ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ไตรรงค์

เป็นชื่อธงชาติไทยปัจจุบัน ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ.2352 - 2367)  ประเทศไทยใช้ธงสีแดงเป็นธงชาติ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประเทศไทยได้ช้างเผือกสามเชือก มาประดับพระบารมีคือ จากเมืองโพธิสัตว์ เมื่อปี พ.ศ.2355 จากเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2359 และจากเมืองน่าน เมื่อปี พ.ศ.2359 เนื่องแต่เหตุที่ได้ช้างเผือกสามช้าง ธงที่ชักในเรือกำปั่นหลวง ที่แต่งไปค้าขายยังนานาประเทศ โปรด ฯ ให้ทำรูปช้างอยู่กลางวงจักร ติดในธงสำหรับชาติไทยแต่นั้นมา

ธงช้าง ซึ่งมีรูปช้างสีขาวบนผ้าสีแดง ได้ใช้เป็นธงชาติไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2360 ถึง พ.ศ.2460 โดยมีการแก้ไขลักษณะของช้าง เช่น พ.ร.บ.ธง ร.ศ.129 กล่าวว่า "ธงราชการสีแดง กลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น หันหน้าเข้าข้างเสา สำหรับใช้ชักที่เรือหลวงทั้งปวง กับชักที่บรรดาสถานที่ราชการต่าง ๆ" เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2460 ประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับมหาอำนาจกลาง เข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ทรงพระราชดำริว่า ธงชาติยังไม่สง่างามพอสำหรับประเทศไทย จึงมีพระบรมราชโองการให้ใช้ธงไตรรงค์ เป็นธงชาติไทยแทน

พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.ธง  พ.ศ.2460  ระบุลักษณะของธงไตรรงค์ไว้ดังต่อไปนี้

 "ธงชาติสยาม รูปสี่เหลี่ยมรี มีขนาดกว้างสองส่วน ยาวสามส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่ กว้างหนึ่งส่วน ซึ่งแบ่งสามของขนาดกว้างแห่งธงอยู่กลาง มีแถบขาวกว้างหนึ่งส่วน ซึ่งแบ่งหกของขนาดกว้างแห่งธงข้างละแถบ แล้วแถบสีแดงกว้างเท่าแถบขาว ประกอบชั้นนอกอีกข้างละแถบ ธงสำหรับชาติสยามอย่างนี้ให้เรียกว่า ธงไตรรงค์ สำหรับใช้ชักใบเรือ พ่อค้าทั้งหลาย และในที่ต่าง ๆ ของสาธารณชน บรรดาที่เป็นชาติสยามทั่วไป ส่วนธงพื้นสีแดง กลางมีรูปช้างปล่อย ซึ่งใช้เป็นธงชาติสำหรับสาธารณชนชาวสยามมาแต่ก่อนนั้น ให้เลิกเสีย"

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย