ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

บรรพ 3

เอกเทศสัญญา

_______

ลักษณะ 21

ตั๋วเงิน

_________

หมวด 2

ตั๋วแลกเงิน

________

ส่วนที่ 1

การออกและสลักหลังตั๋วแลกเงิน
________

มาตรา 908 อันว่าตั๋วแลกเงินนั้น คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้สั่งจ่าย สั่งบุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จ่าย ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตาม คำสั่งของบุคคลคนหนึ่งซึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน

มาตรา 909 อันตั๋วแลกเงินนั้น ต้องมีรายการดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ (1) คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วแลกเงิน (2) คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอน (3) ชื่อ หรือยี่ห้อผู้จ่าย (4) วันถึงกำหนดใช้เงิน (5) สถานที่ใช้เงิน (6) ชื่อ หรือยี่ห้อผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ (7) วันและสถานที่ออกตั๋วเงิน (8) ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย

มาตรา 910 ตราสารอันมีรายการขาดตกบกพร่องไปจากที่ท่านระบุบังคับไว้ใน มาตราก่อนนี้ ย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน เว้นแต่ในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ ตั๋วแลกเงินซึ่งไม่ระบุเวลาใช้เงิน ท่านให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น ถ้าสถานที่ใช้เงินมิได้แถลงไว้ในตั๋วแลกเงิน ท่านให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้จ่ายเป็น สถานที่ใช้เงิน ถ้าตั๋วแลกเงินไม่แสดงให้ปรากฏสถานที่ออกตั๋ว ท่านให้ถือว่าตั๋วเงินนั้นได้ออก ณ ภูมิลำเนาของผู้สั่งจ่าย ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว ท่านว่าผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดย สุจริตจะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้

มาตรา 911 ผู้สั่งจ่ายจะเขียนข้อความกำหนดลงไว้ว่าจำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ให้คิดดอกเบี้ยด้วยก็ได้ และในกรณีเช่นนั้น ถ้ามิได้กล่าวลงไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่าดอกเบี้ยย่อมคิด แต่วันที่ลงในตั๋วเงิน

มาตรา 912 อันตั๋วแลกเงินนั้นจะออกสั่งให้ใช้เงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายก็ได้ อนึ่งจะสั่งจ่ายเอาจากตัวผู้สั่งจ่ายเอง หรือสั่งจ่ายเพื่อบุคคลภายนอกก็ได้

มาตรา 913 อันวันถึงกำหนดของตั๋วแลกเงินนั้น ท่านว่าย่อมเป็นอย่างใด อย่างหนึ่งดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ (1) ในวันใดวันหนึ่งที่กำหนดไว้ หรือ (2) เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่วันที่ลงในตั๋วนั้น หรือ (3) เมื่อทวงถาม หรือเมื่อได้เห็น หรือ (4) เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่ได้เห็น

มาตรา 914 บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อ ตั๋วนั้นได้นำยื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้น เขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตาม วิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

มาตรา 915 ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใด ๆ ก็ดี จะจดข้อกำหนดซึ่งจะ กล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้ คือ (1) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วเงิน (2) ข้อกำหนดยอมลดละให้แก่ผู้ทรงตั๋วเงินซึ่งหน้าที่ทั้งหลายอันผู้ทรงจะพึงต้องมี แก่ตนบางอย่างหรือทั้งหมด

มาตรา 916 บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วย ข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้น ได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

มาตรา 917 อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่ง ก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ เมื่อผู้สั่งจ่ายเขียนลงในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินว่า เปลี่ยนมือไม่ได้ ดั่งนี้ก็ดี หรือ เขียนคำอื่นอันได้ความเป็นทำนองเช่นเดียวกันนั้นก็ดี ท่านว่าตั๋วเงินนั้นย่อมจะโอนให้กันได้แต่โดย รูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญ อนึ่งตั๋วเงินจะสลักหลังให้แก่ผู้จ่ายก็ได้ ไม่ว่าผู้จ่ายจะได้รับรองตั๋วนั้นหรือไม่ หรือ จะสลักหลังให้แก่ผู้สั่งจ่าย หรือให้แก่คู่สัญญาฝ่ายอื่นใดแห่งตั๋วเงินนั้นก็ได้ ส่วนบุคคลทั้งหลาย เหล่านี้ก็ย่อมจะสลักหลังตั๋วเงินนั้นต่อไปอีกได้

มาตรา 918 ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วย ส่งมอบให้กัน

มาตรา 919 คำสลักหลังนั้นต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อ และต้อง ลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลัก หลังจะมิได้กระทำอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจำต่อ ก็ย่อมฟังเป็นสมบูรณ์ดุจกัน การสลักหลังเช่นนี้ท่านเรียกว่า สลักหลังลอย

มาตรา 920 อันการสลักหลังย่อมโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วแลกเงิน ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดั่งกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้ คือ (1) กรอกความลงในที่ว่างด้วยเขียนชื่อของตนเองหรือชื่อบุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง (2) สลักหลังตั๋วเงินต่อไปอีกเป็นสลักหลังลอย หรือสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใด ผู้หนึ่ง (3) โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และ ไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา 921 การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ย่อมเป็นเพียง ประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย

มาตรา 922 การสลักหลังนั้นต้องให้เป็นข้อความอันปราศจากเงื่อนไข ถ้าและ วางเงื่อนไขบังคับลงไว้อย่างใด ท่านให้ถือเสมือนว่าข้อเงื่อนไขนั้นมิได้เขียนลงไว้เลย อนึ่งการสลักหลังโอนแต่บางส่วน ท่านว่าเป็นโมฆะ

มาตรา 923 ผู้สลักหลังคนใดระบุข้อความห้ามสลักหลังสืบไปลงไว้แล้ว ผู้สลักหลังคนนั้นย่อมไม่ต้องรับผิดต่อบุคคลอันเขาสลักหลังตั๋วแลกเงินนั้นให้ไปในภายหลัง

มาตรา 924 ถ้าตั๋วแลกเงินสลักหลังต่อเมื่อสิ้นเวลาเพื่อคัดค้านการไม่รับรองหรือ การไม่ใช้เงินนั้นแล้วไซร้ ท่านว่าผู้รับสลักหลังย่อมได้ไปซึ่งสิทธิแห่งการรับรองตามแต่มีต่อผู้จ่าย กับสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้ซึ่งสลักหลังตั๋วเงินนั้นภายหลังที่สิ้นเวลาเช่นนั้น แต่ถ้าตั๋วเงินนั้นได้มีคัดค้านการไม่รับรองหรือการไม่ใช้เงินมาแต่ก่อนสลักหลัง แล้วไซร้ ท่านว่าผู้รับสลักหลังย่อมได้ไปแต่เพียงสิทธิของผู้ซึ่งสลักหลังให้แก่ตนอันมีต่อผู้รับรอง ต่อผู้สั่งจ่าย และต่อบรรดาผู้ที่สลักหลังตั๋วเงินนั้นมาก่อนย้อนขึ้นไปจนถึงเวลาคัดค้านเท่านั้น

มาตรา 925 เมื่อใดความที่สลักหลังมีข้อกำหนดว่า ราคาอยู่ที่เรียกเก็บ ก็ดี เพื่อเรียกเก็บ ก็ดี ในฐานจัดการแทน ก็ดี หรือความสำนวนอื่นใดอันเป็นปริยายว่าตัวแทนไซร้ ท่านว่าผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นก็ย่อมได้ทั้งสิ้น แต่ว่าจะสลักหลังได้เพียง ในฐานเป็นตัวแทน

ในกรณีเช่นนี้ คู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดอาจจะต่อสู้ผู้ทรงได้แต่เพียงด้วย ข้อต่อสู้อันจะพึงใช้ได้ต่อผู้สลักหลังเท่านั้น

มาตรา 926 เมื่อใดความที่สลักหลังมีข้อกำหนดว่าราคาเป็นประกัน ก็ดี ราคา เป็นจำนำ ก็ดี หรือข้อกำหนดอย่างอื่นใดอันเป็นปริยายว่าจำนำไซร้ ท่านว่าผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้ สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นก็ย่อมได้ทั้งสิ้น แต่ถ้าผู้ทรงสลักหลังตั๋วนั้น ท่านว่าการสลักหลังย่อม ใช้ได้เพียงในฐานเป็นคำสลักหลังของตัวแทน คู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิด หาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความ เกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สลักหลังนั้นได้ไม่ เว้นแต่การสลักหลังจะได้มีขึ้นด้วยคบคิด กันฉ้อฉล

« ย้อนกลับ | หน้าถัดไป »

- บรรพ 1
- บรรพ 2
- บรรพ 3
-
ลักษณะ 1 ซื้อขาย
- ลักษณะ 2 แลกเปลี่ยน
- ลักษณะ 3 ให้
- ลักษณะ 4 เช่าทรัพย์
- ลักษณะ 5 เช่าซื้อ
- ลักษณะ 6 จ้างแรงงาน
- ลักษณะ 7 จ้างทำของ
- ลักษณะ 8 รับขน
- ลักษณะ 9 ยืม
- ลักษณะ 10 ฝากทรัพย์
- ลักษณะ 11 ค้ำประกัน
- ลักษณะ 12 จำนอง
-
ลักษณะ 13 จำนำ
- ลักษณะ 14 เก็บของในคลังสินค้า
- ลักษณะ 15 ตัวแทน
- ลักษณะ 16 นายหน้า
- ลักษณะ 17 ประนีประนอมยอมความ
- ลักษณะ 18 การพนันและขันต่อ
- ลักษณะ 19 บัญชีเดินสะพัด
- ลักษณะ 20 ประกันภัย
- ลักษณะ 21 ตั๋วเงิน
- ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท
- ลักษณะ 23 สมาคม
- บรรพ 4
- บรรพ 5
- บรรพ 6

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย