ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
พระถังซัมจั๋ง
เป็นสมญานามพระภิกษุจีนชื่อ หยวนจั้ง ในสมัยราชวงศ์ถัง คำว่า ซัม แปลว่า สาม คำว่า จั๋ง แปลว่า ปิฎก ซัมจั๋ง จึงแปลว่า "ไตรปิฎก"
พระถังซัมจั๋ง เกิดเมื่อปี พ.ศ.1139 ในสมัยราชวงศ์สุย เป็นชาวมณฑลเห่อหนัน เมื่อเยาว์วัยได้ติดตามพี่ชายคนที่สอง ซึ่งบวชเป็นพระภิกษุในเมืองลั่วหยังไปศึกษาธรรม เนื่องจากท่านเป็นคนฉลาดหลักแหลมเป็นพิเศษ จึงได้รับเลือกให้เป็นนาคหลวง บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 13 ปี ท่านเป็นผู้แตกฉานในธรรม และมีความสามารถในการแสดงธรรมเป็นอย่างมาก จนเป็นที่ยกย่องจากพุทธบริษัทโดยทั่วไป เมื่อสิ้นราชวงศ์สุย และเปลี่ยนเป็นราชวงศ์ถังแล้ว ท่านรู้ว่าตนเองยังต้องใฝ่หาความรู้อีกมาก จึงตัดสินใจเดินทางไปแสวงธรรมในประเทศอินเดีย ได้ออกเดินทางเมื่อปี พ.ศ.1172
เมื่อท่านเดินทางไปถึงประเทศอินเดียแล้ว ได้ไปศึกษาที่วัดนาลันทา มีพระภิกษุชาวอินเดียผู้มีชื่อเสียงหลายรูป ในสมัยนั้นเป็นอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านศีลภัทร ท่านได้ศึกษาอยู่เป็นเวลาสิบกว่าปี จึงเดินทางกลับประเทศจีน พร้อมทั้งนำพระไตรปิฎกฉบับภาษาสันสกฤตกลับมาด้วย ท่านเดินทางถึงเมืองหลวงของจีนคือ เมืองฉังอัน ในปี พ.ศ.1188
กษัตริย์จีนในสมัยนั้นคือ พระเจ้าถังไท่จง พระองค์ทรงเป็นปราชญ์ผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงทรงอุปถัมภ์การแปลพระไตรปิฎก จากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีน ท่านได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย ในด้านพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และฝ่ายเถรวาท ในด้านภาษาสันสกฤตและด้านภาษาจีน พระเจ้าถังไท่จงได้ทรงอาราธนาพระถังซัมจั๋งให้เขียนบันทึกการเดินทางไปอินเดีย จึงปรากฎหนังสือเรื่อง ต้าถังซีวีจี้
เมื่อสิ้นรัชกาลพระเจ้าถึงไท่จง พระราชโอรสขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าถังเกาจง พระองค์ทรงรับอุปถัมภ์งานแปลพระไตรปิฎกต่อ พระถังซัมจั๋งซึ่งเป็นแม่กองในงานแปลนี้ ดำเนินงานต่อไปจนมรณภาพในปี พ.ศ.1207 ผลงานแปลที่ท่านสร้างไว้อย่างมากมายนี้ นับเป็นการวางรากฐานอันมั่นคง และทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เจริญรุ่งเรืองในประเทศจีนในกาลต่อมา
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>