ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการปฏิบัติต่ออากาศยานที่กระทำผิดกฎหมาย พ.ศ. 2519

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2519
เป็นปีที่ 31 ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราช โองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติต่ออากาศยาน ที่กระทำผิดกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดย คำแนะนำและยินยอมของสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่สภาปฏิรูป การปกครองแผ่นดิน ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการ ปฏิบัติต่ออากาศยานที่กระทำผิดกฎหมาย พ.ศ. 2519

มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป *[รก.2519/144/24/17 พฤศจิกายน 2519]

มาตรา 3 บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติ ไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้ พระราชบัญญัตินี้แทน

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

"อากาศยาน"* หมายความว่า อากาศยานตามกฎหมายว่าด้วย การเดินอากาศซึ่งรวมถึงอากาศยานของทางราชการทหาร ตำรวจ และ อากาศยานของส่วนราชการอื่นด้วย *[นิยามนี้ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522]

"การพิสูจน์ฝ่าย" หมายความว่า การสอบถามและตรวจพิสูจน์สัญชาติ และทะเบียนของอากาศยาน การปฏิบัติตามแผนการบิน และรายละเอียดเกี่ยวกับ อากาศยาน

"แผนการบิน"* หมายความว่า เอกสารแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับ การบินซึ่งผู้ควบคุมอากาศยานจัดทำขึ้นเพื่อแสดงต่อส่วนราชการที่มีหน้าที่ เกี่ยวกับการเดินอากาศหรือเจ้าหน้าที่ทหารอากาศ เมื่อจะนำอากาศยาน ขึ้นทำการบิน *[นิยามนี้ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2522]

"เจ้าหน้าที่ทหารอากาศ"* หมายความว่า นายทหารอากาศประจำการ ชั้นสัญญาบัตรซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมวดบิน ผู้บังคับฝูงบิน ผู้บังคับการกองบิน ผู้บัญชาการกองพลบิน ผู้บัญชาการกองบินยุทธการ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ นายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการตามที่ผู้บัญชาการทหารอากาศแต่งตั้ง

มาตรา 5* ผู้ควบคุมอากาศยานที่จะนำอากาศยานทำการบินใน ราชอาณาจักรต้องแจ้งกำหนดการใช้อากาศยานและแผนการบินต่อส่วนราชการ ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเดินอากาศหรือเจ้าหน้าที่ทหารอากาศ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง *[มาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522]

มาตรา 6* เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า อากาศยานเครื่องใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 5 หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย ว่าด้วยการเดินอากาศ หรืออนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวกับ การขึ้นลงของอากาศยาน เส้นทางบิน การบินเข้าหรือผ่านเขตห้ามหรือเขต กำกัดการบิน การใช้เครื่องถ่ายภาพในอากาศยานหรือจากอากาศยาน การ บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินหรือทิ้งร่มอากาศ การพายุทธภัณฑ์ไปกับ อากาศยาน การบินออกไปนอกราชอาณาจักร หรือการบินผ่านหรือขึ้นลงใน ราชอาณาจักร หรือเมื่ออากาศยานเครื่องใดมีพฤติการณ์ที่อาจก่อให้เกิด ภยันตรายแก่ราชอาณาจักร ให้เจ้าหน้าที่ทหารอากาศมีอำนาจทำการพิสูจน์ฝ่าย และถ้าผลของการพิสูจน์ฝ่ายทำให้มีเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่าอากาศยาน เครื่องใดได้กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือ อนุสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศดังกล่าวหรือเป็นอากาศยานที่ไม่ สามารถพิสูจน์ฝ่ายใด ให้เจ้าหน้าที่ทหารอากาศมีอำนาจสั่งหรือบังคับให้ อากาศยานที่ตรวจพบนั้นลงยังสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวแห่งใดแห่งหนึ่งได้ ในกรณีที่อากาศยานนั้นไม่ยอมปฏิบัติตามการสั่งหรือการบังคับตาม วรรคหนึ่ง ให้เจ้าหน้าที่ทหารอากาศมีอำนาจดำเนินการใดๆเพื่อบังคับให้ ผู้ควบคุมอากาศยานนำอากาศยานลงยังสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวแห่งใด แห่งหนึ่งได้ และในกรณีที่จำเป็นให้มีอำนาจใช้อาวุธประจำอากาศยานบังคับได้

*[มาตรา 6 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522]

มาตรา 7 เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำความผิดอันอาจเป็นภัยต่อ ความมั่นคงของชาติหรือเป็นภัยต่อสาธารณะ หรือมีการกระทำความผิดอื่น เกิดขึ้นในอากาศยานหรือโดยใช้อากาศยานเป็นพาหนะ หรือมีเหตุอันควร เชื่อว่ามีการกระทำความผิดดังกล่าวเกิดขึ้น ให้เจ้าหน้าที่ทหารอากาศมี อำนาจสั่งหรือบังคับให้อากาศยานนั้นลงยังสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราว แห่งใดแห่งหนึ่งได้ และในกรณีที่จำเป็นให้มีอำนาจใช้อาวุธประจำอากาศ ยานบังคับได้

มาตรา 7 ทวิ* ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารอากาศได้ใช้อากาศยาน ทำการพิสูจน์ฝ่ายและมีความจำเป็นต้องบังคับให้อากาศยานที่ถูกสกัดกั้นเครื่องใด เครื่องหนึ่งลงยังสนามบินโดยไม่สามารถทำการติดต่อสื่อสารทางวิทยุได้ ให้ เจ้าหน้าที่ทหารอากาศประจำอากาศยานที่เข้าสกัดกั้นเพื่อทำการพิสูจน์ฝ่าย ใช้ทัศนสัญญาณในโอกาสแรกที่จะกระทำได้ ทัศนสัญญาณและการใช้ทัศนสัญญาณตามความในวรรคหนึ่งให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง *[มาตรา 7 ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522]

มาตรา 8 เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารอากาศได้สั่งหรือบังคับให้อากาศยาน ใดลงยังสนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวตามมาตรา 6 หรือมาตรา 7 แล้ว ให้ เจ้าหน้าที่ทหารอากาศมีอำนาจปฏิบัติต่ออากาศยาน ผู้ควบคุมอากาศยานและ บุคคลในอากาศยาน ดังต่อไปนี้

(1) ตรวจและค้นอากาศยานที่ถูกบังคับลง
(2) สอบสวนผู้ควบคุมอากาศยานและบุคคลในอากาศยานนั้น
(3) ถ้าการตรวจค้นอากาศยานหรือการสอบสวนปรากฏว่ามีสิ่งของ ซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือมีการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือสงสัยว่ามีการกระทำผิด กฎหมาย ให้เจ้าหน้าที่ทหารอากาศมีอำนาจจับและควบคุมผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดนั้นไว้เพื่อทำการสอบสวนได้ไม่เกินเจ็ดวัน ก่อนที่จะส่งตัวพร้อมกับ สิ่งของที่ผิดกฎหมายให้พนักงานสอบสวนพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนเท่าที่ ทำไว้ หรือจะส่งตัวบุคคลดังกล่าวพร้อมกับสิ่งของที่ผิดกฎหมายให้พนักงาน สอบสวนในทันทีโดยตนไม่ทำการสอบสวนก็ได้

(4) ยึดอากาศยานนั้นไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีจนกว่า พนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ถ้าความ ปรากฏจากการสอบสวนว่าผู้ควบคุมอากาศยานนั้นไม่มีเจตนาฝ่าฝืนการใช้ อากาศยานหรือแผนการบิน และไม่มีการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่มีสิ่งของ ที่มีไว้เป็นความผิดในอากาศยานนั้น ให้ปล่อยอากาศยานนั้นไปได้

ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารอากาศได้กระทำไปโดยสุจริต ค่าภาระและ ค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการเก็บรักษาอากาศยานที่ยึดไว้ตาม (4) ให้ผู้ควบคุม อากาศยานหรือเจ้าของอากาศยานเป็นผู้รับผิด

มาตรา 9 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 8 ให้เจ้าหน้าที่ทหาร อากาศมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 10 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 8(2) ให้เจ้าหน้าที่ ทหารอากาศมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 11 ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารอากาศส่งตัวผู้ต้องหาให้ พนักงานสอบสวนดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป มิให้ถือว่าการควบคุมตัว ผู้ต้องหาซึ่งได้กระทำมาก่อนที่พนักงานสอบสวนได้รับตัวผู้ต้องหานั้นเป็นการ ควบคุมของพนักงานสอบสวน

มาตรา 12 ในกรณีที่ทำการพิสูจน์ฝ่าย หรือในกรณีที่มีการบังคับให้ อากาศยานลงสู่พื้นดิน หากปรากฏว่าการที่เจ้าหน้าที่ทหารอากาศต้องส่ง อากาศยานขึ้นพิสูจน์ฝ่ายหรือบังคับให้อากาศยานใดลงสู่พื้นดินนั้นได้กระทำ เพราะเหตุที่มีการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ อนุสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศ หรือกฎหมายอื่น หรือเพราะเหตุเพื่อป้องกัน ภยันตรายแก่ราชอาณาจักร ให้กองทัพอากาศมีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการพิสูจน์ฝ่ายหรือการบังคับให้อากาศยานลงสู่พื้นดินจากผู้ควบคุม อากาศยานหรือเจ้าของอากาศยานนั้น ค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์ฝ่าย หรือการบังคับให้อากาศยานลงสู่พื้นดิน ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ควบคุมอากาศยานหรือเจ้าของอากาศยานนั้นชำระให้แก่ กองทัพอากาศภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งจากกองทัพอากาศ ในกรณีที่ผู้ควบคุมอากาศยานหรือเจ้าของอากาศยานไม่ชำระ ค่าใช้จ่ายตามวรรคสอง ให้เจ้าหน้าที่ทหารอากาศมีอำนาจยึดอากาศยาน ไว้จนกว่าจะได้รับชำระค่าใช้จ่าย หรือได้รับหลักประกันตามที่เห็นสมควร และเพียงพอกับค่าใช้จ่าย ค่าภาระและค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการเก็บรักษาอากาศยานที่ยึดไว้ ตามวรรคสาม ให้ผู้ควบคุมอากาศยานหรือเจ้าของอากาศยานเป็นผู้รับผิด

มาตรา 13 ผู้ควบคุมอากาศยานหรือเจ้าของอากาศยานมีสิทธิอุทธรณ์ การกำหนดค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์ฝ่ายหรือการบังคับให้อากาศยาน ลงสู่พื้นดินต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ ชำระค่าใช้จ่ายหรือจัดทำหลักประกันตามมาตรา 12 คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้เป็นที่สุด

มาตรา 14 ให้ผู้บัญชาการทหารอากาศมีอำนาจแต่งตั้งนายทหาร ชั้นสัญญาบัตรประจำการเป็นเจ้าหน้าที่ทหารอากาศเพื่อปฏิบัติการตาม พระราชบัญญัตินี้

มาตรา 15 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงกลาโหมมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตาม พระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้ บังคับได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ธานินทร์ กรัยวิเชียร
นายกรัฐมนตรี

_____________________

หมายเหตุ:-เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ในการปฏิบัติ หน้าที่ป้องกันราชอาณาจักรของกองทัพอากาศ เจ้าหน้าที่ทหารอากาศ มีความจำเป็นต้องทำการตรวจอากาศยานในอากาศต่อเนื่องกันตลอดเวลา และในการปฏิบัติการพิสูจน์ฝ่าย ถ้าปรากฏว่าหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า อากาศยานเครื่องใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศ หรือกฎหมายอื่น สมควรให้เจ้าหน้าที่ทหารอากาศมีอำนาจสั่งหรือบังคับให้ อากาศยานนั้นลงยังสนามบินหรือสถานที่อื่นใดได้ ตลอดจนสามารถใช้อาวุธ บังคับได้ตามความจำเป็น ในการนี้จำเป็นต้องมีกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ ทหารอากาศกระทำการดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น

_____________________

พระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติต่ออากาศยานที่กระทำผิดกฎหมาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522

หมายเหตุ:-เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจากเป็น การสมควรให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิบัติต่ออากาศยานที่ กระทำผิดกฎหมาย พ.ศ. 2519ใช้บังคับกับการเดินอากาศของอากาศยาน ในราชการทหาร ราชการตำรวจ และราชการส่วนอื่น และสมควรแก้ไข เพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวกับอากาศยานที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติ แห่งพระราชบัญญัตินี้ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น [รก.2522/55/22/20 เมษายน 2522]

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย