ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ดะโต๊ะ

เป็นคำภาษามลายูที่นำมาใช้ในหมู่คนไทย ที่นับถือศาสนาอิสลาม ทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย และเป็นคำที่ทางราชการนำมาบัญญัติใช้ ทางฝ่ายตุลาการในสี่จังหวัดภาคใต้คือ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ที่เรียกว่า ดะโต๊ะยุติธรรม

คำว่า ดะโต๊ะ หมายถึง ผู้ใหญ่ ผู้มีหน้าที่ในราชการ ปู่ ตา (ผู้ควรเคารพนับถือ ผู้เฒ่า)  เช่น โต๊ะครู ผู้สอนศาสนาอิสลาม คำว่า ดะโต๊ะยุติธรรม เป็นคำที่ทางราชการนำมาใช้ในทางศาล หรือฝ่ายตุลาการ เมื่อปี พ.ศ.2460 ก่อนหน้านั้นใช้คำว่า โต๊ะกาลี และโต๊ะกาซี ดังในประกาศกฎข้อบังคับ สำหรับปกครองเจ็ดหัวเมือง พ.ศ.2444 ส่วนที่ว่าด้วยโรงศาลข้อ 12 มีความว่า "ให้ใช้พระราชกำหนดกฎหมายทั้งปวง ในความอาญา และความแพ่ง แต่ความแพ่งซึ่งเกิดด้วยศาสนาอิสลาม  เรื่องผัวเมียก็ดี และเรื่องมรดกก็ดี ซึ่งคนนับถือศาสนาอิสลามเป็นทั้งโจทก์จำเลย หรือเป็นจำเลยให้ใช้กฎหมายอิสลาม ในการพิจารณาและพิพากษา และให้โต๊ะกาลี ซึ่งเป็นผู้รู้และเป็นที่นับถือในศาสนาอิสลาม เป็นผู้พิพากษาตามกฎหมายอิสลามนั้น"

ในสารตรากระทรวงยุติธรรม พ.ศ.2460 มีข้อความว่า ถ้าบุคคลผู้ถือศาสนาอิสลามพิพาทกัน ด้วยความแพ่งลักษณะผัวเมีย และทรัพย์มรดก ให้ตุลาการพึงพิจารณา และบังคับคดี โดยลัทธิประเพณีอิสลาม ฯลฯ ให้ตั้งโต๊ะกาซี เป็นผู้ปรับบังคับคดีตามประเพณีนิยมนั้น ฯลฯ ให้เรียกตุลาการนี้ว่า ดะโต๊ะยุติธรรม เทียบคำเสนายุติธรรม ในมณฑลพายัพ ฯลฯ

ดะโต๊ะยุติธรรม สิ้นสุดลงเมื่อปี พ.ศ.2486 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2489 ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลาม ในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล ซึ่งมีผลให้ศาลในสี่จังหวัดดังกล่าว กลับไปใช้กฎหมายอิสลามในคดีแพ่ง เกี่ยวกับครอบครัวและมรดกอีก

กฎหมายอิสลาม ที่ว่าด้วยครอบครัวและมรดก ซึ่งอนุมัติให้ดะโต๊ะยุติธรรมใช้เป็นหลัก พิจารณาพิพากษาคดีนั้น เอามาจากคัมภีร์กีตับ ในศาสนาอิสลาม

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย