ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

กฎหมายไทย - พระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ จัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง พ.ศ. 2522

หน้า 2

หมวด 2
คณะกรรมการกลางหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง
______

มาตรา 7 ในหมู่บ้านหนึ่งให้มีคณะกรรมการกลางคณะหนึ่ง ประกอบ ด้วยผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานคณะกรรมการกลาง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กรรมการสภาตำบลผู้ทรงคุณวุฒิในหมู่บ้านเป็นกรรมการกลางโดยตำแหน่ง และให้มีการ เลือกตั้งกรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิจากราษฎรในหมู่บ้านนั้น มีจำนวนอย่างน้อย ห้าคนอย่างมากไม่เกินเจ็ดคนเป็นกรรมการกลาง กรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิ จะมีเท่าใด ให้เป็นไปตามที่นายอำเภอกำหนดตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมของ หมู่บ้าน การเลือกตั้งกรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามมาตรา 11 หมู่บ้านใดมีผู้ใหญ่บ้านเป็นกำนันอยู่ด้วย ให้กำนันของหมู่บ้านนั้นเป็น ประธานคณะกรรมการกลาง ให้สารวัตรกำนัน และหรือแพทย์ประจำตำบล ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตหมู่บ้านของกำนันเป็นกรรมการกลางโดยตำแหน่ง ให้คณะกรรมการกลางเลือกรองประธานคณะกรรมการกลางหนึ่งคน และเลขานุการหนึ่งคนจากกรรมการกลาง การออกเสียงลงคะแนนให้กระทำ โดยเปิดเผยโดยใช้วิธียกมือ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก ให้มีที่ปรึกษาคณะกรรมการกลางและคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ประจำหมู่บ้านได้ตามจำนวนที่เห็นสมควร ซึ่งนายอำเภอแต่งตั้งจากข้าราชการ หรือผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับหมู่บ้านนั้น

มาตรา 8 ในกรณีที่มีการรวมหมู่บ้านมากกว่าหนึ่งหมู่บ้าน ถ้าใน หมู่บ้านนั้นมีกำนันอยู่ด้วย ให้กำนันเป็นประธานคณะกรรมการกลาง สำหรับ กรรมการกลางอื่น ๆ ให้เป็นไปตามมาตรา 7 และถ้าหากหมู่บ้านที่มารวมนั้น มีกำนันมากกว่าหนึ่งคน ให้คณะกรรมการกลางเลือกกำนันคนหนึ่งเป็นประธานคณะกรรมการกลาง ให้กำนันที่เหลือเป็นรองประธานคณะกรรมการกลาง และ มิให้นำมาตรา 7 วรรคสาม มาใช้บังคับในการเลือกรองประธานคณะกรรมการ กลาง แต่ถ้าไม่มีกำนันให้คณะกรรมการกลางเลือกผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งเป็นประธาน คณะกรรมการกลาง และให้ประธานคณะกรรมการกลางอยู่ในตำแหน่งเท่ากับ วาระของกรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิ ถ้าตำแหน่งประธานคณะกรรมการกลาง ว่างลงก่อนถึงกำหนดออกตามวาระ ให้ดำเนินการเลือกใหม่ และให้ผู้ที่ได้รับ เลือกอยู่ในตำแหน่งเพียงเท่ากำหนดเวลาของผู้ซึ่งตนแทน

มาตรา 9 ประธานคณะกรรมการกลางตามมาตรา 8 ต้องพ้นจาก ตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) ตาย
(2) ได้รับอนุญาตจากนายอำเภอให้ลาออก
(3) ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เมื่อได้สอบสวนเห็นว่า บกพร่องในทางความประพฤติ หรือความสามารถไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง
(4) พ้นจากตำแหน่งกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน

มาตรา 10 ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นกรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิต้องมี คุณสมบัติและไม่อยู่ในลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทย
(2) อายุยี่สิบปีบริบูรณ์ตามหลักฐานทางทะเบียนราษฎรในวันเลือกตั้ง
(3) มีภูมิลำเนาและถิ่นที่อยู่เป็นประจำ และมีชื่อในทะเบียนบ้านตาม กฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎรอยู่ในหมู่บ้านนั้นมาแล้วติดต่อกันไม่น้อยกว่าหกเดือน จนถึงวันเลือกตั้ง
(4) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองตามรัฐธรรมนูญด้วยความบริสุทธิ์ใจ
(5) มีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าประโยคประถมศึกษาปีที่สี่ หรือที่กระทรวง ศึกษาธิการเทียบเท่าไม่ต่ำกว่าประโยคประถมศึกษาปีที่สี่ เว้นแต่ท้องที่ซึ่งไม่อาจ เลือกผู้มีความรู้ดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจพิจารณาตามที่เห็นสมควรได้
(6) ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(7) ไม่เป็นผู้วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือติดยาเสพติด ให้โทษ หรือไม่เป็นโรคตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประกาศกำหนด ไว้สำหรับคุณสมบัติของผู้ใหญ่บ้าน ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่โดย อนุโลม
(8) ไม่เป็นข้าราชการประจำ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น หรือพนักงาน ส่วนท้องถิ่น
(9) ไม่เป็นผู้มีชื่อเสียงในทางทุจริต หรือเสื่อมเสียในทางศีลธรรม
(10) ไม่เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกฐาน ทุจริตต่อหน้าที่ รวมทั้งในองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล หรือ กรรมการกลางหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง ยังไม่พ้นกำหนดสามปี นับแต่วันไล่ออก ปลดออก หรือให้ออก
(11) ไม่เป็นผู้เคยต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดหรือคำสั่ง โดยชอบด้วยกฎหมายให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดย ประมาท หรือความผิดลหุโทษ และยังไม่พ้นกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษ

มาตรา 11 วิธีเลือกตั้งกรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิ ให้นายอำเภอ หรือหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ หรือปลัดอำเภอซึ่งนายอำเภอมอบหมาย เป็นประธาน พร้อมกำนันและผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านนั้น ประชุมราษฎรผู้มีคุณสมบัติ และไม่อยู่ในลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) มีสัญชาติไทย
(2) อายุยี่สิบปีบริบูรณ์ตามหลักฐานทางทะเบียนราษฎรในวันเลือกตั้ง
(3) มีภูมิลำเนาและถิ่นที่อยู่เป็นประจำ และมีชื่อในทะเบียนบ้านตาม กฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎรในหมู่บ้านนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือนในวัน เลือกตั้ง
(4) ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(5) ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ เมื่อราษฎรส่วนมากเลือกผู้ที่ถูกเสนอชื่อผู้ใดเป็นกรรมการกลาง และ เป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่อยู่ในลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 10 แล้ว ให้ถือว่าผู้นั้น เป็นกรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิ และให้นายอำเภอรายงานไปยังผู้ว่าราชการ จังหวัด เพื่อออกหนังสือสำคัญตามแบบท้ายระเบียบกระทรวงมหาดไทยไว้เป็น หลักฐาน

ในกรณีผู้รับเลือกมีคะแนนเสียงเท่ากันให้จับสลาก วิธีเลือกตั้งให้กระทำโดยวิธีลับหรือเปิดเผย และให้ใช้ระเบียบ กระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เฉพาะในส่วนที่ว่าด้วย การเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านโดยอนุโลม

มาตรา 12 กรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ สี่ปี และกรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิต้องพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) ตาย (2) ได้รับอนุญาตจากนายอำเภอให้ลาออก (3) นายอำเภอให้ออกเพราะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม อย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 10 (4) คณะกรรมการกลางมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง โดยเห็นว่ามีความ ประพฤติในทางซึ่งจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียประโยชน์ของหมู่บ้าน มติดังกล่าว จะต้องมีคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของคณะกรรมการกลางที่อยู่ใน ตำแหน่ง (5) นายอำเภอสั่งให้ออกเพราะไม่มาประชุมสามครั้งติดต่อกันโดย ไม่มีเหตุผลอันสมควร (6) ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้ยุบคณะกรรมการกลาง หรือคณะกรรมการ ฝ่ายต่าง ๆ ตามมาตรา 29 ถ้าตำแหน่งกรรมการกลางผู้ทรงคุณวุฒิว่างลงก่อนครบวาระ ให้เลือกตั้ง แทนตำแหน่งที่ว่างภายในหกสิบวัน ยกเว้นกรณีตาม (6) และให้ผู้ได้รับเลือกตั้ง

แทนอยู่ในตำแหน่งตามวาระของผู้ซึ่งตนแทน ถ้าตำแหน่งว่างลงก่อนกำหนดออก ตามวาระไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จะไม่เลือกขึ้นแทนก็ได้

มาตรา 13 ที่ปรึกษาคณะกรรมการต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุใด เหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) ตาย
(2) ได้รับอนุญาตจากนายอำเภอให้ลาออก
(3) นายอำเภอสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง
(4) ถูกย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่นซึ่งทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงาน ที่เกี่ยวข้องกับหมู่บ้านนั้นได้ ตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมการว่างลงเมื่อใด ให้นายอำเภอท้องที่ พิจารณาแต่งตั้งจากผู้ที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 7 วรรคสี่ เป็นที่ปรึกษาต่อไป

มาตรา 14 ให้คณะกรรมการกลางมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) บริหารหมู่บ้าน หรือดำเนินการตามที่ได้รับอนุมัติหรือได้รับ มอบหมายจากคณะกรรมการสภาตำบล นายอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด
(2) พิจารณาวางนโยบายในการปกครองหมู่บ้าน วางแผนและ โครงการพัฒนาหมู่บ้านตามความต้องการของราษฎรในหมู่บ้านนั้น
(3) ปฏิบัติหน้าที่ที่กำหนดไว้สำหรับคณะกรรมการหมู่บ้านตามกฎหมาย ว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
(4) ดูแลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ให้เป็นไปตาม กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ
(5) ให้ความร่วมมือและประสานงานในแผนการและโครงการพัฒนา ตำบลและหมู่บ้าน สนับสนุนให้มีการร่วมมือจากองค์การอาสาสมัครหรือองค์การ สาธารณกุศล ตลอดจนแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องและอุปสรรคที่เกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้าน
(6) ร่วมมือช่วยเหลือการปฏิบัติงานของกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มอื่น ๆ ซึ่ง ทางราชการจัดตั้งหรือสนับสนุน และดำเนินงานในเขตหมู่บ้านนั้น
(7) เผยแพร่การดำเนินงานพัฒนาของทางราชการให้ราษฎร ในหมู่บ้านทราบ
(8) ประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างราษฎรในหมู่บ้านเกี่ยวกับ ความแพ่ง เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและความยุติธรรม เมื่อได้ดำเนินการ อย่างใดแล้ว ให้รายงานให้นายอำเภอทราบ
(9) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ทางราชการจะได้มอบหมาย ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้ประธานคณะกรรมการกลางเป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการตามมติของคณะกรรมการกลาง เว้นแต่คณะกรรมการกลางจะได้ มอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทน

มาตรา 15 ในกรณีที่สาธารณภัย ภัยทางอากาศ หรือการก่อ วินาศกรรมเกิดขึ้นหรือใกล้จะเกิดขึ้น ให้ประธานคณะกรรมการกลางในเขต ท้องที่ที่รับผิดชอบ หรือประธานคณะกรรมการป้องกันและรักษาความสงบ เรียบร้อยที่ได้รับมอบหมาย มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งหรืออำนวยการป้องกันและบรรเทาภัย ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ในส่วนที่เกี่ยวกับ การป้องกันและบรรเทาภัยฝ่ายพลเรือนไปก่อนได้ แล้วรายงานผู้อำนวยการ ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนในเขตท้องที่รับผิดชอบทราบ

« ย้อนกลับ | หน้าถัดไป »

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย