ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

พาน

เป็นชื่อเรียกภาชนะชนิดหนึ่ง โดยทั่วไปมีรูปร่างลักษณะประกอบด้วยสามส่วนคือ

1. ส่วนตัวพาน มีลักษณะคล้ายชามอยู่ตอนบน
2. ส่วนเอว คือ ส่วนที่อยู่ระหว่างก้นพาน กับเชิงหรือตีนพาน มีลักษณะคล้ายวงกำไล ทำเป็นสันคล้ายอกไก่ก็มี กับทำเป็นเอวเว้าเข้าไปก็มี
3. ส่วนเชิงหรือตีนพาน มีลักษณะเป็นรูปกรวยคว่ำ คล้ายฝักบัว หรือตีนช้าง

รูปทรงของพาน มักทำเป็นรูปทรงกลม แต่ที่ทำเป็นรูปแปดเหลี่ยม หรือเป็นทรงย่อไม้สิบสองก็มี ส่วนปากของพานมีทั้งที่เป็นอย่างปากลวดกลม และปากกลีบบัว ลวดลายตกแต่งพาน และเชิงพาน ส่วนมากนิยมทำเป็นลายกลีบบัว เป็นพื้น พานทำด้วยวัสดุต่าง ๆ กันมีตั้งแต่ ทำด้วยดินเผาธรรมดา ดินเผาเคลือบผิวด้วยน้ำยาต่าง ๆ ทำด้วยโลหะประเภททองคำ เงิน ทองแดง ทองสำริด ทำด้วยไม้ ไม้ไผ่สาน ประสานผิวด้วยสมุกรัก และทำด้วยแก้ว ก็มี

ภาชนะรูปพาน ทำด้วยดินเผา เป็นภาชนะชนิดหนึ่งที่คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในประเทศไทยได้ทำขึ้นในเวลานั้น และพบต่อมาในสมัยทวารวดี ซึ่งอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 9 - 12 ต่อมาในสมัยสุโขทัย มีการทำพานด้วยดินเผาเคลือบผิวด้วยน้ำยาเป็นสีเขียวไข่กา รูปทรงคล้ายชาม มีเชิงรับรองอยู่ใต้ก้นพาน เป็นอย่างรูปตีนช้าง รูปร่างคล้ายพานในสมัยทวารววดี มีพานชนิดที่ปรากฎในศิลาจารึก คงจะเป็นพานทำด้วยโลหะ และน่าจะคล้ายกับภาชนะที่เรียกกันในสมัยหลัง ๆ ว่าโต๊ะทองเหลืองใช้รองจานเชิงคุมกันขึ้นไปเป็นสำรับกับข้าว สำหรับผู้ที่มีฐานะดี

ในสมัยอยุธยา พบเอกสารกล่าวถึงพานในฐานะเป็นเครื่องราชูปโภค ปลายสมัยอยุธยา พานคงเป็นภาชนะที่คนทั่วไปได้ถือเป็นเครื่องใช้สอย พานเป็นภาชนะสำหรับใส่ หรือรองรับสิ่งของต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู

พานสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน มีแบบอย่างของรูปทรง ชื่อและหน้าที่ต่างกันออกไปหลายแบบด้วยกันคือ

พานพระขันหมาก  เป็นเครื่องราชูปโภคอย่างหนึ่งในสี่อย่าง มีทรวดทรงเป็นพานรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ซ้อนกันสองชั้น พานลูกบนมีนาครวยทำด้วยทองคำ จำหลักลวดลาย ลงยาราชาวดี ใช้สำหรับพานหมาก ช่องพลู และตลับรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ยอดปลีกทรงมัน
พานพระศรี  เป็นเครื่องใช้ของพระมหากษัตริย์ สำหรับใส่หมาก พลู มีสองสำรับ สำรับหนึ่งเป็นเครื่องทองลงยา อีกสำรับหนึ่งเป็นเครื่องนาก เครื่องทองใช้ในเวลาปรกติ เครื่องนากใช้ในวันพระ
พานบายศรี  เป็นเครื่องใช้ของพระมหากษัตริย์ เนื่องในการพระราชพิธีสมโภชต่าง ๆ มีสามชุด ทองคำ เงิน และแก้ว แต่ละชุดประกอบด้วยพานเถาจำนวนหกลูก ตั้งซ้อนกันขึ้นไป พานลูกบนสุดใส่พุ่มดอกไม้ ลูกถัดลงมาแต่ละลูกใส่พานขนาดเล็ก เรียงโดยรอบใส่เครื่องกินต่าง ๆ หรือใส่ดอกๆไม้นานาพรรณ
พานสองชั้น  คือพานทอง ตั้งซ้อนนกันสองลูก ลูกบนมักย่อมกว่าลูกล่าง เป็นพานกลม ปากเป็นกลีบบัวจงกล เชิงพานลูกบนมีนาครวยประกอบสี่มุมพาน ใช้สำหรับรองรับเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์
พานรองสังข์  เป็นพานโลหะขนาดเล็ก ตัวพานทำรูปวงรี ปากพานทำเป็นกลีบบัว ผายออกสองด้าน ใช้สำหรับรองสังข์ เรียกอีกอย่างว่าพานปากกระจับ
พานปากกลม  เป็นพานรูปทรงกลม ปากเรียวกลมเหมือนปากชาม มีเส้นลวดเลียบรองปากชาม
พานกลีบบัว  เป็นพานรูปทรงกลม แต่ที่ปากทำเป็นจัก ๆ คล้ายปลายกลีบบัว เรียงซ้อนต่อเนื่องกันไป รอบขอบปากพาน
พานรองขัน  เป็นพานโลหะรูปทรงกลม ขอบปากเรียบ ใช้ตั้งรองรับโลหะใส่น้ำ มักเรียกควบกันว่า ขันน้ำพานรอง
พานแว่นฟ้า  ทำด้วยไม้เนื้ออ่อนหรือหวาย รูปทรงสี่เหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสอง ซ้อนกันสองลูก ลูกบนเล็กกว่า ตกแต่งผิวด้วยการปั้นขี้รักปิดทองบ้าง ลงลักเขียนลาย ปิดทองรดน้ำบ้าง ประดับกระจกสี หรือประดับมุกบ้าง โดยมากใช้ใส่ผ้าไตร
พานพุ่ม ทำด้วยดินปั้น เผาไฟให้สุก แล้วนำมาเขียนสี เป็นลวดลาย ภายนอกตัวพาน ใช้สำหรับรองพุ่มขี้ผึ้ง ถวายพระในเทศกาลเข้าพรรษา
พานแก้ว ทำด้วยแก้ว หล่อตัวพาน ลักษณะคล้ายจานปากคลุ่ม ตีนพานเป็นเลากลม โดยเลาแฝงเป็นแป้นกลม โดยมากใช้ใส่หมากพลู ดอกไม้ถวายพระ ในชั้นหลังนิยมจัดพุ่มดอกไม้ ตั้งบูชาพระด้วย
พานสาน ใช้ตอกไม้ไผ่สาน ตัวพานรูปร่างคล้ายถาด ตับพานสานสายชะลอม เป็นรูปทรงกวระบอก เทินตัวพานขึ้นไปไว้ สำหรับใส่เครื่องพลีกรรมในพิธีต่าง ๆ

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย