ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
พัทธสีมา
"เขตสังฆกรรมที่พระสงฆ์ได้กำหนดไว้เป็นหลักฐาน ตามวิธีการในพุทธานุญาตเรื่องสีมา"
คำว่าสีมาแปลว่าเขตบ้าง แดนบ้าง ที่รู้กันมากว่าหมายถึงเครื่องหมายบอกเขต, โบสถ์ สำหรับทำสังฆกรรม มีสองประเภท เขตที่สงฆ์กำหนดเอาเองเรียกพัทธสีมา แปลว่าแดนที่ผูก สีมาย่อมเป็นหลักสำคัญแห่งสังฆกรรมอย่างหนึ่ง
พัทธสีมา แดนที่ผูกนั้นคือแดนที่ทรงอนุญาตให้สงฆ์กำหนดเขตเอาเอง ตามความพอใจ แต่มีจำกัดที่สุดทั้งข้างเล็กทั้งข้างใหญ่ไว้ ห้ามไม่ให้สมมติสีมาเล็กเกินไป จนจุภิกษุ 21 รูป นั่งหัตถบาสกันไม่ได้ เพราะสังฆกรรมที่ต้องการ สงฆ์มีจำนวนมากที่สุด 20 รูป คืออัพภานกรรม สวดระงับอาบัติสังฆาทิเสสของภิกษุ นับทั้งภิกษุนั้นด้วยเป็น 21 รูป และห้ามไม่ให้สมมติสีมาใหญ่เกินกว่าสามโยชน์ เพราะเหลือระวัง สีมาเล็กเกินไปและใหญ่เกินไปอย่างนี้เป็นสีมาวิบัติ ใช้ไม่ได้
ประเทศไทยตัดปัญหาเรื่องนี้ได้เด็ดขาด เพราะธรรมเนียมของพระสงฆ์ไทยนั้นกำหนดว่าต้องผูกสีมา ในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตจากราชการแล้ว จึงมีธรรมเนียมว่าเมื่อจะผูกสีมาต้องขอพระราชทานวิสุงคามสีมาก่อน ขนาดพื้นที่ที่ขอพระราชทานนั้นถือเป็นขนาดเดียวกันคือ กว้าง 20 วา ยาว 40 วา เท่ากันหมด
การผูกสีมานั้น สิ่งจะต้องเตรียมล่วงหน้าคือวัตถุที่จะทำเป็นนิมิตเรียกกันทั่วไปว่า ลูกนิมิต ซึ่งก็คือหลักหินหรือหลักเขต วัตถุที่จะใช้เป็นนิมิตนั้น ทรงอนุญาตไว้หลายอย่างด้วยกัน แต่ในประเทศไทยนิยมใช้ก้อนหินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 ซม. สัณฐานกลมแต่ผิวขรุขระกันกลิ้งไปได้ง่าย นิมิตนั้นไม่จำกัดว่าเท่าไร แต่มีอยู่โดยปริยาย ต้องมีตั้งแต่สามขึ้นไปจึงจะใช้ได้ ข้างมากไม่มีกำหนด ในประเทศไทยปัจจุบันนี้นิยมใช้สีมามีนิมิตแปดแห่ง
ครั้งปฐมโพธิกาล จำนวนผู้บวชยังมีน้อย ทั้งผู้บวชในยุคนั้นก็พอใจที่จะอยู่ป่า เขตสามัคคีของสงฆ์จึงถือเอาป่าเป็นประมาณ เขตป่านั้นมีกำหนดว่าห่างจากหมู่บ้านเจ็ดอัพภันดร ประมาณ 49 หรือ 50 วา โดยรอบ ภายในเขตนั้นเรียกอรัญสีมา อยู่ในประเภทอพัทธสีมา นอกจากนี้ก็ถือเอาเขตที่ฝ่ายอาณาจักรกำหนดไว้ มีเล็กบ้างใหญ่บ้างไม่เท่ากันเรียกว่า คามสีมา คือเขตตำบลบ้างเรียกว่า นิคมสีมา คือเขตอำเภอบ้าง พระสงฆ์ที่อยู่ในเขตเหล่านี้ ย่อมมีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน ยังมีอพัทธสีมาอีกอย่างหนึ่งเรียกอุทกุกเขปสีมา วัดที่อยู่ริมน้ำหรือทะเล จะใช้ตามที่ทรงอนุญาตไว้
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>