วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน>>

เส้นทางวรรณกรรมเพื่อชีวิต

วรรณกรรมเพื่อชีวิตพลิกฟื้นอีกครั้ง

หนทางข้างหน้า

ระยะหลังมีการวิจารณ์วรรณกรรมเพื่อชีวิตเรื่อง “สูตรสำเร็จ” ในแง่ความซ้ำซากของเนื้อหา  ความไม่เป็นเอกภาพระหว่างรูปแบบและเนื้อหาความจริงใจของผู้เขียน  การมีเป้าหมายเพื่อการเมืองอย่างเดียว ฯลฯ  คำวิจารณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่นักเขียนแนวเพื่อชีวิตนำไปพิจารณาปรับปรุงตนเอง

วรรณกรรมเพื่อชีวิตช่วงสิบปีหลังไม่มีกลิ่นอายของการต่อสู้ที่ดุดันมักกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสังคมในลักษณะแปลกแยก  ตัวละครแสดงความโดดเดี่ยวและเป็นปัจเจกชนสูง กล่าวถึงความล่มสลายของสังคมชนบท  ความเสื่อมโทรมของสถาบันครอบครัว, ศาสนา, จริยธรรม, สิ่งแวดล้อม  สะท้อนปัญหาโดยไม่มีการชี้นำอย่างในอดีต

นอกจากนี้นักเขียนรุ่นใหม่มิได้ใช้แนวสมจริงเป็นแนวทางเดียวในการเสนอวรรณกรรมเพื่อชีวิตอีกต่อไป  มีการทดลองใช้แนวสัญลักษณ์นิยม  แนวแอบเสิร์ด  แนววิทยาศาสตร์  แนวเซอร์เรียลลิสม์  แนวจินตนาการ (FANTASY)  แนวสัจนิยมมายา (Magical Realism) เป็นต้น

สิ่งที่สนับสนุนการเติบโตของวรรณกรรมเพื่อชีวิตในช่วงที่ผ่านมา  คือ  นิตยสารทางวรรณกรรม  เช่น  โลกหนังสือ  ถนนหนังสือ  ช่อการะเกดและนิตยสารไรเตอร์  นิตยสารเหล่านี้เป็นเวทีสนับสนุนการสร้างสรรค์วรรณกรรม  ส่งเสริมนักเขียนรุ่นใหม่ให้เข้ามาบนถนนวรรณกรรมอย่างไม่ขาดสายเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในช่วงวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535  ทำให้วิญญาณต่อสู้ของนักเขียนวรรณกรรมเพื่อชีวิตคุโชนขึ้นอีก  บทกวีที่ถ่ายทอดเหตุการณ์หลั่งไหลออกมามากมาย

“น้ำค้างกลางถนน”  ของ ไพบูลย์  วงษ์เทศ
“หมายเหตุประชาชน”  ของ  สุจิตต์  วงษ์เทศ
“ใครฆ่าประชาชน”  ของ  ยืนยง  โอภากุล
“ปฏิญาณ”  ของ  ทิวา  สาระจูฑะ
“แด่วีรชน”  ของ  เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์
“ฝนแรก”  ของ  จิระนันท์  พิตรปรีชา

อย่างไรก็ตาม  เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ยังคงอยู่ในความทรงจำของคนร่วมสมัย  ทั้งที่อยู่ในเหตุการณ์และไม่อยู่ในเหตุการณ์  ความทรงจำนั้นถูกกรองร้อยเป็นวรรณกรรมเพื่อปลุกจิตสำนึก  สร้างอุดมคติของความเสียสละเพื่อผู้อื่นและสังคมส่วนรวม  จิตวิญญาณของ 14 ตุลา 16 จึงยังคงสืบสานสู่คนรุ่นหลังอย่างเข้มข้น  เข้มแข็งไม่มีวันดับสูญ

ถึงวันนี้  สังคมเปลี่ยนไป  ประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติรุนแรงอีกครั้ง  กลายเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของ IMF คนตกงานมากมายนับล้านคน  สังคมตกอยู่ในภาวะตึงเครียดสันสนครั้งใหญ่อีกครั้ง  สภาวการณ์นี้จะเป็นพลังผลักดันให้มีการสร้างสรรค์วรรณกรรมที่แหลมคมออกมาอีกหรือเปล่า วรรณกรรมเพื่อชีวิตจะกลับมาชี้นำสังคมได้อีกหรือไม่  เราคอยคำตอบอยู่

ที่มา : คัดจากหนังสือ “อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม 2516” จากข้อมูลของฝ่ายนิทรรศการ 25 ปี 14 ตุลา ในชื่อเดิมว่า “25 ปี 14 ตุลา มองผ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิต” จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สายธาร, ตุลาคม 2541.

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย