ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
มาธยมิกนิกาย
เป็นนิกายหนึ่งของพระพุทธศานาฝ่ายมหายานแปลตามศัพท์ว่า นิกายทางสายกลาง ภิกษุนาคารชุนเป็นปฐมาจารย์ของนิกายนี้ ท่านมีชีวิตอยู่ในพุทธศตวรรษที่เจ็ด เกิดในวรรณะพราหมณ์เป็นชาวเมืองวิธรรพในอินเดียภาคใต้ ท่านเป็นคณาจารย์ฝ่ายมหายานที่มีชื่อเสียงที่สุดในสมัยของท่าน ท่านมีความรู้ดีทั้งฝ่ายพราหมณ์และฝ่ายพุทธ ท่านได้อธิบายพุทธมติด้วยระบบวิภาษวิธี
นอกจากจะรู้จักกันในนามนิกายมาธยมิกะแล้ว นิกายนี้ยังรู้จักกันทั่วไปในอีกชื่อหนึ่งว่า นิกายศูนยวาท โดยถือเอาคำสอนเรื่อง ศูนยตา ที่นาคารชนได้แสดงไว้ในมหาปรัชญาปารมิตาสูตร ท่านได้แสดงทรรศนะของท่านโดยยึดคำสอนเรื่องอนัตตา และปฏิจจสมุปบาทของพระพุทธศาสนาเป็นหลัก แสดงให้เห็นว่าคำสอนของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงกลางระหว่างอัตถิตา ที่ยึดว่าสิ่งทั้งปวงมีอยู่จริง โดยตัวของมันเอง ซึ่งมีลักษณะเป็นสัสสตทิฎิฐิ หรือความเห็นว่าเที่ยง กับฝ่ายนัตถิทา ที่ยึดถือว่าสิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่จริง ซึ่งมีลักษณะเป็นอุจเฉททิฏฐิ หรือความเห็นว่าขาดสูญ
ท่านกล่าวว่าโดยเหตุที่โลก และสิ่งทั้งปวงมีสภาพเป็นปฏิจจสมุปปันธรรม (คือสิ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดมีขึ้น) มันจึงเป็นสิ่งสัมพันธ์ (คือสิ่งที่มีความเป็นของมันต้องขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น เพราะเป็นสิ่งสัมพันธ์มันจึงไม่มีสุวลักษณะ ลักษณะที่แสดงถึงความมีอยู่ได้โดยตัวของตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่น มันจึงเป็นศูนยตา คือ ว่างเปล่าจากความเป็นสิ่งที่มีอยู่ได้โดยตัวของมันเอง เพราะเหตุนั้นปฏิจจสมุปปันนธรรมอันใด ศูนยตาก็อันนั้น ศูนยตาอันใด มัชฌิมาปฏิปทาก็อันนั้น เมื่อพิจารณาปฏิจจสมุปบาท โดยสายเกิดก็เป็นโลกสมุทัย ความยึดถือในนัตถิตาก็หมดไป เมื่อพิจารณาปฏิจจสมุปบาทโดยสายดับก็เป็นโลภนิโรธความยึดถือในอัตถิก็หมดไป
ท่านได้ยกพระพุทธภาษิตในสังยุตุตนิกายมาสนับสนุนมติของท่านว่า "ดูก่อนกัจจานะโลกนี้โดยมากอาศัยส่วนสุดสองอย่างคือ อัตถิถา (ความมี) หนึ่งนัตถิตา (ความไม่มี) หนึ่ง ก็เมื่อบุคคลเห็นความเกิดแห่งโลกด้วยปัญญอันชอบตามความเป็นจริงแล้ว นัตถิตายอมไม่มี เมื่อบุคคลเห็นความเกิดแห่งโลกด้วยปัญญา อันชอบตามความเป็นจริงแล้วอัตถิตาย่อมไม่มี... ดูก่อนกัจจานะข้อที่ว่าสิ่งทั้งปวงมีอยู่นี้เป็นส่วนสุดยอดอย่างหนึ่ง ข้อที่ว่าสิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่นี้เป็นส่วนสุดที่สอง ตถาคตแสดงธรรมโดยสายกลางไม่เข้าไปใกล้ส่วนสุดทั้งสองนั้นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร..."
>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>