ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

บัคเตรี

เป็นสิ่งที่มีชีวิต ประกอบด้วยเซลล์ เซลล์เดียว มีขนาดเล็กมากจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายอย่างน้อย 900 เท่าขึ้นไป จึงจะมองเห็นรูปร่างลักษณะได้ เนื่องจากมีขนาดเล็กจึงเรียกรวม ๆ ว่า จุลชีพ หรือจุลินทรีย์ บัคเตรีเจริญเติบโต และแพร่ขยายพันธุ์ได้โดยการแบ่งตัวอย่างง่าย ๆ จากหนึ่งเป็นสอง และทวีคูณเรื่อยไป

ทางชีววิทยาถือว่า บัคเตรีเป็นพืชชนิดหนึ่ง บัคเตรีกระจายอยู่ทั่วไป และแพร่หลายมากที่สุดจะตรวจพบได้ทุกแห่งในอากาศ ในน้ำ ในดิน ตามต้นไม้ ในร่างกายสัตว์ อาจตรวจพบได้ในบรรยากาศสูงขึ้นไป ถึงระดับ 6,000 เมตร หรือในทะเลลึก ลงไปถึง 4,850 เมตร บ่อน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิสูงถึง 75 องศาเซลเซียส หรือในทะเลน้ำแข็ง ยังอาจตรวจเชื้อบัคเตรีพบ

บัคเตรี มีอยู่หลายชนิดหลายประเภท แต่มิได้ทำให้เกิดโรคแก่มนุษย์ หรือสัตว์ได้ทุกชนิด บางชนิดต้องการเพียงจะอาศัยอยู่เท่านั้น บางชนิดก็เพียงทำให้เกิดโรค เรียกว่า เชื้อโรค ขนาดและรูปร่างของบัคเตรี มีขนาดเล็กมาก หน่วยที่ใช้วัดจึงใช้ว่าไมครอน 1 ไมครอนมีความยาวเท่ากับหนึ่งในพันของมิลลิเมตร กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยาย 900 เท่า จึงจะเห็นบัคเตรีที่มีขนาดไมครอนให้เห็นได้ขนาดประมาณ 1 มม.เท่านั้น

การแบ่งตัวของบัคเตรีต้องการอาหารที่ประกอบด้วยน้ำ สารอนินทรีย์ วิตามิน เป็นต้น บางชนิดต้องการออกซิเจน บางชนิดไม่ต้องการ อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตนั้นก็แตกต่างกันออกไป ตามปรกติบัคเตรีที่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์ต้องการอุณหภูมิที่เหมาะสม 37 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิของร่างกายคนปรกติสำหรับการเจริญเติบโต

บัคเตรีบางชนิดให้คุณแก่ร่างกายเช่นบัคเตรีในลำไส้ช่วยสังเคราะห์วิตามินบีรวมและวิตามินเคให้แก่ร่างกาย บัคเตรีบางชนิด สามารถสร้างสารปฏิชีวนะที่นำมาใช้รักษาโรคได้

บัคเตรีวิทยา  เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับบัคเตรีทุกชนิดโดยเฉพาะ ทั้งนี้อาจรวมจุลชีพอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกับบัคเตรีด้วย ปัจจุบันการศึกษาเกี่ยวกับเชื้อบัคเตรีและเชื้อโรคอื่น ๆ ได้ก้าวหน้าไปมากมีสาขาวิชาอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา ทำให้เกิดวิชาใหม่ขึ้นเรียกว่าจุลชีววิทยา เป็นวิชาที่ศึกษาถึงจุลชีพทั้งหมด

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย