ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

พระเจ้าท้ายสระ

เป็นพระนามพระมหากษัตริย์องค์ที่ 30 แห่งกรุงศรีอยุธยา และองค์ที่สามแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.2251 - 2275 เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ ของสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการบูรณะปฎิสังขรณ์วัดวาอาราม ที่สำคัญหลายแห่งด้วยกัน

ในด้านการคมนาคม พระองค์โปรด ฯ ให้พระราชสงครามเป็นแม่กองขุดคลองโคกขาม ที่คดเคี้ยวให้ตัดลัดลง โดยเกณฑ์คนจากแปดหัวเมืองคือ เมืองนนทบุรี ธนบุรี สมุทรปราการ สาครบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี ราชบุรี นครชัยศรี ได้ไพร่พล 30,000 คนเศษ ให้ชาวฝรั่งส่องกล้องดูให้ตรงปากคลอง ทางที่ตัดให้ตรงนี้ยาว 340 เส้น ใช้เวลาขุดประมาณสามเดือน คลองลัดนี้ให้ชื่อว่า คลองมหาไชย ในปีต่อมา (พ.ศ.2265 โปรด ฯ ให้พระธนบุรีเป็นแม่กอง เกณฑ์ไพร่พลประมาณหมื่นเศษ ขุดคลองเกร็ดน้อย ลัดคุ้งบางบัวทองตัดให้เป็นเส้นตรง เป็นคลองลึกหกศอก กว้างหกวา ยาว 29 เส้นเศษ ใช้เวลาขุดเดือนเศษ

ในด้านเศรษฐกิจ พระองค์ทรงสนพระทัยที่จะปรับปรุงการค้าขายกับต่างประเทศมาก สำเภาไทยได้ไปค้าขายที่ประเทศญี่ปุ่นสองครั้ง แต่งทูตไปเมืองจีนสี่ครั้ง ได้นำข้าวสารไปขายที่เมืองเอ้หมึงด้วย

ด้านการสงคราม ในปี พ.ศ.2254 นักเสด็จ กรุงกัมพูชาชื่อ พระธรรมราชาวังกระดาน กับนักพระแก้วฟ้าสะออก เป็นอริกัน นักพระแก้วฟ้าหันไปขอความช่วยเหลือจากญวน นักเสด็จกับนักพระองค์ทองมาพึ่งไทย สมเด็จพระเจ้าท้ายสระโปรด ฯ ให้เจ้าพระยาจักรี ยกทัพบกจำนวนหมื่นคน และให้พระยาโกษาธิบดีเป็นแม่ทัพเรือ เกณฑ์ไพร่หลวงอีกหมื่นคนไปตีกรุงกัมพูชา ทัพเรือถูกกองเรือญวนตีแตกพ่ายไป ที่ปากน้ำพุทไธมาศ ทัพบกตีได้เมืองเขมร นักพระแก้วยอมอ่อนน้อมถวายต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง กรุงศรีอยุธยาจึงคงมีอำนาจเหนือกัมพูชาดังเดิม

ตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ทรงมีประกาศเมื่อปี พ.ศ.2273 ห้ามมิให้นักบวชฝรั่งเศสแต่งหนังสือสอนคริสต์ศาสนาเป็นภาษาบาลี และภาษาไทย และห้ามเทศนาสั่งสอนเป็นภาษาไทย มอญ ลาว ญวน และจีน ห้ามมิให้ชักชวน และหลอกลวงประชาชน ให้หันไปนับถือคริสต์ศาสนา และห้ามมิให้ติเตียนพุทธศาสนา

เมื่อสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ใกล้เสด็จสวรรคตได้เกิดศึกกลางเมืองที่ใหญ่หลวง ยิ่งกว่าครั้งใดที่เคยเกิดในกรุงศรีอยุธยามาก่อน ระหว่างเจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศวรฝ่ายหนึ่ง และกรมพระราชวังบวรอีกฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายกรมพระราชวังบวรเป็นฝ่ายชนะ

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย