ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย พ.ศ.2522

หน้า 2

สนธิสัญญา
ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
ว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
--------

รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และ รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

มีความปรารถนาที่จะกระชับความผูกพันแห่งมิตรภาพที่มีมาใน ประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศทั้งสอง พิจารณาเห็นว่า เพื่อความร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิผลระหว่าง ประเทศทั้งสองในกระบวนการยุติธรรมนั้น จะต้องมีการทำสนธิสัญญาว่าด้วย การส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันไว้ จึงได้ทำความตกลงกัน ดังต่อไปนี้

ข้อ 1
ข้อผูกพันในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติและเงื่อนไขตามที่ระบุในสนธิสัญญานี้ รัฐบาล แห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย รับว่าจะส่งตัว บุคคลทุกคน ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของภาคีฝ่ายที่ร้องขอกำลังดำเนินคดี หรือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ดังกล่าวต้องการตัวเพื่อลงโทษตามคำพิพากษา ให้แก่กันและกัน

ข้อ 2
ความผิดที่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้

(1) ให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้สำหรับความผิดบรรดาที่มีรายชื่อ อยู่ในภาคผนวกแห่งสนธิสัญญานี้

(2) ความผิดบรรดาที่บัญญัติไว้ในวรรค (1) ของข้อนี้ ให้รวมถึง การใช้สนับสนุน และการพยายามกระทำความผิดเช่นว่านั้นด้วย

(3) การแก้ไขเพิ่มเติมภาคผนวกที่กล่าวไว้ในวรรค (1) อาจกระทำ ได้เป็นครั้งคราว โดยความตกลงร่วมกันระหว่างภาคีทั้งสองฝ่าย ความตกลง เช่นว่านั้นให้บันทึกไว้ในหนังสือแลกเปลี่ยนทางการฑูต

ข้อ 3
ความผิดทางการเมือง

(1) จะไม่มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ถ้าความผิดที่ได้รับการร้องขอนั้น ภาคีฝ่ายที่ได้รับการร้องขอถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง

(2) การปลงชีวิตหรือพยายามปลงชีวิตประมุขแห่งรัฐ หรือสมาชิกใน ครอบครัวของประมุขแห่งรัฐ หรือผู้รักษาการแทนประมุขแห่งรัฐ มิให้ถือว่าเป็น ความผิดทางการเมือง เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งสนธิสัญญานี้

ข้อ 4
การส่งคนชาติข้ามแดน

(1) ภาคีแต่ละฝ่ายมีสิทธิที่จะปฏิเสธการส่งคนชาติของตนข้ามแดน

(2) ถ้าภาคีฝ่ายที่ได้รับการร้องขอไม่ส่งคนชาติของตนข้ามแดนเมื่อ ภาคีฝ่ายที่ร้องขอได้ร้องขอมา ภาคีฝ่ายนั้นจะต้องเสนอคดีนั้นให้เจ้าหน้าที่ ผู้มีอำนาจของตนเพื่อฟ้องร้องต่อไป เพื่อความมุ่งประสงค์นี้ ภาคีฝ่ายที่ร้องขอ จะต้องส่งสำนวน ข้อสนเทศ และพยานเอกสารหรือพยานวัตถุที่เกี่ยวกับ ความผิดนั้นให้แก่ภาคีฝ่ายที่ได้รับการร้องขอ

(3) โดยไม่คำนึงถึงวรรค (2) ของข้อนี้ ภาคีฝ่ายที่ได้รับการร้องขอ ไม่ต้องเสนอคดีนั้นให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของตนเพื่อฟ้องร้อง ถ้าเจ้าหน้าที่ ดังกล่าวไม่มีอำนาจในคดีนั้น

ข้อ 5
สถานที่ที่ความผิดเกิดขึ้น

ภาคีฝ่ายที่ได้รับการร้องขออาจปฏิเสธที่จะส่งบุคคลซึ่งถูกขอให้ส่งตัว ข้ามแดนสำหรับความผิดซึ่งตามกฎหมายของตนถือว่าเกิดขึ้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ในอาณาเขตของตน หรือ ณ สถานที่ซึ่งถือว่าเป็นอาณาเขตของตน

ข้อ 6
ความผิดเดียวกันซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินคดี

ภาคีฝ่ายที่ได้รับการร้องขออาจปฏิเสธที่จะส่งบุคคลซึ่งถูกขอให้ส่งตัว ข้ามแดน ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของภาคีเช่นว่านั้นกำลังดำเนินคดีต่อบุคคลผู้นั้น อยู่เกี่ยวกับความผิดซึ่งได้รับการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ข้อ 7
การไม่ลงโทษซ้ำ

จะไม่มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนถ้าเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของภาคีฝ่ายที่ได้รับ การร้องขอได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้วต่อบุคคลซึ่งถูกขอให้ส่งตัวเกี่ยวกับ ความผิดซึ่งได้รับการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ข้อ 8
หลักเกณฑ์ว่าด้วยการพิจารณาความผิดเฉพาะเรื่อง

บุคคลผู้ถูกส่งตัวข้ามแดนแล้วจะไม่ถูกฟ้อง ถูกลงโทษ หรือถูกคุมขัง สำหรับความผิดใด ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนส่งตัวบุคคลนั้น นอกจากความผิดที่บุคคลนั้น ถูกส่งข้ามแดน เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้

(ก) เมื่อภาคีฝ่ายที่ได้รับการร้องขอ ซึ่งได้ส่งตัวบุคคลนั้นยินยอม คำร้องขอให้ให้ความยินยอมจะต้องส่งให้ภาคีฝ่ายที่ได้รับการร้องขอพร้อมกับ เอกสารที่ได้กล่าวไว้ในข้อ 15 และในกรณีที่ความผิดที่ขอให้ให้ความยินยอมนั้น เป็นความผิดที่จะต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามบทบัญญัติของข้อ 2 แห่งสนธิสัญญา นี้แล้ว จะต้องให้ความยินยอมเสมอ

(ข) เมื่อบุคคลนั้นมีโอกาสจะออกจากอาณาเขตของภาคีที่ตนได้ถูกส่งตัว ไปให้ แต่มิได้ออกไปภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัวเด็ดขาดแล้ว หรือได้กลับเข้ามาในอาณาเขตนั้นอีกภายหลังที่ได้ออกไปแล้ว

ข้อ 9
การจับกุมชั่วคราว

(1) ในกรณีเร่งด่วน เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของภาคีฝ่ายที่ร้องขออาจ ร้องขอให้จับกุมบุคคลที่ต้องการตัวไว้ชั่วคราว เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของภาคี ฝ่ายที่ได้รับการร้องขอจะวินิจฉัยเรื่องนี้ตามกฎหมายของตน

(2) ในคำร้องขอให้จับกุมชั่วคราวจะต้องระบุว่ามีเอกสารที่กล่าวไว้ ในข้อ 15 อยู่แล้ว และว่าตนตั้งใจจะส่งคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน คำร้องขอนั้นจะต้องระบุด้วยว่า ความผิดใดที่จะร้องขอให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และความผิดเช่นว่านั้นได้เกิดขึ้นเมื่อใด และที่ใด กับจะต้องแจ้งรูปพรรณของ บุคคลที่ต้องการตัวเท่าที่จะทำได้

(3) คำร้องขอให้จับกุมชั่วคราวนั้น ในประเทศไทยจะต้องส่งให้อธิบดี กรมตำรวจ และในประเทศอินโดนีเซียจะต้องส่งให้สำนักงานกลางแห่งชาติ (เอน.ซี.บี) อินโดนีเซีย องค์การตำรวจสากล โดยจะส่งโดยทางการทูต หรือส่งโดยตรงทางไปรษณีย์หรือโทรเลข หรือโดยผ่านทางองค์การตำรวจสากล (อินเตอร์โปล) ก็ได้

(4) ภาคีฝ่ายที่ร้องขอจะต้องได้รับแจ้งผลการร้องขอของตนโดย ไม่ชักช้า

(5) การจับกุมชั่วคราวอาจให้สิ้นสุดลงถ้าภายในระยะเวลา 20 วัน หลังการจับกุม ภาคีฝ่ายที่ได้รับการร้องขอมิได้รับการร้องขอให้ส่งผู้ร้าย ข้ามแดนและเอกสารที่กล่าวไว้ในข้อ 15

(6) การปล่อยตัวจะไม่เป็นการกระทบกระเทือนแก่การจับกุมใหม่ และการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ถ้าได้รับคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนในภายหลัง

ข้อ 10
การส่งตัวบุคคลที่จะส่งข้ามแดน

(1) ภาคีฝ่ายที่ได้รับการร้องขอจะต้องแจ้งโดยทางการทูตให้ภาคี ฝ่ายที่ร้องขอทราบการวินิจฉัยของตนเกี่ยวกับคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

(2) การปฏิเสธคำร้องขอใด ๆ จะต้องให้เหตุผลประกอบด้วย

(3) ถ้ามีการตกลงตามคำร้องขอ จะต้องแจ้งให้ภาคีฝ่ายที่ร้องขอ ทราบสถานที่และวันส่งตัว ตลอดจนระยะเวลาที่บุคคลซึ่งถูกขอให้ส่งตัวได้ถูก คุมขังเพื่อการส่งตัวด้วย

(4) ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติวรรค

(5) ของข้อนี้ ถ้าบุคคลซึ่งถูก ขอให้ส่งตัวมิได้ถูกรับเอาตัวไปในวันนัดหมาย บุคคลนั้นอาจได้รับการปล่อยตัว หลังจากพ้นเวลา 15 วัน และไม่ว่าในกรณีใด ๆ จะต้องได้รับการปล่อยตัว หลังพ้นเวลา 30 วัน และภาคีฝ่ายที่ได้รับการร้องขออาจปฏิเสธที่จะส่งบุคคล ผู้นั้นข้ามแดนในความผิดเดียวกันนั้นได้

(5) ถ้าโดยพฤติการณ์นอกเหนือการควบคุมของภาคีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ทำให้ภาคีฝ่ายนั้นไม่อาจส่งตัวหรือรับตัวบุคคลที่จะต้องส่งข้ามแดนนั้นได้ภาคี ฝ่ายนั้นจะต้องแจ้งให้ภาคีอีกฝ่ายหนึ่งทราบ ภาคีทั้งสองฝ่ายจะต้องตกลงกัน ในเรื่องวันส่งตัวครั้งใหม่ และให้ใช้บทบัญญัติวรรค 4 ของข้อบังคับนี้

ข้อ 11
การเลื่อนการส่งตัว

ภายหลังจากที่ภาคีฝ่ายที่ได้รับการร้องขอได้วินิจฉัยในเรื่องคำร้องขอ ให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว ภาคีฝ่ายนั้นอาจเลื่อนการส่งตัวบุคคลซึ่งถูกขอให้ ส่งตัว เพื่อดำเนินคดีต่อบุคคลนั้นโดยภาคีฝ่ายนั้นก็ได้ หรือถ้าบุคคลนั้นได้ถูก ตัดสินลงโทษแล้ว เพื่อบุคคลนั้นจะได้รับโทษในอาณาเขตของภาคีฝ่ายนั้น สำหรับความผิดนอกเหนือจากความผิดซึ่งได้มีการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน

ข้อ 12
การส่งมอบทรัพย์สิน

(1) เท่าที่กฎหมายของตนอนุญาตไว้ และเมื่อได้รับการร้องขอจาก ภาคีฝ่ายที่ร้องขอ ภาคีฝ่ายที่ได้รับการร้องขอจะต้องยึดและส่งมอบทรัพย์สิน

(ก) ซึ่งอาจต้องใช้เป็นพยานหลักฐาน หรือ

(ข) ซึ่งได้มาโดยผลการกระทำความผิดและซึ่งพบว่าอยู่ในความ ครอบครองของบุคคลซึ่งถูกขอให้ส่งตัวขณะที่ถูกจับกุม หรือซึ่งค้นพบในภายหลัง

(2) จะต้องส่งมอบทรัพย์สินที่กล่าวไว้ในวรรค (1) ของข้อนี้ แม้ว่า จะมิได้ดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนดังที่ได้ตกลงกันไว้ เนื่องจากบุคคลซึ่งถูก ของให้ส่งตัวได้ตายหรือได้หลบหนีไป

(3) เมื่อทรัพย์ดังกล่าวจะต้องถูกยึดหรือถูกริบในอาณาเขตของภาคี ฝ่ายที่ได้รับการร้องขอ ในส่วนที่เกี่ยวกับคดีอาญาซึ่งกำลังดำเนินอยู่ ภาคีฝ่ายนั้น อาจยึดทรัพย์สินนั้นไว้เป็นการชั่วคราว หรือส่งมอบให้ภาคีอีกฝ่ายหนึ่งโดยมี เงื่อนไขว่าจะส่งทรัพย์สินนั้นคืน

(4) สิทธิใด ๆ ในทรัพย์สินดังกล่าวซึ่งภาคีฝ่ายที่ได้รับการร้องขอ หรือบุคคลที่สาม อาจได้มานั้นจะต้องได้รับความคุ้มครอง ในกรณีที่สิทธิดังกล่าวนี้ มีอยู่ จะต้องคืนทรัพย์สินนั้นโดยไม่มีค่าภาระใด ๆ ให้แก่ภาคีฝ่ายที่ได้รับการ ร้องขอโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ภายหลังการพิจารณาคดี

ข้อ 13
วิธีพิจารณา

วิธีพิจารณาเกี่ยวกับการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนและการจับกุมชั่วคราว ซึ่งบุคคลที่ถูกขอให้ส่งข้ามแดน ให้เป็นไปตามกฎหมายของภาคีฝ่ายที่ได้รับการ ร้องขอเพียงฝ่ายเดียว

ข้อ 14
ค่าใช้จ่าย

ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในอาณาเขตของภาคีฝ่ายที่ได้รับการร้องขอ โดยเหตุแห่งการส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ให้ภาคีฝ่ายนั้นเป็นผู้ออก

ข้อ 15
คำร้องขอและเอกสารสนับสนุน

(1) คำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร และในประเทศไทยจะต้องส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ในประเทศอินโดนีเซียจะต้องส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยทางการทูต

(2) คำร้องขอจะต้องมีเอกสารสนับสนุน คือ

(ก) ต้นฉบับหรือสำเนาที่มีการรับรองของคำพิพากษาลงโทษ ซึ่งใช้บังคับได้ทันที หรือขอหมายจับจับหรือคำสั่งอื่นซึ่งมีผลบังคับเช่นเดียวกัน และได้ออกตามระเบียบการที่วางไว้ในกฎหมายของภาคีฝ่ายที่ร้องขอ

(ข) คำแถลงเกี่ยวกับความผิดที่ได้มีการร้องขอให้ส่งตัวผู้ร้าย ข้ามแดน ซึ่งระบุเวลาและสถานที่ที่ความผิดเกิดขึ้น ลักษณะตามกฎหมายของ ความผิด และการอ้างบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องไว้ให้แน่นอนเท่าที่จะ ทำได้ และ

(ค) สำเนาตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และรูปพรรณที่แน่นอน เท่าที่จะทำได้ของบุคคลซึ่งถูกขอให้ส่งตัว พร้อมทั้งข้อสนเทศอื่นใดซึ่งจะช่วย ให้รู้จักตัวและสัญชาติของบุคคลนั้นด้วย

(3) เอกสารที่จะให้การดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะต้องจัดทำ เป็นภาษาอังกฤษ

ข้อ 16
การระงับข้อพิพาท

ข้อพิพาทใด ๆ ระหว่างภาคีทั้งสองฝ่ายอันเกิดขึ้นจากการตีความ หรือการดำเนินการให้เป็นผลตามสนธิสัญญานี้ จะต้องระงับโดยสันติด้วยการ ปรึกษาหารือหรือด้วยการเจรจากัน

ข้อ 17
การเริ่มใช้บังคับ

สนธิสัญญานี้จะต้องได้รับสัตยาบัน และจะเริ่มใช้บังคับในวัน แลกเปลี่ยนสัตยาบันสารกัน

ข้อ 18
การเลิกใช้

ภาคีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจบอกเลิกสนธิสัญญานี้ในเวลาใดก็ได้ โดยการบอกกล่าวล่วงหน้าหกเดือนถึงเจตนาที่จะบอกเลิกไปยังภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง การเลิกสนธิสัญญานี้จะไม่เป็นการเสียหายแก่การดำเนินคดีใด ๆ ซึ่งได้เริ่มไปแล้วก่อนวันเลิกเช่นว่านั้น เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้ลงนามข้างท้ายนี้ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดย ถูกต้องจากรัฐบาลของตนแต่ละฝ่าย ได้ลงนามสนธิสัญญานี้ ทำคู่กันเป็นสองฉบับ ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ยี่สิบเก้า มิถุนายน คริสตศักราชหนึ่งพันเก้าร้อยเจ็ดสิบหก เป็นภาษาไทย ภาษาอินโดนีเซีย และ ภาษาอังกฤษ ตัวบททุกฉบับใช้เป็นหลักฐานได้เท่ากัน ในกรณีที่มีความแตกต่างกัน ให้ถือตัวบทภาษาอังกฤษเป็นสำคัญ สำหรับรัฐบาลแห่ง สำหรับรัฐบาลแห่ง ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย พิชัย รัตตกุล มอคตาร์ กุสุมาตมัดจา

ภาคผนวกที่อ้างถึงในข้อ 2
รายชื่อความผิดที่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้
--------

(1) ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
(2) ฆ่าผู้อื่นโดยประมาท หรือฆ่าผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ถึงขั้นฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
(3) ข่มขืนกระทำชำเรา
(4) พรากผู้เยาว์และลักพาตัว
(5) ทำร้ายร่างกาย
(6) หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโดยมิชอบ
(7) ซื้อหรือจำหน่ายบุคคลใดเพื่อจะเอาบุคคลนั้นลงเป็นทาส หรือติดต่อซื้อขายทาสเป็นปกติวิสัย
(8) ความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายเกี่ยวกับหญิงและเด็กหญิง
(9) บุกรุกเข้าไปในเคหสถาน ลักทรัพย์ในเคหสถาน ลักทรัพย์ และความผิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (10) ชิงทรัพย์
(11) ปลอมเอกสารและความผิดที่เกี่ยวข้อง
(12) เบิกความเท็จ แสดง ทำ และใช้พยานหลักฐานเท็จ
(13) ทำลายทรัพย์สินหรือทำให้ทรัพย์สินเสียหาย โดยจงใจหรือ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(14) ยักยอก
(15) ฉ้อโกงและหลอกลวง
(16) ให้สินบนและฉ้อราษฎร์บังหลวง
(17) กรรโชก
(18) ความผิดเกี่ยวกับธนบัตร เหรียญกษาปณ์ และแสตมป์ของรัฐบาล
(19) นำสินค้าเข้าหรือออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(20) วางเพลิง
(21) ความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายเกี่ยวกับยาอันตรายและยาเสพติด ให้โทษ
(22) มีไว้ในครอบครองหรือค้าอาวุธปืน เครื่องกระสุน หรือวัตถุระเบิด โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(23) โจรสลัดตามกฎหมายระหว่างประเทศ
(24) จมหรือทำลายเรือในทะเล หรือสมคบกันกระทำความผิดดังกล่าว
(25) ประทุษร้ายบนเรือในทะเลหลวงโดยเจตนาฆ่า หรือทำร้ายร่างกาย
(26) ก่อการจลาจลหรือสมคบกันเพื่อก่อการจลาจลตั้งแต่สองคนขึ้นไปใน เรือทะเลหลวงต่ออำนาจหน้าที่ของนายเรือ
(27) ความผิดอื่นใดที่เพิ่มเติมจากภาคผนวกนี้ตามวรรค (3) ของข้อ 2

----------------------

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ ประเทศไทย และสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้ลงนามในสนธิสัญญาระหว่าง รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ว่าด้วย การส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2519 ในการนี้จะต้อง มีกฎหมายเพื่ออนุวัตการให้เป็นไปตามสนธิสัญญาฯ ดังกล่าว จึงจำเป็นต้อง ตราพระราชบัญญัตินี้

« ย้อนกลับ |

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย