ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

โยนก

เดิมเป็นชื่อเมืองเชียงแสน คือ โยนกนครราชธานีชัยบุรีศรีช้างแล่น  ช้างแล่น แปลว่า ช้างร้อง ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น เชียงแสน ต่อมาโยนกได้เปลี่ยนชื่อแคว้น ประกอบด้วย เมืองเชียงราย เชียงของและเชียงแสน ภายหลังมีเชียงใหม่เป็นราชธานี และนิยมเรียกเชียงใหม่ว่า อาณาจักรล้านนา สมัยอยุธยา เรียกชาวไทยในล้านนาว่า "ยวน"

ตามตำนานสิงหนวัติ เมื่อก่อนตั้งพุทธศักราช 130 ปี สิงหนวัติกุมารยกผู้คนมาสร้างเมืองพันธุสิงหนวัตินคร ใกล้แม่น้ำกกและแม่น้ำโขง ภายหลังกลายมาเป็นโยนกนคร ฯ และเชียงแสนตามลำดับ

ถึงปี พ.ศ.1182 ลาวจังกราชได้ตั้งราชวงศ์ใหม่ครองเมืองเชียงแสน ขุนเจื๋องได้เป็นกษัตริย์องค์ที่สิบเก้าของราชวงศ์นี้ เมื่อปี พ.ศ.1659 พระองค์ทรงปราบเมืองต่าง ๆ ได้หลายเมือง เรื่องราวของขุนเจื๋องจากตำนานเชียงแสน ซ้ำซ้อนกับเรื่องพระเจ้าพรหม ในตำนานสิงหนวัติ (พ.ศ.894 - 977) จนน่าเชื่อว่าอาจเป็นองค์เดียวกัน

กษัตริย์องค์ที่ 25 ทรงพระนามว่า พ่อขุนเม็งราย ทรงยกทัพไปปราบปรามหัวเมืองทางฝ่ายเหนือขึ้นไปจนถึงสิบสองปันนา และขยายอาณาเขตออกไปทางใต้ กษัตริย์ราชวงศ์มังรายองค์ที่เจ็ดคือ พระยากือนา ได้ทรงนิมนต์พระมหาสุมนเถระ ให้นำพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เก่า หรือแบบรามัญวงศ์จากสุโขทัย ไปเผยแพร่ในแคว้นโยนก เมื่อปี พ.ศ.1912 อักษรพ่อขุนรามคำแหง ฯ ได้เข้าไปพร้อมกับศาสนา และต่อมาวิวัฒนาการไปเป็นอักษรฝักขามกระจายไปสู่เชียงตุง และที่อื่น ๆ

กฎหมายที่ใช้อยู่ในแคว้นโยนกเรียกว่า มังรายศาสตร์ เป็นราชศาสตร์ที่มีต้นเค้ามาจากธรรมศาสตร์ของอินเดียโดยผ่านมาทางมอญ และมีส่วนคล้ายคลึงกับกฎหมายตราสามดวงอยู่มาก  แคว้นโยนกหรือล้านนาถูกพม่าตีแตก เมื่อปี พ.ศ.2101 และตกเป็นเมืองขึ้นพม่ามาเกือบ 200 ปี ในระหว่างเวลาดังกล่าวแคว้นโยนกตั้งตัวเป็นเอกราชบ้าง เป็นเมืองขึ้นของอยุธยาบ้าง

ในปี พ.ศ.2314 จ่าบ้านบุญมา และเจ้ากาวิละขอความช่วยเหลือจากกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ พร้อมด้วยเจ้าพระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) ทรงตีเชียงใหม่คืนจากพม่าได้ในปี พ.ศ.2317 แคว้นโยนกจึงมารวมกับประเทศสยามมาแต่นั้น

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย