ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ ไพ่ พุทธศักราช 2486

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(ตามประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร
ลงวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2480
และวันที่ 16 ธันวาคม พุทธศักราช 2484)
อาทิตย์ทิพอาภา
ปรีดี พนมยงค์
ตราไว้ ณ วันที่ 17 กันยายน พุทธศักราช 2486
เป็นปีที่ 10 ในรัชกาลปัจจุบัน

โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า สมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยไพ่ เพื่อให้รัดกุมและเหมาะสมยิ่งขึ้น จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและ ยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติไพ่ พุทธศักราช 2486"

มาตรา 2* ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป *[รก.2486/69/1794/28 ธันวาคม 2486]

มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติไพ่ พุทธศักราช 2481 และ พระราชบัญญัติไพ่ (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2482

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

"ไพ่" หมายความว่า ไพ่ซึ่งทำด้วยกระดาษหรือหนัง หรือซึ่งทำด้วย วัตถุอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

"นำไพ่เข้ามา" หมายความว่า นำหรือยังให้นำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งไพ่ แต่ไม่หมายความรวมถึงการนำเข้ามาของผู้ควบคุมยานพาหนะตามหน้าที่ ของผู้ขนส่ง

"เจ้าพนักงาน" หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งอธิบดีแต่งตั้งขึ้นเพื่อ ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

"อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมสรรพสามิต

มาตรา 5 ห้ามมิให้ผู้ใดทำไพ่หรือนำไพ่เข้ามา เว้นแต่จะได้รับอนุญาต จากอธิบดี

มาตรา 6 ไพ่ซึ่งกรมสรรพสามิตทำขึ้นนั้น ห้ามมิให้ผู้ใดดัดแปลงแก้ไข หรือกระทำแก่ไพ่นั้นด้วยประการอื่นใดเพื่อขายอย่างไพ่

มาตรา 7* ห้ามมิให้ผู้ใดขายไพ่เป็นการค้า เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาต จากเจ้าพนักงาน

การออกใบอนุญาต ผู้ขอต้องเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดใน กฎกระทรวงไม่เกินหนึ่งร้อยบาท ใบแทนใบอนุญาตฉบับละไม่เกินสิบบาท และ ใบอนุญาตนั้นให้มีอายุเพียงวันที่ 31 ธันวาคม ของปีที่ออกใบอนุญาต *[มาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติไพ่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2505]

มาตรา 8 ห้ามมิให้ผู้ใดมีไพ่ไว้ในครอบครองเกินกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบใบ หรือขายไพ่ไม่ว่าจำนวนใด ๆ เว้นแต่ไพ่นั้นเป็นไพ่ซึ่งกรมสรรพสามิตทำขึ้น หรือ เป็นไพ่ที่มีตราซึ่งกรมสรรพสามิตได้กำหนดขึ้นประทับอยู่

มาตรา 9 ห้ามมิให้ผู้ใดขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งไพ่ที่กระทำขึ้นโดย ฝ่าฝืนมาตรา 6

มาตรา 10* ให้เรียกค่าธรรมเนียมสำหรับการประทับตราไพ่ตาม อัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามขนาดของไพ่และชนิดของวัตถุที่ทำไพ่นั้นขึ้น ไม่เกินอัตราร้อยใบต่อสามสิบบาท *[มาตรา 10 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติไพ่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2505]

มาตรา 10 ทวิ* ในกรณีนำไพ่เข้ามา รัฐมนตรีจะประกาศกำหนดให้ กรมศุลกากรเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการประทับตราไพ่เพื่อกรมสรรพสามิต ก็ได้ *[มาตรา 10 ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติไพ่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534]

มาตรา 11 ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งแม่พิมพ์สำหรับพิมพ์ไพ่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี

มาตรา 12 เพื่อที่จะดูว่าได้มีการปฏิบัติถูกต้องตามพระราชบัญญัติและ กฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจเข้าไป ในสถานที่ใด ๆ ในเวลาระหว่างตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกเพื่อ ทำการตรวจค้นได้

มาตรา 13 บุคคลผู้ได้รับอนุญาตให้กระทำการใด ๆ ตาม พระราชบัญญัตินี้ ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 14* ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 5 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับตามจำนวนไพ่ของกลางเป็นเงินสี่เท่าของราคาไพ่ที่กรมสรรพสามิตขาย ในประเภทเดียวกัน แต่ในกรณีทำไพ่ต้องไม่ต่ำกว่าสองพันบาท *[มาตรา 14 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติไพ่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2505]

มาตรา 14 ทวิ* ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 6 มาตรา 8 หรือ มาตรา 9 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตามจำนวนไพ่ของกลางเป็นเงินสี่เท่า ของราคาไพ่ที่กรมสรรพสามิตขายในประเภทเดียวกันแต่ต้องไม่ต่ำกว่าห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ *[มาตรา 14 ทวิ เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติไพ่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2505]

มาตรา 14 ตรี* ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 7 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน หนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ *[มาตรา 14 ตรี เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติไพ่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2505]

มาตรา 14 จัตวา* ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 11 ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงห้าหมื่นบาท *[มาตรา 14 จัตวา เพิ่มความโดยพระราชบัญญัติไพ่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2505]

มาตรา 15 ผู้ใดซึ่งได้รับอนุญาตให้กระทำการใด ๆ ตามพระราช บัญญัตินี้ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง มีความผิดต้อง ระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท

มาตรา 16 บรรดาไพ่และเครื่องมือที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้สำหรับ กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบได้

มาตรา 17 ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งงดใช้ใบอนุญาตที่ออกตาม ความในพระราชบัญญัตินี้ ได้มีกำหนดเวลาไม่เกินหกเดือน เมื่อปรากฏว่า ผู้รับอนุญาตกระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ หรือข้อกำหนดในกฎกระทรวง หรือ กระทำผิดต่อข้อกำหนดในใบอนุญาต

มาตรา 18 ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตถูกสั่งงดใช้ใบอนุญาตตามความใน มาตรา 17 นั้น ถ้าอธิบดีเห็นสมควรก็ให้มีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตเสียได้

มาตรา 19 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตาม พระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงวางข้อกำหนดที่ผู้รับใบอนุญาต จะต้องปฏิบัติ และกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

จอมพล ป. พิบูลสงคราม
นายกรัฐมนตรี

__________________________

พระราชบัญญัติไพ่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2505

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจาก อัตราค่าธรรมเนียมสำหรับประทับตราไพ่และค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต ให้ขายไพ่ตามพระราชบัญญัติไพ่ พุทธศักราช 2486 ไม่เหมาะสมกับค่าของเงิน ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงให้สูงขึ้น และอัตราโทษซึ่งกำหนดไว้ในความผิด บางกรณียังเบาไป สมควรกำหนดอัตราโทษให้สูงขึ้นด้วย [รก.2505/86/978/18 กันยายน 2505]

__________________________

พระราชบัญญัติไพ่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจาก ได้มีการปรับปรุงระบบภาษีอากรของประเทศให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ทาง เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ได้ยกเลิกภาษีการค้าและนำภาษีมูลค่าเพิ่ม มาใช้แทน สมควรปรับปรุงการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการประทับตรา ไพ่เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากรดังกล่าว อีกทั้งเพื่อให้เกิดความสะดวกในการจัดเก็บจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

[รก.2534/201/195พ/21 พฤศจิกายน 2534]

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย