ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>
กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัติ กักพืช พ.ศ. 2507
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2507
เป็นปีที่ 19 ในรัชกาลปัจจุบัน
หน้า 2
มาตรา 15* บุคคลใดประสงค์จะขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชเพื่อแสดงว่าพืช หรือผลิตผลของพืชที่จะส่งออกนั้นปลอดศัตรูพืช ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยต้องเสีย ค่าธรรมเนียมและค่าตรวจสอบศัตรูพืชตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการ กำจัดศัตรูพืชและค่าบรรจุหีบห่อเท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริง การขอใบรับรองปลอดศัตรูพืชและการออกใบรับรองปลอดศัตรูพืชให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง *[มาตรา 15 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542]
มาตรา 15 ทวิ* เพื่อประโยชน์ในการป้องกันมิให้ศัตรูพืชระบาดออกไป นอกราชอาณาจักรให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศใน ราชกิจจานุเบกษากำหนดชื่อพืชชนิดใดเป็นพืชควบคุมได้ บุคคลใดประสงค์จะส่งออกพืชควบคุมตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีใบรับรอง ปลอดศัตรูพืชตามมาตรา 15 วรรคสอง กำกับไปด้วย *[มาตรา 15 ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542]
มาตรา 15 ตรี* ในกรณีที่ใบรับรองปลอดศัตรูพืชสูญหาย หรือถูกทำลาย ในสาระสำคัญและผู้รับใบรับรองดังกล่าวต้องการใบแทน ให้ยื่นคำขอรับใบแทนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ การขอรับใบแทนใบรับรองปลอดศัตรูพืชและการออกใบแทนใบรับรอง ปลอดศัตรูพืชให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด *[มาตรา 15 ตรี เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542]
มาตรา 15 จัตวา* เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ปลูกพืช เพื่อการส่งออก บุคคลใดประสงค์จะขอให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจหรือ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการกำจัดศัตรูพืชในโรงเรือนปลูกพืชหรือแปลงปลูกพืชเพื่อ การส่งออก ให้ยื่นคำขอเพื่อขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะปลูกพืชเพื่อการส่งออกต่อกรม วิชาการเกษตร การขอขึ้นทะเบียนและการขึ้นทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด *[มาตรา 15 จัตวา เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542]
มาตรา 16* บุคคลใดประสงค์จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตาม พระราชบัญญัตินี้ ในวันหยุดราชการหรือนอกเวลาราชการ หรือนอกสถานที่ราชการไม่ว่าใน หรือนอกเวลาราชการจะต้องเสียค่าป่วยการสำหรับการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติงาน ดังกล่าวตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงและต้องจ่ายค่าพาหนะเดินทางให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ เท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายค่าป่วยการและค่าพาหนะเดินทาง ตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด *[มาตรา 16 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542]
มาตรา 17 เมื่อมีศัตรูพืชชนิดที่อาจก่อความเสียหายร้ายแรงปรากฏขึ้นในท้องที่ใด หรือมีเหตุอันสมควรควบคุมศัตรูพืชในท้องที่ใด ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดท้องที่นั้นเป็น เขตควบคุมศัตรูพืชและประกาศระบุชื่อชนิดของพืช ศัตรูพืชและพาหะที่ควบคุม และให้กำหนด สถานตรวจพืชเฉพาะถิ่นขึ้นเท่าที่จำเป็น ประกาศดังกล่าวให้ปิดไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการของกำนันและที่ทำการของผู้ใหญ่บ้านในท้องที่นั้น
มาตรา 18 เมื่อได้ประกาศกำหนดเขตควบคุมศัตรูพืชตามมาตรา 17 แล้ว ห้าม มิให้บุคคลใดนำพืช ศัตรูพืชหรือพาหะออกไปนอก หรือนำเข้ามาในเขตควบคุมศัตรูพืช ตามที่ ประกาศระบุไว้ เว้นแต่จะได้ผ่านการตรวจและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา 19 บทบัญญัติในมาตรา 12 และมาตรา 13 ให้ใช้บังคับในกรณีพืช ศัตรูพืชและพาหะตามที่ระบุไว้ในมาตรา 17 ภายในเขตควบคุมพืชหรือที่จะนำออกไปนอกหรือ นำเข้ามาในเขตควบคุมศัตรูพืชโดยอนุโลม
*ในกรณีที่มีศัตรูพืชชนิดที่อาจก่อความเสียหายร้ายแรงมาก ซึ่งหากไม่รีบทำลายเสีย อาจจะระบาดลุกลามทำความเสียหายได้มาก พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้เจ้าของจัดการ ทำลายพืช ศัตรูพืช และพาหะนั้นเสีย หรือในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะจัดการทำลาย เสียเองโดยอธิบดีจะสั่งให้เจ้าของเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการทำลายเท่าที่จำเป็นและใช้จ่ายไปจริง ก็ได้
*[มาตรา 19 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542]
มาตรา 20 เมื่ออธิบดีเห็นว่าศัตรูพืชที่ได้ประกาศตามมาตรา 17 ถูกทำลายหมดสิ้น แล้ว หรือเห็นว่าหมดความจำเป็นแล้ว ให้อธิบดีประกาศเพิกถอนประกาศตามมาตรา 17 นั้นเสีย
มาตรา 20 ทวิ* เงินที่ได้จากค่าตรวจสอบศัตรูพืชตามมาตรา 15 และค่าป่วยการ ตามมาตรา 16 มิให้ถือว่าเป็นรายรับตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และให้นำไปใช้จ่ายใน กิจการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้โดยเฉพาะ จะจ่ายเพื่อการอื่นมิได้
*[มาตรา 20 ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542]
มาตรา 20 ตรี* ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 6 วรรคสอง หรือฝ่าฝืน มาตรา 6 ทวิ วรรคสอง มาตรา 9 หรือมาตรา 18 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท *[มาตรา 20 ตรี เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542]
มาตรา 20 จัตวา* ผู้ใดขัดขืนหรือขัดขวางมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตาม มาตรา 6 ตรี ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท *[มาตรา 20 จัตวา เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542]
มาตรา 21* ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 8 หรือมาตรา 14 หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 10 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ *[มาตรา 21 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542]
มาตรา 22* ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 11 หรือมาตรา 15 ทวิ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท *[มาตรา 22 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542]
มาตรา 23* ผู้ใดขัดขืนหรือขัดขวางมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตาม มาตรา 12 หรือมาตรา 13 (1) (2) หรือ (4) หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่สั่งตามมาตรา 13 (3) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับ ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
*[มาตรา 23 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542]
มาตรา 24* ผู้ใดขัดคำสั่งหรือขัดขวางการกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
*[มาตรา 24 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542]
มาตรา 25* บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้
*[มาตรา 25 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542]
มาตรา 26* บรรดาพืช ศัตรูพืช หรือพาหะภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ที่มิได้นำเข้ามาทางด่านตรวจพืชก็ดี หรือนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติ นี้ด้วยประการใด ๆ ก็ดี หรือพืช ศัตรูพืชหรือพาหะ ซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำผิดเกี่ยวกับ เขตควบคุมพืชตามที่ระบุไว้ในมาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 14 หรือมาตรา 18 ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ บรรดาสิ่งที่ศาลสั่งริบให้ตกเป็นของกรมวิชาการเกษตร เพื่อจัดการตามที่เห็นสมควร
*[มาตรา 26 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542]
มาตรา 27* ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รักษาการตามพระราชบัญญัติ นี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกิน อัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ กำหนดค่าตรวจสอบศัตรูพืชและค่าป่วยการ ยกเว้นค่าธรรมเนียม และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
*[มาตรา 27 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542]
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
จอมพล ถนอม กิตติขจร
นายกรัฐมนตรี
*อัตราค่าธรรมเนียม
______
(1) ใบอนุญาตนำเข้าหรือนำผ่านสิ่งต้องห้าม ฉบับละ 200บาท
(2) ใบอนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเชื้อพันธุ์พืชฉบับละ 200บาท
(3) ใบรับรองปลอดศัตรูพืช ฉบับละ 200บาท
(4) ใบแทนใบรับรองปลอดศัตรูพืชฉบับละ 100 บาท
*[อัตราค่าธรรมเนียมแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542]
_______________________
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติป้องกันโรค และศัตรูพืช พ.ศ.2495 ได้บัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ทำการควบคุมและกักพืชได้ต่อเมื่อ พืชที่ได้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นศัตรูพืชตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งอาจจะทำให้ โรคพืชต่าง ๆ ระบาดแพร่หลายได้ในระหว่างนำพืชนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรก่อนที่จะมีการ ควบคุมและกักพืชไว้ ไม่บังเกิดผลสมความมุ่งหมายที่จะป้องกันโรคและศัตรูพืชให้มีประสิทธิภาพ ตามข้อตกลงที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกร่วมอยู่ในอนุสัญญาระหว่างประเทศสมควรที่จะขยาย การควบคุมและกักพืชให้กว้างขวางออกไปอีกทั้งการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรไม่ว่าทางบก ทางทะเล หรือทางอากาศ เพื่อให้การป้องกันโรคและศัตรูพืชได้ผลสมตามเจตนา ฉะนั้นจึงจำเป็น ที่จะต้องยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ.2495 และตราพระราชบัญญัติกักพืช ขึ้นใหม่ใช้บังคับแทน
_______________________
พระราชบัญญัติกักพืช (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542
หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันและควบคุมการระบาดของ ศัตรูพืชไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ทำให้การควบคุมและป้องกัน การแพร่ระบาดของศัตรูพืชไม่เหมาะสมและขาดประสิทธิภาพ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ บางมาตราเพื่อกำหนดให้มีคณะกรรมการกักพืชขึ้นทำหน้าที่ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการ ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมและตรวจสอบ การนำเข้าและส่งออกซึ่งพืชและเชื้อพันธุ์พืช การตรวจและควบคุมเชื้อพันธุ์พืช การกำหนดให้มี การจดทะเบียนสถานที่เพาะพืชเพื่อการส่งออก การออกใบรับรองปลอดศัตรูพืช ตลอดจนแก้ไข เพิ่มเติมบทกำหนดโทษและอำนาจในการเปรียบเทียบปรับให้เหมาะสมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ได้ กำหนดให้แยกค่าป่วยการของพนักงานเจ้าหน้าที่ และค่าตรวจสอบศัตรูพืชออกจากค่าธรรมเนียม ทั่วไปเพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ในกิจการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ กับได้ปรับปรุงอัตรา ค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
[รก.2542/39ก/1/18 พฤษภาคม 2542]
« ย้อนกลับ |