วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

วรรณคดี

           มีการเข้าใจสับสนระหว่างคำว่า วรรณคดี กับวรรณกรรม อยู่เสมอ เนื่องจากทั้งสองคำ มาจากภาษาอังกฤษว่า Literature เช่นเดียวกัน สำหรับในภาษาไทยนั้นมีการใช้คำว่า "วรรณคดี" ก่อนภายหลังจึงได้เกิดมีคำว่า "วรรณกรรม" ขึ้น และจริง ๆ แล้ว ในอดีตก่อนปี พ.ศ. 2457 ไทยเรายังไม่มีคำว่า "วรรณคดี" ใช้ เราเรียกหนังสือวรรณคดีว่า "หนังสือ" (เช่นเรียกเรื่องท้าวบาเจืองหรือท้าวฮุ่งท้าวเจืองที่ทางเวียงจันทร์ส่งมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกว่า "หนังสือเจียง" หรือเรียกเรื่องมหาภารตะว่า "หนังสือมหาภารตะ" เป็นต้น) หรือเรียกโดยใช้ชื่อผู้แต่งกับชื่อลักษณะคำประพันธ์และประเภทของเนื้อหา (เช่น นิราศนรินทร์คำโคลงหรือนิราศพระยาตรัง เป็นต้น) หรือเรียกโดยใช้ชื่อลักษณะคำประพันธ์และเหตุการณ์หรือโอกาสที่ทำให้เกิดเรื่องนั้น ๆ ขึ้น (เช่น เพลงยางหรือกลอนนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง หรือโคลงนิราศเวียงจันทร์ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเดชาดิศร เป็นต้น) (ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต. 2541 : 15) และคำว่า "วรรณคดี" นี้รู้จักกันอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2450 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในโอกาสที่ทรงตั้ง "โบราณคดีสโมสร" ขึ้น วัตถุประสงค์ของสโมสรนี้ก็เพื่อส่งเสริมการประพันธ์ การศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี งานที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับวรรณคดีคือ การพิมพ์เผยแพร่วรรณคดีโบราณ เช่น ลิลิตยวนพ่าย ทวาทศมาส และนิราศพระยาตรัง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการตรวจคัดหนังสือที่แต่งดี เพื่อรับพระบรมราชานุญาตประทับพระราชลัญจกรมังกรคาบแก้ว หนังสือใดที่โบราณคดีสโมสรนี้ประทับพระราชลัญจกรมังกรคาบแก้วก็ได้ชื่อว่าเป็น "วรรณคดี" ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็น "หนังสือดี"

ต่อมาใน พ.ศ. 2457 คำว่า "วรรณคดี" จึงได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งวรรณคดีสโมสร เพื่อส่งเสริมการแต่งหนังสือ เช่นเดียวกับกิจการของโบราณคดีสโมสร และงานที่สำคัญของวรรณคดีสโมสรนี้ก็คือการพิจารณายกย่องหนังสือสำคัญของชาติว่าเรื่องใดเป็นยอดทางไหน (สิทธา พินิจภูวดล และนิตยา กาญจนะวรรณ. 2520 : 1-3)สำหรับคำว่า "วรรณคดี" ได้มีผู้ให้คำจำกัดความไว้หลากหลายดังนี้ คือ

คำว่า "วรรณคดี" ตามตัวอักษร หมายความว่า "แนวทางแห่งหนังสือ" คำว่าวรรณคดี เป็นคำสมาส ประกอบด้วยคำ "วรรณ" จากรากศัพท์สันสกฤต วรณ แปลว่า หนังสือ กับคำว่า "คดี" จากรากศัพท์บาลี คติ แปลว่า การดำเนิน การไป ความเป็นไป แบบกว้าง ทาง ลักษณะ ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 (2539 : 754) ได้ให้ความหมายว่า หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี

สิทธา พินิจภูวดล , รื่นฤทัย สัจจพันธ์ และเสาวลักษณ์ อนันตศานต์ (2524 : 1) ได้อธิบายเพิ่มเติมความหมายของวรรณคดีที่ว่าเป็นหนังสือแต่งดี นั้นได้แก่ บทประพันธ์ทุกชนิดที่ผู้แต่งมีวิธีเขียนที่ดีมีศิลปะ ก่อให้เกิดความประทับใจแก่ผู้อ่านสร้างความสนุกเพลิดเพลินให้แก่ผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านมีมโนภาพไปตามจินตนาการของผู้แต่ง เร้าให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจไปตามความรู้สึกของผู้แต่ง บางครั้งผู้แต่งจะสอดแทรกความรู้และทัศนคติในเรื่องต่าง ๆ ลงในงานของเขา แต่ก็มิได้หมายความว่าผู้แต่งมุ่งให้ความรู้หรือมุ่งสอนปรัชญา ศีลธรรม หรือเรื่องของชีวิต ทั้งนี้เพราะวรรณคดีไม่ใช่ตำราซึ่งมุ่งสอนความรู้เป็นสำคัญ ถ้าตำราเล่มใดมีลักษณะเป็นวรรณคดีก็จะได้รับการยกย่อง เช่น ไตรภูมิพระร่วง ปฐมสมโพธิกถา เป็นต้น วรรณคดีเป็นที่รวมความรู้สึกนึกคิด ความรอบรู้ ความฉลาด และสติปัญญาอันลึกซึ้ง คนที่อ่านวรรณคดีก็จะได้รับถ่ายทอดความฉลาดรอบรู้ไว้ด้วยมากบ้างน้อยบ้าง

ชลธิรา กลัดอยู่ (อ้างถึงใน สนิท ตั้งทวี. 2528 : 1) อธิบายว่า วรรณคดี มีความหมายที่ใช้กันทั่วไปสองประการ คือ ความหมายประการแรกได้แก่ หนังสือที่เรียบเรียงออกมาเป็นตัวหนังสือหรือนัยหนึ่งหมายถึงหนังสือทั่วไปนั่นเอง แต่มีเงาความหมายว่าเป็นหนังสือเก่าถือเป็นมรดกที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ส่วนความหมายที่สอง มีความหมายคล้ายคลึงกับคำ "กวีนิพนธ์" คือถือว่าเป็นหนังสือที่ได้รับการยกย่องแล้วจากกลุ่มคนที่นับว่าเป็นคนชั้นนำในวงการหนังสือ มีนัยลึกลงไปอีกว่ามีคุณค่าสูงส่งเข้าขั้นวรรณศิลป์ คือเป็นแบบอย่างที่ยกย่องเชิดชูกันต่อไป

เจือ สตะเวทิน (2514 : 8) กล่าวว่า วรรณคดี คือหนังสือหรือบันทึกความคิดที่ดีที่สุดด้วยท่วงทำนองเขียน (Style) ที่ประณีตบรรจงครบองค์แห่งศิลปะของการเขียน สามารถดลใจให้ผู้อ่านผู้ฟังเกิดความปิติเพลิดเพลิน มีความรู้สึกร่วมกับผู้แต่ง เห็นจริงเห็นจังกับผู้แต่ง เรียกกันเป็นสามัญว่า มีความสะเทือนอารมณ์ ทั้งต้องประกอบไปด้วยคุณค่าสาระอีกด้วย

ส่วน วิทย์ ศิวะศริยานนท์ (2519 : 5) อธิบายว่า บทประพันธ์ที่เป็นวรรณคดี คือ บทประพันธ์ที่มุ่งให้ความเพลิดเพลินให้เกิดความสำนึกคิด (Imagination) และอารมณ์ต่าง ๆ ตามผู้เขียน นอกจากนี้บทประพันธ์ที่เป็นวรรณคดีจะต้องมีรูปศิลปะ (Form) และรูปศิลปะนี้เองที่ทำให้วรรณคดีมีความงาม

ศุภชัย รัตนโกมุท และสะอาด อินทรสาลี (2518 : 2) กล่าวว่า วรรณคดีคือหนังสือแต่งดี ได้รับยกย่องจากผู้อ่านหลาย ๆ คนเห็นพ้องต้องกันว่าแต่งดี จะเป็น "ร้อยแก้ว" เช่น สามก๊ก ฉบับของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) หรือจะเป็น "ร้อยกรอง" เช่น ลิลิตพระลอ หรือบทละครเรื่องอิเหนา ของ

รัชกาลที่ 2 ก็ได้ พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่า วรรณคดีเป็นนามธรรมที่เราตั้งขึ้นเพื่อใช้เรียกศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งมีวิวัฒนาการมาแต่อักษรศาสตร์ กวีได้ใช้ความสามารถรจนาเรื่องนั้น ๆ ขึ้น เช่น จัดวรรคคำ เสียงคำ ให้ได้ความหมาย เกิดอารมณ์ เกิดสุนทรียะ ได้อ่านเรื่องแล้วรู้สึกเพลิดเพลินเกิดอารมณ์คล้อยตามท้องเรื่อง ส่งเสริมความรอบรู้ มีสำนวนโวหารงดงาม ไพเราะ คมคาย จูงใจให้เกิดความซาบซึ้ง เพราะใช้คำได้เหมาะกับโอกาส เหตุการณ์ เป็นต้น

พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ (2506 : 3) ทรงให้คำจำกัดความของวรรณคดีไว้ว่า "วรรณคดีโดยแท้ เป็นศิลปกรรมหรือสิ่งสุนทร ซึ่งนักประพันธ์มีความรู้สึกนึกคิดอย่างใดแล้ว ก็ระบายภาพให้ผู้อ่านได้ชมความงามตามที่นักประพันธ์รู้สึกนึกคิดไว้ด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการให้ความหมาย ของ ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ( 2517 : 190) ที่กล่าวว่า งานประพันธ์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณคดี มักจะได้รับการยกย่องในทางความงามและทางความดีด้วย

สำหรับพระยาอนุมานราชธน (2515 : 8) ได้ให้ความหมายว่า วรรณคดีในความหมายอีกนัยหนึ่ง หมายถึงบทประพันธ์ซึ่งมีลักษณะเด่นในเชิงประพันธ์ มีค่าทางอารมณ์และความรู้สึกแก่ผู้อ่าน ผู้ฟังคือ วรรณคดีมีวรรณศิลป์

วิลเลียม เจ. ลอง ( Long. 1964 : 3) กล่าวว่า วรรณคดี ในความหมายกว้าง ๆ หมายเอาเพียง การจดบันทึกของเผ่าพันธุ์ ซึ่งรวมเอาประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ บทกวีและข้อเขียนแบบนวนิยายของเผ่าพันธุ์นั้น ๆ ในความหมายแคบ วรรณคดี คือการบันทึกชีวิตแบบมีศิลป์ สรุปแล้ววรรณคดี หมายถึง การแสดงออกซึ่งชีวิตในลักษณะข้อเท็จจริงและความสวยงาม วรรณคดีเป็นบันทึกชีวิต ความคิด อารมณ์ และแรงดลใจของมนุษยชาติ วรรณคดีคือประวัติศาสตร์ทางวิญญาณของมนุษย์ (กุเทพ ใสกระจ่าง, พระมหา. 2521 : 8)

อาร์โนล เบนเน็ท (Arnold Bennett) (อ้างถึงใน สิทธา พินิจภูวดล. 2515 : 5) อธิบายว่า วรรณคดีคือ การแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึกซาบซึ้งตรึงใจของกวี อันเกิดจากการสัมผัสกับสิ่งจับใจของชีวิต

ส่วนข้อคิดเห็นใน The Great World Encyclopedia (Clapham 1984 : 38) ได้อธิบายว่า วรรณคดี เป็นงานเขียนประเภทหนึ่งที่มีความยิ่งใหญ่ สำคัญ และน่าจดจำ ซึ่งเป็นผลงานที่สร้างขึ้นจากความคิดของมนุษย์ บางครั้งคำว่า วรรณคดี จะหมายถึง งานเขียนทุกชนิด ตั้งแต่ หนังสือพิมพ์แผ่นปลิวเอกสารประกอบการสอน ไปจนถึงบทกวีของ John Keats หรือ นวนิยายของ Charles Dickens แต่ในความเป็นจริงนั้นวรรณคดี จะหมายถึง งานเขียนที่ยังคงมีคนอ่านอยู่ในปัจจุบันนี้ดังเช่น งานของ Keats และ Dickens ขณะที่แผ่นปลิวเอกสารประกอบการสอน และหนังสือพิมพ์ อาจจะมีคนลืมหรือโยนทิ้งไปแล้ว

จากความหมายของวรรณคดีที่มีผู้ให้ไว้จำนวนมากนั้นสรุปได้ว่า วรรณคดีเป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้ง ไม่เฉพาะแต่เพียงพิจารณาความหมายตามรูปศัพท์ แต่ต้องศึกษาถึงความหมายลึกซึ้งกว่านั้นหนังสือที่เป็นวรรณคดีจะต้องเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นด้วยความประณีตบรรจงทั้งในด้านการใช้ภาษา การแสดงความคิด รูปแบบและเนื้อหา อีกทั้งคุณค่าทางอารมณ์และความประทับใจในความงามด้านต่าง ๆ ตามที่ผู้เขียนสร้างขึ้น

(วันเนาว์ ยูเด็น. (2537 : 5) สรุปได้ว่า วรรณคดี ก็คือ หนังสือหรืองานเขียนที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี มีความงามด้านภาษา การใช้คำ มีคุณค่าเข้าขั้นวรรณศิลป์ และมีเนื้อหาที่ดีสามารถโน้มน้าวจิตใจผู้อ่านให้เกิดความเพลิดเพลิน ความสำนึกคิด และอารมณ์ต่าง ๆ ตามผู้เขียน และเพื่อให้เข้าใจความหมายของวรรณคดีให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงขอกล่าวถึงคุณสมบัติที่สำคัญของวรรณคดีซึ่งพระมหากุเทพ ใสกระจ่าง (2521: 9) ได้สรุปไว้ดังนี้

  1. มีความเป็นศิลป (Artistic) ในคุณลักษณะข้อนี้วรรณคดีต้องมีความงดงาม กล่าวคือ ต้องสะท้อนชีวิตในแง่ความเป็นจริงที่ถูกต้องงดงาม
  2. มีลักษณะของการคาดคะเน (Suggestive) วรรณคดีจะไม่อยู่ในลักษณะเปิดเผยแบบตายตัว หากแต่จะเข้าใจได้โดยการคาดคะเน การตีความหมายทางวรรณคดีจะขึ้นอยู่กับการคาดคะเนของแต่ละคน การคาดคะเนอาจจะแตกต่างกันไปตามความซาบซึ้ง (Appreciation) ของคนอ่าน
  3. มีลักษณะของความคงทน (Permanent) เป็นที่น่าสังเกตว่า งานที่เป็นวรรณคดีนั้น โดยมากจะมีลักษณะคงทน กล่าวคือ เป็นที่นิยมและอยู่ในความทรงจำของคนอ่านในระยะเวลาอันยาวนาน ไม่ใช่เป็นที่นิยมกันในวันนี้วันเดียว

อ่านต่อ --->>>

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย