ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

พระเจ้าปดุง

เป็นพระนามของกษัตริย์องค์ที่สี่แห่งราชวงศ์อลองพญา ครองอาณาจักรพม่า ระหว่างปี พ.ศ.2325 - 2362 พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่สี่ ของพระเจ้าอลองพญา พระองค์ได้ครองราชย์โดยทำการปราบดาภิเษก

พระเจ้าปดุง ทรงรุกรานประเทศไทยในปี พ.ศ.2328 หลังจากที่ได้ประเทศใกล้เคียงไว้ในอำนาจ พระองค์ทรงเป็นจอมทัพคุมกำลังพล 144,000 คน โดยจัดแบ่งเป็นเก้าทัพ กำหนดเข้าตีเมืองไทยพร้อมกัน ฝ่ายไทยสามารถต่อสู้พม่าข้าศึก จนพ่ายแพ้ล่าถอยไปได้ด้วยกำลังเพียง 70,000 คนเศษ โดยได้รวบรวมกำลังต่อสู้ข้าศึก แต่ในทางสำคัญก่อน เมื่อมีชัยชนะทัพข้าศึกที่สำคัญแล้ว จึงย้ายกำลังไปปราบปรามข้าศึกทางอื่นต่อไป

แม้ประสบความพ่ายแพ้ในสงครามเก้าทัพก็ตาม พระเจ้าปดุงก็ได้ยกทัพมาตีไทยอีก ในปี พ.ศ.2329 โดยให้พระมหาอุปราชายกทัพหน้า 5,000 คน เข้าแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ โดยมีพระเจ้าปดุง คุมทัพหลวงตามมา แต่กองทัพไทยก็สามารถตีกองทัพพม่าแตกยับเยิน ที่ท่าดินแดง และที่สามสบ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน

ในปี พ.ศ. 2330 หัวเมืองประเทศราช ไทยใหญ่ เช่น เมืองเชียงรุ้ง และเมืองเชียงตุง พากันกระด้างกระเดื่องต่อพม่า พระเจ้าปดุงเกรงว่าประเทศราช จะเข้าข้างไทยจึงแต่งทัพมาทางเขตลานนา โดยตีหัวเมืองรายทางได้ เช่น เมืองฝาง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โปรด ฯ ให้เจ้ากาวิละ เจ้าเมืองลำปาง ไปตั้งรับที่เมืองเชียงใหม่ แต่มีกำลังไม่พอจึงไปตั้งที่เมืองป่าซาง ฝ่ายพม่าได้ยกกำลังเข้าล้อมเมืองป่าซาง และเมืองลำปาง พร้อมกัน กรมพระราชวังบวร ฯ คุมทัพ 60,000 คน ขึ้นไปขับไล่พม่าแตกพ่ายไปทั้งสองแห่ง

ในปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงคุมทัพ 20,000 คน ไปตีเมืองทวาย แต่กองทัพไทยต้องเผชิญความลำบากในการยกข้ามภูเขาบรรทัด ประกอบกับเสบียงอาหารขาดแคลน จึงต้องยกทัพกลับ

ในปี พ.ศ.2336 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ และกรมพระราชวังบวร ฯ ยกทัพไปตีพม่าทางใต้ โดยจะใช้เมืองมะริด ตะนาวศรี และทวาย เป็นฐานทัพ พระเจ้าปดุงโปรด ฯ ให้พระมหาอุปราชาคุมทัพมาต่อสู้กับไทย ฝ่ายมอญทั้งสามซึ่งได้สามิภักดิ์ต่อไทยอยู่ก่อนได้เปลี่ยนใจไปเข้าด้วยพม่า ไทยต้องปราบทั้งพวกขบถมอญ และรบพม่าไปพร้อมกัน ประกอบกับขัดสนเรื่องเสบียงอาหาร ในที่สุดกองทัพไทยก็ต้องเลิกทัพกลับมา

ในปี พ.ศ.2340 พระเจ้าปดุงเกณฑ์กองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ กองทัพพม่าประกอบด้วยพวกไทยใหญ่จากประเทศราชของตน กรมพระราชวังบวร ฯ คุมทัพกรุงและหัวเมืองในภาคกลางของไทย และมีทัพเวียงจันทน์ รวมประมาณ 40,000 คน ยกไปช่วยพระยากาวิละ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ต่อสู้ข้าศึก กองทัพไทยตีพม่าที่เมืองลำพูน และเชียงใหม่ แตกพ่ายไปทั้งสองแห่ง

ในปี พ.ศ.2446 พระเจ้าปดุงทรงขัดเคืองพระยากาลิวะ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ที่ได้ยกกองทัพไปตีเมืองสาด ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพม่า จึงได้ยกกองทัพมาตั้งล้อมเมืองเชียงใหม่ไว้ทั้งสี่ด้าน กรมพระราชวังบวร ฯ ยกกองทัพไปช่วยพระยากาวิละ แต่พระองค์ได้ประชวรระหว่างทาง จึงโปรด ฯ ให้กรมพระราชวังหลัง คุมทัพแทนพระองค์ กองทัพไทยและกองทัพเชียงใหม่ ยกเข้าตีพม่าพร้อมกัน กองทัพพม่าแตกพ่ายกลับไป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ จึงโปรด ฯ ให้สถาปนา พระยากาวิละเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ มีราชทินนามว่า "พระบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์"

ในปี พ.ศ.2351 พระเจ้าปดุง ส่งกองทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ และหัวเมืองชายทะเล ตะวันตกของไทย เป็นระยะเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ฯ เพิ่งทรงครองราชย์ จึงโปรด ฯ ให้ กรมพระราชวังบวรมหาเสนาภิมุข เป็นจอมทัพ คุมกำลังพล 20,000 คน ไปตีเมืองภูเก็ต เมืองถลาง และเมืองชุมพร ได้ กองทัพพม่าแตกพ่ายกลับไป

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย