ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย

ราชทัณฑ์

หมายถึง โทษตามพระราชอาญา อันเป็นพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือหมายถึง โทษที่กำหนดไว้โดยกฎหมายอาญาสารบัญญัติ อันได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญา ซึ่งได้ออกบังคับใช้ตามกระบวนการออกกฎหมาย ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

การปฎิบัติงานราชทัณฑ์ต้องเป็นไปตามหลักการลงโทษที่ได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 มาตรา 18 กำหนดว่า โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิด ประกอบด้วยประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน

วิวัฒนาการของการราชทัณฑ์ในประเทศไทย แบ่งได้สามยุคคือ

1.  ยุคแรก  ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ กิจการที่เกี่ยวกับราชทัณฑ์เรียกว่า การเรือนจำ แบ่งเป็นการเรือนจำในกรุงเทพ ฯ และการเรือนจำในหัวเมืองชั้นนอก เรือนจำในกรุงเทพ ฯ มีชื่อเรียกเป็นสองอย่างคือ คุก และ ตะราง

คุก  เป็นที่คุมขังผู้ต้องขัง มีกำหนดโทษตั้งแต่หกเดือนขึ้นไป สังกัดกระทรวงนครบาล ส่วนตะราง ใช้เป็นที่คุมขังผู้ต้องขัง ที่มีโทษตั้งแต่หกเดือนลงมา กับนักโทษที่มิใช่โจรผู้ร้าย ตะรางมีหลายแห่งซึ่งสังกัดอยู่ตามกระทรวง ทบวง กรม ที่บังคับบัญชากิจการนั้น ๆ เช่น ตะรางกลาโหม ตะรางมหาดไทย

การเรือนจำหัวเมืองชั้นนอก เดิมหน้าที่การไต่สวนโจรผู้ร้ายและการตุลาการ ในหัวเมืองชั้นนอกรวมอยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบ ของผู้ว่าราชการเมือง ซึ่งมีหน้าที่คุมขังผู้ต้องขังเรียกว่า ตะรางประจำเมือง เมืองละแห่ง

2.  ยุคที่สอง  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ในปี พ.ศ.2434 คอมมิตี พระนครบาลให้ยกเลิกธรรมเนียมสองข้อคือ

1. ธรรมเนียมเจ้าพนักงานได้รับผลประโยชน์จากนักโทษ ให้ยกเลิกค่าธรรมเนียม และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้แรงนักโทษ และให้เจ้าพนักงานได้รับเงินเดือนแทน ส่วนผลประโยชน์จากการใช้แรงนักโทษ ให้ตกเป็นของหลวง
2. ธรรมเนียมพันธนาการนักโทษสามประการคือ ธรรมเนียมค่ารับนักโทษ เก็บเมื่อเข้ามาต้องโทษ ธรรมเนียมเมื่อพ้นโทษต้องเสียเงินให้เจ้าพนักงาน และธรรมเนียมเมื่อโปรดเกล้า ฯ ให้ปล่อยตัว ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น ให้ยกเลิกเสีย ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจจำนักโทษ และถอดเครื่องพันธนาการได้ตามร่างข้อบังคับใหม่

ส่วนการเรือนจำหัวเมือง ในปี พ.ศ.2435 ให้รวมการปกครองต่าง ๆ ทั้งหัวเมืองฝ่ายใต้ และหัวเมืองฝ่ายเหนือ มาสังกัดกระทรวงมหาดไทย แต่แห่งเดียว การเรือนจำหัวเมืองทั้งหมดจึงได้รวมมาขึ้นกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่นั้นมา เว้นแต่เรือนจำเมืองปทุมธานี นนทบุรี นครเขื่อนขันธ์ และสมุทรปราการ ยังคงขึ้นกระทรวงนครบาล

ในปี พ.ศ.244  มีพระบรมราชโองการ ฯ ให้การไต่สวนคดีมีโทษหลวง และการทำให้ผู้ที่ล่วงพระราชอาญา ที่มีความผิดตามคำพิพากษานั้น มารวมอยู่ในหน้าที่ตุลการและให้มารวมอยู่ในหน้าที่ตุลาการ และให้อยู่ในบังคับบัญชาของ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม กระทรวงนครบาลจึงได้มอบ กองมหันตโทษ และกองลหุโทษ ให้กระทรวงยุติธรรม เมื่อปี พ.ศ.2440

ต่อมาในปี พ.ศ.2444 ได้มีการตรา พ.ร.บ.ลักษณะเรือนจำไว้รวม 15 มาตรา

ต่อมาในปี พ.ศ.2454  ได้ย้ายกองมหันตโทษและกองลหุโทษ ไปสังกัดกระทรวงนครบาล แต่ยังคงให้ฝ่ายตุลาการมีอำนาจไปตรวจเรือนจำได้ ตามระเบียบที่ใช้อยู่ ส่วนเรือนจำในหัวเมืองยังคงสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตามเดิม ในปี พ.ศ.2458  มีการตั้งกรมราชทัณฑ์ขึ้น ให้รวบการคุมกองมหันตโทษ และกองลหุโทษ กับเรือนจำทั้งหลายขึ้นในกรมนี้ กรมราชทัณฑ์ขึ้นในกระทรวงนครบาล

3.  ยุคที่สาม  เริ่มแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ถึงปี พ.ศ.2476 ได้ยกฐานะแผนกราชทัณฑ์จากกรมพลำภัง ขึ้นเป็นกรมราชทัณฑ์ ในกระทรวงมหาดไทยตามเดิมอีกครั้งหนึ่ง

>>> กลับหน้าหลัก สารานุกรมไทย >>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย