ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
ตรังกานู
เป็นชื่อแม่น้ำสายหนึ่งในแหลมมลายู ปัจจุบันใช้เรียกชื่อรัฐหนึ่ง ในประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของแหลมมลายู ทิศเหนือและทิศตะวันออกตกทะเลจีนใต้ ทิศใต้และทิศตะวันตกเฉียงใต้จดรัฐปาหัง ทิศตะวันตกจดรัฐกลันตัน มีพื้นที่ประมาณ 8,088 ตารางกิโลเมตร
ก่อนที่ตรังกานูจะตกเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ ในปี พ.ศ.2452 นั้น ตรังกานูเป็นเมืองประเทศราชของไทยมาก่อน แต่เดิมตรังกานูเป็นเมืองเล็ก ๆ ขึ้นอยู่กับเมืองปัตตานี เคยตกอยู่ในปกครองของอาณาจักรศรีวิชัยของไทย และของมะละการะหว่างที่ตกอยู่ในปกครองของมะละกา ในพุทธศตวรรษที่ 20 นั้น ตรังกานูเริ่มรับนับถือศาสนาอิสลามแล้ว ครั้นถึงสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เจ้าเมืองปัตตานีได้รับกำลังอุดหนุนจากเมืองยะโฮร์ สามารถตั้งตนเป็นเมืองใหญ่ขึ้น ต่อมาเจ้าเมืองยะโฮร์ก็ให้ตุวันมาโชผู้เป็นน้องเขยไปเป็นเจ้าเมืองตรังกานู หลังจากนั้นตุวันมาโชและพี่ชายไปตีเมืองกลับตันได้เมืองกลับตัน จึงแยกมาขึ้นกับเมืองตรังกานู
ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกกองทัพไปตีเมืองปัตตานีได้ พระยาตรังกานูจึงจัดทำต้นไม้เงินต้นไม้ทอง และเครื่องราชบรรณาการมาทูลเกล้า ฯ ถวาย ขอเป็นเมืองประเทศราชขึ้นต่อกรุงเทพ ฯ ด้วย
ระหว่างปี พ.ศ.2332 - 2334 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรดให้ยกเมืองสงขลามาขึ้นตรงก่อกรุงเทพ ฯ พระองค์ก็โปรด ฯ ให้เจ้าเมืองสงขลากำกับหัวเมืองหน้าแขก รวมทั้งตรังกานูและปัตตานีด้วย ต่อมาในปี พ.ศ.2358 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรด ฯ ให้เมืองนครศรีธรรมราชกำกับเมืองไทรบุรี และกลันตัน ซึ่งไม่ประสงค์จะขึ้นกับเจ้าเมืองตรังกานูต่อไป
ครั้นถึง ต้นพุทธศตวรรษที่ 24 อังกฤษเริ่มขยายอำนาจเข้ามาในแหลมมลายู อังกฤษได้ส่งนาย เฮนรี เบอร์นี มาทำสนธิสัญญากับไทย เมื่อปี พ.ศ.2369 มาตราหนึ่งในสนธิสัญญานี้รับรองความเป็นเจ้าอธิราชของไทยเหนือตรังกานู ไทรบุรี และกลับตัน
ในปี พ.ศ.2402 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้เสด็จทอดพระเนตรหัวเมืองปักษ์ใต้ พระยาตรังกานู ได้ถือโอกาสเข้าเฝ้า ฯ ถวายสิ่งของตามธรรมเนียม นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่พระเจ้าแผ่นดินไทยเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ถึงเขตแดนมลายู และในปี พ.ศ.2404 กรมการเมืองตรังกานู ได้เข้ามาถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ตามพระราชประะเพณี โดยสุลต่าลมะหมุดดินทางมาด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เสด็จออกรับแขกเมืองอย่างใหญ่ เพื่อให้เป็นเกียรติแก่สุลต่าลมะหมุด ฝ่ายสุลาต่าลมะหมุดได้ถวายน้องหญิงต่างมารดา ชื่อ ตนกูสปิย อายุ 13 ปี ให้รับราชการในพระบรมมหาราชวัง
สุลต่านมะหมุด เป็นสุลต่านนอกบัลลังก์แห่งลิงา ถูกฮอลันดาปลดออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองลิงา ในปี พ.ศ.1400 จึงพาครอบครัวไปอยู่ที่สิงคโปร์ หลังจากกลับจากกรุงเทพ ฯ ไม่นานก็ได้คบคิดกับหวันอาหมัด (น้องชาย ปัมดาหราเจ้าเมืองปาหัง) ซึ่งหลบหนีมาอยู่ที่เมืองตรังกานู วางแผนรบกับปันดาหราเจ้าเมืองปาหัง พระยาตรังกานู เกรงว่าไทยจะยกกองทัพมาช่วยสุลต่านมะหมุด จึงไปขอความช่วยเหลือจากสิงคโปร์ เพื่อต่อต้านไทยแต่ไม่สำเร็จ ในเวลาเดียวกันปันดาหรา เจ้าเมืองปาหังก็ฟ้องร้องไปยังเจ้าเมืองสิงคโปร์ ทางสิงคโปร์มีหนังสือมายังเซอร์โรเบิร์ต ชอม เบอร์ก กงสุลประจำกรุงเทพ ฯ ให้ต่อว่ารัฐบาลไทย และขอให้ไทย พาตัวสุลต่าลมะหมุดออกไปจากตรังกานู เมื่อทางไทยแจ้งว่าสุลต่านมะหมุดมิใช่คนบังคับไทย แต่ไทยก็จะส่งเรือไปรับมากรุงเทพ ฯ คงขอให้รอหมดหน้ามรสุมก่อน สิงคโปร์เข้าใจว่าไทยบ่ายเบี่ยงจึงส่งเรือปืนสองลำไปเมืองกัวลา ตรังกานูยื่นคำขาดให้สุลต่านมะหมุดออกจากตรังกานูไปกรุงเทพ ฯ ภายใน 48 ชั่วโมง เมื่อไม่ได้รับคำตอบจึงเข้าโจมตีเมืองตรังกานู เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้รัฐบาลไทยไม่พอใจ จึงมีหนังสือไปยังเสนาบดีว่าการต่างประเทศ ที่กรุงลอนดอน มีผลทำให้เจ้าเมืองสิงคโปร์ถูกเรียกตัวกลับ และเปลี่ยนเจ้าเมืองใหม่
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ อังกฤษซึ่งดำเนินนโยบายไม่แทรกแซงในมลายูเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2415 จึงเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ โดยได้เข้าไปแทรกแซงในดินแดนแห่งนี้ ระว่างปี พ.ศ.2417 - 2431 รัฐต่าง ๆ ทางภาคใต้ของไทยก็ตกไปอยู่ใต้อิทธิพลของอังกฤษ เช่น เปราะ สลังงอ เนกรีเซมบิลัน และปาหัง และหลังปี พ.ศ.2438 รัฐทั้งสี่นี้ก็ได้เข้าเป็นสหพันธรัฐมลายู
ระหว่าง ปี พ.ศ.2436 - 2437 ฝรั่งเศสสนใจจะขุดคอคอดกระ ส่วนรัสเซียก็มีโครงการจะขอสัมปทานบนเกาะภูเก็ตหรือบริเวณใกล้เคียง เพื่อตั้งสถานีถ่านหิน ทำให้อังกฤษเกิดความกังวลจึงเตือนไทย มิให้ยกสัมปทานในดินแดนของไทย ในมลายูให้แก่ชาติยุโรปโดยไม่ปรึกษาอังกฤษ ยังผลให้มีการเจรจาและลงนามในอนุสัญญา ไทย - อังกฤษ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2440 อนุสัญญานี้ถือเป็นความลับ เพราะบรรจุใจความเป็นทำนองต่อต้านเยอรมนี และเป็นเชิงท้าทายฝรั่งเศส เพราะไทยสัญญาว่าจะไม่ยกสิทธิใด ๆ เหนือดินแดนหรือเกาะทางตอนใต้ของเมืองบางสะพาน ให้แก่มหาอำนาจใด ๆ ส่วนอังกฤษก็สัญญาว่า จะช่วยเหลือไทยต่อต้านมหาอำนาจที่สาม ซึ่งพยายามจะเข้าไปแสวงหาอาณานิคม หรือสร้างอิทธิพลในดินแดนดังกล่าว และยืนยันความเป็นเจ้าประเทศราชของไทย เหนือรัฐบาลมลายูรวมทั้งตรังกานูด้วย
ไทยกับอังกฤษได้ลงนามในสนธิสัญญาต่อกันเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2452 รัฐบาลไทยยอมโอนอำนาจการปกครองดูแลเหนือรัฐตรังกานู กลันตัน ไทรบุรี ปะลิส และเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ ฝ่ายรัฐบาลอังกฤษก็ยอมเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และอำนาจศาลกงสุลให้แก่ไทย
ในปี พ.ศ.2491 ตรังกานูก็เข้าร่วมอยู่ในสหพันธรัฐมลายู ตรังกานูจะมีกรณีพิพาทกับ กลันตันเกี่ยวกับตำบล เบอสุต ซึ่งตัวอยู่ตรงพรมแดนทางเหนือ ระหว่างสองรัฐ และเนื่องจากตรังกานูไม่มีถนน หรือทางรถไฟเชื่อมดินแดนอื่น ๆ ในแหลมมลายู ตรังกานูจึงถูกตัดขาดจากมลายูตะวันตก ซึ่งได้รัการพัฒนา
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>