ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ รถลาก รัตนโกสินทรศก 120

มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้า ฯ ว่า กรุงเทพมหานครในทุกวันนี้ มีรถคนลากสำหรับรับจ้างคนโดยสารและ รับบรรทุกของเดินในถนนหนทางทวียิ่งขึ้นเป็นอันมาก แต่รถที่ใช้นั้นไม่แข็งแรง มั่นคงและไม่มีสิ่งที่สำหรับป้องกันความอันตรายของผู้โดยสารกับทั้งไม่สะอาด เรียบร้อยตลอดไปจนคนลากรถด้วย ย่อมเป็นที่รังเกียจและรำคาญแก่ผู้ที่จะ ใช้รถหรือผู้ที่เดินทางในท้องถนนร่วมกัน อีกประการหนึ่งคนที่ลากรถนั้น บางที รับคนโดยสารหรือรับบรรทุกสิ่งของที่มากหรือที่หนักเกินกำลังรถที่พาไปได้ จนเป็นเหตุเกิดอันตรายแก่คนโดยสารและคนเดินทางกับทั้งรถ และไม่เป็น ความเรียบร้อยในท้องถนนอีกด้วย สมควรจะต้องมีพระราชบัญญัติสำหรับบังคับ ตรวจตราการใช้รถลากเพื่อได้จัดระเบียบรถ และป้องกันความอันตรายของ ผู้ใช้รถและทั้งคนที่เดินทางให้เป็นคุณประโยชน์แก่มหาชนและเป็นการเรียบร้อย ในท้องถนนสืบไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้สืบไป ดังนี้

หมวดที่ 1
ว่าด้วยนามและกำหนดใช้พระราชบัญญัติ
_________

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้ให้เรียกว่า "พระราชบัญญัติรถลาก รัตนโกสินทรศก 120" มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้จะโปรดเกล้า ฯ ให้ใช้เมื่อใดจะได้มี ประกาศแจ้งวันกำหนดในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นสำคัญ

หมวดที่ 2
ว่าด้วยรถลาก
______

มาตรา 3* บรรดารถสองล้อซึ่งลากด้วยคน หรือคำสามัญเรียกว่า รถเจ็กหรือรถญี่ปุ่น หรือรถยินริกชอ สำหรับรับจ้างส่งคนโดยสารนั้น ในพระราชบัญญัติ นี้เรียกว่า "รถลาก" และผู้เป็นเจ้าของรถนั้นเรียกว่า "เจ้าของรถลาก" และรถลากที่ใช้รับจ้างอยู่ในกรุงเทพมหานครให้แบ่งเป็นสองชั้น คือ รถชั้นที่หนึ่ง และรถชั้นที่สอง *[มาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติรถลาก รัตนโกสินศก 120 (ร.ศ. 124]

มาตรา 4 ผู้หนึ่งผู้ใดมีรถลากไว้สำหรับให้เช่า หรือใช้รับจ้าง หรือ เที่ยวลากรับจ้างอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร ต้องให้ผู้นั้นนำรถลากมา จดทะเบียนและรับใบอนุญาตต่อเจ้าพนักงานผู้จดทะเบียนก่อน เมื่อเจ้าพนักงาน ผู้จดทะเบียนได้ตรวจรถลากนั้น เห็นว่ามีลักษณะสมควรตามข้อพระราชบัญญัตินี้แล้ว จึงจะได้รับจดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้ เมื่อเจ้าของรถลากนั้นได้รับ ใบอนุญาตสำหรับรถลากคันใดแล้ว จึงจะใช้รถลากคันนั้นให้สำหรับรับจ้างหรือ ให้มีผู้เช่าไปเที่ยวรับจ้างได้

มาตรา 5 ถ้าผู้ใดมีรถลากไว้สำหรับให้เช่า หรือใช้รับจ้าง หรือ เที่ยวลากรับจ้างโดยไม่ได้ลงทะเบียนและไม่มีใบอนุญาต ผู้นั้นมีความผิด ให้ปรับครั้งหนึ่งไม่เกินเงินสี่สิบบาท หรือจำคุกไม่เกินสองเดือน ถ้าผู้ใดใช้ใบอนุญาตที่สิ้นกำหนดแล้วก็ดี หรือใช้ใบอนุญาตสำหรับ รถลากคันอื่นมาปลอมว่าเป็นใบอนุญาตสำหรับรถลากคันนั้นก็ดี หรือใช้ใบอนุญาต หรือเครื่องหมายรถลากนั้นปลอมขึ้นใหม่ก็ดี หรือขูดลบเปลี่ยนแปลงเครื่องหมาย รถลากนั้นก็ดี หรือรถนั้นไม่ได้ติดเครื่องหมายก็ดี ผู้นั้นมีความผิดให้ปรับเงิน ไม่เกินคราวละสี่สิบบาท หรือจำคุกครั้งหนึ่งไม่เกินสองเดือน

หมวดที่ 3
ว่าด้วยเจ้าพนักงานผู้จดทะเบียน
________

มาตรา 6 เจ้าพนักงานผู้ใดซึ่งได้ประกาศนามและตำแหน่งใน หนังสือราชกิจจานุเบกษาว่า เสนาบดีกระทรวงนครบาลได้ตั้งให้เป็น เจ้าพนักงานผู้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้นั้นเป็นผู้มีหน้าที่จดทะเบียน และออกใบอนุญาตรถลาก และเจ้าพนักงานผู้นั้นกับทั้งเจ้าพนักงานกรม กองตระเวนมีอำนาจที่จะตรวจจัดการเรื่องรถลากให้เป็นไปตามพระราช บัญญัตินี้

มาตรา 7 ให้เจ้าพนักงานทำรถลากไว้เป็นตัวอย่างสำหรับที่ว่าการ และให้เก็บรถนั้นไว้ในที่สมควร ให้เจ้าของรถลากผู้จะจดทะเบียนรถตรวจดูได้ โดยง่าย

มาตรา 8* เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งนำรถลากมาจดทะเบียนและขอรับใบอนุญาต ใช้เป็นรถลากสำหรับรับจ้าง ให้เจ้าพนักงานตรวจดู ถ้ารถลากนั้นมีลักษณะอัน แข็งแรงและสะอาดงดงามไม่เลวกว่าตัวอย่างของหลวงแล้ว ก็ให้ลงทะเบียน และออกใบอนุญาตให้รถละฉบับ กับให้จ่ายพร้อมทั้งป้ายเครื่องหมายจำนวนเลข สำหรับติดรถ และสำหรับตัวผู้ลากรถด้วยทุกรถ ถ้ารถลากที่เจ้าของนำมา ปรารถนาจะให้ลงทะเบียนเป็นรถลากชั้นที่หนึ่ง รถลากคันนั้นล้อต้องมีลูกกลิ้งใน ดุมล้อและกงล้อต้องหุ้มยางกับสิ่งอื่นก็ต้องให้ดีเสมอตัวอย่างที่บังคับไว้ ถ้าเห็นว่า รถคันใดเลวกว่าตัวอย่าง อย่าให้เจ้าพนักงานออกใบอนุญาตให้ หรือเมื่อ เจ้าพนักงานได้ออกใบอนุญาตให้ไปแล้ว เจ้าของรถไม่ซ่อมหรือไม่รักษารถให้ แข็งแรงและสะอาดตามสมควร เจ้าพนักงานจะเรียกใบอนุญาตสำหรับรถคันนั้น มายึดไว้หรือคืนเสียเมื่อใดก็ได้ *[มาตรา 8 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติรถลาก รัตนโกสินศก 120 (รศ. 124)]

มาตรา 9* ใบอนุญาตสำหรับรถลากนั้น ให้มีกำหนดใช้ได้ไม่เกิน คราวละครึ่งปี ในครึ่งปีแรกมีกำหนดใช้ได้เพียงวันที่ 30 มิถุนายน ในครึ่ง ปีหลังมีกำหนดใช้ได้เพียงวันที่ 31 ธันวาคม *[มาตรา 9 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 6) พุทธศักราช 2484]

มาตรา 10* ให้เสนาบดีกระทรวงนครบาลมีอำนาจออกประกาศ กำหนดเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้เป็นครั้งเป็นคราวตามสมควร รถลาก ชั้นที่หนึ่งไม่เกินกว่าฉบับละสิบสองบาท รถลากชั้นที่สองไม่เกินกว่าฉบับละสิบบาท ซึ่งรวมกับทั้งค่าจดทะเบียน ค่าตอกเครื่องหมาย และค่าป้ายนั้นด้วย *[มาตรา 10 แก้ไขโดยประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติรถลาก รัตนโกสินศก 120 (รศ. 124)]

มาตรา 11 เมื่อเจ้าพนักงานได้ออกใบอนุญาตให้แก่รถลากคันใด มีจำนวนเลขหมายประจำรถแล้ว ก็ให้ติดป้ายจำนวนเลขเครื่องหมายไว้ที่รถลาก คันนั้น ในที่ซึ่งจะเห็นได้ง่าย และทั้งต้องหมายจำนวนเลขอย่างเดียวกันไว้ที่ ตัวรถหรือที่อื่นอีกด้วยตามแต่เจ้าพนักงานจะเห็นสมควร

มาตรา 12 ผู้ใดเป็นเจ้าของรถลากต้องให้ผู้นั้นลงชื่อในทะเบียน ผู้มีชื่อเฉพาะรถลากอันจดอยู่ในทะเบียนชั่วสมัยนั้น ต้องนับว่าเป็นเจ้าของ รถลากถูกต้องด้วยพระราชบัญญัติ

มาตรา 13 การเปลี่ยนเจ้าของรถลากและใบอนุญาตแก่กันเอง โดยไม่ได้จดทะเบียนย้ายเจ้าของก่อนนั้นใช้ไม่ได้ ถ้ารถลากคันใดจะต้องย้าย เจ้าของ ในระหว่างยังไม่สิ้นกำหนดใบอนุญาต ต้องมาจดทะเบียนย้ายเจ้าของ ใช้เงินค่าธรรมเนียมตามกำหนดแล้ว จึงจะใช้รถลากและใบอนุญาตนั้นได้จนสิ้น กำหนด

มาตรา 14 ให้เจ้าพนักงานกำหนดที่พักรถลากในจังหวัดพระนคร ณ ตำบลต่าง ๆ ตามที่เสนาบดีกระทรวงนครบาลจะกำหนดสั่งเป็นครั้งเป็นคราว ซึ่งเห็นว่าสมควร เพื่อให้รถลากอันเที่ยวรับจ้างหยุดอยู่ได้ระเบียบเรียบร้อย

มาตรา 15 เจ้าพนักงานกองตระเวน เมื่อได้เห็นเหตุไม่สมควร เกิดขึ้นเฉพาะหน้า หรือได้รับความร้องทุกข์ของเจ้าของรถลากหรือผู้ลากรถ ดังเหตุต่อไปนี้ คือ

ข้อ 1 ทุบตีหรือทำร้ายด้วยอาญา หรือเหตุอันตรายใด ๆ มีผู้กระทำ แก่ผู้ลากรถ เมื่อลากรถอยู่ก็ดี

ข้อ 2 โดยสารรถแล้วไม่ได้ใช้ หรือไม่ยอมใช้เงินค่าจ้างรถตาม อัตราอันถูกต้องนั้นก็ดี

ข้อ 3 ทำให้รถลากเสียไป หรือถอดเอาส่วนหนึ่งส่วนใดอันเป็นของ สำหรับรถไปเสียก็ดี เจ้าพนักงานกองตระเวนจะต้องช่วยระงับเหตุและจับกุม ผู้กระทำผิดส่งไปยังศาลให้พิจารณาลงโทษ

มาตรา 16 เมื่อเจ้าพนักงานผู้ตรวจรถลาก หรือเจ้าพนักงานใน กรมกองตระเวน ได้เห็นรถลากคันใดซึ่งเที่ยวรับจ้างอยู่มีอาการอันไม่สมควร ดังกล่าวต่อไปนี้ คือ

ข้อ 1 ถ้าผู้ลากรถเป็นผู้มีอาการปรากฏว่าไม่มีกำลัง หรือโสโครกก็ดี

ข้อ 2 ถ้าผู้ลากรถเดินเกะกะตามถนนหรือตำบลที่ใด ๆ อันไม่สมควรก็ดี

ข้อ 3 ถ้าผู้ลากรถทำการกีดขวางทางเดินจะนำให้เกิดเหตุอันตราย หรือเป็นความลำบากแห่งการเดินไปมาในถนนหรือตำบลที่ใด ๆ ก็ดี

ข้อ 4 แม้ผู้ลากรถทิ้งผู้โดยสารในที่ไม่สมควรก่อนสิ้นระยะทางอันได้ สัญญากันก็ดี

ข้อ 5 ถ้าผู้ลากรถเรียกเงินค่าจ้างเกินกว่าอัตรา หรือใช้คำหยาบช้า หรือประพฤติกิริยาหยาบคายต่อผู้โดยสารก็ดี

ข้อ 6 ถ้ารถลากรับคนที่ป่วยเป็นโรคอันน่ากลัวติดเนื่องกันได้ หรือรับ เอาศพไปก็ดี

ข้อ 7 แม้รถลากรับคนโดยสารจำนวนเกินกว่าอัตรา หรือบรรทุก สิ่งของต้องห้ามไม่ให้บรรทุกก็ดี

ข้อ 8 ถ้าพบรถลากเที่ยวลากเพื่อรับจ้างเมื่อเวลาค่ำมืดแล้วไม่มี โคมไฟที่สมควรตามข้อบังคับก็ดี ให้เจ้าพนักงานผู้ตรวจ หรือเจ้าพนักงานกรมกองตระเวน มีอำนาจที่ จะเกาะผู้ลากรถนั้นมาติเตียน เรียกเงินประกันครั้งหนึ่งไม่เกินสี่บาท อย่าให้ ประพฤติผิดอย่างนั้นอีกภายในเดือนหนึ่งจึงคืนเงินให้ก็ได้ หรือจะยึดตัวผู้ลากรถ หรือทั้งรถและตัวผู้ลากรถไว้ครั้งหนึ่งไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมงแล้วจึงปล่อยไปก็ได้

มาตรา 17 ถ้ารถลากคันใดเที่ยวลากรับจ้างอยู่ไม่สะอาดเรียบร้อย หรือเคลื่อนคลาดไม่แข็งแรงพอที่จะรับคนโดยสารและบรรทุกของที่มีน้ำหนัก พอประมาณได้ก็ดี หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องประกอบรถเลวไปกว่ารถตัวอย่าง ตามที่เจ้าพนักงานได้ตรวจเมื่อลงทะเบียนแล้วนั้นก็ดี ให้เจ้าพนักงานผู้ตรวจ รถลาก หรือเจ้าพนักงานกองตระเวนจับรถคันนั้นส่งเจ้าพนักงานผู้จดทะเบียน เพื่อบังคับให้เจ้าของรถนำใบอนุญาตสำหรับรถคันนั้นมาให้เจ้าพนักงานยึดไว้ แล้วรับรถลากคันนั้นไปซ่อม หรือทำใหม่นำกลับมาให้เจ้าพนักงานตรวจ ถ้า เห็นว่าไม่เลวกว่ารถตัวอย่างแล้วจึงคืนใบอนุญาตให้ ถ้าเจ้าของรถลากไม่นำ ใบอนุญาตมารับรถลากที่ต้องจับคืนไปภายในกำหนดสามสิบวัน ต้องถือว่าเจ้าของ สิ้นอาลัยในรถลากคันนั้นแล้ว เจ้าพนักงานจะขายทอดตลาดรถลากคันนั้นเสียก็ได้

มาตรา 18 เจ้าของรถลากรายใดกระทำขัดขืน หรือประพฤติผิดต่อ พระราชบัญญัติบ่อยๆ เจ้าพนักงานผู้จดทะเบียนจะไม่ยอมออกใบอนุญาตให้ใหม่ อีกต่อไปก็ได้

| หน้าถัดไป »

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย