ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
สมเด็จพระเพทราชา
เดิมเป็นคนสามัญชาวบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี เป็นข้าราชการที่ใกล้ชิดและเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เป็นจางวางกรมช้าง มีฝีมือในราชการสงคราม กระทำความชอบหลายครั้ง ได้โดยเสด็จพระราชสงครามครั้งเชียงใหม่ด้วย ได้แสดงความสามารถ เมื่อครั้งของกองทัพไทยไปช่วยพระศรีไชยเชษฐา รักษาราชบัลลังก์กรุงกัมพูชา และขับไล่นักองตนจนต้องหนีไปพึ่งญวน นอกจากนั้นแม่ของพระเพทราชาเป็นพระนม และน้องสาวเป็นพระมเหสีของสมเด็จพระนารายณ์ ฯ
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทรงเปิดความสัมพันธ์กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสได้มีการแลกเปลี่ยนทูตต่อกัน ปรากฏว่าอิทธิพลของฝรั่งเศสในกรุงศรีอยุธยาเพิ่มขึ้น โดยเมื่อคณะทูตฝรั่งเศสครั้งที่สองซึ่งมีเซเบเรต์และเดอลาลูแบร์เป็นทูตได้เดินทางมาถึงเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ.2230 ได้นำกองทหารฝรั่งเศส 636 คนและช่างฝีมือ 100 คน และติดตามมาด้วยบาทหลวงเยซูอิตหลายรูป ทำให้ไม่เป็นที่ไว้วางใจ ได้ตามความเห็นของบรรดาขุนนางข้าราชการ และสามัญชน สถานการณ์ส่อว่า อาจจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น อันอาจจะเป็นภัยแก่บ้านเมืองได้ พระเพทราชาจึงได้รวบรวมขุนนาง ข้าราชการและไพร่พลเป็นสมัครพรรคพวก ตั้งเป็นคณะต่อต้านฝรั่งเศส เป็นคณะที่ได้รับความสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป โดยมีหลวงสุรศักดิ์ (เดื่อ) บุตรพระเพทราชาเป็นบุคคลชั้นนำของคณะ
เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงประชวรประทับอยู่ในพระราชวังเมืองลพบุรี เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ได้คบคิดกับบาทหลวงเยซูอิดฝรั่งเศส จะเกลี้ยกล่อมพระปีย์เป็นพรรคพวกของตน และให้เลื่อมใสในศาสนาคริสตัง พระปีย์ได้รับพระกรุณาอย่างมากจากสมเด็จพระนารายณ์เหมือนราชบุตรบุญธรรม
พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์คบคิดกันที่จะชิงราชบัลลังก์จึงได้ดำเนินการเป็นขั้นตอน เพื่อให้ได้ผลตามความมุ่งหมาย โดยขั้นแรกจัดการกำจัดคู่แข่งชิงราชสมบัติ และหัวหน้าสนับสนุนโดยสั่งกองทหารล้อมพระราชวังเมืองลพบุรี ซึ่งได้ใช้เป็นกองบัญชาการ แล้วอ้างพระราชโองการ เรียกเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ และนายทหารฝรั่งเศสไปอยู่ที่เมืองนั้น อ้างว่ากำลังสืบจับผู้คิดกบฎชิงราชบัลลังก์แล้วจับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์และพระปีย์ประหารชีวิตเสีย ขั้นต่อมาได้ออกอุบายให้เจ้าฟ้าอภัยทศ และเจ้าฟ้าน้อยเดินทางจากกรุงศรีอยุธยา ไปเมืองลพบุรี แล้วจัดการปลงพระชนม์เจ้านายทั้งสองเสีย ขั้นที่สามต่อมาพระเพทราชา ออกอุบายจะให้กองทหารฝรั่งเศสที่เมืองธนบุรี และเมืองมะริด ยกขึ้นไปเสริมกำลังกองทัพไทยที่จะไปทางเมืองลาว แต่กองทหารฝรั่งเศสไม่ยอมไป กองทหารไทยจึงยกไปล้อมป้อมทางฝั่งตะวันออกของเมืองธนบุรี ในที่สุดนายพลเดอฟอร์ชยอมถอนทหารฝรั่งเศสออกจากเมืองไทย
สมเด็จพระนารายณ์ ฯ สวรรคต เมื่อปี พ.ศ.2231 มีพระชันษา 56 ปี เวลานั้นหมดสิ้นเจ้านายที่จะรับรัชทายาท ข้าราชการทั้งปวง จึงจำต้องเชิญพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ขณะมีพระชันษา 56 ปี ครองราชย์อยู่ 15 ปี พระองค์ทรงกระชับสายสัมพันธ์กับราชวงศ์ปราสาททอง โดยโปรดให้พระอัครมเหสีเดิมเป็นพระอัครมเหสีกลาง พระราชกัลยาณีกรมหลวงโยธาทิพ พระบรมราชภดินี้ของสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เป็นอัครมเหสีฝ่ายขวา และเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพพระราชธิศของสมเด็จพระนารายณ์ ฯ เป็นพระอัครมเหสีฝ่ายซ้าย นอกจากนั้นก็ได้สถานปนาหลวงสรศักดิ์เป็นวังหน้า ตั้งนายจบคชประสิทธิศิลป์เป็นวังหลัง ตั้งนายกรินคชประสิทธิ์ทรงบาศซ้าย ซึ่งเป็นพระนัดดาเป็นเจ้าราชนิกูลชื่อเจ้าพระยาพิชัยสุรินทร เป็นต้น
สมเด็จพระเพทราชา ประสบภัยที่มีอยู่กำเริบพยายามก่อการกบฎตลอดเวลา 15 ปี การกบฎต่าง ๆ ที่ได้จัดการปราบลงได้ คือ กบฎธรรมเถียร กบฎพระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมา และพระยารามเดโชชัยเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และกบฎบุญกว้าง
ในตอนปลายแผ่นดินของพระองค์ การสืบราชสมบัติได้กลายเป็นปัญหายุ่งยากด้วยเหตุว่าวังหน้า (หลวงสรศักดิ์) มีความปรารถนาจะได้ครองราชย์ จึงได้ดำเนินการกำจัดผู้ที่จะเป็นอุปสรรค ด้วยการโค่นอำนาจวังหลัง และเจ้าพระยาสุรสงคราม
สมเด็จพระเพทราชาทรงมีพระราชโอรส กับเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพ ทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าขวัญ มีผู้รักใคร่นับถือกันมากด้วยเหตุว่า ทรงสืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ทางพระราชมารดา วังหน้าได้ออกอุบายให้จับเจ้าฟ้าขวัญไปสำเร็จโทษเสีย สมเด็จพระเพทราชาทรงพิโรธมาก ทรงมอบเวนราชสมบัติให้เจ้าพระยาพิชัยสุรินทร์พระนัดดา และเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ.2246 เจ้าพระยาอภัยสุรินทร์ ได้นำเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ไปถวายวังหน้า ให้รับมอบราชสมบัติ
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>