ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ ชื่อบุคคล พ.ศ. 2505

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505
เป็นปีที่ 17 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยชื่อบุคคล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาร่างรัฐธรรมนูญในฐานะรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505

มาตรา 2*พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป *[รก.2505/104/5/23 พฤศจิกายน 2505]

มาตรา 3 ให้ยกเลิก (1) พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช 2456 (2) พระราชกำหนดขนานนามสกุลเพิ่มเติม พระพุทธศักราช 2465 (3) พระราชบัญญัติขนานนามสกุล (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2481 (4) พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พุทธศักราช 2484 บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้ว ในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้ พระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้ ชื่อตัว หมายความว่า ชื่อประจำบุคคล ชื่อรอง หมายความว่า ชื่อประกอบถัดจากชื่อตัว ชื่อสกุล หมายความว่า ชื่อประจำวงศ์สกุล นายทะเบียน หมายความว่า นายทะเบียนท้องที่ นายทะเบียน จังหวัด หรือนายทะเบียนกลาง ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราช บัญญัตินี้ รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 5 ผู้มีสัญชาติไทยต้องมีชื่อตัวและชื่อสกุล และจะมีชื่อรอง ก็ได้

มาตรา 6 ชื่อตัวหรือชื่อรอง ต้องไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับ พระปรมาภิไธย พระนามของพระราชินี หรือราชทินนาม และต้องไม่มีคำ หรือความหมายหยาบคาย

มาตรา 7 ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ หรือผู้เคยได้รับ พระราชทานบรรดาศักดิ์ แต่ได้ออกจากบรรดาศักดิ์นั้นโดยมิได้ถูกถอด จะใช้ ราชทินนามตามบรรดาศักดิ์นั้นเป็นชื่อตัวหรือชื่อรองก็ได้

มาตรา 8 ชื่อสกุล ต้อง (1) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย หรือพระนาม ของพระราชินี (2) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่ราชทินนาม ของตน ของผู้บุพการี หรือของผู้สืบสันดาน (3) ไม่ซ้ำกับชื่อสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ หรือ ชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว (4) ไม่มีคำหรือความหมายหยาบคาย (5) มีพยัญชนะไม่เกินกว่าสิบพยัญชนะ เว้นแต่กรณีใช้ราชทินนาม เป็นชื่อสกุล

มาตรา 9 ผู้มีสัญชาติไทยผู้ใดประสงค์จะจดทะเบียนตั้งชื่อสกุล ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมาย ว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เมื่อนายทะเบียนท้องที่พิจารณาเห็นว่าชื่อสกุลที่ขอตั้งนั้นไม่ขัดต่อพระราช บัญญัตินี้ ก็ให้เสนอต่อไปตามลำดับจนถึงนายทะเบียนกลาง เมื่อได้รับอนุมัติจาก นายทะเบียนกลางแล้ว ให้นายทะเบียนท้องที่รับจดทะเบียนชื่อสกุลนั้น และออก หนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียนชื่อสกุลให้แก่ผู้ขอ การปฏิบัติการตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ในกฎกระทรวง

มาตรา 10 ชื่อสกุลที่ได้จดทะเบียนโดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือเสมือนว่าได้จดทะเบียนแล้วตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 11 ผู้จดทะเบียนตั้งชื่อสกุลจะอนุญาตให้ผู้มีสัญชาติไทยผู้ใด ร่วมใช้ชื่อสกุลของตนก็ได้ โดยยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร การอนุญาตตามมาตรานี้ จะสมบูรณ์ต่อเมื่อนายทะเบียนท้องที่ได้ออก หนังสือสำคัญแสดงการอนุญาตให้ใช้ชื่อสกุลให้แก่ผู้ที่จะใช้ชื่อสกุลนั้น

มาตรา 12 หญิงมีสามี ให้ใช้ชื่อสกุลของสามี

มาตรา 13 หญิงม่ายโดยการหย่า ให้กลับใช้ชื่อสกุลเดิมของตน

มาตรา 14* หญิงหม้ายโดยความตายของสามี จะใช้ชื่อสกุลของสามี หรือใช้ชื่อสกุลเดิมของตนก็ได้

*[มาตรา 14 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530]

มาตรา 15 ผู้อุปการะเลี้ยงดูเด็ก หรือเจ้าของสถานพยาบาล สถานสงเคราะห์ หรือสถานอุปการะเลี้ยงดูเด็ก ประสงค์จะจดทะเบียนตั้งชื่อ สกุลของเด็กซึ่งตนอุปการะเลี้ยงดูหรือเด็กแห่งสถานดังกล่าวซึ่งมีสัญชาติไทย แต่ไม่ปรากฏชื่อสกุลใช้ร่วมกันหรือแยกกัน ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ ที่ผู้อุปการะเลี้ยงดูมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียน ราษฎรหรือที่สถานดังกล่าวตั้งอยู่ และให้นำความในวรรคสองและวรรคสาม ของมาตรา 9 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 16 ผู้มีชื่อตัวหรือชื่อรองอยู่แล้วประสงค์จะเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อรอง ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เมื่อนายทะเบียนท้องที่เห็นว่าชื่อตัว หรือชื่อรองที่ขอเปลี่ยนใหม่นั้นไม่ขัดต่อพระราชบัญญัตินี้ ก็ให้อนุญาตและออก หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อให้

มาตรา 17 ผู้มีชื่อสกุลอยู่แล้วประสงค์จะขอตั้งชื่อสกุลใหม่ ให้ยื่น คำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมาย ว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และให้นำความในวรรคสองและวรรคสามของ มาตรา 9 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 18 ในกรณีที่นายทะเบียนสั่งไม่รับจดทะเบียนชื่อสกุล ผู้ขอจดทะเบียนชื่อสกุลมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนต่อรัฐมนตรีภายใน สามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง โดยยื่นอุทธรณ์ต่อนายทะเบียนท้องที่ คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุด

มาตรา 19 ผู้ใดประสงค์จะใช้ราชทินนามของตน ของผู้บุพการี หรือของผู้สืบสันดานเป็นชื่อสกุล ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่ในท้องที่ ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร แล้วให้ นายทะเบียนท้องที่นั้นเสนอต่อไปตามลำดับจนถึงนายทะเบียนกลาง เมื่อนายทะเบียนกลางพิจารณาเห็นสมควร ให้เสนอรัฐมนตรีเพื่อ นำความกราบบังคมทูล เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงให้นายทะเบียน ท้องที่รับจดทะเบียนชื่อสกุลนั้น และออกหนังสือสำคัญแสดงการรับจดทะเบียนชื่อ สกุลให้แก่ผู้ขอ

มาตรา 20 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตาม พระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียนกับออกกฎกระทรวงกำหนด ค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ และกำหนดกิจการอื่นเพื่อ ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้ บังคับได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ส.ธนะรัชต์
นายกรัฐมนตรี

อัตราค่าธรรมเนียม
_________

(1) การออกหนังสือสำคัญแสดงการ เปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อรองฉบับละ 25 บาท
(2) การออกหนังสือสำคัญแสดงการรับ จดทะเบียนตั้งหรือเปลี่ยนชื่อสกุล ฉบับละ 50 บาท
(3) การออกใบแทนหนังสือสำคัญตาม (1) หรือ (2) ฉบับละ5 บาท

___________________________

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การ จดทะเบียน การขอเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล และการขอร่วมชื่อสกุลตาม กฎหมายเดิม ยังไม่เป็นความสะดวกและไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงเสียใหม่ เพื่อให้ได้รับความสะดวกรวดเร็วและเป็นการ เหมาะสมยิ่งขึ้น

___________________________

พระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2530

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจาก หญิงหม้ายโดยความตายของสามีควรมีสิทธิในการเลือกใช้ชื่อสกุลของสามี หรือกลับมาใช้ชื่อสกุลเดิมของตนได้ตามเหตุผลความจำเป็นหรือความต้องการ ของแต่ละบุคคล ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

*[รก.2530/270/63/28 ธันวาคม 2530]

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย