ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

มหาภารตะ

 เป็นชื่อของมหากาพย์สำคัญเรื่องหนึ่งที่แต่งในประเทศอินเดียสมัยโบราณ แต่งด้วยคำประพันธ์ร้อยกรองที่เรียกว่า โศลกและฉันท์ หลายชนิดรวมกันประมาณ 100,000 บาท และมีคำประพันธ์ร้อยแก้วแทรกบางตอน ผู้แต่งคือฤาษีชื่อ วยาส อย่างไรก็ดี มหากาพย์ภาษาสันสกฤตเรื่องยาวที่สุดในโลก เรื่องนี้มีประวัติความเป็นมาที่คลุมเครือ และเป็นปัญหาหลายอย่างที่ยังหาข้อยุติไม่ได้

คำว่า ภารตะ แปลว่า ผู้สืบเชื้อสายมาจากพระภรต ผู้เป็นจักรพรรดิ์โบราณของอินเดีย เป็นโอรสของพระราชาทุษยันต์ แห่งนครหัสตินาปุระ กับนางศกุนตลา พระภรตเป็นยอดวีระกษัตริย์แห่งราชสกุลจันทรวงศ์ ครอบครองดินแดนลุ่มแม่น้ำยมุนาและแผ่อาณาเขตไปทั้งทางตะวันออกและตะวันตกเป็นดินแดนกว้างใหญ่ บรรดาลูกหลานของพระภรต ในกาลต่อมาได้นามว่าเป็นพวกภารตะ และอาณาจักรอันกว้างใหญ่ ที่ชนภารตะเหล่านี้อาศัยอยู่ก็ได้นามว่า ภรตวรรษ ในกาลต่อมาเกิดสงครามในหมู่ภารตะด้วยกันเองคือ พวกภารตะ ตระกูลเการพ กับพวกภารตะตระกูลปราณฑพได้ทำสงครามกัน ณ ทุ่งกรุเกษตร ใกล้แม่น้ำยมุนาเป็นเวลาสิบแปดวัน ต่างฝ่ายก็มีพรรคพวกเป็นกษัตริย์แว่นแคว้นต่าง ๆ การสงครามครั้งนี้ ได้ล้างผลาญชีวิตผู้คนทั้งสองฝ่ายลงเป็นอันมาก ในที่สุดฝ่ายปาณฑพชนะ

การรบครั้งนี้ถือกันว่าเป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอินเดียที่เคยมีมา และเชื่อกันว่าเป็นเรื่องจริง แต่ไม่มีหลักฐานบันทึกแน่นอนทางประวัติศาสตร์ หากปรากฎในรูปแบบของอิติหาส (ตำนาน) ซึ่งกลายเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิในปัจจุบัน
มหากาพย์เรื่องมหาภารตะมีกำเนิดมาจากบทเพลง  หรือลำนำที่ใช้ขับร้องสรรเสริญวีรบุรุษในสมัยโบราณ ตั้งแต่ปลายสมัยพระเวท หรือราว 3,000 ปีมาแล้ว เรื่องมหาภารตะแต่งด้วยคำประพันธ์รวมห้าประเภท คือ

1. แต่งเป็นฉันท์โบราณหรือฉันท์ หมวด แบบที่ใช้แต่งคัมภีร์พระเวท
2. แต่งเป็นโศลก (คำประพันธ์แบบหนึ่งมีวรรคละแปดพยางค์ รวมสี่วรรคเป็นหนึ่งบทดัดแปลงมาจากฉันท์โบราณที่ใช้แต่งพระเวท)
3. แต่งเป็นฉันท์ประเภทวรรคพฤตตะ
4. แต่งเป็นฉันท์ประเภทมาตราพฤตตะ
5. แต่งเป็นร้อยแก้วเพื่อเชื่อมข้อความบางตอนในเรื่อง

คัมภีร์มหาภารตะมีความสัมพันธ์ต่อวัฒนธรรมไทยหลายด้านด้วยกัน ตั้งแต่สมัยโบราณเรื่อยมา ในด้านวรรณคดีมหาภาระมีเรื่องแทรก (อุปาขยาน) หลายเรื่อง ซึ่งกวีไทยเอาเนื้อเรื่องมาแต่งวรรณกรรมไทย เช่น เรื่องอนิรุทธ์คำฉันท์ อุณรุทคำกลอน กฤษณาสอนน้อง คำฉันท์บทละครเรื่องศกุนตลา บทละครเรื่องสาวิตรี พระนลคำหลวง ลิลิตนาราย์สิบปาง ที่ย่อเรื่องทั้งหมดมาแต่งเป็นคำกลอนก็คือ สงครามมหาภารตะคำกลอน ฯลฯ ที่เป็นวรรณกรรมเชิงปรัชญาก็มีเรื่องภควัทคีตา ในด้านราชทินนามก็ปรากฎว่าไทยได้นำชื่อต่าง ๆ ในมหาภารตะมาเป็นราชทินนามขุนนางข้าราชการและเจ้านายเป็นอันมาก

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย