ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ภิกษุ

ผู้ชายที่จะเป็นพระในพระพุทธศาสนาต้องบวชหรืออุปสมบทเป็นภิกษุและต้องเป็นผู้ที่สงฆ์บวชให้ด้วยวิธีที่เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรมอุปสมบท ผู้ที่จะอุปสมบทต้องเป็นชายมีร่างกายสมบูรณ์ มีอายุครบกำหนดไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามพุทธบัญญัติ

 เมื่อสงฆ์จะให้อุปสมบทต้องชุมนุมภิกษุให้ได้องค์กำหนดและต้องชุมนุมในแขตชุมนุม ซึ่งเรียกว่า สีมา จึงจะให้อุปสมบทสำเร็จ

ในตอนปฐมโพธิกาลวิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตได้หกกรณี คือ

1. เอหิภิกขุอุปสมบท คือ บวชเป็นพระภิกษุด้วยวิธีทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุมีสังวาสคือ ธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วมเสมอด้วยพระองค์และภิกษุอื่นที่ได้รับอนุญาตเช่นเดียวกัน
2. ติสรณคมอุปสมบท คือบวชเป็นพระภิกษุด้วยวิธีทรงอนุญาตให้พระสาวกรับเข้าหมู่ได้ ด้วยวิธีให้ผู้ร่วมเข้าหมู่นั้นถือเพศก่อนแล้วแสดงตนถึงสรณสาม
3. โอวาทปฏิคคหณอุปสมบท คือ บวชเป็นพระภิกษุด้วยวิธีรับพระพุทธโอวาทดังที่ประทานแก่พระมหากัสสปเถระ
4. ปัญหาพยากรณอุปสมบท คือ บวชเป็นพระภิกษุด้วยวิธีกราบทูลกล่าวแก้ปัญหาถวายพระพุทธองค์แล้วทรงอนุญาตให้เป็นพระภิกษุด้วยวิธีนั้น ดังที่ประทานแก่สามเณรโสปากะ
5. ครุธัมมปฏิคคหณอุปสมบท คือบวชเป็นพระภิกษุด้วยวิธีการได้รับครุธรรมแปดประการดังที่ประทานแก่พระมหาปชาบดี
6. ทูเตนอุปสมบท คือ บวชเป็นพระภิกษุด้วยวิธีส่งทูตไปรับบวชแทนดังที่ทรงอนุญาตแก่นางอัฒกาสีคณิกา

ต่อมาพระพุทธองค์ได้ทรงมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ในการบริหารคณะภิกษุหลายรูปเข้าประชุมกันเป็นหมู่ เพื่อทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่งเรียกว่า สงฆ์ สงฆ์นั้นย่อมมีองค์ประชุมเป็นกำหนดสำหรับกิจนั้น ๆ การให้อุปสมบทในปัจจันตชนทบคือ แดนที่หาพระภิกษุยากต้องการสงฆ์มีภิกษุห้ารูป ในมัชฌิมประเทศคือแดนที่หาพระภิกษุง่ายต้องการสงฆ์มีพระภิกษุสิบรูป แต่ในประเทศไทยปัจจุบันการบวชนาคนิยมใช้พระภิกษุรวม 28 รูป คือ พระอุปัชฌาย์ หนึ่งรูป พระคู่สวดสองรูป พระอันคับ 25 รูป เกินกว่านี้ไม่ห้าม

ตกมาถึงชั้นนี้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ทำด้วยวิธี ซึ่งเรียกว่าญัตติจตุตกกรรมอุปสมบท คือภิกษุประชุมครบองค์กำหนดในเขตแห่งชุมนุม ซึ่งเรียกว่า สีมา กล่าววาจาประกาศเรื่องความที่จะรับคนนั้น ๆ เข้าหมู่และได้รับความยินยอมจากภิกษุทั้งปวง

เมื่อทรงเลิกติสรณคมนอุปสมบทแล้วได้ทรงอนุญาตให้เอาวิธีนั้นมาใช้บวชกุลบุตร  ผู้มีอายุยังหย่อนไม่ครบ เป็นพระภิกษุให้เป็นสามเณร การบวชจึงเป็นสอง คือ บวชเป็นภิกษุหรือบวชพระเรียกอุปสัมปทาหรืออุปสมบท บวชเป็นสามเณรเรียกว่าบรรพชาหรือบวชเณรและวิธีที่สงฆ์จะให้อุปสมบทก็ให้แก่ผู้ได้รับบรรพชาหรือเป็นสามเณรมาแล้วใช้เป็นธรรมเนียมมาจนบัดนี้

สงฆ์ผู้จะให้อุปสมบทนั้นต้องตรวจตราผู้จะให้อุปสมบท ให้เห็นว่าเป็นผู้สมควรก่อน คือ ต้องให้ผู้นั้นหาภิกษุรับรองหรือชักนำเข้าหมู่รูปหนึ่งเรียกว่า อุปัชฌายะ นั้น  ต้องเป็นผู้ใหญ่สามารถจะฝึกสอนเมื่อบวชแล้ว จะต้องตรวจตราเครื่องบริขารที่จำเป็นของภิกษุ คือ ไตรจีวรกับบาตรให้มีพร้อม ถ้าบกพร่องเป็นหน้าที่ของอุปัชฌายะ จะต้องหาให้การซักไซ้ด้วยเรื่องเหล่านี้ สงฆ์สมมติให้ภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้ทำและการอุปสมบทนี้ต้องให้แก่ผู้สมัครเท่านั้น ถ้าเขาไม่สมัครจะให้ขืนใจเขาไม่ได้ จึงมีเป็นธรรมเนียมว่าผู้จะอุปสมบทที่ต้องเปล่งคำขอกรณียกิจเหล่านี้เรียกว่า บุรพกิจ ควรทำให้เสร็จก่อนสวดประกาศ เมื่อพร้อมด้วยสมบัติดังกล่าวแล้วจึงเป็นวาระที่จะสวดประกาศรับผู้นั้น เป็นภิกษุเข้าหมู่เป็นหน้าที่ของภิกษุรูปหนึ่งผู้มีความรู้ความสามารถประกาศให้สงฆ์ฟังวาจาประกาศนั้นสี่จบ จบแรกเป็นคำเผดียงสงฆ์ ขอให้อุปสมบทคนชื่อนั้นเรียกว่าญัตติอีกสามจบ เป็นคำปรึกษาหารือกันและกันของสงฆ์ที่ตกลงรับผู้นั้นเป็นภิกษุเข้าหมู่เรียกว่า อนุสาวนา ในระหว่างนี้ถ้ามีภิกษุแม้รูปหนึ่งคัดค้าน การนั้นเป็นอันเสียใช้ไม่ได้ ถ้านิ่งอยู่ทุกรูปถือเอาเป็นยอม ต่อนั้นมีคำประกาศซ้ำท้ายว่าสงฆ์รับผู้นั้นเป็นภิกษุเข้าหมู่เสร็จแล้ว ผู้ประกาศจำข้อความนี้ไว้ ในคำประกาศนั้นจำต้องระบุชื่อผู้ขออุปสมบทระบุชื่อพระอุปัชฌายะผู้รับรองหรือนำเข้าหมู่คณะ ระบุชื่อสงฆ์ผู้เป็นเจ้าการขาดไม่ได้ และจะต้องประกาศให้ครบกำหนด และถูกระเบียบต่อหน้าไม่ลับหลัง ดังนี้เรียกว่า กรรมวาจาสมบัติ พระสงฆ์จะให้อุปสมบทต้องทำให้ได้พร้อมสมบัติห้าประการ

พระภิกษุในพระพุทธศาสนาเมื่อบวชแล้วต้องปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติคือ ข้อที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม ซึ่งยกขึ้นเป็นศีลหรือสิกขาบท 227 ข้อ ที่มาในพระปาติโมกข์และที่ไม่ได้มาในพระปาติโมกข์ ศีลหรือสิกขาบท 227 ข้อ ที่มาในพระปาติโมกข์ คือ ปาราชิก 4 สังฆาทิเสส 13 อนิยต 2  นิสสัคคียปาจิตตีย์ 30 ปาจิตติย์ 92 ปาฏิเทสนียะ 4 เสขิยะ 75 รวมเป็น 220 นับทั้งอธิกรณ์สมถะ 7 ด้วย เป็น 227

การลาสิกขา คือการปฏิญาณตนเป็นผู้อื่นจากภิกษุต่อหน้าภิกษุด้วยกันแล้วละเพศภิกษุเสียถือเอาเพศที่ปฏิญาณนั้น ท่านอนุญาตให้ทำอย่างนั้นได้ แม้ต่อหน้าคนอื่นจากภิกษุ คำปฏิญาณนั้นต้องชัดพอที่ผู้ฟังจะรู้ได้ว่า ตนละความเป็นภิกษุถึงความเป็นผู้อื่น การปฏิญาณนั้นต้องทำเป็นกิจจะลักษณะ

คำปฏิญาณที่ใช้อยู่ในบัดนี้สองคำควบกันว่า "สิกขํ ปจฺจกฺขามิ คิหีติมํ ธาเรถ" แปลว่า "ข้าพเจ้าขอลาสิกขา ท่านทั้งหลายจงจำข้าพเจ้าไว้ว่าเป็นคฤหัสถ์ " เมื่อถือเพศคฤหัสถ์แล้ว แสดงอุปาสกัตตเพศ คือแสดงคนเป็นอุบาสกต่อหน้าพระรัตนตรัยอีกวาระหนึ่ง โดยความเป็นนิจศีลตลอดชีวิตอีกชั้นหนึ่ง

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย