อพวกยิวกลัมายังกรุงเยรูซาเล็ม ได้แก่ เทศกาลปัสกา เทศกาลเพนเทคสเต และเทศกาลอยู่เพิง (อสร.6.19-20, นหม.10.35, 8.13-18) เทศกาลทั้งสามนี้เคยเป็นเวลาที่พวกยิวนอกแผ่นดินยูดาห์เดินทางมายังกรุงเยรูซาเล็มเพื่อจาริกแสวงบุญ นอกจากนี้แล้ว ในปฏิทินของยิวที่กลับจากเป็นเชลยยังมีเทศกาลใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามา คือ เทศกาลลบมลทิน (ลนต.23.26-32) หรือ เรียกว่า "วันลบบาป"(ลนต.16) ในเทศกาลวันลบบาป ปุโรหิตจะถวายเครื่องบูชาไถ่บาปสำหรับตนเองและสำหรับประชาชน เทศกาลนี้ไม่เหมือนประเพณีอื่น ๆ ของยิว คือจะมีการเตรียมแพะตัวผู้สองตัว ตัวหนึ่งสำหรับพระเจ้า อีกตัวหนึ่งสำหรับ "อาซาเซล" ซึ่งเป็นชื่อของวิญญาณที่สิงอยู่ในทะเลทรายหรือเป็นหัวหน้าของทูตสวรรค์ที่ชั่วร้าย แพะสำหรับถวายบูชาพระเจ้าเป็นของบริสุทธิ์ สมควรจะนำมาใช้ในการนมัสการพระองค์ แพะสำหรับมอบให้อาซาเซลจะบรรทุก "บรรดาบาปของอิสราเอลและการ ทรยศทั้งหมด" (ลนต.16.10)

ประเพณีต่าง ๆ ของยิว
หลังจากที่กลับมาอยู่ในยูดาห์แล้ว ดูเหมือนว่าพวกยิวยังรักษาประเพณีต่าง ๆ ที่ช่วยให้วิญญาณแห่งความเป็นไทของพวกเขามั่นคงอยู่ได้ในยามที่ตกเป็นเชลย ประเพณีนี้มีการเข้าสุหนัต การรักษาวันสะบาโต และการนมัสการในธรรมศาลา พวกยิวถือว่าการเข้าสุหนัตเป็นประเพณีที่กระทำขณะที่เด็กเพิ่งเกิดใหม่ ซึ่งไม่เหมือนกับคนชาติอื่น ๆ ในสมัยนั้น การที่เอสราเอาหนังสือธรรมบัญญัติมาใช้เป็นการส่งเสริมให้มีการก่อตั้งธรรมศาลาขึ้นเพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับอ่านและอนุรักษ์เอกสารศักดิ์สิทธิ์น

อ่านต่อ>>>

บรรพชนต้นตระกูลอิสราเอล
การอพยพ
อิสราเอล 12 เผ่า
กษัตริย์องค์แรกๆ ของอิสราเอล
สองราชอาณาจักร
สมัยจักรวรรดิอัสซีเรียเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิบาบิโลนเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิเปอร์เซียเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิกรีกเรืองอำนาจ
สมัยจักรวรรดิโรมันเรืองอำนาจ
 

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย